"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (7)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ
เสด็จเยือนปีนัง พ.ศ. 2467 ซ้ายสุดคือ เจ้าพระยายมราช
ถัดจากบริบทการเมืองการปกครองแล้ว เจ้าพระยายมราชยังมีความเห็นต่อบริบททางเศรษฐกิจพื้นฐานในสังคมเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม อันเป็นที่มาของความไม่พอใจแก่ราษฎรในพื้นที่ซึ่งถูกมองว่าเป็น "ชาวมลายู" ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนเก็บภาษีในการประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม (อากรค่านา) รวมทั้งการประมง (อากรค่าน้ำ) และป่าไม้ หรือแม้กระทั่งการจ่ายเงินแทนการเข้าเวรในระบบ "ไพร่" หรือที่มีการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็น "การเกณฑ์ทหารแบบใหม่" เพื่อเป็น "ไพร่หลวง" (เงินรัชชูปการ) นั้น นำความเดือดร้อนมาสู่ราษฎรมากขึ้นยิ่งกว่าการเก็บภาษีอากรในระบอบจตุสดมภ์/ศักดินาก่อนหน้าการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
นั่นคือนอกเหนือจากความไม่พอใจของเจ้าเมืองในระบอบเก่าที่ถูกลิดรอนอำนาจทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจแล้ว ความไม่พอใจยังแผ่ขยายไปสู่ระดับราษฎรในพื้นที่เป็นคู่ขนานกันไป เท่ากับว่าราษฎรในพื้นที่ "หัวเมืองทั้งเจ็ด" เกิดความรู้สึกร่วมกับผู้ปกครองเดิมที่ว่าอำนาจรัฐรัตนโกสินทร์กำลังก่อความเดือดร้อนมาให้ และรบกวนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางศาสนา ดังได้กล่าวมาแล้ว
พรรณงาม เง่าธรรมสาร บรรยายถึงมุมมองของเจ้าพระยายมราช (ปั้นสุขุม) ในบทความเรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" (http://human.pn.psu.ac.th/ojs/index.php/eJHUSO/article/viewFile/45/64) สำหรับบริบททางเศรษฐกิจไว้ว่า:
**********
4. การเก็บภาษีอากร มีมากชนิดเกินไปเก็บ "..หยุมหยิม ไม่หยุดหย่อน" และ มีอัตราเก็บค่อนข้างแรงบางชนิด เช่น เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ทำให้คนจนเดือดร้อนมาก การเก็บภาษีต่างๆ ที่นำความเดือดร้อนมาสู่ชาวบ้านที่สำคัญ มีดังนี้ค่านา เดิมเคยเก็บแบบนาคู่โค โดยแบ่งเป็น นามีโค นาไม่มีโค หรือนาเช่าโค แต่ตั้งแต่ พ.ศ. 2461 มีการเปลี่ยนเป็นเก็บค่านาตามมณฑลชั้นใน คือ ตามจำนวนนาที่ทำจริง ทำให้ราษฎรรู้สึกว่าต้องจ่ายเงินมากขึ้น และเกิดปัญหากับเจ้าหน้าที่เรื่องการ วัดพื้นที่ ซึ่งเห็นต่างออกไปเป็นที่ถกเถียงว่ามากไปบ้าง น้อยไปบ้าง
ค่ารัชชูปการ แปลงมาจากส่วนต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ซึ่งเดิมเก็บ 5 ปี 2 ครั้ง อัตราเก็บมีหลายอัตรา และแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ถึง พ.ศ. 2461 ได้เปลี่ยนมาเก็บอัตราเดียวกัน ทำให้คนส่วนใหญ่ที่เคยเสียน้อยไม่พอใจ
อากรค่าน้ำ ซึ่งเพิ่งออกประกาศใน พ.ศ. 2465 ทำให้เกิดความเดือดร้อนกันมากเพราะธรรมเนียมการจับสัตว์น้ำที่มณฑลปัตตานีให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างสูง ซึ่งเจ้าพระยายมราชเน้นว่ามีลักษณะแปลกกว่าที่อื่นทั้งหมด ดังในรายงานที่ว่า
....วิธีจับสัตว์น้ำในมณฑลปัตตานี ถ้าผู้ที่คุ้นเคยกับท้องที่นั้นแล้ว จะต้องเห็นว่าเทียบเคียงกับมณฑลชั้นในไม่ได้เลย ตลอดทั้งประเภทเครื่องมือ วิธีทำการ ประโยชน์ที่ได้ ...เครื่องมือบางอย่างก็ใช้ชั่ว 2-3 เดือน บางอย่างก็ใช้เฉพาะแต่ประเภทปลาชนิดหนึ่ง ด้วยเหตุนี้คนหนึ่งอาจมีเครื่องมือหากินตั้งหลาย ๆ อย่าง สุดแต่ว่าจะไปเหมาะกับฤดูใด หรือพบปลาชนิดใด ก็ใช้เครื่องมือให้ต้องตามลัทธิการในเวลาไป อย่างว่าเห็นฝูงปลาชนิดหนึ่งจะใช้เครื่องมือสำหรับปลาอีกชนิดหนึ่งหาได้ไม่........ส่วนวิธีหาปลาของชาวประมงที่นั่น ท่านได้รายงานไว้ว่า มีลักษณะที่แปลกออกไปเช่นกัน กล่าวคือชาวประมงจะ "ลงไปดำน้ำในทะเลฟังดูว่าจะมีฝูงปลาชนิดใดหรือเที่ยวตรวจเสียก่อนว่ามีปลาอะไร จึงจะใช้เครื่องมือให้ต้องตามชนิดปลา" จากวิธีการจับสัตว์น้ำเช่นนี้ แต่ละคนจึงต้องมีเครื่องมือหลายชนิด แต่ละชนิดอาจใช้จับสัตว์น้ำปีหนึ่งไม่กี่ครั้ง ดังนั้นจึงต้องเสียค่าเครื่องมือเป็นจำนวนมาก และบางอย่างก็แพงกว่าผลที่จะได้ เนื่องจากมีปัญหาในการคิดภาษี เช่น ในการวัดขนาดเครื่องมือ จะวัดตรงไหน อวน จะวัดที่ปีก หรือที่ถุง ซึ่งราคาจะต่างกันมาก (เป็นต้นว่า ระหว่าง 140 บาทถ้าวัด ที่ปีก และลดถึง 14 บาทถ้าเฉพาะตัวถุง) นอกจากการเก็บภาษีแบบใหม่จะไม่สอดคล้องกับธรรมชาติการทำมาหากินของท้องถิ่น เป็นเหตุให้ประชาชนต้องเสียภาษีมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว ปัญหาอีกอย่าง คือ การเปรียบเทียบภาษีในพื้นที่ที่อยู่ติดกับพรมแดนในส่วนของอังกฤษ ซึ่งแม้ทางฝั่งมลายูของอังกฤษมีการเก็บภาษีไม่ถูกกว่า ฝ่ายไทย แต่ไม่จุกจิกเท่า ดังนั้นในเขตพรมแดนที่ติดกัน คืออยู่คนละฝั่งแม่น้ำ เช่น ตากใบ ฝ่ายไทยมีการเก็บภาษี แต่ฝ่ายมลายูใต้อารักขาอังกฤษไม่เก็บ จึงปรากฏว่ามี ชาวบ้านอพยพไปอยู่ฝั่งกลันตัน หรือไม่ก็ปลูกกระท่อมทำมาหากินชั่วคราวฝั่งโน้น หมดฤดูจึงย้ายกลับมาฝั่งไทยก็มี
เจ้าพระยายมราชเห็นว่า ทางแก้ก็คือยกเลิกการเก็บอากรค่าน้ำในมณฑลปัตตานีเสีย หรือผ่อนผันให้เก็บเฉพาะบางตำบลที่สมควร และแก้ไขอัตราค่าเครื่องมือใหม่ให้สมควรตามผลประโยชน์ ท่านเห็นว่าการยกเลิกจะทำให้ราษฎรพอใจ หมดความเดือดร้อน และก่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างสองฝั่งเขตแดน แต่มีประเด็นแย้งได้ว่าการยอมแบบนี้อาจถือเป็นการหลังเข้าคลองและทำให้ราษฎรได้ใจหรือไม่ รวมทั้งอาจทำให้รัฐขาดรายได้ เจ้าพระยายมราชเห็นว่า ข้อสำคัญอยู่ที่เมื่อฝ่ายอังกฤษคนละฝั่งคลองไม่เก็บ หากฝ่ายไทยจะคงเก็บก็จะเท่ากับ "ให้ราษฎรของเราวิ่งไปขอความร่มเย็น เช่นนั้นหรือ"
ค่าอนุญาตล้อเลื่อน ซึ่งยังไม่ได้ลงมือจัดเก็บ แต่กรมพระคลังได้เริ่มให้สำรวจต้นผลไม้แล้ว เจ้าพระยายมราชเห็นว่าถ้านำมาปฏิบัติในช่วงนี้ จะทำให้ชาวบ้านตื่นตกใจได้ จึงใคร่ขอให้พักไว้ก่อน
5. การป่าไม้ เจ้าพระยายมราชเห็นว่ากฎระเบียบข้อห้ามต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่ประกาศใช้นั้น เป็น "ปรปักษ์แก่ความสะดวกในการทำมาหากินของประชาชนชาวมลายูอยู่หลายสถาน" แต่เรื่องนี้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ร่วมแก้ไขกับกระทรวงเกษตราธิการแล้ว
(ยังมีต่อ)
**********
ที่สำคัญ จะเห็นได้ว่า เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) มีวิสัยทัศน์ที่มีลักษณะก้าวหน้ามากสำหรับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการแผ่ขยายอำนาจของเจ้าอาณานิคมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจักรวรรดิอังกฤษในพื้นที่ล่อแหลมใต้สุดของราชอาณาจักร ว่าราษฎร "ย่อม" ต้องเปรียบเทียบระบอบการเมืองการปกครองสองแบบ คือของสยามกับรัฐในอาณัติของอังกฤษ จนอาจนำไปสู่การ "ฝักใฝ่" การปกครองของอังกฤษก็เป็นได้.พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 25-31 พฤษภาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน