Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนา ในสยาม-ไทย (70)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (3)

วันเปิดปอเนาะ "อัลมุอาริฟ อัลวะฏอนียะฮฺ ปัตตานี" ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2472

จากเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดย วรัญญา เพ็ชรคง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ คือ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต ได้ให้ข้อมูลของ "หะยีสุหลง" ไว้ในหัวข้อ "กรณีการจับตัวหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/กรณีการจับตัวหะยีสุหลง_อับดุลกาเดร์) ได้เขียนถึงที่มาทางความคิดการเมืองและบทบาทของ "หะยีสุหลง" ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปว่า
**********
บทบาทของหะยีหลง อับดุลกาเดร์ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อหะยีสุหลงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่กลับไปอยู่นครมักกะห์ดังที่เคยตั้งใจไว้ เขาก็เริ่มชีวิตการเป็นโต๊ะครูในจังหวัดปัตตานีเพื่อสอนหลักศาสนา ออกไปเทศนาตามที่ต่างๆ ในปัตตานี ระยะแรกๆ ถูกโจมตีจากโต๊ะครูหัวเก่าเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งมีการรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมของหะยีสุหลงต่อผู้ปกครองมณฑลหรือสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี คือพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว.ประยูร อิสรภักดี) ว่าเขาเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ในขณะที่เขาทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาได้ยังไม่ถึงปี ในปลายปี พ.ศ 2470 เขาถูกจับไปสอบสวน แต่เมื่อหะยีสุหลงได้ชี้แจงเหตุผลก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา และยืนหยัดในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามต่อไป

หลังจากหะยีสุหลงเผยแพร่ศาสนาอิสลามได้ประมาณสองปี สังคมของชาวปัตตานีก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เขาสังเกตจากความคิดเห็นและความสำนึกในศาสนาอิสลามของชาวมลายูปัตตานีได้ตื่นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว มีโต๊ะครูตามปาเนาะต่างๆ กันมาสอนศาสนาในลักษณะเดียวกับหะยีสุหลง จนมีแนวร่วมมากขึ้นในการที่เขาจะคิดพัฒนาด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวมุสลิม

จึงมีโครงการที่จะสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแทนการเปิดปอเนาะแบบเดิม และเขามีความคิดว่าอยากให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นสมบัติส่วนรวมของชาวบ้าน เงินทุนที่จะใช้สร้างโรงเรียนจึงมาจากการเรี่ยไรจากชาวบ้านและผู้สนับสนุนต่างๆ โครงการก่อสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแห่งแรกในจังหวัดปัตตานีจึงเริ่มขึ้นในปลายปี พ.ศ.2472 แต่เงินทุนที่ได้มาก็ยังไม่เพียงพอ เพราะสภาพเศรษฐกิจของประเทศขณะนั้นกำลังตกต่ำ รวมทั้งฐานะความเป็นอยู่ของชาวมุสลิมในปัตตานีด้วย ในคราวระดมทุนครั้งแรก พระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะริ่งเคยรับปากไว้ว่า ถ้าหะยีสุหลงระดมทุนได้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งท่านจะออกให้เอง โดยมีข้อแม้ว่าต้องใช้ชื่อของท่านเป็นชื่อโรงเรียน แต่เมื่อติดป้ายชื่อโรงเรียนว่า "พระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะริ่ง ปัตตานี ฮ.ศ. 1350" ได้ประมาณ 2 เดือน พระพิพิธภักดี นายอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ได้ทำเรื่องแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้นคือ พระวิเทศปัตตานาทร (แจ้ง สุวรรณจินดา) ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยารัตนภักดี ว่าหะยีสุหลงนำชื่อบิดาของตนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ทางหะยีสุหลงเข้าใจว่าทางพระยาพิพิธเสนามาตย์จะล้มเลิกสัญญาที่เคยรับปากไว้ในที่ประชุมเพื่อหาทุนสร้างโรงเรียน จึงเป็นสาเหตุความขัดแย้งกับกลุ่มพระยาเมืองยะริ่งจนไม่อานคืนดีกันได้อีก และหันไปเป็นมิตรกับขุนเจริญวรเวชช์ (เจริญ สืบแสง) สาธารณสุขจังหวัดปัตตานีแทน

ส่วนโรงเรียนที่สร้างก็ตั้งชื่อเสียใหม่ว่า "มัดราเซาะห์ อับมูอารฟอับาฏอนียะห์ปัตตานี" และระหว่างที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงินที่จะนำมาใช้สร้างโรงเรียน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญ โดยคณะราษฎร วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และมอบหมายพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย แต่อีกประมาณ 1 ปีต่อมา พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาก็เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาแทน

หลังจากพระยาพหลพลพยุหเสนาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน หะยีสุหลงก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขอความช่วยเหลือในการสร้างโรงเรียนให้แล้วเสร็จ และท่านก็บริจาคเงินมาก่อสร้างโรงเรียนก้อนหนึ่ง ทางหะยีสุหลงได้เชิญท่านมาเป็นประธานเปิดโรงเรียนด้วย พร้อมได้ถือโอกาสเยี่ยมเยียนชาวจังหวัดปัตตานีไปด้วย อีกทั้งยังได้มีการถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึกที่หน้าโรงเรียนด้วย
หลังจากสร้างโรงเรียนได้เป็นผลสำเร็จ หะยีสุหลงก็ยิ่งได้รับการยอมรับและศรัทธาจากชาวมลายูมุสลิมปัตตานีได้เป็นผลสำเร็จ และใช้ชีวิตการเป็นโต๊ะครูอย่างเป็นกิจจะลักษณะตั้งแต่ พ.ศ.2476 เป็นต้นมา มีลูกศิษย์มาของสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก ด้วยวิธีการสอนที่มีวาทศิลป์ดี มีมุขตลกและอารมณ์ขันอยู่ด้วย และพยายามเนื้อหาการสอนให้ผู้เรียนเข้าใจหลักของคัมภีร์อัลกุรอานอย่างแท้จริง จนได้ชื่อว่าเป็นโต๊ะครูหัวใหม่ของปัตตานีในขณะนั้น

ความนิยมของชาวมลายูมิสลิมในจังหวัดปัตตานีต่อหะยีสุหลงเริ่มมีขึ้นเรื่อย ตั้งแต่ พ.ศ.2470-2479 รวมระยะเวลา 10 ปี จนเป็นที่สังเกตของทางการ และเริ่มมีรายงานจากพระประเสริฐสุนทราศัย ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี ต่อกระทรวงมหาดไทยว่ามีความก้ำกึ่งกับกลุ่มมุสลิมหัวเก่า

หลังจากนั้นความนิยมนับถือต่อหะยีสุหลงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งในท้องถิ่นจังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง ในระหว่างพ.ศ.2488-2490 ปรากฏว่ามีผู้ศรัทธามากถึงขนาดก้มลงถอดรองเท้าและล้างเท้าให้หะยีสุหลงก่อนที่จะเข้าไปในสุเหร่าและมัสยิดต่างๆ มีศานุศิษย์คอยกลางกลดกันแดนให้ในขณะเดินทางไปชุมชนชาวมลายูมุสลิมในเขตสี่จังหวัดภาคใต้และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา

นอกจากความรู้และความสามารถเฉพาะตัวของหะยีสุหลงแล้ว การพัฒนาตนเองของหะยีสุหลงในสถานภาพและบทบาทที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น นโยบายของรัฐบาลซึ่งออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.2488 ก็มีส่วนสนับสนุนสถานะที่เป็นอยู่ขณะนั้นไปด้วย

ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้หะยีสุหลงได้รับการยอมรับในกลุ่มชาวมลายูมุสลิมเป็นอย่างสูงและมีบทบาทการเป็นผู้นำที่โดดเด่น แต่อีกด้านหนึ่งการกระทำของเขาก็ถูกรัฐจับตามองมาตลอด เพราะนโยบายการสร้างชาติของรัฐบาลในขณะนั้นได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อวิถีชีวิตชาวมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้ และเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการต่อต้านอย่างเปิดเผย
**********
ในบล็อก http://smiana.wordpress.com/tag/มัสญิดกรือเซะ/ เขียนถึงความสำคัญของหะยีสุหลงที่มีต่อปอเนาะ และการศึกษาอัลกุรอานของอนุชนและเยาวชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนใตไว้ว่า

พ.ศ. 2472 โต๊ะครูหะยีสุหลงก่อตั้งปอเนาะ 'อัลมุอาริฟ อัลวะฏอนียะฮฺ ปัตตานี' เพื่อเป็นรั้วกั้นกระแสธารญะฮีลียะฮฺที่กำลังโหมกระหน่ำในดินแดนปัตตานี โดยมีท่านปรีดี พนมยงค์ เดินทางมาร่วมงานเปิดปอเนาะด้วย แม้ในภายหลังตัวท่านเองจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใส่ความในเรื่องกบฏแบ่งแยกดินแดนอย่างหนัก แต่ในความเป็นจริงนั้นท่านเพียงแต่ต่อสู้กับความชั่วและขอเพียงอิสรภาพในการมีชีวิตของชาวมุสลิมมลายู แต่ตำรวจก็เล่นไม่ซื่อนัก อุ้มฆ่าท่านในที่สุด แต่ปอเนาะของท่าน และองค์ความรู้อิสลามที่ถูกต้องที่ท่านเรียนรู้มาจากมักกะฮฺนั้น ก็ส่งผลต่อผู้คนยุคหลังมากมาย ซึ่งเราสามารถรับรู้ได้ในปัจจุบัน
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 14-20 ธันวาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8