Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (39)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(8)

บันทึกสุดท้ายของ ศุภชัย ศรีสติ หนึ่งในเหยื่อการประหาชีวิตด้วยมาตรา 17 หลังจากถูกจับกุมด้วยข้อหาปลุกระดมต่อต้านรัฐบาล

จอมพลสฤษดิ์กับการใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ (ต่อ)
มาตรา 17: อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหลังการยึดอำนาจ


ในบทความ "พายเรือในอ่าง" โลกวันนี้ ฉบับวันสุข ฉบับที่ 503 ประจำวันที่ 14-20 กุมภาพันธ์ 2558 ผู้เขียนได้นำ ย่อหน้าแรกซึ่งเปรียบเสมือน "ความนำ" หรือ "คำปรารภ" ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 มานำเสนอไว้แล้วนั้น เมื่อพิจารณาในบริบททางนิติรัฐศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นการให้อำนาจชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นครั้งแรกแก่ "ผู้นำในการก่อรัฐประหาร" หรือที่เรียกตัวเองว่า "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" ไว้ใน มาตรา 17
มาตรา ๑๗ ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบ ที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ
[ต่อมาใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารและกรณีสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลามคม 2519 มีบทบัญญัติในลักษณะเดีรยวกันไว้ใน มาตรา 21
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้รัฐธรรมนูญนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินทราบ]
หมายเหตุ: ว่าด้วยที่มาของรัฐธรรมนูญสยาม/ไทย

โดยเหตุที่ในห้วงเวลากว่า 5 ทศวรรษ หลังการเฉลิมฉลองกึ่งพุทธกาล มักมีการกล่าวถึงระบอบการปกครองของไทยว่าเป็น "ประชาธิปไตยแบบไทย" หรือ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" นั้น มีผู้จำแนกกลุ่มรัฐธรรมนูญของสยาม/ไทย นับจากการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 ไว้เป็น 3 กลุ่ม แม้จะอ้างว่าเป็นคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทว่ามี "ธาตุแท้" ที่ต่างกันอย่างชัดเจนดังนี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)

สภาที่มาจากการเลือกตั้ง: สภานิติบัญญัติในกลุ่มนี้จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (ซึ่งสภาผู้แทนมีการเลือกตั้งโดยตรง ส่วนสภาสูงซึ่งเรียกว่าพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม) และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ที่ทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรง)

สภาที่มาจากการสรรหา: สภานิติบัญญัติที่เกิดมาจากการสรรหาทั้งหมดหรือบางส่วน โดยที่สมาชิกผู้มาจากการสรรหานั้นมีอำนาจมากพอในการจำกัดอำนาจสมาชิกที่มีมาจาการเลือกตั้งได้ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

สภาที่มาจากการแต่งตั้ง: ฝ่ายบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือเกือบจะเป็นเช่นนั้น ไดเแก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
**********
นอกจากนั้น สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับแรก หรือที่ใช้ว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสนอให้คณะราษฎรใช้ว่า "ชั่วคราว" และให้ยกร่างขึ้นมาพิจารณาใหม่เพื่อความเห็นพ้องต้องกัน มีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นกฎหมายสูงสุดของระบอบการปกครองใหม่ที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จากที่ทรงมีพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ซึ่งก่อรูปและสำเร็จในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และยกร่างไว้โดย "คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน" หรือ "คณะราษฎร"

สำหรับการใช้รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับแรก (คือฉบับ 27 มิถุนายน 2475 และ 10 ธันวาคม 2475) มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกันโดย [http://th.wikipedia.org/wiki/การปฏิวัติสยาม_พ.ศ._2475]

ผลที่ตามมาในทันทีหลังจากการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎรได้เริ่มจัดการเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ประชาชนชาวสยาม พระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวมีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อเวลา 5.00 น. ซึ่งเป็นเอกสารร่างเขียนขึ้นล่วงหน้าไว้แล้วโดยปรีดี ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม แม้ว่าจะยังเป็นเพียงฉบับชั่วคราวอยู่ก็ตาม ข้อความในรัฐธรรมนูญเริ่มต้นมาตรา 1 ความว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย" รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยยกเลิกพระราชอำนาจที่มีมาแต่โบราณ อาทิ พระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย การพระราชทานอภัยโทษ และพระราชสิทธิในการยืนยันผู้สืบราชสมบัติและรัชทายาท หรือจะกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวจำกัดอำนาจทั้งหมดของพระมหากษัตริย์ โดยยังมิได้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ไปเท่านั้น รัฐธรรมนูญยังได้จัดตั้งคณะกรรมการราษฎรเป็นฝ่ายบริหาร และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ได้มาจากการแต่งตั้ง 70 คน

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 7-13 มีนาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

เพิ่มเติมคำบรรยายภาพ: "อายุของข้าพเจ้าครบวันเกิดปีที่ 34 ในวันนี้ และอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ วาระสุดท้ายกำลังจะมาถึงแล้ว แต่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้ในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน" - บันทึกสุดท้ายของ ศุภชัย ศรีสติ หนึ่งในเหยื่อการประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 หลังจากถูกจับกุมด้วยข้อหาปลุกระดมต่อต้านรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2502

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (38)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(7)

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงพระนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 (https://www.voicetv.co.th/read/534613)

จอมพลสฤษดิ์กับการใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ (ต่อ)
หมายเหตุ: ว่าด้วยระบอบการปกครองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (จบ)


ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (democratic form of government with the King as Head of State) [https://bit.ly/2Kx3pYf] เป็นชื่อเรียกระบอบการปกครองในประเทศไทย ที่รวมเอาทั้งรูปแบบการปกครอง (form of government) ประเภทประชาธิปไตยโดยมีรัฐสภา (parliamentary democracy) กับรูปแบบรัฐ (form of state) ประเภทการปกครองราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ไว้ในคำเดียวกัน

สำหรับที่มานั้น วลีที่ว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เพิ่งจะมีขึ้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 2 ความว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ทั้งนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวร่างขึ้นภายใต้อิทธิพลของพลังอนุรักษนิยม ซึ่งขณะนั้นมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนทางการเมืองที่สำคัญ แต่การปรากฏขึ้นครั้งแรกนี้ ยังไม่ได้ยืนยันความเป็นชื่อเฉพาะของระบอบการปกครองแต่อย่างใด [สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. "ความหมายและความเป็นมาของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข", ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 สิงหาคม 2539] หากแต่การปรากฏขึ้นซ้ำในภายหลัง คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 และ พ.ศ. 2519 เป็นสองฉบับแรกที่ยืนยันความชอบธรรมของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" [สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล; อ้างแล้ว] สมศักดิ์ได้ให้ความเห็นไว้อีกว่า หน้าที่ (function) ของการยืนยันในสองฉบับมีความต่างกัน โดยฉบับ พ.ศ. 2511 เพื่อต่อต้านการเมืองและพรรคการเมืองสมัยใหม่ที่เพิ่งปรากฏตัวขึ้น และฉบับ พ.ศ. 2519 เพื่อต่อต้านฝ่ายซ้าย [สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล; อ้างแล้ว]

ภายในระบอบการปกครองเช่นนี้ของประเทศไทย แตกต่างไปจากธรรมเนียมการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่จะมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขแต่ในทางพิธีการ ทั้งนี้ เพราะพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย มีพระราชอำนาจทางการเมืองเกินกว่าที่เป็นในประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประเทศอื่น เช่น ทรงสามารถแสดงพระราชดำรัสสด, บริหารงานสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491, มาตรา 4 ความว่า "ให้เพิ่มความต่อไปนี้ต่อท้ายมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 เป็นมาตรา 4 ทวิ และมาตรา 4 ตรี ตามลำดับ โดยมาตรา 4 ทวิ ให้ตั้งสำนักงานขึ้นสำนักงานหนึ่งเรียกว่า "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" มีหน้าที่ปฏิบัติการตามความในมาตรา 5 วรรคสอง ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมาตรา 4 ตรี ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 4 คนซึ่งพระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้ง และในจำนวนนี้จะได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 1 คน ให้คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีอำนาจหน้าที่ดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มอบหมาย และมีอำนาจลงชื่อเป็นสำคัญผูกพันสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" สามารถเข้าถึงได้จาก : http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%a812/%a812-20-2491-003.pdf  และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550, มาตรา 12 เข้าถึงได้จาก: http://web.krisdika.go.th/data/law/law1/%c306/%c306-10-2550-a0001.pdf] และแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น องคมนตรี โดยไม่มีผู้สนองบรมราชโองการ [รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550, มาตรา 12]

สำหรับกรณีของประเทศอังกฤษซึ่งถือเป็นตัวอย่างของประเทศที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น Penny Junor นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ ได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือของเธอว่า [Penny Junor, The Firm: The Troubled Life of the House of Windsor (2005)]
"กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว... มีพระมหากษัตริย์และพระราชินีปกครองแผ่นดิน. […] หนึ่งร้อยยี่สิบปีต่อมา, ภายหลังการเปลี่ยนแปลงหลายประการ (และช่วงเวลาสั้น ๆ ในศตวรรษที่สิบเจ็ด ซึ่งปราศจากกษัตริย์) พวกเรามีพระราชินีผู้ไร้ซึ่งอำนาจในการบริหาร, ผู้ซึ่งกระทำการต่าง ๆ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี, ผู้ซึ่งอ่านพระราชดำรัสซึ่งผู้อื่นเป็นคนร่างขึ้น. […]

สถาบันกษัตริย์จะต้องอยู่เหนือการเมือง เพราะองค์พระราชินีเป็นตัวแทนของชาติทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นสี, ความเชื่อ หรือการเมือง, ไม่ว่าจะด้วยสถานะ หรือสถานการณ์, หรือแม้กระทั่งยุคสมัยของพวกเขา - พระองค์เป็นศูนย์รวมของพลังภายในประเทศ เป็นเสมือนกาวประสานพวกเราเอาไว้ด้วยกัน และนั่นคือความเข้มแข็งของพระองค์. พระองค์เป็นของคนทุกคน, ด้วยไม่มีใครออกเสียงเพื่อพระองค์ และเสียงของพวกเขาจะไม่ถูกมอบให้กับใครอื่นอีก. หากว่าพระองค์ทรงแสดงความคิดเห็นซึ่งสามารถนำไปอ้างได้โดยพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง ย่อมสร้างความแบ่งฝักฝ่ายในหมู่เหล่าของประชากรโดยพลัน และนั่นย่อมก่อให้เกิดความแตกแยก และเมื่อพระองค์มิได้ทรงกระทำ - พระองค์ย่อมเป็นผู้ซึ่งไม่อาจหยั่งถึงได้อย่างถึงที่สุด. […]

-Penny Junor"
ทั้งนี้ หากกล่าวถึงการเป็นประมุขในทางพิธีการของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ก็คือ เป็นพิธีการที่ทรงบริหารอำนาจอธิปไตยแทนปวงชนโดยแบ่งแยกอำนาจนั้นเป็นสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านมายังสภานิติบัญญัติที่เรียก "รัฐสภา" ฝ่ายบริหาร อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านมายังกลุ่มผู้บริหารสูงสุดที่เรียก "คณะรัฐมนตรี" และฝ่ายตุลาการ อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านมายังศาลทั้งหลาย ซึ่งมีสามประเภท คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงแล้ว องค์กรเหล่านั้นเป็นปวงชนหรือผู้แทนของปวงชนที่บริหารอำนาจด้วยตนเองเพื่อประโยชน์ของปวงชนและโดยการควบคุมของปวงชน ส่วนพระมหากษัตริย์เป็นแต่เชิดให้กิจการดำเนินไปด้วยดีตามพระราชภารกิจทางพิธีการที่รัฐธรรมนูญมอบให้เท่านั้น [ราชบัณฑิตสถาน. นรนิติ เศรษฐบุตร, นัยยะประชาธิปไตยในวิถีการเมืองไทย. วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 มค.-มีค. 2545; บทคัดย่อไทย-อังกฤษ]
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 28 กุมภาพันธ์-6 มีนาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (37)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(6)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475 ที่เจตนารมณ์ในคราวประกาศใช้จะให้เป็นฉบับถาวร (เพียงฉบับเดียว?)

จอมพลสฤษดิ์กับการใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ (ต่อ)

ก่อนจะนำเสนอมาตรา 17 แห่ง ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ที่ยกร่างและประกาศใช้โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหารตัวเจริงเสียงจริงทั้งสองครั้งในเวลาเพียงหนึ่งปี ขออนุญาตนำย่อหน้าแรกซึ่งเปรียบเสมือน "ความนำ" หรือ "คำปรารภ" มาเพื่อเป็นการ "ฟื้นความหลัง" ดังต่อไปนี้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า

โดยที่หัวหน้าคณะปฏิวัติ ซึ่งได้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้นำความกราบบังคมทูลว่า การที่คณะปฏิวัติได้ประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ เสียนั้น ก็โดยปรารถนาจะให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม และให้การปกครองประเทศเป็นไปโดยเรียบร้อย ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น การที่จะให้มีรัฐธรรมนูญเช่นว่านี้ สมควรจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ จัดร่างขึ้นประกาศใช้ต่อไป แต่ในระหว่างระยะเวลาก่อนที่จะได้มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งร่างขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น สมควรให้มีธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเพื่อใช้ไปพลางก่อนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย และเพื่อให้การเป็นไปตามที่หัวหน้าคณะปฏิวัตินำความกราบบังคมทูล จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้บทบัญญัติต่อไปนี้เป็นธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้จัดร่างขึ้น
**********
จะเห็นว่าสิ่งที่คณะรัฐประหารใช้อ้างในการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง แล้วตามมาด้วยการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร คือ ความ "เหมาะสม" และความ "เรียบร้อย" และตามมาด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยแบบวิธี "พิเศษ" ซึ่งจะได้จำแนกไว้ในตอนต่อไป
**********
หมายเหตุ: ว่าด้วยระบอบการปกครองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์

อนึ่ง เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ "รัฐธรรมนูญ" ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดหรือกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ (สมัยใหม่) โดยเฉพาะในประเทศไทย นั่นคือในเวลาร่วม 83 ปี นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิรย์ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจำเป็นต้องเข้าใจนิยามระบอบการปกครอง ที่มีลักษณะสากลยิ่งกว่าวาทกรรม "แบบไทยๆ" อันก่อให้เกิดความสับสนไขว้เขวถึงระบอบการปกคีรอง รูปแบบรัฐ และที่มาและการใช้อำนาจอธิปไตยพอเป็นสังเขป

หลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 นั้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือการที่พระมหากษัตริย์นับจากนั้นเป็นต้มมามิได้ทรงมีและใช้พระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินเช่นประเพณีการปกครองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไปนั้น [ทั้งนี้ในระหว่างการประชุมร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับถาวรที่ยกร่างและผ่านมติประกาศใช้ครั้งเดียวไปเลย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475) นั้นเอง มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฯใช้คำว่า พระราชอำนาจบริหาร พระราชอำนาจนิติบัญญัติ และพระราชอำนาจตุลาการ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานอนุกรรมการฯ เสนอให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก โดยให้เหตุผลว่า อำนาจนี้ไม่ใช่ของกษัตริย์ แต่เป็นอำนาจที่มาจากประชาชนชาวสยาม ในขณะที่สมาชิกบางส่วนเห็นว่า ควรคงไว้เพื่อรักษาความสุภาพอ่อนโยน (sentiment) แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอธิบายว่า อาจขัดกับความเป็นจริง (fact) ได้ ถ้าเช่นนั้นควรจะรักษาความเป็นจริงไว้ดีกว่า ประธานอนุกรรมการฯกล่าวเพิ่มเติมว่า ในระบอบรัฐธรรมนูญ (constitutionalism) พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจในทางบริหารต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolutism) ที่การบริหารใดๆ เป็นพระราชอำนาจ ดังนั้น การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์จึงต้องมีกรรมการราษฎร (ที่ต่อมาสภา ฯ มีมติให้เรียกว่ารัฐมนตรี) เป็นผู้ลงนามสนอง พระบรมราชโองการ โดยเฉพาะมาตรา 7 ซึ่งหลวงประดิษฐมนูธรรมกล่าวว่า เป็นบทบัญญัติที่จำกัดพระราชอำนาจบริหารของกษัตริย์ หากความสุภาพนุ่มนวลไม่ขัดกับ ความเป็นจริงก็จะรักษาภาษาสำนวน เพราะ "ไม่ต้องการให้ชอกช้ำ" เอาไว้ ในที่สุดที่ประชุมเห็นชอบให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก (รงส. 35/2475 25 พฤศจิกายน 2475 - https://bit.ly/3mlRvxq)] ในทางรัฐศาสตร์พิจารณาเนื้อหาของระบอบการปกครองนี้เป็นสองนัย โดยมีคำใช้ต่างกัน คือ

ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) [https://bit.ly/2WkmAac] เป็นรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐโดยไม่ทรงมีบทบาททางการเมืองและทรงอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญไม่ว่าเป็นหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์อาจมีพระราชอำนาจโดยพระบารมีและรัฐบาลอาจดำเนินการในพระนาม แต่พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงกำหนดนโยบายสาธารณะหรือเลือกผู้นำทางการเมือง เวอร์นอน บอกดานอร์ (Vernon Bogdanor) นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษ นิยามว่า ราชาภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ "องค์อธิปัตย์ที่ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง" (a sovereign who reigns but does not rule) การปกครองรูปแบบนี้ต่างจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงควบคุมการตัดสินใจทางการเมืองโดยไม่ทรงถูกรัฐธรรมนูญควบคุมเอาไว้

รายชื่อ 24 ประเทศที่ปัจจุบันปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (ในวงเล็บคือรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้ล่าสุดเป็นปีคริสต์ศักราช) ตามลำดับพยัญชนะในภาษาอังกฤษ

อันดอร์รา (1993), บาห์เรน (2002), เบลเยียม (1831), ภูฏาน (2007), กัมพูชา (1993), เดนมาร์ก (1953), ญี่ปุ่น (1946), จอร์แดน (1952), คูเวต (1962), เลโซโท (1993), ลิกเตนสไตน์ (1862), ลักเซมเบิร์ก (1868), มาเลเซีย (1957), โมนาโก (1911), โมร็อกโก (1962), เนเธอร์แลนด์ (1815), นอร์เวย์ (1814), สเปน (1978), สวาซิแลนด์ (1968), สวีเดน (1974), ไทย (2014), ตองกา (1970), สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1971) และ สหราชอาณาจักร (1688)

และชื่อเต็มของอีก 15 รัฐ/ประเทศต่อ ที่มิได้ขึ้นต้นด้วยราชอาณาจักร แต่เป็นราชาธิปไตยโดยพฤตินัย ประกอบด้วย

แอนติกาและบาร์บูดา (1981), ออสเตรเลีย (1901), บาฮามาส (1973), บาร์เบโดส (1966), เบลีซ (1981), แคนาดา (1867), เกรเนดา (1974), จาเมกา (1962), นิวซีแลนด์ (1907), ปาปัวนิวกินี (1975), เซนต์คิตส์และเนวิส (1983), เซนต์ลูเซีย (1979), เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ (1979), หมู่เกาะโซโลมอน (1978) และ ตูวาลู (1978)

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 กุมภาพันธ์ 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (36)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(5)

บรรยายภาพ: จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2 ครั้ง หากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งเดียว (พ.ศ. 2502-2506)

20 ตุลาคม พ.ศ. 2501: "ปฏิวัติ" หรือ "รัฐประหาร" (ต่อ)

สำหรับการรัฐประหาร 3 ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในท่ามกลางกระแสที่ฝ่ายทหารประกาศยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะมีมีการยึดอำนาจอีกแล้ว จนถึงกับเกิดวาทกรรม "เสียสัตย์เพื่อชาติ" การรัฐประหาร 3 ครั้งดังกล่าวนี้ นับว่ามีนัยอย่างสำคัญต่อระบอบการเมืองการปกครองไทยสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการเคลือ่นไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญโดยนิสินักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา
10. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่เป็นที่รู้กันว่าผู้มีอำนาจอย่างสำคัญคือ พล.อ. สุจินดา คราประยูร โดยได้รับพระบรมราชโองการให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งกล่าวว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ทั้งที่เคยพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันมีที่มาจากการรัฐประหารแล้ว พล.อ. สุจินดา ได้แต่งตั้ง พล.อ. อิสรพงศ์ หนุนภักดี เลขาธิการ รสช. ซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยาตน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จนเกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านจากหลายหลุ่มการเมือง อาทิ ร.ต. (เรืออากาศตรี) ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วง และพล.ต. จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้พลเอกสุจินดาลาออก เนื่องจากเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ รสช. จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ หรือพฤษภาทมิฬ ขึ้นระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึง 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลเอก สุจินดา จึงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535

นับเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองของไทยจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 อันนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแทบจะทั่วไปว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดนับจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

11. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นการยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ นับเป็นรัฐประหารในรอบ 15 ปี (ที่หลายฝ่ายทั้งในประเทศและนานาชาติเห็นว่าการเมืองไทยน่าจะเข้าสุดภาวะนิ่งแล้ว) เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในเดือนตุลาคม หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปที่มีกำหนดจัดในเดือนเมษายนถูกสั่งให้เป็นโมฆะ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมานับแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐประหารยกเลิกการเลือกตั้งซึ่งกำหนดจัดในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบรัฐสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและตรวจพิจารณาสื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน

มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ คณะรัฐประหารครั้งนี้ เชิญ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี กราบบังคมทูลลาออกมาดำรงนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้ใช้สมาชิกคณะรัฐประหาร ซึ่งเคยใช้รูปแบบนี้มาแล้วในคราวการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ได้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี และการรัฐประหาร 20 ตุลาคมพ.ศ. 2520 ที่ได้ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

12. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่มีแกนหลักที่พรรคเพื่อไทย) นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ หรือที่เรียกกันว่า "พ.ร.บ. เหมาเข่ง" บ้างหรือ "พ.ร.บ. สุดซอย" บ้าง ทั้งมีการวิเคราะห์กันทั้งสื่อไทยและเทศว่ามีเป้าหมายที่จะกำจัดอิทธิพลของพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จากการเมืองของไทยให้ได้โดยสิ้นเชิง

เส้นทางการยึดอำนาจครั้งล่าสุดนี้ มีพัฒนาการจากการเคลื่อนไหวโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มีผู้นำคนสำคัญจากพรรคประชาธิปัตย์ (ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) และเกิดการปะทะกันกับ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 3.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลชุดก่อนตั้งขึ้น กอ.รส. ใช้วิธีการปิดควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้

หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา วันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภาฯ มีมติเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
จอมพลสฤษดิ์กับการใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ (?)

หลังจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ (?) ที่ทำรัฐประหารทั้งสองครั้งคือ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และคราวนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ตัดสินใจร่วมกับพลเอกถนอม กิตติขจร (ได้รับพระราชทานยศเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2501) ยึดอำนาจรัฐบาลพลเอกถนอมเอง และเพื่อให้การใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง (เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 นับจากการอภิวัฒน์สยาม พุทธศักราช 2475) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502

อนึ่ง นับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จนถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502 คณะปฏิวัติได้มีประกาศคณะปฏิวัติออกมาทั้งหมด 57 ฉบับ มีสภานิติบัญญัติมาจากการแต่งตั้งไม่ใช่เลือกตั้ง มีการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งมีเพียงสั้น ๆ 20 มาตราเท่านั้น (นับเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐบาลทหารในการปกครองประเทศยาวนานถึง 10 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลานานที่สุดในโลกฉบับหนึ่ง) ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพียง 14 คนเท่านั้น โดยไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง และในวันเดียวกันนั้น ถือเป็นวันยุติบทบาทและสิ้นสุดสถานภาพของ "คณะปฏิวัติ (?)"

และมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองนี้เอง คือ "ดาบอาญาสิทธิ์" ที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีชนิดครอบจักรวาล.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 14-20 กุมภาพันธ์ 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (35)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(4)

จอมพลสฤษดิ์ เจ้าของวาทกรรมอันลือลั่นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว"

20 ตุลาคม พ.ศ. 2501: "ปฏิวัติ" หรือ "รัฐประหาร"

การรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 2 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั่วเวลาเพียงแค่ปีเศษ นับจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น แต่เป็นการรัฐประหารครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แม้ว่าจะเป็นเสมือนการยึดอำนาจของรัฐบาลที่ตั้งมาเองกับมือก็ตาม ทั้งนี้เพราะการรัฐประหารครั้งนี้ส่งผลให้ระบอบการปกครองของไทยก้าวสู่เข้าสู่รูปแบบ เผด็จการอำนาจนิยม (authoritarianism) อย่างเต็มตัว หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยของ "ระบอบเผด็จการเต็มใบ" เป็นเวลานานถึง 15 ปี ที่สำคัญทำให้สถาบันกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพบก มีบทบาทครอบงำอย่างสำคัญต่อการเมืองการปกครองไทยในระยะเวลาต่อมากว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งนับว่ายาวนานกว่าห้วงเวลาในความพยายามสถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือ "ระบอบรัฐธรรมนูญ" อย่างจริงจัง ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 15 ปี คือ นับจากปี พ.ศ. 2475 ถึงปี พ.ศ. 2490

มีเรื่องแปลกแต่จริงอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไข้วเขวในทางการเมืองโดยมีที่มาจากการ "ใช้คำ" ของคณะผู้ทำรัฐประหารครั้งนี้คือ จอมพลสฤษดิ์เลือกที่จะใช้คำว่า "คณะปฏิวัติ" แทนที่จะใช้คำว่า "คณะรัฐประหาร" หรือ "คณะทหาร" หรือจากการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ใช้ว่า "คณะปฏิรูปฯ"

โดยรากศัพท์และในทางรัฐศาสตร์นั้น คำว่า ปฏิวัติ ในภาษาอังกฤษ revolution มีรากศัพท์จากภาษาละตินคือ revolutio และ revolvere แปลว่า หมุนกลับ (to turn around) คำนี้มีใช้ทั่วไปในทางสังคมศาสตร์ แต่ก็มีใช้ในทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน เช่น การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

สารานุกรมเมอร์เรียม-เวบสเตอร์ (Merriam-Webster Encyclopedia) อธิบายว่า ปฏิวัติทางการเมืองคือการเปลี่ยนแปลงการตัดรูปแบบของการเมืองการปกครองในระดับฐานราก (fundamentally) สารานุกรมบริทานิกา คอนไซส์ (Briyanica Concise Encyclopedia) อธิบายว่า ปฏิวัติในทางสังคมศาสตร์ และการเมือง คือการกระทำความรุนแรงต่อโครงสร้าง ระบบ สถาบัน ฯลฯ ทางสังคมการเมือง ปฏิวัติทางสังคมการเมืองจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากมาตรฐานต่าง ๆ ที่สังคมการเมืองเป็นอยู่เดิม เพิ่มจัดตั้ง หรือสถานามาตรฐานของสังคมการเมืองแบบใหม่ให้เกิดขึ้น

สำหรับในสังคมการเมืองไทยเกิดการปฏิวัติทางการเมืองขึ้นเพียงครั้งเดียวคือ การปฏิวัติสยาม ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นการปฏิวัติการปกครองโดยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monachy) กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) ส่วนการล้มล้างรัฐบาลในครั้งต่อมานั้นเป็นเพียงการรัฐประหาร เพราะไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ผู้นำของรัฐบาล หรือเป็นการยืดอายุของรัฐบาลอุปถัมป์อำนาจนิยม (Suzerain-Authoritarianism) ของสังคมไทยเพียงเท่านั้น

(ขอบคุณ http://th.wikipedia.org/wiki/ปฏิวัติ)

สำหรับคำว่า รัฐประหาร มาจากภาษาฝรั่งเศสฝรั่งเศส coup d'?tat (กูเดตา) ซึ่งหากแยกพิจารณาจากการสนธิคำ จะแปลตรงตัวได้ว่า การล้มล้างอย่างเฉียบพลัน (coup = blow of) ต่อรัฐ (d'?tat = on state) โดยในสารานุกรมบริทานิกา คอนไซส์ (Britannica Concise Encyclopedia) นิยามว่าเป็นการยุบเลิกรัฐโดยฉับพลัน (stroke of state) การเข้ามาเถลิงอำนาจโดยเฉียบพลัน มักจะเกิดด้วยความรุนแรง การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นโดยกลุ่มก่อการ (a group of conspirators) มักจะเกิดกับประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง หรือมีในระดับต่ำ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐประหารมักไม่ประสบความสำเร็จ

ส่วนพจนานุกรมศัพท์ทางการทหารของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Companion to Military History) อธิบายว่า เป็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือคณะปกครองด้วยกำลัง โดยมักเกิดจากกองทัพ พจนานุกรมศัพท์ทางทหารอเมริกันของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary of the US Military) นิยามว่า เป็นการเข้ามาเถลิงอำนาจในรัฐบาลอย่างรวดเร็วรุนแรงและผิดกฎหมาย พจนานุกรมศัพท์ทางการเมืองของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary of Politics) กล่าวว่า เป็นการยุบเลิกรัฐบาลอย่างกะทันหันด้วยกำลังที่ผิดกฎหมายมักกระทำการโดยกองทัพหรือส่วนหนึ่งของกองทัพ โดยมักจะเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เห็นชอบของประชาชน หรือไม่ก็มักเป็นปัญหากับประชาชนบางส่วน ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นกลาง หรือไม่ก็ด้วยความร่วมมือของพรรคการเมือง หรือกลุ่มทางการเมือง

โดยสรุป รัฐประหารหมายถึงการเปลี่ยนแปลงประมุขแห่งรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลโดยเฉียบพลันด้วยกำลัง ความรุนแรง และผิดกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนระบอบการปกครอง (regime)

คณะรัฐประหารของไทยที่ก่อการสำเร็จ จึงมักจะเรียกตนเองหลังก่อการว่า "คณะปฏิวัติ" หรือ "คณะปฏิรูป" เพื่อให้มีความหมายไปในเชิงบวก

(ขอบคุณ http://th.wikipedia.org/wiki/รัฐประหาร)

เมื่อพิจารณาจากนิยมของคำว่ารัฐประหารข้างต้น ประเทศไทยมีการรัฐประหารเกิดขึ้น 13 ครั้ง คือ
1. รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
2. รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
3. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
4. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
5. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
6. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
7. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)
8. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
9. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 7-13 กุมภาพันธ์ 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8