Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนา ในสยาม-ไทย (67)

กบฏชาวนาหลังเกิด "รัฐไทย"
กบฏผู้มีบุญ "โสภา พลตรี" (5)

การทรมานนักโทษที่ถูกทางการราชวงศ์ชิงจับกุมตัวในกบฏนักมวย (สมาคมอี้เหอถวน) ระหว่างปี ค.ศ. 1898-1900

ประเด็นที่สองสำหรับเหตุผล (ตามที่ผู้เขียนทั้งสองเก็บข้อมูลดิบจากการสัมภาษณ์ตัวบุคคลร่วมสมัยกับ หมอลำโสภา พลตรี) ในบทความ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" (สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ชอบ ดีสวนโคก ตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 12, 1 พ.ค.-ต.ค. 2537 หน้า 39-51) เป็นเรื่องน่าสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ในลักษณะ "กบฏชาวนา" (เมื่อก่อการไม่สำเร็จ) หรือการ "ปราบดาภิเษก" หรือ "เปลี่ยนราชวงศ์" (ในกรณีที่ก่อการสำเร็จ) กับการ "พึ่งไสยศาสตร์":

2) พ่อใหญ่โสภาแสดงปาฏิหาริย์ในลักษณะผู้วิเศษ 2 ครั้ง คือครั้งแรกถ่วงน้ำแล้วไม่ตาย ครั้งหลังศพถูกฝังไปแล้วพอขุดขึ้นมาศพก็หายไปในลักษณะ "สำเร็จ" ของผู้วิเศษ
**********
ดังที่เคยเขียนไว้ในตอนต้นของบทความชุดยาวนี้ "กบฏชาวนาก่อนยุคประชาธิปไตย : บทเกริ่นว่าด้วยกบฏในราชวงศ์ชิง" (โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 18-24 สิงหาคม 2555) ซึ่งเขียนถึงกบฏชาวนาครั้งสำคัญ 3 ครั้งในประวัติศาสตร์จีนคือ
กบฏพรรคดอกบัวขาว (แป๊ะเน้ย) ที่ต้องการฟื้นฟูราชวงศ์ต้าหมิงถูกทำลายล้างสิ้นในปี ค.ศ. 1800
กบฏไท้เผ็ง (ไท้เผ็งเทียนกว๋อ) ค.ศ. 1849 (ถูกปราบมีคนตาย 20 ล้าน)
กบฏนักมวย (สมาคมอี้เหอถวน) ระหว่างปี ค.ศ. 1898-1900
ทั้งหมดใช้ไสยศาสตร์นำ และผลคือการถูกปราบจนราบคาบ ขณะที่อำนาจรัฐในยุคที่เกิดกบฏนั้นเองก็ไม่พ้นเป็นอำนาจรัฐที่มีรากฐานความคิดแบบไสยศาสตร์เช่นเดียวกัน จึงน่าจะตั้งเป็นข้อสังเกต ว่า ไสยศาสตร์ไม่ควรแม้แต่การนำมาใช้ในเชิงปฏิบัติการจิตวิทยาในการลุกขึ้นสู้ จะเพื่อปลดปล่อยจากการอำนาจการปกครองหนึ่ง หรือเพื่อสถาปนาระบอบการปกครองอีกระบอบหนึ่งก็ตาม

สำหรับกรณีพ่อใหญ่โสภา สิ่งที่เรียกว่าปาฏิหาริย์หรืออิทธิฤทธิ์ หรืออะไรก็ตามที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์นั้น มีเพียงพยานบุคคลซึ่ง "พร้อมจะเชื่อ" เนื่องจากมีศรัทธาต่อตัวพ่อใหญ่โสภาตั้งแต่แรกแล้ว

ที่สำคัญ การใช้ "ไสยศาสตร์นำ" หาได้มีพื้นฐานที่ "อุดมการณ์ทางการเมือง" แต่อย่างใดไม่

สำหรับประเด็นสุดท้าย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับประเด็นที่สอง แต่มีลักษณะเป็น "ศาสดาพยากรณ์" นั้น คือ "การมองเห็นอนาคต" ช่วงสุดท้ายของบทความฯ เขียนไว้ดังนี้:

3) พ่อใหญ่โสภาเป็นนักพยากรณ์ ในช่วงที่พ่อใหญ่โสภามีชีวิตได้พยากรณ์บ้านเมืองไว้หลายเรื่อง ตอนนั้นผู้คนที่ฟังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ภายหลังจึงเข้าใจจึงพากันชื่นชมในความสามารถ ตัวอย่างของคำพยากรณ์ทำนายอนาคตบ้านเมืองว่าจะเกิดสิ่งต่อไปนี้

"ม้าสิโป่งเขา เสาสิออกดอก" ต่อมาชาวบ้านจึงเข้าใจว่าอันแรกคือมอเตอร์ไซค์ อันหลังคือเสาไฟฟ้า

"กระดาษน้อยๆ สิมีค่า" คชต่อมาชาวบ้านเข้าใจว่ามันคือหวยเถื่อน (คุย แดงน้อย, อรุณ เชื้อสาวะถี)

"เหมิดบ้านจะมีไถ 2-3 ดวง เอาไว้ไถนากัน" ชาวบ้านในเวลาต่อมาตีความว่าไถที่ใช้ควายจะเลิกไป เหลือแต่รถไถเดินตาม หมูบ้านละ 2-3คัน

"ทางย่าง 9 คืน 10 คืน จะย่างมื้อเดียว" ชาวบ้านในเวลาต่อมาตีความว่าคือถนนลาดยางในปัจจุบัน เดิมเคยเดิน 9-10 วัน จะใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ภายในวันเดียว

"เขาตีมวยอยู่เมืองนอก จะนอนฟังอยู่บ้านก็ได้" ชาวบ้านในเวลาต่อมาตีความว่าคือวิทยุ โทรทัศน์

"เขาลำอยู่ทิศใด ย่างตามทางก็ฟังได้" ชาวบ้านในเวลาต่อมาตีความว่าคือวิทยุทรานซิสเตอร์

"จะมีของน้อยหิ้วไป ฟังได้เป็นร้อยเป็นพัน" ชาวบ้านในเวลาต่อมาตีความว่าคือวิทยุทรานซิสเติร์เช่นกัน

"โบกกุมภัณฑ์ สิบวันจึงเปิดเทียหนึ่ง แต่บ่มีไผเป็นหนี้กัน" "กระดาษน้อยสองนิ้วใครก็ซื้อ บางคนซื้อเป็นพันก็มี ผู้มีหลายก็ซื้อหลาย ผู้มีน้อยก็ซื้อน้อย ผัวเมียบ่ผิดกัน ผัวก็ซื้อเป็น เมียก็ซื้อเป็น ลูกก็ซื้อเป็น" ชาวบ้านในเวลาต่อมาตีความว่าอันแรกคือสลากกินแบ่งรัฐบาล อันหลังคือหวยเถื่อน

"ต่อไปนี้พระยาแมงงอดก็จะมี พระยาขอดก้นหอยก็จะมี มันซิเดือดฮ้อน มันซิเจ็บปวด ปกครองบ้านเมืองบ่เป็นธรรม" อันนี้ชาวบ้านตีความว่าหลังปี 2483 (ปีที่พ่อใหญ่โสภาทำนาย) รัฐบาลที่ปกครองเป็นคนไม่ดี ลุแก่อำนาจ จะปกครองบ้านเมืองแบบเผด็จการ บ้านเมืองหาความเป็นธรรมมิได้ (อรุณ เชื้อสาวะถี) ปี 2490 ทหารทำรัฐประหาร นับแต่นั้นมา ทหารก็ขึ้นมาปกครองแบบเผด็จการตั้งแต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ถนอม กิตติขจร (2490-2516) นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เผด็จการพลเรือน (2519-2520) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เผด็จการครึ่งใบ (2520-2523)

ตัวอย่างคำพญากรณ์เหล่านี้ ทำให้ชาวบ้านศรัทธาในความสามารถล่วงรู้อนาคตของพ่อใหญ่โสภา นอกจากคำพญากรณ์ของเขาแล้ว พ่อใหญ่โสภยังจำพุทธทำนายได้ทุกข้อ (รายละเอียดของพุทธทำนายดูใน สุวิทย์ ธีรศาสวัต และชอบ ดีสวนโคก, รายงานการวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของหมู่บ้านอีสานเหนือและอีสานกลาง ก่อนและหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2536; ภาคผนวก) แต่อย่างไรก็ตามหากไปถามถึงเรื่องพ่อใหญ่โสภาโดยไม่สนิทกับชาวบ้านสาวะถีแล้ว ชาวบ้านร่วมสมัยกับพ่อใหญ่โสภาหลายคนจะไม่ค่อยกล้าคุยด้วย หรือบอกว่าจำไม่ได้ หรือแสดงอาการอึดอัดที่จะคุยเรื่องนี้ เพราะยังมีความหวาดกลังว่าทางการจะจับหรือมาสอบสวน แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านมาแล้วถึง 54 ปีก็ตาม
**********
จะเห็นว่าความ "แม่นยำ" ในการพยากรณ์หรือทำนายของพ่อใหญ่โสภา จะขึ้นต่อการตีความให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมในเวลาต่อมาเป็นหลัก ซึ่งดูจะสอดคล้องกับความใฝ่ฝันของคนชั้นล่างที่ผูกพันกับ "สังคมพระศรีอาริย์" ค่อนข้างมาก ที่ว่าการดำรงชีวิตของคนในสังคมจะมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย ไม่ต้องทำงานตรากตรำ แต่แล้วความฝันนั้นก็อาจต้องพังทลายลงเมื่อผู้ปกครอง "หาความเป็นธรรมมิได้"

ความพยายามที่จะ "แข็งข้อ" ต่ออำนาจรัฐ หรือที่ในบทความใช้คำ (แบบทางการ) ว่า "กบฏ" ซึ่งดูเหมือนจะยังไม่ทันก่อรูปได้ชัดเจนมากไปกว่าการจัดชุมนุม/ปลุกระดมมวลชนสำหรับกรณี "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" นี้ เมื่อพิจารณาจากคำบอกเล่าของพยานบุคคลที่มีชีวิตร่วมสมัยกับพ่อใหญ่โสภา หรือกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ช่วงนั้น ดูเหมือนการนำของพ่อใหญ่โสภามีเป้าหมายเพียง "ขัดขืน" กฎหมายหรือกฎระเบียบทางวัฒนธรรมอย่างใหม่ที่มีลักษณะ "บัญญัติเป็นกฎหมาย" แต่ไม่ถึงกับการจะสถาปนาอำนาจการปกครองแต่อย่างใด

และยี่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ข้อหา "กระด้างกระเดื่อง" ที่ฝ่ายบ้านเมือง "ยัดเยียด" ให้แก่พ่อใหญ่โสภาและบริวาร อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัว หรือความไม่พอใจส่วนตัวดังได้กล่าวมาแล้ว.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 23-29 พฤศจิกายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8