Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (76)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (9)

หนังสือ Hikayat Patani ภาษายาวี ถือเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยจารีตเล่มสำคัญที่สุดของปาตานี เล่าเรื่องราววงศ์กษัตริย์ของปาตานี สภาพบ้านเมือง ศาสนาประเพณีความเชื่อ และสงคราม กล่าวถึงเรื่องราวระหว่างปี พ.ศ. 2233 ถึงปี พ.ศ. 2273 โดยฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุด โดย Wyatt และ Teeuw จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2382 และเก็บไว้ที่ ห้องสมุดรัฐสภาสหรัฐ และแปลเป็นภาษาไทยโดย วัน มโรหะบุตร


โดยทั่วไปการศึกษาทบทวนประวัติศาสตร์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะสอบค้นข้อมูลอย่างกว้างไกลและรอบด้านมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ แม้ว่าในหลายกรณีการค้นคว้าอาจถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขบางประการ ขึ้นอยู่กับความเปิดกว้างของแต่ละสังคมที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่ว่าจะมีเสรีภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหมายถึงสังคมนั้นๆ มีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ประการใด สำหรับเหตุการณ์ที่เรียกกันในประวัติศาสตร์ไทยว่า "กบฏดุซงญอ" นั้น นับว่ามีความสำคัญต่อพัฒนาการความขัดแย้งที่มีความซับซ้อนและมีประวัติอันยาวนานมาตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่างประชาชนในพื้นที่ที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไป และที่เป็นผู้นำชุมชน

การศึกษาความเป็นมา ก่อนจะนำไปสู่เหตุการณ์ มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบข้อมูลไม่ใช่เฉพาะทางฝ่ายไทย หรือเป็นการบันทึกทางฝ่ายรัฐแต่เพียงช่องทางเดียว เพราะแม้แต่ฝ่ายรัฐไทยเอง ก็ยังมีความแตกต่างกันในจุดยืน วิธีพิจารณาและแก้ไขปัญหาที่ต่างออกไปของอำนาจรัฐสองระบบ คือประชาธิปไตย (ก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490) และเผด็จการ (หลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490)

ข้อมูล 2 ตอนต่อไปนี้ จะเป็นการยกบทความ "แด่....อนุชนรุ่นหลัง" จากเว็บไซต์ของผู้คนในบ้านดุซงญอ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าว (อ้างอิง : ธนวัฒน์ แซ่อุ่น 2547 บ้านดุซงญอกบฏต้นแบบพลีชีพ 107 ศพ. 5 พฤษภาคม 2547 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน)
(http://www.freethailand.com/indexsite.php?act=m&catid=81987&username=dusongyoo)
**********
ตำนาน "กบฏดุซงญอ"
แด่.....อนุชนรุ่นหลัง


ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนใต้ โดย...พล ต.ท.พิงพันธ์  เนตรรังสี อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ขณะเข้าปราบกบฏดุซงญอ นั้น มียศเป็น ร.ต.ต.ในวัย 21 ปี ตำแหน่ง ผบ.หมวด สภอ.เมืองนราธิวาส ได้บันทึกเหตุการณ์ในมุมมองเจ้าหน้าที่รัฐ...

เนื้อหาโดยสรุปมีว่า.... ปี 2491 มีกลุ่มก่อการร้ายที่มีอุดมการณ์แย่งแยกดินแดนทั้งนอกและในพื้นที่ตั้งตัว เป็นหัวหน้า 6 คน รวบรวมสมัครพรรคพวก 300 คนฝึกอาวุธปืนและดาบรวมทั้งทำพิธีอาบน้ำมันศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้อยู่คงกระพันที่ภูเขา "ฆูวอลือมู" บ้านยารอ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2491 กลุ่มดังกล่าวได้ยกกำลังลงจากภูเขามาทำร้ายประชาชน และเข้ายึดหมู่บ้านดุซงญอ ทางการส่งกำลังเข้าปราบปราม วันที่ 26 เมษายน 2491  แต่กำลังน้อยกว่า จึงกลับมาใหม่พร้อมกำลัง 100 นาย ในวันที่ 28 เมษายน 2491 ทว่ายังยึดหมู่บ้านคืนไม่ได้ แต่ทำให้ผู้ก่อการได้รับบาดเจ็บ ล้มตายหลายคน วันที่ 29 เมษายน 2491 ระดมกำลังทั่วภาคใต้ บุกยึดคืนอีกครั้ง ก่อนที่จะเข้าจับกุม ผู้ก่อการหลบหนีไปเสียก่อนจึงยึดหมู่บ้านได้ สุดท้ายมีการฟื้นฟูหมู่บ้านและชาวบ้านที่หนีตายได้กลับเข้ามาอาศัยอยู่จนถึงปัจจุบัน

จากคำรำลือว่า "กบฏดุซงญอ" เป็นเหตุให้เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ภาคใต้อนุชนรุ่นหลังต่อ การศึกษาข้อเท็จจริง แต่เพราะการขาดการบันทึก และผู้เฒ่าที่รอดชีวิต ถูกบันทึกตราหน้าว่าเป็นกบฏ ต่างปล่อยความทรงจำอันบาดลึกตกตายไปกับตัว จนทำให้คนรุ่นหลังแทบจะลืมเลือนไปแล้วว่าเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2491 ย้อนหลังไปเพียง 63 ปี เคยบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในหมู่บ้านดุซงญอของเรา
การสอบถามข้อเท็จจริงจาก โต๊ะเปาะสู แต่ความจำร่วงโรยไปตามสภาพความชราเกือบ 100 ปี และนายอารง บาโด ปี อดีตกำนันตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ได้เล่าเรื่องราวที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อตา (นายประพัฒน์ เจตาภิวัฒน์) ว่าชาวบ้านไม่ได้ก่อกบฏแต่เป็นการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ มลายา (จคม.) ที่นำพวกมาปล้นหมู่บ้าน แต่ทางการเข้าใจผิดยกกำลังมาปราบ ทำให้ชาวบ้าน ราษฎรที่มีเพียงมีดถูกยิงตายเป็นจำนวนมาก

ตอนนั้นผู้เล่านายอารง บาโด อายุ 9-10 ปี มีโจรคอมมิวนิสต์ จากบ้านบือโลง รัฐเปรัคมาเลเซีย เข้ามาปล้นตลาดดุซงญอ เพื่อเอาเสบียง แล้วจับชาวบ้านไปเป็นลูกหาบ ขนเสบียงที่ปล้นได้กลับชายแดนที่บ้านไอกือมารา ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านน้ำวน ตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาสและนายประพัฒน์ เจตาภิวัฒน์ เป็นกำนันตำบลจะแนะในสมัยนั้น ซึ่งมาในฐานะเป็นพ่อตา ถูกจับไปเป็นลูกหาบด้วย

ปี พ.ศ. 2490 เวลาโดยประมาณ 06.00 น. เช้าตรู่ คอมมิวนิสต์ ยกพวกเข้าปล้นในหมู่บ้านชาวบ้านจึงแตกตื่นวิ่งหนีเข้าป่า บางส่วนปิดประตูบ้าน โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) ตะโกนให้เปิด แต่ไม่มีใครกล้าเปิดประตู โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) จึ่งตั้งแถวเป่าแตร่ให้สัญญาณรบ แล้วใช้ปืนที่เรียกว่า "แมชชีนกัน" ยิงเข้าใส่ มีผู้คนถูกกระสุนปืนบาดเจ็บหลายคน เมื่อชาวบ้านยังไม่ยอมเปิดประตู โจรจีนคอมมิวนิสต์ไปขนยางพารามากองใต้ถุนบ้านเตรียมเผารมควันกดดันให้ออกมา จนชาวบ้านต้องยอมเปิดประตู

เมื่อได้เสบียง เช่น เสื้อผ้า อาหาร โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) ได้จับชายฉกรรจ์ประมาณ 20-30 คน เป็นลูกหาบขนเสบียงอาหาร การเดินทางมีความลำบากมาก เพราะต้องเดินเท้าในป่าทึก ยังไม่มีถนน เดินไปได้ 500 เมตร ต้องหยุดพักเหนื่อยเป็นจุดๆ ส่วนอดีตกำนัน นายประพัฒน์ เจตาภิวัฒน์ ถูกจับเป็นลูกหาบ หนีกลับมาได้ เพราะทำทีไปขอดื่มน้ำที่บ้านของชาวบ้านจะแนะ จุดที่หนีมาได้ ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลจะแนะ ส่วนลูกหาบคนอื่นๆพอถึงปลายทางแล้ว โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) จึงปล่อยตัวกลับมา แต่ต้องใช้เวลาเดินเท้าไปกลับเกือบครึ่งเดือน

ในการปล้นครั้งนั้น นอกจากกวาดเอาเสบียงอาหารแล้ว โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) ยังฉีกทำลายหนังสืออัลกุรอ่านด้วย ซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา และหนังสือ (กีตาบ) ที่เกี่ยวกับวิชาการทางศาสนาจำนวนมาก หลังจากนั้นได้ใช้บั้นท้ายปืนทุบนายหะยีอาแว โต๊ะครูสอนศาสนาที่มัสยิดบ้านสุแฆ (หมู่ที่ 3 ต.ดุซงญอ) เสียชีวิตไป 1 คน เป็นเหตุให้ชาวบ้านโกรธแค้นโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา(จคม.) ยิ่งนัก แต่ด้วยกลับปืนกลเร็วจึงได้แค่รวมตัวกัน และนัดพบกันที่ "ฆูวอลือมู" ที่หมู่บ้านยารอ เพื่อสวดมนดุอา ให้พระเจ้าคุ้มครอง นานวันกลุ่มชาวบ้านจากหมู่บ้าน ตำบลใกล้เคียงที่กลัวโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) มารวมตัวกันมากขึ้นทุกวัน

ช่วงนั้น บังเอิญมีโต๊ะครูคนหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า "โต๊ะ เปรัค" เป็นชาวเปรัค มาเลเซีย ซึ่งมาศึกษาวิชาการทางศาสนาที่ปอเนาะปัตตานี จบแล้วได้ภรรยาที่บ้านบองอ จากนั้นมาเปิดปอเนาะสอนวิชาคงกระพันชาตรีขึ้นที่หมู่บ้านดุซงญอ (ที่ตั้งโรงเรียนบ้านดุซงญอในปัจจุบัน) เพื่อสอนให้ชาวบ้านต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.)

วิธีการเรียน มีการตั้งกระทะ ต้มน้ำมันจนเดือนพล่าน แล้วให้ลูกศิษย์ทั้งอาบ ทั้งทา เพื่อให้หนังเหนียว ยิงไม่เข้า ฟันไม่ถลอก แทงไม่ทะลุ จึงมีชาวบ้านทั้งที่กลัว และไม่กลัวโจร จากหลายหมู่บ้านพากันมาสมัครเป็นลูกศิษย์โต๊ะเปรัค จำนวนมากรวมทั้งพวกที่สวดมนต์อยู่ ณ ถ้ำวัว ก็มาสมัครด้วย

(ยังมีต่อ)


พิมพ์รั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 25-31 มกราคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8