Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (74)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (7)

เผด็จการสองยุค คนหน้าคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หัวหน้าตัวจริงของการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ผู้ทำลายแผนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ตามแนวทางของนายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส; ส่วนที่นั่งถัดไปคือ จอมพล สฤษดิ์ (จอมพลผ้าขาวม้าแดง) ธนรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจของคนข้างหน้าเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500

ในเว็บไซต์ wikipedia สรุปไว้ในตอนท้ายของหัวข้อ "กบฏดุซงญอ" (http://th.wikipedia.org/wiki/กบฏดุซงญอ) ถึงผลที่ตามมาหลังเหตุการณ์ โดยย่อ แยกตามแหล่งที่มาคือปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐบาลไทย, ปกิกิริยาของประชาชนในพื้นที่, ปฏิกิริยาจากมุสลิมในประเทศ และปฏิกิริยาจากสหพันธรัฐมาลายา (ส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียปัจจุบันที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย)
**********
ปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์

ปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐบาล
จอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อสอบสวนหาสาเหตุ โดยมีพระยาอมรฤทธิธำรง (พร้อม ณ ถลาง) เป็นประธานกรรมการ และ พ.ต.ท. เผ่า ศรียานนท์เป็นรองประธาน ระหว่างการสอบสวน ทางจังหวัดนราธิวาสส่งโทรเลขเข้ามาขอกำลังทหาร ทางรัฐบาลตัดสินใจส่งเรือรบ 3 ลำที่ซ้อมรบในบริเวณนั้น และเครื่องบิน 1 ฝูง เข้าไป แต่เหตุการณ์สงบลงเสียก่อน

คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งได้ลงไปสำรวจบริเวณที่เกิดเหตุ ผลการสอบสวนของคณะกรรมการ แจ้งว่าการจลาจลเกิดจากความเข้าใจผิด ราษฎรมาชุมนุมกันมากเพื่อเข้าร่วมพิธีทางไสยศาสตร์ จนเป็นที่ผิดสังเกตของตำรวจ จึงขอเข้าตรวจค้น ชาวบ้านไม่ยอมจึงเกิดการปะทะกัน [เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร.หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้. พิมพ์ครั้งที่ 2. มติชน. 2547] เนื่องจากพบว่าคนในพื้นที่ไม่พอใจมาก อับดุลลา หวังปูเต๊ะ เสนอให้เชิญตนกู มะไฮยิดดินเข้ามาปรึกษาในกรุงเทพมหานคร แต่รัฐบาลไม่ได้ทำตาม [ปิยนาถ บุญนาค. นโยบายการปกครองของรัฐบาลไทยต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2475 - 2516). กทม. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2534. หน้า 104-105]

ปฏิกิริยาของคนในพื้นที่
ผลจากการปราบปรามครั้งนี้ฝ่ายชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ไม่พอใจการกระทำของรัฐมาก ดังที่เขียนไว้ในงานเขียนของอิมรอนว่า
"...ถ้าข้าราชการเป็นผู้ฉลาดและมีสติปัญญาแล้ว ย่อมไม่เกิดจลาจลขึ้นแน่นอน ทั้งนี้เพราะนายและพรรคพวกโง่บัดซบและมีใจอำมหิต จึงกระทำต่อชาวมลายูเช่นนั้น..." [อิมรอน มะลูลีม. วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศ: กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้. กทม. อิสลามิคอะคาเดมี. 2538. หน้า 161]
ผลของการจลาจลทำให้ชาวไทยมุสลิมประมาณ 2,000 - 4,000 คนอพยพเข้าไปในสหพันธรัฐมลายู (ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน) ความตึงเครียดในพื้นที่ ทำให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อปราบคอมมิวนิสต์

การอพยพของคนไทยเข้าสู่มาลายายังเกิดอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2491 นายกรัฐมนตรีกล่าวปราศัยผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยชักชวนให้ชาวไทยมุสลิมกลับคืนถิ่นฐาน แต่การลักลอบเข้ามาลายายังเกิดขึ้นอยู่ต่อไป [ปิยนาถ บุญนาค. อ้างแล้ว]

ปฏิกิริยาจากมุสลิมในประเทศ
เจริญ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี และบรรจง ศรีจรูญ ประธานสันนิบาตไทยอิสลาม ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลดูแลและปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวไทยในมุสลิมให้ดีขึ้น ขอให้มีเสรีภาพทางศาสนา วัฒนธรรมและการศึกษา ซึ่งทางรัฐบาลได้รับหลักการไว้พิจารณา [ปิยนาถ บุญนาค. อ้างแล้ว]

ปฏิกิริยาจากสหพันธรัฐมาลายา
เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวมลายูในมาลายามาก โดยมีสมาคมที่โกตาบาห์รูส่งสาส์นมายังรัฐบาลไทยให้มีการแก้ไขปัญหาสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสันติ และขอให้ปล่อยตัว หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ที่ถูกจับในข้อหากบฏ ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นรับปากว่าจะดูแลให้ดีที่สุด [ปิยนาถ บุญนาค. อ้างแล้ว]

ในขณะนั้นรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาลายามีความร่วมมือกันเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดน โดยฝ่ายไทยขอร้องไม่ให้ฝ่ายมาลายาช่วยเหลือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไทย ส่วนรัฐบาลมาลายาต้องการให้ไทยร่วมมือกับมาลายาในการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาที่มีฐานที่มั่นบางส่วนในฝั่งไทย ความร่วมมือนี้ทำให้มีการกวดขันและลาดตระเวนตามแนวชายแดนมากขึ้น

การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ในไทยทำให้หนังสือพิมพ์มาลายาโจมตีว่ารัฐบาลไทยหาโอกาสจะฆ่าชาวไทยมุสลิมที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาแถลงข่าวว่า จะมีการปฏิรูปอย่างกว้างขวางในสี่จังหวัดภาคใต้ โดยยึดถือตามรายงานของคณะกรรมการที่ลงพื้นที่ นำโดยนายอับดุลลา หวังปูเต๊ะ [ปิยนาถ บุญนาค. อ้างแล้ว]
**********
นอกจากนั้นในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ "กบฏดุซงญอ" เรียบเรียงโดย วรัญญา เพ็ชรคง และมีผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความคือ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/กบฎดุซงญอ)
**********
ข้อมูลจากชาวบ้านดุซงญอที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งขึ้นไปรวมตัวบนเขาเพื่อประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ให้อยู่ยงคงกระพันเพื่อต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์ที่มักข้ามแดนมารังควานชาวไทยกลุ่มนี้เป็นประจำ ซึ่งพวกเขาไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐเพราะมีความระแวงกันอยู่เป็นทุนเดิม ในกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นคนหนุ่มที่หนีการเกณฑ์ทหาร เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นทหารเกณฑ์แล้วต้องถูกบังคับให้ไหว้พระพุทธรูป เจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นไปตามตัวชาวบ้านบนเขาให้ลงมา แต่ชาวบ้านไม่ยอมและขับไล่ตำรวจ ตำรวจจึงรวมกลุ่มกันขึ้นไปยิงชาวบ้านบนเขา ชาวบ้านจึงหนีลงมารวมตัวกันที่สุเหร่าและบ้านของโต๊ะเปรัก ก่อนจะถูกตำรวจยกพลเข้ามาปราบ

อย่างไรก็ตามรายละเอียดของเหตุการณ์ถูกเล่าเรื่องที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเอกสารของฝ่ายใด เอกสารของรัฐบาลไทยกับเอกสารที่เขียนโดยชาวมลายูให้ข้อมูลที่ต่างกันทั้งวันที่เกิดเหตุการณ์และจำนวนชาวบ้านดุซงญอผู้เสียชีวิต แต่จำนวนตำรวจที่เสียชีวิตตลอดเหตุการณ์ ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่าอยู่ที่ราว 30 คน การจัดการของรัฐบาล

จอมพล ป. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อสอบสวนหาสาเหตุโดยมีพระยาอมรฤทธิธำรง (พร้อม ณ ถลาง) เป็นประธานกรรมการและ พ.ต.ท. เผ่า ศรียานนท์ เป็นรองประธาน ระหว่างการสอบสวน ทางจ.นราธิวาสส่งโทรเลขเข้ามาขอกำลังทหาร ทางรัฐบาลตัดสินใจส่งเรือรบ 3 ลำที่ซ้อมรบในบริเวณนั้น และเครื่องบิน 1 ฝูง เข้าไป แต่เหตุการณ์สงบลงเสียก่อน
(ยังมีต่อ)



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 มกราคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8