Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (73)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (6)

ภาพตัดปกหน้าหนังสือ "ดุซงญอ 2491 ถึงตากใบวิปโยค" เขียนโดย ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์/บริษัทร่วมด้วยช่วยกัน

ในเว็บไซต์ wikipedia บรรยายเหตุการณ์ในพื้นที่หลังจากมีการจับกุมตัวหะยีสุหลงไว้ในหัวข้อ "กบฏดุซงญอ" (http://th.wikipedia.org/wiki/กบฏดุซงญอ) จากหนังสือ ดุซงญอ 2491 ถึงตากใบวิปโยค [วรมัย กบิลสิงห์. ดุซงญอ 2491 ถึงตากใบวิปโยค. พิมพ์ครั้งที่ 2. ร่วมด้วยช่วยกัน. 2548. ระบุว่าเป็นข้อมูลจากตำรวจในเหตุการณ์; ผู้เขียนคือ พระภิกษุณีโพธิสัตต์ วรมัย กบิลสิงห์ ผู้ก่อตั้ง วัตรทรงธรรมกัลยาณี หรือ ทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม ซึ่งเป็นอารามภิกษุณีในประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษม ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม โดยในปี พ.ศ. 2505 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) (ต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช) เป็นผู้วางศิลาฤกษ์สร้างโบสถ์] วิปโยค โดยลำดับเหตุการณ์ไว้ดังต่อไปนี้

24 เมษายน เจ้าหน้าที่รัฐได้รับรายงานว่า หะยีสะแมงฟันนายบุนกี (จีนเข้ารีตอิสลาม) ได้รับบาดเจ็บสาหัส

25 เมษายน ตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองรวม 4 นาย เข้าไปตรวจเหตุการณ์ในหมู่บ้าน ถูกพวกก่อจลาจลราว 30 คนถือดาบไล่ฟัน จนต้องหนีออกจากหมู่บ้าน

26 เมษายน
  • ตอนเช้า ตำรวจราว 28 นาย นำโดย ร.ต.อ. บุญเลิศ เลิศปรีชา ยกเข้ามาที่ตลาดดุซงญอและส่งตำรวจ 4 นาย คือ สิบตรีสง รุ่งเรือง พลฯสมัคร ประดิษฐ์ สุวรรณภักดี พลฯสมัคร บุญ กล้าหาญ และพลฯสมัคร สมศักดิ์ แหวนสำริด ไปเป็นกองล่อให้ฝ่ายจลาจลแสดงตัว ผลปรากฏว่าฝ่ายจลาจลมีกำลังมากกว่า ฝ่ายตำรวจต้องล่าถอย ตำรวจที่เป็นกองล่อทั้ง 4 นายเสียชีวิตทั้งหมด
  • ตอนค่ำ กำลังตำรวจจากจังหวัดใกล้เคียงคือ จังหวัดยะลา 20 นาย จังหวัดปัตตานี 30 นาย อำเภอสุไหงปาดี 8 นาย ยกมาสมทบและรวมกำลังกันที่ตำบลกรีซา 1 คืน
27 เมษายน กำลังตำรวจจากจังหวัดสงขลาอีก 20 นาย มาถึงตำบลกรีซา เริ่มยกพลเข้าหมู่บ้านดุซงญอ ปะทะกับพวกจลาจล ยิงโต้ตอบกันราว 3 ชั่วโมง ฝ่ายตำรวจจึงล่าถอย ระหว่างถอย พลฯสมัคร วิน ไกรเลิศถูกฝ่ายจลาจลยิงเสียชีวิต

28 เมษายน กำลังตำรวจเข้าโจมตีหมู่บ้านดุซงญออีกครั้ง และปราบปรามฝ่ายจลาจลได้เด็ดขาด

ข้อมูลจากชาวบ้านดุซงญอที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งขึ้นไปรวมตัวบนเขาเพื่อประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ให้อยู่ยงคงกระพันเพื่อต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์ ในกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นคนหนุ่มที่หนีการเกณฑ์ทหาร เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นทหารเกณฑ์แล้วต้องถูกบังคับให้ไหว้พระพุทธรูป เจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นไปตามตัวชาวบ้านบนเขาให้ลงมา แต่ชาวบ้านไม่ยอม ขับไล่ตำรวจลงมา ตำรวจจึงรวมกลุ่มกันขึ้นไปยิงชาวบ้านบนเขา ชาวบ้านจึงหนีลงมารวมตัวกันที่สุเหร่าและบ้านของโต๊ะเปรัก ก่อนจะถูกตำรวจยกพลเข้ามาปราบ [ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. ความเงียบของอนุสาวรีย์ลูกปืน: ดุซงญอ-นราธิวาส 2491. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 25 (9), กรกฎาคม 2547. หน้า 132-150; ผู้เขียนระบุว่าเป็นข้อมูลจากชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ปะทะช่วงแรก แต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ช่วงที่มีการปราบปรามครั้งสุดท้าย]

อย่างไรก็ตามรายละเอียดของเหตุการณ์แตกต่างกันไปขึ้นกับว่าเป็นเอกสารของฝ่ายใด เอกสารของรัฐบาลไทยกับเอกสารที่เขียนโดยชาวมลายูให้ข้อมูลที่ต่างกันทั้งวันที่เกิดเหตุการณ์และจำนวนชาวบ้านดุซงญอผู้เสียชีวิต แต่จำนวนตำรวจที่เสียชีวิตตลอดเหตุการณ์ ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่าอยู่ที่ราว 30 ศพ
**********
ยอดผู้เสียชีวิต

สรุปจำนวนผู้เสียชีวิตจากแหล่งต่างๆ ดังนี้ [ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. ความเงียบของอนุสาวรีย์ลูกปืน: ดุซงญอ-นราธิวาส 2491.]

วันที่เกิดเหตุการณ์ 26-27 เม.ย. จำนวนผู้เสียชีวิต มากกว่า 100 คน รายละเอียด: ชาวไทยมุสลิมเข้าโจมตีสถานีตำรวจ เกิดการต่อสู้ 2 วัน [แหล่งอ้างอิง: ปิยนาถ บุญนาค. นโยบายการปกครองของรัฐบาลไทยต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2475 - 2516). กทม. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2534. หน้า 104-105]

วันที่เกิดเหตุการณ์ 25-26 เม.ย. จำนวนผู้เสียชีวิต 30-100 คน รายละเอียด: ชาวไทยมุสลิมเข้าโจมตีสถานีตำรวจ โดยตำรวจเป็นฝ่ายยิงก่อน [แหล่งอ้างอิง: อิมรอน มะลูลีม. วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศ: กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้. กทม. อิสลามิคอะคาเดมี. 2538. หน้า 161]

วันที่เกิดเหตุการณ์ 28 เม.ย. จำนวนผู้เสียชีวิต ชาวบ้าน 400 คน ตำรวจ 30 คน ไม่มีรายละเอียด [แหล่งอ้างอิง: อิบรอฮิม ชุกรี. ประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานี แปลและเรียบเรียงโดย หะสัน หมัดหมาน มะหามะซากี เจ๊ะหะ และ ดลมนรรจ์ บากา. ปัตตานี: โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี. 2541 หน้า 53-54]

วันที่เกิดเหตุการณ์ 26 เม.ย. จำนวนผู้เสียชีวิต ชาวบ้าน 400-600 คน ตำรวจ 30 คน รายละเอียด: กำลังตำรวจ 3 กองร้อยเข้ากวาดล้างชาวบ้านที่ไม่มีอาวุธ มีเครื่องบินรบ 3 ลำ บินหาเป้าหมายในหมู่บ้าน [แหล่งอ้างอิง: Malek, Mohd Zamberi A. Umat Islam Patani: Sejarah dan Politik. Shah Alam: Hizbi. 1993 p. 210-211 (มาเลย์)]

ไม่ระบุวันที่เกิดเหตุการณ์ จำนวนผู้เสียชีวิต ชาวบ้าน 1,100 คน ไม่มีรายละเอียด [แหล่งอ้างอิง: Syed Serajul Islam. The Islamic Independence Movements Patani of Thailand and the Mindanao of the philippines. Asian Survey. vol. XXXVIII No.5 (May 1998) p. 446 (อังกฤษ)]

วันที่เกิดเหตุการณ์ 28 เม.ย. จำนวนผู้เสียชีวิต ชาวบ้าน 400 คน ตำรวจ 30 คน รายละเอียด: การปราบปรามเกิดขึ้นขณะชาวบ้านกำลังละหมาดซุบฮิของวันที่ 28 เม.ย. [แหล่งอ้างอิง: อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง. ดูซงญอ ฤๅคือกบฏ. ทางนำ. ตุลาคม 2543. หน้า 7]

วันที่เกิดเหตุการณ์ 25-28 เม.ย. จำนวนผู้เสียชีวิต ชาวบ้าน 400 คน ตำรวจ 30 คน รายละเอียด: รัฐบาลส่งเครื่องบินรบเรือรบเตรียมเข้ากวาดล้าง ในวันที่ 27 เม.ย. ก่อนส่งกำลังตำรวจเข้ากวาดล้างเมื่อ 28 เม.ย. [แหล่งอ้างอิง: Mahmad, Nik Anuar Nik . Sejarah Perjuangan Melayu patani 1785 - 1954. Bengi: Penerbit University kebangsaan Malaysia. 1999. p.77 (มาเลย์)]

วันที่เกิดเหตุการณ์ 25-28 เม.ย. จำนวนผู้เสียชีวิต ชาวบ้าน 30 คน ตำรวจ 5 คน รายละเอียด: ดูจากตอนต้นของบทความตอนนี้ [แหล่งอ้างอิง: วรมัย กบิลสิงห์. ดุซงญอ 2491 ถึงตากใบวิปโยค. พิมพ์ครั้งที่ 2. ร่วมด้วยช่วยกัน. 2548]

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 4-10 มกราคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8