Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (72)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (5)
 
นายแช่ม พรหมยงค์ จุฬาราชมนตรีท่านแรกในสมัยประชาธิปไตย นำเสด็จในหลวงทั้ง 2 พระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คราวเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคพร้อมพระอนุชา (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) เพื่อเยี่ยมชุมชนมัสยิดต้นสน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2489

ในช่วงท้ายของบทความจากเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดย วรัญญา เพ็ชรคง เรื่อง "กรณีการจับตัวหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/กรณีการจับตัวหะยีสุหลง_อับดุลกาเดร์)ในหัวข้อ ผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรพา และจบลงด้วย หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ถูกจับและหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เป็นการนำเสนอเพียงสาเหตุที่นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ปิดฉากโดยสมบูรณ์ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือนดังได้กล่าวมาแล้ว และผลพวงสำคัญต่อกรณีความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารครั้งนั้น คือการยุติความพยายามอย่างมีนัยสำคัญของรายปรีดีพนม กับผู้นำที่มีอิทิพลต่อประชาชนในพื้นที่ คือ หะยีสุหลง
**********
ผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรพา

นโยบายการสร้างชาติที่ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อวิถีชีวิตชาวมุสลิมแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันชาวมุสลิมในพื้นที่ดังกล่าวก็ได้รับผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรณพาด้วย เมี่อชาวมุสลิมได้รับกระทบการการที่รัฐบาลร่วมมือกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ตกต่ำ ราคาข้าวสูงขึ้นมาก ถึงกับเกิดภาวะขาดแคลนข้าว ราคายางตกต่ำลง เพราะไม่สามารถส่งออกยางพาราได้ ผู้คนก็ไม่มีรายได้ที่จะจุนเจือครอบครัว บางหมู่บ้านขาดแคลนอย่างหนักถึงขนาดต้องกินเผือกและมันแทนข้าว และจากการที่ญี่ปุ่นต้องเดินทัพผ่านพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้าน ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักเพิ่มขึ้นไปอีก ยิ่งช่วงสมัยสิ้นสุดสงครามด้วยแล้ว เกิดขาดแคลนข้างสำหรับบริโภคเป็นอย่างหนัก ชาวมุสลิมต้องไปขอให้หะยีสุหลงหาทางช่วยเหลือ

ความไม่พอใจของชาวมุสลิมที่ได้รับผลกระทบมาจากทั้งสองด้านคือนโยบายสร้างชาติของรัฐบาลและวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในช่วงสงคราม เหล่านี้ล้วนตอกย้ำความไม่พอใจต่อการปกครองเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ และยิ่งปะทุมากขึ้นจนถึงจุดแตกหักหลังจากสิ้นสุดสงครามเพียงไม่กี่ปี

หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ถูกจับและหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

หลังจากโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สร้างปัญหาให้ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก ชาวบ้านที่ไม่เคยเห็นดีกับการแบ่งแยกดินแดน ถูกผลักให้เป็นแนวร่วมของขบวนการคิดแบ่งแยกดินแดนไปโดยปริยาย กระนั้นก็ตาม หลังจาก จอมพล ป. หมดอำนาจและรัฐบาลที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่แทน แผนการดับไฟใต้โดยรัฐบาลพลเรือนได้เกิดขึ้น อย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการแต่งตั้งนายแช่ม พรหมยงค์ เป็นจุฬาราชมนตรี พร้อมมอบหมายให้ ไปเจรจาแก้ปัญหาภาคใต้ โดยการรับฟังความคิดเห็น ความต้องการของผู้นำ ศาสนาอิสลาม

ขณะนั้น หะยีสุหลง เป็นนักการศาสนามีความรู้สูงที่สุดและเป็นที่ยอมรับของชาวมุสลิมเป็นอย่างมากกว่าผู้นำศาสนาคนอื่นในภาคใต้ หะยีสุหลงจึงกลายเป็นคนที่มีบทบาทในการร่างบันทึกข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลมากที่สุด แต่แผนการดับไฟใต้ของนายปรีดี ไม่อาจดำเนินการได้สำเร็จ เพราะ จอมพล ป. ได้ปฏิวัติยึดอำนาจอีกครั้ง ท่านปรีดีและนายแช่ม จุฬาราชมนตรี ต้องอพยพหลีกลี้หนีภัยการเมืองไปอยู่ต่างแดน

เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่หนทางในการแก้ปัญหากลับไม่ราบรื่นดังที่คาดหวังไว้ ในที่สุดหะยีสุหลงก็พลอยได้รับมรสุมภัยการเมืองด้วย เพราะรัฐบาลมองข้อเรียกร้องที่เสนอไปนั้น เป็นแผนการแบ่งแยกดินแดนที่ทำขึ้นมาตามแผนของลูกชายอดีตเจ้าเมืองปัตตานีที่สูญเสียอำนาจ ทั้งที่ข้อเรียกร้องนั้นเกิดจากความต้องการของทางรัฐบาลก่อนหน้านั้นที่ต้องการจะแก้ปัญหาภาคใต้ โดยข้อเรียกร้องที่เสนอไปมี 7 ข้อ มีดังนี้
1) ขอปกครอง 4 จังหวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งประเทศไทย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัด
2) การศึกษาในชั้นประถม (ขณะนั้นชั้นประถมมีเรียนแค่ชั้น ป.4) ให้มี การศึกษาภาษามลายูควบคู่ไปกับภาษาไทย
3) ภาษีที่เก็บได้ให้ใช้ภายใน 4 จังหวัดเท่านั้น
4) ในจำนวนข้าราชการทั้งหมด ขอให้มีข้าราชการชาวมลายู ร้อยละ 85 (คิดตามสัดส่วนประชากรในพื้นที่ มีผู้นับถือศาสนาอิสลาม 85% พุทธ 15%)
5) ขอให้ใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทย เป็นภาษาราชการ
6) ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาอิสลาม โดยความเห็นชอบของผู้มีอำนาจสูงสุด
7) ให้ศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกอฎี หรือดาโต๊ะยุติธรรมตามสมควรและมีเสรีภาพในการพิจารณาคดี
จากข้อเรียกดังกล่าวจึงทำให้หะยีสุหลงถูกมองเป็นกบฏ เป็นผู้นำแบ่งแยกดินแดน ถูกจับดำเนินคดี 2 ข้อหาสำคัญ คือเป็นกบฏและหมิ่นประมาทรัฐบาลที่กล่าวหากดขี่ประชาชน

ในที่สุดศาลได้ตัดสินให้หะยีสุหลงพ้นมลทินข้อหากบฏ แต่มีความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทรัฐบาล จนต้องถูกจำคุกที่เรือนจำนครศรีธรรมราชเป็นเวลา 4 ปี 6 เดือน และหลังพ้นโทษในปี พ.ศ.2495 หะยีสุหลงเดินทางกลับบ้านที่ปัตตานี และกลับไปเป็นครูสอนศาสนาอยู่เช่นเดิม

วันที่ 13 สิงหาคมพ.ศ. 2497 ตำรวจสันติบาลที่สงขลาเรียกให้หะยีสุหลงไปพบ เขาไปพร้อมกับลูกชายคนโตที่เป็นล่าม เพราะหะยีสุหลงและเพื่อนๆ ที่ถูกเรียกตัวไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ บุคคลทั้งหมดได้ "สูญหาย" ไปและไม่กลับไปยังปัตตานีอีกเลย บ้างก็ว่าเขาถูกจับฆ่าถ่วงน้ำอยู่ในทะเลสาบสงขลา หลงเหลือไว้แต่ความทรงจำที่สร้างความรู้สึกหวาดกลัวให้กับคนรุ่นหลัง และคำถามมากมายที่ยังรอคำตอบ
(จบหัวข้อ "กรณีการจับตัวหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์" แต่เพียงเท่านี้)
**********
ในเว็บไซต์ wikipedia.org เขียนถึงเหตุการณ์ในพื้นที่หลังจากมีการจับกุมตัวไว้ว่า
หะยีสุหลงถูกจับด้วยข้อหากบฏเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรอย่างกว้างขวาง
การรวมกลุ่มของชาวไทยเชื้อสายมลายูในยุคนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 สาเหตุ อย่างแรก คือ ไม่พอใจนโยบายรัฐบาลที่ราษฎรรู้สึกว่าเป็นการกดขี่พวกตน อย่างที่สองคือ รวมตัวกันต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาที่มักข้ามแดนมารังควานชาวไทยเชื้อสายมลายูเป็นประจำ แต่พวกเขาไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐเพราะมีความระแวงกันอยู่แล้ว ความระแวงซึ่งกันและกันนี้เป็นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในที่สุด ทั้งโดยความเข้าใจผิดและถูกยุยงจากผู้ไม่หวังดี
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 28 ธันวาคม 2556-3 มกราคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8