Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนา ในสยาม-ไทย (68)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (1)
 
หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ (หะยีสุหลง โต๊ะมีนา)

สถานการณ์ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศในภูมิภาคนี้ รวมทั้งประเทศไทย มีผลอย่างสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ เนื่องจาก ความสนใจของประชาชนวงการต่างๆ ล้วนรวมศูนย์อยู่ที่ภาวะสงครามที่นำความยากลำบากมาสู่การดำเนินชีวิตประจำวันอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในระหว่างสถานนะสงครามที่ราชอาณาจักรไทยประความเป็นศัตรูกับฝ่ายสัมพันธมิตร และ รัฐบาลไทยลงนามเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ที่มีคนไทยบางคนได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในภูมิภาคนี้คือ จักรวรรดิญี่ปุ่นและมีคนไทยกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นต่อต้าน จับอาวุธลุกขึ้นสู้เพื่อเอกราช คือ "ขบวนเสรีไทย"

ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งก็หาได้ถูกทำให้ชลอหรือกลบไปด้วยไฟสงครามแต่อย่างใด นั้นคือ "ปัญหาหัวเมืองชายแดนใต้" ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ต้นการปกครองยุครัตนโกสินทร์ และความไม่พอใจรัฐบาลสยาม/ไทยของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูที่คุกรุ่นมานับจากการล่มสลายของอาณาจักรปตานี ก็ปะทุขึ้นมาอีกครั้งจากการยกเลิกระบบสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองนครมาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 และทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งความอดอยาก ต้องดำรงชีวิตอย่างยากลำบากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามเห็นว่าพวกตนไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกับราษฎรที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนที่เป็นเสมือนคลื่นใต้น้ำจากภายนอก โดยอังกฤษสนับสนุน ตวนกู (ตนกูหรือ เต็งกู) มะไฮยิดดิน อับดุลกาเดร์ บุตรของ ตวนกู อับดุลกาเดร์ กามารูดดีน รายาปัตตานีองค์สุดท้ายให้แยกตัวออกจากไทย เพื่อแก้แค้นที่ไทยหันไปร่วมมือกับญี่ปุ่น แกนนำในการต่อต้านรัฐบาลยุคนั้นคือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ (หะยีสุหลง โต๊ะมีนา) ซึ่งมีบทบาทในการคัดค้านการตั้งดะโต๊ะยุติธรรม เรียกร้องให้แยกศาลศาสนา และเสนอคำขอ 7 ข้อต่อรัฐบาล

ในเวลาต่อมา หะยีสุหลงถูกจับด้วยข้อหากบฏเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรในพื้นที่อย่างกว้างขวาง

และเหตุการณ์นั้นเองเป็นที่มาของ "ปือแร ดุซงญอ" (ภาษามลายูปัตตานี แปลว่า "ดุซงญอลุกขึ้นสู้"หรือ "สงครามดุซงญอ") หรือที่รัฐไทยเรียกว่า กบฏดุซงญอ (คำว่า "ดุซงญอ" เป็นภาษาท้องถิ่นพื้นเมืองทางภาคใต้หมายถึง "สวนมะพร้าว" และเดิมพื้นที่บ้านดุซงญอเป็นที่ตั้งสวนของเจ้าพระยาเมืองระแงะ หนึ่งในเจ็ดหัวเมืองที่ถูกแบ่งแยกและปกครองในสมัยรัชกาลที่ 1 (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/กบฏดุซงยอ) ซึ่ง ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนไว้ในบทความ เปิดแผนโจรใต้ "28 เมษา" ปลุกผี "กบฏดุซงญอ" ในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน วันที่ 30 เมษายน 2547 ว่า
"…ตามประวัติศาสตร์แล้ว กรณีกบฏดุซงญอเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยกับชาวบ้านมลายูมุสลิมที่ดุซงญอ จ.นราธิวาส และเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2491 ซึ่งสมัยนั้นมีกรณีความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ และมีการต่อสู้กันแล้วแต่ยังมีข้อถกเถียงในสรุปตัวเลขคนตาย แต่อย่างน้อยประมาณ 400 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 40 คน ซึ่งคนไทยรู้จักกันในนามของกบฏดุซงญอ แต่นักประวัติศาสตร์มลายูมุสลิม หรือมาเลเซียเรียกว่า เคบังอีตัน แปลว่า การลุกขึ้นสู้"
ในขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ (อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักคิด นักเขียน ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ, รางวัลฟูกูโอกะ และรางวัลศรีบูรพา ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งหลังจากสมัยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และจิตร ภูมิศักดิ์) ระบุว่า
"กรณีดุซงญอนั้นเป็น 'กบฏชาวนา' ขนานแท้และดั้งเดิมทีเดียว โดยเริ่มจากชาวบ้านฝึกวิชาคงกระพันชาตรีเพื่อต่อสู้กับโจรจีนมลายู ซึ่งเคยปล้นเสบียงอาหารของชุมชนไป แต่เจ้าหน้าที่รัฐระแวงสงสัยและตรวจตราเข้มงวดมากขึ้น ชาวบ้านไม่พอใจจึงเกิดรบราฆ่าฟันกันขึ้น (ดูรายงานของธนวัฒน์ แซ่อุ่น ในมติชน, 5 พฤษภาคม 2547 ซึ่งแม้รายละเอียดจะแตกต่างจากงานของนักวิชาการ แต่เนื้อหาหลักก็ลงรอยกัน) เพื่อขับไล่อำนาจรัฐมิให้เข้ามาแทรกแซงในชุมชนมากเกินไป หาได้มีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนประการหนึ่งประการใดไม่"
ในบทวิจัยเรื่อง "มุมมองนักวิชาการ กบฏดุซงญอ การเมืองในประวัติศาสตร์" เขียนโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (http://www.freethailand.com/indexsite.php?username=dusongyoo&cat=21576&act=mc) เขียนไว้ว่า:
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏดุซงญอ" ก็ มีฐานะและชะตากรรมคล้ายๆกับบรรดากบฏชาวนาทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมา  คือเป็นเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างและทำให้เป็นความทรงจำของสังคม ต่อมาโดยรัฐและอำนาจรัฐสยามไทย  เนื้อเรื่องจะดำเนินไปเหมือนๆกันทำนองนี้  วันดีคืนดีก็มีกลุ่มชาวบ้านผู้หลงผิด พากันจับอาวุธแล้วลุกฮือขึ้นต่อสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่และข้าราชการของรัฐไทย  ชาวบ้านพวกนั้นมักเป็น "คนชายขอบ" หรืออีกศัพท์เรียกว่า "คนกลุ่มน้อย" ของรัฐและสังคมไทย  ที่น่าสนใจคือในกระบวนการทำให้เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของสังคมนั้น  คนเหล่านั้นก็จะถูกทำให้กลายเป็น "ผู้หลงผิด" และเป็น "ผู้ร้าย" ในประวัติศาสตร์ไทยไป  บทความนี้จะศึกษาเหตุการณ์ในอดีตของกรณี "กบฏดุซงญอ" ซึ่งตกอยู่ในสภาพและฐานะของ "ผู้ร้าย" มานับแต่เกิดเหตุการณ์นั้นมาถึงเหตุการณ์ล่าสุดในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 ที่ทำให้เสียงและความทรงจำไปถึงหลักฐานข้อมูลที่เป็นของชาวบ้านเหล่านั้นถูก เปิดเผยออกมาอย่างกว้างขวางมากที่สุดในพื้นที่สาธารณะของสังคม

"กบฏดุซงญอ" เป็น ตัวอย่างอันดีของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ว่าไม่มีเหตุการณ์ใดที่เกิดและเป็นเรื่องเป็นราวของมันเองโดดๆ หากแต่มันจะต้องเกี่ยวพันผูกโยงกับเหตุการณ์อื่นๆอีกมากมาย  นี่เองที่ทำให้ความหมายคลาสสิคดั้งเดิมของคำว่า "historia" ซึ่ง เฮโรโดตัสเป็นผู้ริเริ่มใช้ จึงหมายถึงการสืบสวนหรือเจาะหาเข้าไปถึงเรื่องราวในอดีต  นอกจากการจัดการกับหลักฐานข้อมูลหลากหลายแล้ว เวลาที่ผ่านไปก็ทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถสร้างและทำความเข้าใจความนึกคิด ของอดีตในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาได้บ้าง นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "บริบท" ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นหนึ่งในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์
**********
ก่อนจะบรรยายเหตุการณ์ "กบฏดุซงยอ" จำเป็นต้องกล่าวถึง ที่มาของเหตุความขัดแย้งในครั้งนั้น ซึ่งเริ่มต้นที่การจับกุมหะยีสุหลง โดยนำเสนอประวัติโดยสังเขปของหะยีสุหลง มีชื่อเต็มว่า "ตวนกูรู หะยีมูฮำหมัด สุหลง บิน หะยี อับดุลกาเดร์ บินมูฮัมหมัด อัล-ฟะฎอนี" ถือกำเนิดในปี พ.ศ.2438 ที่หมู่บ้านกำปงอาเนาะรู (หมู่บ้านลูกสน) มณฑลปัตตานี เป็นบุตรชายคนโตของ ฮัจญีอับดุลกาเดร์ บิน มูฮัมหมัด หรือ ตวนกูอับดุลการ์เดร์ กามารุดดิน สุลต่านแห่งปัตตานีองค์สุดท้าย ผู้ถูกจับตัวในฐานะที่แข็งข้อต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบมณฑลในสมัยรัชกาลที่ 5 จนต้องถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งในช่วงที่บิดาถูกจับ หะยีสุหลงมีอายุเพียง 7 ขวบ และหลังจากออกจากคุกบิดาก็หนีไปปักหลักอยู่ที่กลันตัน ร่วมกับลูกหลานคนอื่นๆ ที่ยังคงดำเนินการต่อต้านระบอบการปกครองของสยามในสมัยนั้น ส่วนมารดาชื่อซารีเฟาะห์ ซึ่งเป็นภรรยาคนแรกของบิดาในจำนวนทั้งหมด 3 คน เป็นหลานปู่ของ ฮัจญีไซนับอาบีดิน บิน อาหมัด หรือ "ตวนมีนาล" ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราศาสนาที่ชื่อเสียง
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 30 พฤศจิกายน-6 ธันวาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8