Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (75)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (8)

พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์สยามนิกรในเหตุการณ์ "กบฏดุซงญอ" เมื่อปี พ.ศ. 2491 (ภาพจาก http://www.freethailand.com/indexsite.php?act=m&catid=81987&username=dusongyoo)

ในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/กบฎดุซงญอ) เขียนถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ในหัวข้อ "กบฏดุซงญอ" เรียบเรียงโดย วรัญญา เพ็ชรคง ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความคือ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต ต่อไปว่า
**********
ปฏิกิริยาของคนในพื้นที่

การปราบปรามครั้งนี้ ฝ่ายชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ไม่พอใจการกระทำของรัฐมาก ดังที่เขียนไว้ในงานเขียนของอิมรอนว่า "ถ้าข้าราชการเป็นผู้ฉลาดและมีสติปัญญาแล้ว ย่อมไม่เกิดจลาจลขึ้นแน่นอน ทั้งนี้เพราะนายและพรรคพวกโง่บัดซบและมีใจอำมหิต จึงกระทำต่อชาวมลายูเช่นนั้น..."

ผลของการจลาจลทำให้ชาวไทยมุสลิมประมาณ 2,000 - 4,000 คนอพยพเข้าไปในสหพันธรัฐมลายู (ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน) ความตึงเครียดในพื้นที่ ทำให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อปราบคอมมิวนิสต์ หลังจากนั้นก็มีการอพยพของคนไทยเข้าสู่มลายาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2491 นายกรัฐมนตรีกล่าวปราศัยผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยชักชวนให้ชาวไทยมุสลิมกลับคืนถิ่นฐาน แต่การลักลอบเข้ามลายายังเกิดขึ้นอยู่ต่อไป ปฏิกิริยาจากสหพันธรัฐมลายา

เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวมลายูในมลายามาก โดยมีสมาคมที่โกตาบาห์รูส่งสาส์นมายังรัฐบาลไทยให้มีการแก้ไขปัญหาสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสันติ และขอให้ปล่อยตัว หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ที่ถูกจับในข้อหากบฏ ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นรับปากว่าจะดูแลให้ดีที่สุด

ในขณะนั้นรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมลายามีความร่วมมือกันเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดน โดยฝ่ายไทยขอร้องไม่ให้ฝ่ายมลายาช่วยเหลือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไทย ส่วนรัฐบาลมลายาต้องการให้ไทยร่วมมือกับมลายาในการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่มีฐานที่มั่นบางส่วนในฝั่งไทย ความร่วมมือนี้ทำให้มีการกวดขันและลาดตระเวนตามแนวชายแดนมากขึ้น การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ในไทยทำให้หนังสือพิมพ์มลายาโจมตีว่ารัฐบาลไทยหาโอกาสจะฆ่าชาวไทยมุสลิมที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาแถลงข่าวว่า จะมีการปฏิรูปอย่างกว้างขวางในสี่จังหวัดภาคใต้ โดยยึดถือตามรายงานของคณะกรรมการที่ลงพื้นที่ นำโดยนายอับดุลลา หวังปูเต๊ะ

อนุสาวรีย์ลูกปืน: สัญลักษณ์แทนเหตุการณ์:

หลังจากเหตุการณ์สงบลง ทางราชการได้สร้าง "อนุสาวรีย์ลูกปืน" ขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์กบฏดุซงญอ แต่ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส สร้างเป็นรูปลูกกระสุนปืน ตั้งอยู่บนฐานทรงกลม 3 ชั้น สูง 36, 30, และ 30 เซนติเมตรตามลำดับจากล่างขึ้นบน ตัวกระสุนปืนมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 34 เซนติเมตร ส่วนปลอกกระสุนสูง 150 เซนติเมตร มีช่องสี่เหลี่ยมในส่วนใกล้หัวกระสุนซึ่งสูง 25 เซนติเมตร รวมความสูงของกระสุนปืน 245 เซนติเมตร กล่าวกันว่ามีการบรรจุกระดูกของตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏดุซงญอไว้ภายใน

สถานะของ "กบฏดุซงญอ" ในประวัติศาสตร์ไทย

ในงานศึกษาของ ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ได้นำเสนอไว้ว่า
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏดุซงญอ" มีฐานะและชะตากรรมคล้ายๆ กับบรรดากบฏชาวนาทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมา คือเป็นเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างและทำให้เป็นความทรงจำของสังคมต่อมาโดยรัฐและอำนาจรัฐสยามไทย
[ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย. กรุงเทพฯ: โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549. หน้า 45.]

เนื้อเรื่องการนำเสนอจะดำเนินไปในรูปแบบทำนองเดียวกันที่ว่า วันดีคืนดีก็มีกลุ่มชาวบ้านผู้หลงผิด พากันจับอาวุธแล้วลุกฮือขึ้นต่อสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่และข้าราชการของรัฐไทย และชาวบ้านพวกนั้นก็มักจะเป็น คนชายขอบ หรือชนกลุ่มน้อยของรัฐและสังคมไทย โดยมีกระบวนการทำให้เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของสังคมนั้น คนเหล่านั้นจะถูกทำให้เป็น "ผู้ร้าย" ในประวัติศาสตร์ไทย นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ข้อมูลทางด้านของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โดยตรง ไม่มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นออกมาเลย เนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองในช่วงก่อน พ.ศ.2500 ยังไม่เปิดโอกาสให้คนได้แสดงความคิดเห็นอย่างมีเสรีภาพ รวมทั้งการแสดงออกของสื่อๆ ต่างๆ ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เรื่องราวที่บอกเล่าเกี่ยวกับกบฏดุซงญอ จึงเป็นการลำดับเรื่องราวออกมาจากฝ่ายรัฐเสียเกือบทั้งหมด

ซึ่งต่างจากมุมของนักวิชาการ/นักเขียนมลายูมุสิลมที่เขียนถึงเหตุการณ์โดยเล่าเรื่องจากแง่มุมของชาวมุสลิมในพื้นที่วัฒนธรรมปัตตานี ที่จะต้องมาสัมพันธ์กับระบอบการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งของรัฐไทยและในบริบทความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอังกฤษที่ควบคุมแหลมมลายูอยู่ในเวลานั้น การจารึกเหตุการณ์ของพวกเขาทั้งในข้อเขียนและความทรงจำจึงอยู่ในฐานะ "การลุกขึ้นสู้" หรือสงคราม ที่ชาวบ้านดุซงญอหาญสู้กับอำนาจราชการของรัฐไทย ซึ่งแตกต่างจากทางรัฐไทยที่มองว่าพวกเขาเป็นกบฏ เป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์.
**********
ก่อนจะนำเสนอเรื่องราวของกบฏดุซงญอจากแง่มุมอื่นที่ไม่ใช่จากฝ่ายไทย ขออนุญาตนำหมายเหตุเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ลูกปืน ที่เขียนโดย ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการเจ้าของผลงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์เป็นหนังสือที่มีความสำคัญต่อการเสนอแนวทางเพื่อคลี่คลายความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทย เจ้าของผลงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์เป็นหนังสือที่มีความสำคัญต่อปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้:
ในกรณีดุซงญอนั้น มีการสร้างอนุสาวรีย์ลูกปืนที่ไม่มีจารึกบอกเล่าความเป็นมาใดๆขึ้นในสถานีตำรวจที่นราธิวาส ทำให้เห็นเป็นเรื่อง "ปรกติ" ที่สถานีตำรวจจะใช้ลูกปืนเป็นอนุสรณ์ ความรุนแรงกรณีดุซงญอจึงถูก "ซ่อน" ไว้ด้วยกระบวนการนี้ และแม้จะมีกระดูกอยู่ในอนุสาวรีย์ลูกปืน แต่ก็เป็นอนุสรณ์เฉพาะของความตายฝ่ายตำรวจเท่านั้น ส่วนความตายของชาวมลายูมุสลิมนับร้อยถูกบดบังไปสิ้น
[summary: การจัดการ "ความจริง" กึ่งศตวรรษปัตตานี; ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงกับการจัดการ "ความจริง" : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ, กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. อ้างอิงจากบทคัดย่อ ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย.2548 หน้า 136-149 http://chaisuk.wordpress.com/2007/06/24/summary-reality-pattani/]
**********
จากข้อสังเกตของ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่ว่า "ความตายของชาวมลายูมุสลิมนับร้อยถูกบดบังไปสิ้น" นั้น ดูเหมือนจะยังคงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงหลายๆเหตุการณ์ที่มีประชาชนไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้เสียชีวิตในลักษณะคล้ายกัน อย่างเช่น "กรณีกรือเซะ 28 เมษายน 2547" ที่มีทหารเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บสาหัส 8 นาย และประชาชนเสียชีวิต 32 คน; "กรณีตากใบ 25 ตุลาคม 2547" ที่มีประชาชนเสียชีวิตถึง 85 คน ฯลฯ


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 18-24 มกราคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8