Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (71)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (4)

จอมพล ป.(แปลก) พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 และอีกหลายสมัย

เนื้อหาของบทความจากเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดย วรัญญา เพ็ชรคง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ คือ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต ได้ให้ข้อมูลของ "หะยีสุหลง" เรื่อง "กรณีการจับตัวหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/กรณีการจับตัวหะยีสุหลง_อับดุลกาเดร์)ในหัวข้อ นโยบายของรัฐไทยที่ส่งผลกระทบต่อสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับว่ามีความสำคัญต่อการพิจารณาประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังการขึ้นครองอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังการปราบปราม "กบฏพระยาทรงสุรเดช"

(ในตอนต่อๆ ไป จะนำเสนอแนวนโยบายของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองในพื้นที่นี้ เพื่อจำแนกให้เห็น แนวความคิดที่แตกต่างกันของหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน กับหัวหน้าสายทหารบกชั้นยศน้อย)
**********
นโยบายของรัฐไทยที่ส่งผลกระทบต่อสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ระหว่างปี พ.ศ. 2482-2490 ได้เกิดเหตุการณ์การต่อต้านนโยบายรัฐบาลในสี่จังหวัดภาคใต้ โดยเริ่มต้นจากความไม่พอใจนโยบายสร้างชาติของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และความเดือดร้อนที่เป็นผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรพา

นโยบายการสร้างชาติ

จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2481 รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลชาตินิยม เพราะมีอุดมการณ์ที่จะนำประเทศไทยเข้าสู่ระดับนานาอารยประเทศ และให้ความสำคัญกับเชื้อชาติไทยซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการประกาศใช้รัฐนิยมช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2482-เดือนมกราคม พ.ศ.2485 จำนวน 12 ฉบับ เช่น ฉบับที่ 1 ว่าด้วย "ใช้ประเทศ, ประชาชน และสัญชาติ" มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย กำหนดให้เรียกคนสยามว่าคนไทยเพื่อเน้นความถูกต้องตามเชื้อชาติและความนิยมของประชาชน รัฐนิยมฉบับแรกจึงเริ่มสร้างความรู้สึกคนละพวกให้มีความเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชาวมุสลิมในภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ต่างกัน

หลังจากประกาศใช้รัฐนิยมครบทั้ง 12 ฉบับ ปฏิกิริยาความไม่พอใจของชาวมุสลิมไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่เป็นการพัฒนาความไม่พอใจที่รู้สึกว่าบีบคั้นให้เกิดขึ้นอย่างเรื่อยๆ โดยเฉพาะรัฐนิยมฉบับที่ 9 ด้วยเรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี รัฐนิยมฉบับที่ 10 ว่าด้วยเครื่องแต่งกายของประชาชนชาวไทย ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้และมีผลบังคับอย่างจริงจัง กระแสความไม่พอใจและการต่อต้านของชาวมุสลิมในพื้นที่ก็ค่อยเพิ่มมากขึ้น

ที่จังหวัดสตูล ทางจังหวัดมีจดหมายราชการถึงอำเภอต่างๆ ขอให้แนะนำ ชักชวน และขอความร่วมมือจากบรรดาพ่อค้าให้งดสั่งซื้อผ้าโสร่งมาจำหน่ายแก่ราษฎร

ที่จังหวัดยะลา มีกรณีการจับกุมเด็กชายกิมซง แซ่ลิ้ม ซึ่งวิ่งเปลือยกายตามรถแจกใบปลิวภาพยนตร์ไปว่ากล่าวตักเตือน ลงโทษควบคุมตัวเอาไว้ถึง 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้แนะนำตักเตือนผู้ปกครองหรือพ่อแม่ของเด็กอีกหลายรายที่ปล่อยให้บุตรหลานเปลือยกายตามริมถนน ตลอดจนที่อุ้มอยู่และที่ใส่รถเข็น ส่วนคนขอทานก็ได้แนะนำให้เลิกอาชีพขอทานเสีย และบรรดาแม่ค้าก็ถูกห้ามทูนของบนศรีษะแต่ให้ใช้คานหาบแทน [หจช. แฟ้มสำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรี (สร.) 1201.15 กล่อง 2 ปึก 40 แผ่น 4 เรื่อง "คดีหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์กับพวก พ.ศ.2496" อ้างใน เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร. หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์. กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน. 2547. หน้า 27.]

ที่จังหวัดนราธิวาส ชาวมุสลิมจะยอมทำตามในสิ่งที่ปฏิบัติได้ แต่บางอย่างก็ไม่อาจจะปฏิบัติตามได้คือ การห้ามสวมหมวกแบบอิสลามและห้ามสตรีใช้ผ้าคลุมศรีษะ

แต่สำหรับจังหวัดปัตตานีแล้ว ปรากฏว่าค่อนข้างโดนต่อต้านมากกว่าที่อื่นๆ จนทำให้ข้าหลวงประจำจังหวัดขณะนั้นมีคำสั่งให้แต่ละอำเภอกวดขันให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่นถ้าใครไม่ปฏิบัติ หรือถ้ายังนุ่งโสร่งหรือแต่กายตามแบบประเพณีเดิมแล้วจะไม่ให้ความสะดวกในการติดต่อราชการ เป็นต้น

หรือบางกรณีที่เกิดขึ้นและมีปรากฏในเอกสารทางราชการซึ่งชาวมลายูมุสลิมเห็นว่าเป็นการกดขี่ทารุณ ดังเช่น

เครื่องแต่งตัวให้สวมหมวก สวมกระโปรง ให้ถอดโสร่ง พวกราษฎรไม่พอใจ แต่เมื่อถูกบังคับก็จำเป็นต้องทำ...มีการจับ ทำร้าย ทุบตีดึงมาโรงพัก ผู้หญิงที่โพกผ้าก็ดึกกระชากทิ้งให้เห็น...

ความไม่พอใจของชาวมลายูมุสลิมยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อรัฐบาลประกาศประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และ 6 ว่าด้วยครอบครัวและมรดกแทนที่การใช้กฏหมายอิสลามซึ่งเคยใช้กันในศาลจังหวัดของสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้เดินทางไปขึ้นศาลศาสนาในรัฐมลายูซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ยกเว้นปัตตานีที่ไม่มีพรมแดนติดกับมลายู จึงใช้วิธีเลือกกอฎีขึ้นมาทำหน้าที่ติดสินข้อพิพาท ซึ่งปรากฏว่า หะยีสุหลงได้รับเลือกมาทำหน้าที่นี้ ด้วยความสามารถและการสร้างศรัทธาในหมู่ชาวมุสลิมที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
(ยังมีต่อ) 
**********
ในบทวิจัยเรื่อง "มุมมองนักวิชาการ กบฏดุซงญอ การเมืองในประวัติศาสตร์" เขียนโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เขียนถึงมูลเหตุของกบฏดุงซงญอไว้ว่า:
ในด้านของการนำเสนอ ถ้าจะใช้ศัพท์แบบการเขียนนิยาย ก็คือในแต่ละเหตุการณ์จะมีพล๊อตเรื่อง มีทั้งพล๊อตเรื่องหลักและรอง  การจะเข้าใจเหตุการณ์นั้นๆ จำเป็นจะต้องรู้ถึงพล๊อตเรื่องทั้งหมดด้วย จึงจะทำให้สามารถวินิจฉัยเรื่องราวนั้นๆได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงมาก ที่สุด  และจึงจะบรรลุการเกิดความเข้าใจในเหตุการณ์นั้นๆได้อย่างดีมากที่สุดด้วย

ท้องเรื่องใหญ่ของกรณี "กบฏดุซงญอ" นั้น อยู่ในเรื่องการเคลื่อนไหวเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิของประชาชนชาวมลายูมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้สุด อันได้แก่ ปัตตานีนราธิวาส ยะลา(ในอดีตคืออาณาจักรปตานี) และสตูล ซึ่งดำเนินมายาวนาน แต่ในพล๊อตเรื่องนี้ เราจะจำกัดเพียงแค่การเคลื่อนไหวของประชาชนมลายูมุสลิมในปัญหาการเมืองการ ปกครองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งแรก ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงรัฐบาลยุคเสรีไทยหลังสงครามโลก กรณีรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 แล้วมาจบลงในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่สอง กินเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2481 ถึง 2491 ราวสิบปีหรือหนึ่งทศวรรษ.
**********
บรรยายภาพ (ขยาย) จอมพล ป.(แปลก) พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 และอีกหลายสมัยในเวลาต่อมา ชื่อจริง "แปลก" นั้น มาจากการที่เกิดมาแล้ว หูอยู่ต่ำกว่าตา และว่าเป็นผู้นำที่มีนโยบายหลายอย่างขัดกับมุสลิมในประเทศ  เช่นห้ามใส่ผ้าคลุม ห้ามใส่กาปีเยาะห์หรือแม้แต่ออกนโยบายสร้างกะบะฮ์ขึ้นในไทย เพื่อป้องกันการรั่วไหลเงินตราออกนอกประเทศจากผู้ทำฮัจญ์ (จน สว.มุสลิมท่านหนึ่ง ต้องบอกกล่าวว่าต้องอยู่ที่มักกะฮฺเท่านั้น และยกกุรอานซูเราะฮฺอัลฟีล มาอธิบาย ถึงได้ยกเลิกไปในที่สุด) http://smiana.wordpress.com/2011/02/23/โต๊ะครูใต้-ฮีโร่สามจังห/


พิมพ์คั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 ธันวาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8