Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนา ในสยาม-ไทย (69)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (2)

หะยีสุหลง ขอบคุณภาพจาก www.matichon.co.th
เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูล (บางส่วน) จากแหล่งข้อมูลต่างกัน จะนำเรื่องราวของ "หะยีสุหลง" ซึ่งเป็นชนวนเหตุของเหตุการณ์ "กบฏดุซงญอ" เชิงเปรียบเทียบจากมุมมองทั้งฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายไทยมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งในเบื้องต้นขอนำเสนอข้อมูลจากเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดย วรัญญา เพ็ชรคง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ คือ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต ได้ให้ข้อมูลของ "หะยีสุหลง" ไว้ในหัวข้อ "กรณีการจับตัวหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/กรณีการจับตัวหะยีสุหลง_อับดุลกาเดร์) ดังนี้
**********
กรณีการจับตัวหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์

คนรุ่นหลังอาจจะคุ้นเคยกับคนสกุล "โต๊ะมีนา" ในแวดวงการเมืองไทยค่อนข้างดี และคนในสกุลนี้ก็เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่อง หากเมื่อสืบย้อนไปก่อนหน้านั้น ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 บรรพบุรุษของคนในสกุลดังกล่าวคนหนึ่งที่ชื่อ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา ก็มีบทบาททางการเมืองโดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับของคนในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น้อย และถือว่าเป็นวีรบุรุษคนสำคัญคนหนึ่งก็ว่าได้ แต่ต่อสายตาของรัฐไทยแล้ว เขากลับถูกมองว่าเป็นผู้นำกบฏที่ทรงอิทธิพลต่อการที่จะทำให้เกิดปัญหาการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ออกเป็นรัฐอิสระ และในที่สุดเขาก็ถูกจับกุมตัวและหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เช่นเดียวกับกรณีทนายความสมชาย นีละไพจิตร ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อชาวมุสลิมแล้วหายตัวไปอย่างไร้ร่อยรอยเช่นกันในช่วงทศวรรษ 2540

ประวัติส่วนตัวของหะยีสุหลง

ในวัยเด็ก หะยีสุหลงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนปอเนาะ บ้านกรือเซะ ตำบลบานา ปัตตานี เป็นปอเนาะของโต๊ะครูแวมูซอ ที่โรงเรียนแห่งนี้เขาเริ่มได้รับการปูพื้นฐานความรู้ภาษามาลายู ภาษาอาหรับ และวิชาศาสนาอิสลาม

เมื่ออายุได้ 12 ปี บิดาส่งเขาไปศึกษาทางด้านวิชาศาสนาอิสลามที่นครมักกะห์ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย เขาได้มีโอกาสศึกษากับครูที่มีชื่อเสียงและเป็นนักปราชญ์ทางศาสนาอิสลามหลายคน หะยีสุหลงศึกษาภาษาอาหรับ คัมภีร์ และตำราอย่างแตกฉาน จนเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นเดียวกันและรุ่นหลัง จนมีเสียงเรียกร้องให้เปิดสำนักสอนศาสนาอิสลามขึ้นที่นครมักกะห์ เขากลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ จนสร้างลูกศิษย์ลูกหาได้เป็นจำนวนมาก

เมื่ออายุ 27 ปี หะยีสุหลงแต่งงานครั้งแรกกับนางสะบีเยาะห์ บุตรสาวของโต๊ะครูปะคอแอร์ในเมืองมักกะห์ แล้วภรรยาคนแรกก็เสียชีวิตในสองปีต่อมา เขาแต่งงานครั้งที่สองกับนางเจ๊ะเยาะห์ พร้อมๆ กับสถานะความเป็นครู และฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น แต่ในขณะที่เส้นทางการเป็นครูสอนศาสนากำลังดำเนินไปได้ด้วยดี ในด้านชีวิตครอบครัว เขาและภรรยาก็ไม่อาจจะทำใจกับการจากไปของบุตรชายคนแรกที่มีอายุแค่เพียงปีเศษได้ จึงต้องตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทยเป็นการชั่วคราว

ขณะที่หะยีสุหลงเดินทางกลับเมืองไทยในปี พ.ศ. 2470 หลังจากไปใช้ชีวิตยังต่างแดนเป็นเวลา 20 ปีเต็ม การเดินทางกลับในครั้งนี้ เขาไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าวิถีชีวิตของเขาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง จากสังคมของชาวมุสลิมนครมักกะห์ที่เคร่งครัดต่อศาสนาเป็นอย่างสูง เมื่อกลับมาถิ่นบ้านเกิดเขากลับพบว่าปัตตานีและสังคมมุสลิมในช่วงเวลานั้นยังคงสภาพเหมือนสังคมอาหรับในยุคศาสนาอิสลามเพิ่งเผยแพร่ ยังเป็นสังคมที่ล้าหลังและคนมุสลิมยังมีความเชื่อทางไสยศาสตร์และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของท้องถิ่นต่างๆ มากมาย ด้วยบริบททางด้านสังคมของชาวมุสลิมที่เป็นอยู่ดังกล่าว เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจปักหลักอยู่ที่ปัตตานีซึ่งเป็นถิ่นเกิดแทนการกลับไปใช้ชีวิตเช่นเดิมที่นครมักกะห์ดังที่เคยตั้งใจเอาไว้ และมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำหน้าที่เผยแพร่หลักคำสอนศาสนาอิสลามดังที่ตัวเองเคยร่ำเรียนและเป็นอาจารย์เผยแพร่ความรู้เหล่านี้อยู่ในนครมักกะห์มาก่อน ดังนั้นชั่วชีวิตที่เหลือของหะยีสุหลงทั้งหมดจึงตั้งใจที่จะทุ่มเทให้กับการเผยแพร่หลักคำสอนทางศาสนาให้กับชาวมุสลิมในพื้นที่เขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากที่สุด

เบ้าหลอมความคิดทางการเมือง

ก่อนที่หะยีสุหลงจะก้าวเข้ามามีบทบาททางด้านศาสนาและการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมากในทศวรรษ 2470-2490 หากย้อนกลับไปดูบริบทแวดล้อมทางการเมืองในโลกชาวอาหรับช่วงวัยรุ่นที่นครมักกะห์ จะพบว่าบริบททางการเมืองในขณะนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นมาก และส่งผลต่อความคิดความอ่านของเขาไม่น้อย

มักกะห์ในช่วงเวลาที่หะยีสุหลงกำลังเรียนและกำลังสอนอยู่นั้น ถือได้ว่าเป็นระยะแห่งการบ่มเพาะทางปัญญาและทางการเมือง โดยช่วงที่เขาเริ่มเข้าศึกษาที่นครมักกะห์เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมาอย่างต่อเนื่อง จากสองแนวคิดที่ทรงพลังที่กำลังขยายตัวอยู่ในดินแดนแถบนั้น นั่นก็คือลัทธิชาตินิยมและลัทธิฟื้นฟูอิสลาม โดยมีนครมักกะห์เป็นศูนย์กลางที่สำคัญ

โดยลัทธิชาตินิยมในช่วงนั้นมีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ ชาตินิยมในระบอบรัฐธรรมนูญของพวกเติร์ก และมีการปฏิวัติของกลุ่มยังเติร์กใน พ.ศ.2451 ให้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมในนครมักกะห์มากนัก อีกรูปแบบหนึ่งคือ ลัทธิรวมชาติอาหรับจากไคโร มักกะห์ และดามัสกัส เป็นความพยายามที่จะรวมชุมชนเผ่าอาหรับหลายกลุ่มเข้าเป็นประชาชาติอาหรับเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งมีผู้นำคนสำคัญอยู่ในนครมักกะห์ ส่วนลัทธิฟื้นฟูอิสลามมีหลายรูปแบบ เมื่อบรรดาชาวมุสลิมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไปมักกะห์จะค่อนข้างยอมรับนับถือความคิดนี้อยู่ในระดับหนึ่ง และเมื่อกลับมาก็มักจะมีเรื่องเล่าด้วยความชื่นชมเกี่ยวกับการปฏิบัติตนที่เคร่งครัดของชาวมุสลิมในแถบนั้น และลัทธิฟื้นฟูอิสลามหลายๆ รูปแบบที่เกิดขึ้น โดยลัทธิฟื้นฟูอิสลามเกือบทุกรูปแบบจะได้รับการกระตุ้นด้วย "อุดมการณ์วะห์ฮะบี" อุดมการณ์นี้ก็จะมีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่กลุ่มที่เห็นด้วยก็สามารถสร้างผู้นำทางการเมืองที่โดดเด่นขึ้นมาได้

ด้วยระยะเวลายาวนานที่หะยีสุหลงมาใช้ชีวิตอยู่ที่นครมักกะห์ ประสบการณ์ทางด้านการเมืองที่เขาได้รับจากปรากฏการณ์ในพื้นที่ที่เกิดขึ้น ทั้งอำนาจและแนวคิดของทั้งสองลัทธิที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่แถบนั้น ทั้งเล่ห์เพทุบาย ความเป็นพันธมิตร การทรยศหักหลังของกลุ่มต่างๆ การรุกคืบของอังกฤษเข้าหาดินแดนการปกครองในแถบอ่าวเปอร์เซีย เป็นต้น คงจะส่งอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของบรรดาผู้ที่ไปศึกษาในดินแดนแถบนั้นไม่น้อยรวมทั้งตัวหะยีหลงเอง

และยิ่งในวัยเด็กแค่เพียง 7 ขวบ ที่เคยเจอกับเหตุการณ์ที่บิดาถูกจำคุกเพราะต่อต้านระบอบการปกครองแบบใหม่ของรัฐไทยด้วยแล้ว คำถามถึงความถูกต้อง ความยุติธรรม คงจะก้องอยู่ในหัวของชายผู้นี้ตลอดมา และยิ่งเมื่อเขากลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับอำนาจของรัฐไทยด้วยแล้ว วิถีชีวิตของเขาจึงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง อันไม่อาจจะหลีกหนีไปไหนได้เลย
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 7-13 ธันวาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนา ในสยาม-ไทย (68)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (1)
 
หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ (หะยีสุหลง โต๊ะมีนา)

สถานการณ์ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศในภูมิภาคนี้ รวมทั้งประเทศไทย มีผลอย่างสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ เนื่องจาก ความสนใจของประชาชนวงการต่างๆ ล้วนรวมศูนย์อยู่ที่ภาวะสงครามที่นำความยากลำบากมาสู่การดำเนินชีวิตประจำวันอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในระหว่างสถานนะสงครามที่ราชอาณาจักรไทยประความเป็นศัตรูกับฝ่ายสัมพันธมิตร และ รัฐบาลไทยลงนามเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ที่มีคนไทยบางคนได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในภูมิภาคนี้คือ จักรวรรดิญี่ปุ่นและมีคนไทยกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นต่อต้าน จับอาวุธลุกขึ้นสู้เพื่อเอกราช คือ "ขบวนเสรีไทย"

ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งก็หาได้ถูกทำให้ชลอหรือกลบไปด้วยไฟสงครามแต่อย่างใด นั้นคือ "ปัญหาหัวเมืองชายแดนใต้" ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ต้นการปกครองยุครัตนโกสินทร์ และความไม่พอใจรัฐบาลสยาม/ไทยของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูที่คุกรุ่นมานับจากการล่มสลายของอาณาจักรปตานี ก็ปะทุขึ้นมาอีกครั้งจากการยกเลิกระบบสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองนครมาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 และทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งความอดอยาก ต้องดำรงชีวิตอย่างยากลำบากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามเห็นว่าพวกตนไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกับราษฎรที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนที่เป็นเสมือนคลื่นใต้น้ำจากภายนอก โดยอังกฤษสนับสนุน ตวนกู (ตนกูหรือ เต็งกู) มะไฮยิดดิน อับดุลกาเดร์ บุตรของ ตวนกู อับดุลกาเดร์ กามารูดดีน รายาปัตตานีองค์สุดท้ายให้แยกตัวออกจากไทย เพื่อแก้แค้นที่ไทยหันไปร่วมมือกับญี่ปุ่น แกนนำในการต่อต้านรัฐบาลยุคนั้นคือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ (หะยีสุหลง โต๊ะมีนา) ซึ่งมีบทบาทในการคัดค้านการตั้งดะโต๊ะยุติธรรม เรียกร้องให้แยกศาลศาสนา และเสนอคำขอ 7 ข้อต่อรัฐบาล

ในเวลาต่อมา หะยีสุหลงถูกจับด้วยข้อหากบฏเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรในพื้นที่อย่างกว้างขวาง

และเหตุการณ์นั้นเองเป็นที่มาของ "ปือแร ดุซงญอ" (ภาษามลายูปัตตานี แปลว่า "ดุซงญอลุกขึ้นสู้"หรือ "สงครามดุซงญอ") หรือที่รัฐไทยเรียกว่า กบฏดุซงญอ (คำว่า "ดุซงญอ" เป็นภาษาท้องถิ่นพื้นเมืองทางภาคใต้หมายถึง "สวนมะพร้าว" และเดิมพื้นที่บ้านดุซงญอเป็นที่ตั้งสวนของเจ้าพระยาเมืองระแงะ หนึ่งในเจ็ดหัวเมืองที่ถูกแบ่งแยกและปกครองในสมัยรัชกาลที่ 1 (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/กบฏดุซงยอ) ซึ่ง ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนไว้ในบทความ เปิดแผนโจรใต้ "28 เมษา" ปลุกผี "กบฏดุซงญอ" ในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน วันที่ 30 เมษายน 2547 ว่า
"…ตามประวัติศาสตร์แล้ว กรณีกบฏดุซงญอเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยกับชาวบ้านมลายูมุสลิมที่ดุซงญอ จ.นราธิวาส และเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2491 ซึ่งสมัยนั้นมีกรณีความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ และมีการต่อสู้กันแล้วแต่ยังมีข้อถกเถียงในสรุปตัวเลขคนตาย แต่อย่างน้อยประมาณ 400 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 40 คน ซึ่งคนไทยรู้จักกันในนามของกบฏดุซงญอ แต่นักประวัติศาสตร์มลายูมุสลิม หรือมาเลเซียเรียกว่า เคบังอีตัน แปลว่า การลุกขึ้นสู้"
ในขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ (อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักคิด นักเขียน ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ, รางวัลฟูกูโอกะ และรางวัลศรีบูรพา ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งหลังจากสมัยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และจิตร ภูมิศักดิ์) ระบุว่า
"กรณีดุซงญอนั้นเป็น 'กบฏชาวนา' ขนานแท้และดั้งเดิมทีเดียว โดยเริ่มจากชาวบ้านฝึกวิชาคงกระพันชาตรีเพื่อต่อสู้กับโจรจีนมลายู ซึ่งเคยปล้นเสบียงอาหารของชุมชนไป แต่เจ้าหน้าที่รัฐระแวงสงสัยและตรวจตราเข้มงวดมากขึ้น ชาวบ้านไม่พอใจจึงเกิดรบราฆ่าฟันกันขึ้น (ดูรายงานของธนวัฒน์ แซ่อุ่น ในมติชน, 5 พฤษภาคม 2547 ซึ่งแม้รายละเอียดจะแตกต่างจากงานของนักวิชาการ แต่เนื้อหาหลักก็ลงรอยกัน) เพื่อขับไล่อำนาจรัฐมิให้เข้ามาแทรกแซงในชุมชนมากเกินไป หาได้มีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนประการหนึ่งประการใดไม่"
ในบทวิจัยเรื่อง "มุมมองนักวิชาการ กบฏดุซงญอ การเมืองในประวัติศาสตร์" เขียนโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (http://www.freethailand.com/indexsite.php?username=dusongyoo&cat=21576&act=mc) เขียนไว้ว่า:
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏดุซงญอ" ก็ มีฐานะและชะตากรรมคล้ายๆกับบรรดากบฏชาวนาทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมา  คือเป็นเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างและทำให้เป็นความทรงจำของสังคม ต่อมาโดยรัฐและอำนาจรัฐสยามไทย  เนื้อเรื่องจะดำเนินไปเหมือนๆกันทำนองนี้  วันดีคืนดีก็มีกลุ่มชาวบ้านผู้หลงผิด พากันจับอาวุธแล้วลุกฮือขึ้นต่อสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่และข้าราชการของรัฐไทย  ชาวบ้านพวกนั้นมักเป็น "คนชายขอบ" หรืออีกศัพท์เรียกว่า "คนกลุ่มน้อย" ของรัฐและสังคมไทย  ที่น่าสนใจคือในกระบวนการทำให้เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของสังคมนั้น  คนเหล่านั้นก็จะถูกทำให้กลายเป็น "ผู้หลงผิด" และเป็น "ผู้ร้าย" ในประวัติศาสตร์ไทยไป  บทความนี้จะศึกษาเหตุการณ์ในอดีตของกรณี "กบฏดุซงญอ" ซึ่งตกอยู่ในสภาพและฐานะของ "ผู้ร้าย" มานับแต่เกิดเหตุการณ์นั้นมาถึงเหตุการณ์ล่าสุดในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 ที่ทำให้เสียงและความทรงจำไปถึงหลักฐานข้อมูลที่เป็นของชาวบ้านเหล่านั้นถูก เปิดเผยออกมาอย่างกว้างขวางมากที่สุดในพื้นที่สาธารณะของสังคม

"กบฏดุซงญอ" เป็น ตัวอย่างอันดีของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ว่าไม่มีเหตุการณ์ใดที่เกิดและเป็นเรื่องเป็นราวของมันเองโดดๆ หากแต่มันจะต้องเกี่ยวพันผูกโยงกับเหตุการณ์อื่นๆอีกมากมาย  นี่เองที่ทำให้ความหมายคลาสสิคดั้งเดิมของคำว่า "historia" ซึ่ง เฮโรโดตัสเป็นผู้ริเริ่มใช้ จึงหมายถึงการสืบสวนหรือเจาะหาเข้าไปถึงเรื่องราวในอดีต  นอกจากการจัดการกับหลักฐานข้อมูลหลากหลายแล้ว เวลาที่ผ่านไปก็ทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถสร้างและทำความเข้าใจความนึกคิด ของอดีตในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาได้บ้าง นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "บริบท" ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นหนึ่งในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์
**********
ก่อนจะบรรยายเหตุการณ์ "กบฏดุซงยอ" จำเป็นต้องกล่าวถึง ที่มาของเหตุความขัดแย้งในครั้งนั้น ซึ่งเริ่มต้นที่การจับกุมหะยีสุหลง โดยนำเสนอประวัติโดยสังเขปของหะยีสุหลง มีชื่อเต็มว่า "ตวนกูรู หะยีมูฮำหมัด สุหลง บิน หะยี อับดุลกาเดร์ บินมูฮัมหมัด อัล-ฟะฎอนี" ถือกำเนิดในปี พ.ศ.2438 ที่หมู่บ้านกำปงอาเนาะรู (หมู่บ้านลูกสน) มณฑลปัตตานี เป็นบุตรชายคนโตของ ฮัจญีอับดุลกาเดร์ บิน มูฮัมหมัด หรือ ตวนกูอับดุลการ์เดร์ กามารุดดิน สุลต่านแห่งปัตตานีองค์สุดท้าย ผู้ถูกจับตัวในฐานะที่แข็งข้อต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบมณฑลในสมัยรัชกาลที่ 5 จนต้องถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งในช่วงที่บิดาถูกจับ หะยีสุหลงมีอายุเพียง 7 ขวบ และหลังจากออกจากคุกบิดาก็หนีไปปักหลักอยู่ที่กลันตัน ร่วมกับลูกหลานคนอื่นๆ ที่ยังคงดำเนินการต่อต้านระบอบการปกครองของสยามในสมัยนั้น ส่วนมารดาชื่อซารีเฟาะห์ ซึ่งเป็นภรรยาคนแรกของบิดาในจำนวนทั้งหมด 3 คน เป็นหลานปู่ของ ฮัจญีไซนับอาบีดิน บิน อาหมัด หรือ "ตวนมีนาล" ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราศาสนาที่ชื่อเสียง
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 30 พฤศจิกายน-6 ธันวาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนา ในสยาม-ไทย (67)

กบฏชาวนาหลังเกิด "รัฐไทย"
กบฏผู้มีบุญ "โสภา พลตรี" (5)

การทรมานนักโทษที่ถูกทางการราชวงศ์ชิงจับกุมตัวในกบฏนักมวย (สมาคมอี้เหอถวน) ระหว่างปี ค.ศ. 1898-1900

ประเด็นที่สองสำหรับเหตุผล (ตามที่ผู้เขียนทั้งสองเก็บข้อมูลดิบจากการสัมภาษณ์ตัวบุคคลร่วมสมัยกับ หมอลำโสภา พลตรี) ในบทความ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" (สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ชอบ ดีสวนโคก ตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 12, 1 พ.ค.-ต.ค. 2537 หน้า 39-51) เป็นเรื่องน่าสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ในลักษณะ "กบฏชาวนา" (เมื่อก่อการไม่สำเร็จ) หรือการ "ปราบดาภิเษก" หรือ "เปลี่ยนราชวงศ์" (ในกรณีที่ก่อการสำเร็จ) กับการ "พึ่งไสยศาสตร์":

2) พ่อใหญ่โสภาแสดงปาฏิหาริย์ในลักษณะผู้วิเศษ 2 ครั้ง คือครั้งแรกถ่วงน้ำแล้วไม่ตาย ครั้งหลังศพถูกฝังไปแล้วพอขุดขึ้นมาศพก็หายไปในลักษณะ "สำเร็จ" ของผู้วิเศษ
**********
ดังที่เคยเขียนไว้ในตอนต้นของบทความชุดยาวนี้ "กบฏชาวนาก่อนยุคประชาธิปไตย : บทเกริ่นว่าด้วยกบฏในราชวงศ์ชิง" (โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 18-24 สิงหาคม 2555) ซึ่งเขียนถึงกบฏชาวนาครั้งสำคัญ 3 ครั้งในประวัติศาสตร์จีนคือ
กบฏพรรคดอกบัวขาว (แป๊ะเน้ย) ที่ต้องการฟื้นฟูราชวงศ์ต้าหมิงถูกทำลายล้างสิ้นในปี ค.ศ. 1800
กบฏไท้เผ็ง (ไท้เผ็งเทียนกว๋อ) ค.ศ. 1849 (ถูกปราบมีคนตาย 20 ล้าน)
กบฏนักมวย (สมาคมอี้เหอถวน) ระหว่างปี ค.ศ. 1898-1900
ทั้งหมดใช้ไสยศาสตร์นำ และผลคือการถูกปราบจนราบคาบ ขณะที่อำนาจรัฐในยุคที่เกิดกบฏนั้นเองก็ไม่พ้นเป็นอำนาจรัฐที่มีรากฐานความคิดแบบไสยศาสตร์เช่นเดียวกัน จึงน่าจะตั้งเป็นข้อสังเกต ว่า ไสยศาสตร์ไม่ควรแม้แต่การนำมาใช้ในเชิงปฏิบัติการจิตวิทยาในการลุกขึ้นสู้ จะเพื่อปลดปล่อยจากการอำนาจการปกครองหนึ่ง หรือเพื่อสถาปนาระบอบการปกครองอีกระบอบหนึ่งก็ตาม

สำหรับกรณีพ่อใหญ่โสภา สิ่งที่เรียกว่าปาฏิหาริย์หรืออิทธิฤทธิ์ หรืออะไรก็ตามที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์นั้น มีเพียงพยานบุคคลซึ่ง "พร้อมจะเชื่อ" เนื่องจากมีศรัทธาต่อตัวพ่อใหญ่โสภาตั้งแต่แรกแล้ว

ที่สำคัญ การใช้ "ไสยศาสตร์นำ" หาได้มีพื้นฐานที่ "อุดมการณ์ทางการเมือง" แต่อย่างใดไม่

สำหรับประเด็นสุดท้าย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับประเด็นที่สอง แต่มีลักษณะเป็น "ศาสดาพยากรณ์" นั้น คือ "การมองเห็นอนาคต" ช่วงสุดท้ายของบทความฯ เขียนไว้ดังนี้:

3) พ่อใหญ่โสภาเป็นนักพยากรณ์ ในช่วงที่พ่อใหญ่โสภามีชีวิตได้พยากรณ์บ้านเมืองไว้หลายเรื่อง ตอนนั้นผู้คนที่ฟังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ภายหลังจึงเข้าใจจึงพากันชื่นชมในความสามารถ ตัวอย่างของคำพยากรณ์ทำนายอนาคตบ้านเมืองว่าจะเกิดสิ่งต่อไปนี้

"ม้าสิโป่งเขา เสาสิออกดอก" ต่อมาชาวบ้านจึงเข้าใจว่าอันแรกคือมอเตอร์ไซค์ อันหลังคือเสาไฟฟ้า

"กระดาษน้อยๆ สิมีค่า" คชต่อมาชาวบ้านเข้าใจว่ามันคือหวยเถื่อน (คุย แดงน้อย, อรุณ เชื้อสาวะถี)

"เหมิดบ้านจะมีไถ 2-3 ดวง เอาไว้ไถนากัน" ชาวบ้านในเวลาต่อมาตีความว่าไถที่ใช้ควายจะเลิกไป เหลือแต่รถไถเดินตาม หมูบ้านละ 2-3คัน

"ทางย่าง 9 คืน 10 คืน จะย่างมื้อเดียว" ชาวบ้านในเวลาต่อมาตีความว่าคือถนนลาดยางในปัจจุบัน เดิมเคยเดิน 9-10 วัน จะใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ภายในวันเดียว

"เขาตีมวยอยู่เมืองนอก จะนอนฟังอยู่บ้านก็ได้" ชาวบ้านในเวลาต่อมาตีความว่าคือวิทยุ โทรทัศน์

"เขาลำอยู่ทิศใด ย่างตามทางก็ฟังได้" ชาวบ้านในเวลาต่อมาตีความว่าคือวิทยุทรานซิสเตอร์

"จะมีของน้อยหิ้วไป ฟังได้เป็นร้อยเป็นพัน" ชาวบ้านในเวลาต่อมาตีความว่าคือวิทยุทรานซิสเติร์เช่นกัน

"โบกกุมภัณฑ์ สิบวันจึงเปิดเทียหนึ่ง แต่บ่มีไผเป็นหนี้กัน" "กระดาษน้อยสองนิ้วใครก็ซื้อ บางคนซื้อเป็นพันก็มี ผู้มีหลายก็ซื้อหลาย ผู้มีน้อยก็ซื้อน้อย ผัวเมียบ่ผิดกัน ผัวก็ซื้อเป็น เมียก็ซื้อเป็น ลูกก็ซื้อเป็น" ชาวบ้านในเวลาต่อมาตีความว่าอันแรกคือสลากกินแบ่งรัฐบาล อันหลังคือหวยเถื่อน

"ต่อไปนี้พระยาแมงงอดก็จะมี พระยาขอดก้นหอยก็จะมี มันซิเดือดฮ้อน มันซิเจ็บปวด ปกครองบ้านเมืองบ่เป็นธรรม" อันนี้ชาวบ้านตีความว่าหลังปี 2483 (ปีที่พ่อใหญ่โสภาทำนาย) รัฐบาลที่ปกครองเป็นคนไม่ดี ลุแก่อำนาจ จะปกครองบ้านเมืองแบบเผด็จการ บ้านเมืองหาความเป็นธรรมมิได้ (อรุณ เชื้อสาวะถี) ปี 2490 ทหารทำรัฐประหาร นับแต่นั้นมา ทหารก็ขึ้นมาปกครองแบบเผด็จการตั้งแต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ถนอม กิตติขจร (2490-2516) นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เผด็จการพลเรือน (2519-2520) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เผด็จการครึ่งใบ (2520-2523)

ตัวอย่างคำพญากรณ์เหล่านี้ ทำให้ชาวบ้านศรัทธาในความสามารถล่วงรู้อนาคตของพ่อใหญ่โสภา นอกจากคำพญากรณ์ของเขาแล้ว พ่อใหญ่โสภยังจำพุทธทำนายได้ทุกข้อ (รายละเอียดของพุทธทำนายดูใน สุวิทย์ ธีรศาสวัต และชอบ ดีสวนโคก, รายงานการวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของหมู่บ้านอีสานเหนือและอีสานกลาง ก่อนและหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2536; ภาคผนวก) แต่อย่างไรก็ตามหากไปถามถึงเรื่องพ่อใหญ่โสภาโดยไม่สนิทกับชาวบ้านสาวะถีแล้ว ชาวบ้านร่วมสมัยกับพ่อใหญ่โสภาหลายคนจะไม่ค่อยกล้าคุยด้วย หรือบอกว่าจำไม่ได้ หรือแสดงอาการอึดอัดที่จะคุยเรื่องนี้ เพราะยังมีความหวาดกลังว่าทางการจะจับหรือมาสอบสวน แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านมาแล้วถึง 54 ปีก็ตาม
**********
จะเห็นว่าความ "แม่นยำ" ในการพยากรณ์หรือทำนายของพ่อใหญ่โสภา จะขึ้นต่อการตีความให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมในเวลาต่อมาเป็นหลัก ซึ่งดูจะสอดคล้องกับความใฝ่ฝันของคนชั้นล่างที่ผูกพันกับ "สังคมพระศรีอาริย์" ค่อนข้างมาก ที่ว่าการดำรงชีวิตของคนในสังคมจะมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย ไม่ต้องทำงานตรากตรำ แต่แล้วความฝันนั้นก็อาจต้องพังทลายลงเมื่อผู้ปกครอง "หาความเป็นธรรมมิได้"

ความพยายามที่จะ "แข็งข้อ" ต่ออำนาจรัฐ หรือที่ในบทความใช้คำ (แบบทางการ) ว่า "กบฏ" ซึ่งดูเหมือนจะยังไม่ทันก่อรูปได้ชัดเจนมากไปกว่าการจัดชุมนุม/ปลุกระดมมวลชนสำหรับกรณี "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" นี้ เมื่อพิจารณาจากคำบอกเล่าของพยานบุคคลที่มีชีวิตร่วมสมัยกับพ่อใหญ่โสภา หรือกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ช่วงนั้น ดูเหมือนการนำของพ่อใหญ่โสภามีเป้าหมายเพียง "ขัดขืน" กฎหมายหรือกฎระเบียบทางวัฒนธรรมอย่างใหม่ที่มีลักษณะ "บัญญัติเป็นกฎหมาย" แต่ไม่ถึงกับการจะสถาปนาอำนาจการปกครองแต่อย่างใด

และยี่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ข้อหา "กระด้างกระเดื่อง" ที่ฝ่ายบ้านเมือง "ยัดเยียด" ให้แก่พ่อใหญ่โสภาและบริวาร อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัว หรือความไม่พอใจส่วนตัวดังได้กล่าวมาแล้ว.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 23-29 พฤศจิกายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8