Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (52)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (18)

หนังสือ Hikayat Patani ภาษายาวี ถือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ปัตตานีที่เก่าแก่ที่สุดเล่มหนึ่ง กล่าวถึงเรื่องราวช่วงต้นทศวรรษ พ.ศ. 1940-1950 ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมากระหว่างปี พ.ศ. 2233 ถึงปี พ.ศ. 2273 โดยฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุด จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2382 และเก็บไว้ที่ ห้องสมุดรัฐสภาสหรัฐ

บทสรุปสำหรับบทความ "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" โดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร ตีพิมพ์ใน วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2552 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ลงที่ความเห็นที่ต้องการการค้นคว้าสรุปต่อเนื่อง ว่า "หลัก 'รัฐประศาสโนบาย 6 ประการ' และ 'สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม' เป็นประดิษฐกรรมทางการปกครองพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในรัชกาลที่ 6 ที่ก้าวหน้า มีการออกแบบที่สอดคล้องกับปัญหาความขัดแย้งของการเป็น 'ท้องที่พิเศษ' ของมณฑลปัตตานี" อีกทั้งยังตั้งคำถาม "ที่จำเป็น" สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกบริบทในการแก้ไขปัญหา ควรจะนำไปพินิจพิจารณา "หรือว่าคนและระบบในปัจจุบันอ่อนด้อยและ คับแคบในองค์ความรู้ ขาดวิสัยทัศน์และขันติธรรมที่จะธำรงความหลากหลายให้ดำรงอยู่คู่กับหลักการพหุสังคมอันแท้จริงทั้งในดินแดนส่วนนั้นและส่วนอื่นของชาติโดยถ้วนหน้ากัน"
**********
"กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความล้มเหลวในการบูรณาการประชาชนในดินแดนส่วนนี้ซึ่งเพิ่งถูกดึงเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐสยามใหม่โดยตรงเพียงเมื่อสองทศวรรษก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ดี ความพยายามในการแก้วิกฤติครั้งนั้น ได้เปิดมิติใหม่ให้กับการสร้างความเข้าใจใหม่ในกลุ่มผู้นำรัฐสยามที่ตระหนักในอัตลักษณ์ของผู้คนและพื้นที่ และได้นำไปสู่การริเริ่มแนวนโยบายและหลักการปกครองประชากรและดินแดนส่วนนั้นใหม่ที่สอดคล้องกับ "ความเป็นท้องที่พิเศษด้วยภูมิประเทศแลบุคคล" "หลักรัฐประศาสโนบาย 5 ประการ" เป็นนวัตกรรมทางการปกครองดินแดนส่วนนี้ที่มีความสมสมัย เป็นหลักการที่ประกาศรับรองความเป็นพหุนิยมของรัฐสยามในการปกครองประชากรและดินแดนส่วนนั้น โดยยอมเปิดกว้างให้กับการ "ดัดแปลง" กฎระเบียบการปกครองในพื้นที่ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์พิเศษทางดินแดน ชาติพันธุ์ภาษาศาสนาและธรรมเนียมนิยมของประชากรในพื้นที่ซึ่งแตกต่างไปจากส่วนอื่นของประเทศ

ท้ายที่สุด ในด้านลึก "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ได้เผยให้เห็น "จุดอ่อนอันแท้จริง" ทางโครงสร้างการปกครองที่รัฐบาลกลางมีอำนาจรวมศูนย์และเด็ดขาด และการจัดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นขาดการกระจายอำนาจที่สมดุล ประวัติศาสตร์การเกิด "รัฐชาติสยาม" ในกรณีของมณฑลปัตตานีเรียกร้องการจัดรูปแบบความสัมพันธ์และความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันแบบ "พหุสังคมนิยม" ของกลุ่มคนในชาติที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การสำรวจพัฒนาการทางการเมืองของดินแดนที่เป็นชายแดนภาคใต้ในบทความนี้และบทความก่อนหน้านี้ ชี้ว่าความสำเร็จของการเกิดรัฐชาติสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการบูรณาการดินแดนและประชาชนในพื้นที่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับในความ แตกต่างที่เป็นอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่ และความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจนเป็น วิกฤตินั้น ก็มาจากการละเลย ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ และการไม่ยอมรับและไม่เปิดทางให้กับความแตกต่างนั้น และยิ่งไปกว่านั้นคือ การบังคับใช้หรือยัดเยียดกรอบการปกครอง ที่เบียดขับและทำลายล้างอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของท้องถิ่น แนวทางหลังสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ประชาชนและดินแดนส่วนนั้นมีสถานภาพดุจ "ไส้ติ่ง" อันเป็นอวัยวะในองคาพยพของร่างกายที่ง่ายต่อการติดเชื้อและการอักเสบจนเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อเจ้าของร่างกาย คือประเทศและสังคมชาติโดยรวมได้ รอเพียงจังหวะเวลาอันเหมาะสมของปัจจัยปรุงแต่งจากภายในและภายนอก ดังปรากฏในประวัติศาสตร์ของดินแดน ส่วนนี้ในอีกหลายยุคหลายสมัย จวบจนปัจจุบัน

หลัก "รัฐประศาสโนบาย 6 ประการ" และ "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม" เป็นประดิษฐกรรมทางการปกครองพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในรัชกาลที่ 6 ที่ก้าวหน้า มีการออกแบบที่สอดคล้องกับปัญหาความขัดแย้งของการเป็น "ท้องที่พิเศษ" ของมณฑลปัตตานี และได้พิสูจน์ว่าเป็นที่ยอมรับแม้จากกลุ่มชาตินิยมปัตตานีที่ต่อต้านรัฐในพื้นที่ ข้อพึงพินิจใคร่ครวญก็คือ เหตุใดปัจจุบันเราจึงอับจนหนทาง ไม่อาจหาหลักการและรูปแบบการปกครองที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ตอบสนองต่อเนื้อแท้ของปัญหาความขัดแย้ง และสามารถรับมือกับปัญหาการปะทะทางความคิดและอารยธรรมอันซับซ้อนของสังคมยุคโลกาภิวัตน์ หรือว่าคนและระบบในปัจจุบันอ่อนด้อยและ คับแคบในองค์ความรู้ ขาดวิสัยทัศน์และขันติธรรมที่จะธำรงความหลากหลายให้ดำรงอยู่คู่กับหลักการพหุสังคมอันแท้จริงทั้งในดินแดนส่วนนั้นและส่วนอื่นของชาติโดย ถ้วนหน้ากัน
(ตอนจบ)
**********
นอกจากนั้นใน "บทนำ" (ในฐานะบรรณาธิการ) โดย รศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ใน จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 41 "วิกฤตมณฑลปัตตานี 2465 : บทเรียนสมัยรัชกาลที่ 6" โดย ผศ. พรรณงาม เง่าธรรมสาร (พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง มิถุนายน 2551 จัดพิมพ์โดย โครงการความมั่นคงศึกษา ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยังเขียนสรุปไว้ในตอนท้ายว่า
**********
สิ่งที่กล่าวแล้วในข้างต้นจากการสรุปแนวทางการบริหารราชการจากรายงานการประชุมเรื่องมณฑลปัตตานีในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2466 เป็นประจักษ์พยานอย่างดีที่ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในอดีต ที่พยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาภาคใต้อย่างละมุนละม่อม เพราะตระหนักดีว่า การดําเนินการให้ประสบความสําเร็จในมณฑลปัตตานีนั้น จําเป็นจะต้องมีกรอบนโยบายที่กําหนดให้เกิดความชัดเจนแก่ข้าราชการฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ "หลัก 6 ประการ" ดังกล่าวยังสามารถนํามาใช้เป็นกรอบสําหรับรัฐบาลในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ดังที่ล้นเกล้ารัชการที่ 6 ได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า "หลักรัฏฐประศาสโนบาย 6 ข้อ ตามที่ได้กะไว้นั้น เป็นการถูกต้องและสมควรแก่กาละเทศะแล้ว ให้ถือเป็นระเบียบสําหรับปฏิบัติราชการเนื่องด้วยมณฑลปัตตานีต่อสืบไป"
**********
และเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้เขียน (อริน) เห็นว่า การศึกษาประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง รอบด้าน และอย่างมีใจเป็นธรรม มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อการดำเนินการใดๆ เพื่อการยุติความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อย่างมีขั้นตอน ทั้งโดยการ "รักษาไข้ตามอาการ" และทั้ง "รักษาที่สมุฏฐาน" ทั้งนี้ การมองปัญหาเพียงกรอบสถานการณ์ในรอบไม่กี่สิบปี จะยิ่งทำให้สถานการณ์นอกจากไม่เพียงไม่อาจคลี่คลายขยายตัวไปในทางสร้างสรรค์แล้ว อาจจะเท่ากับเป็นการซ้ำเติมตอกย้ำบาดแผลและความทรงจำที่เจ็บปวดที่ฝังลึกอยู่ในใจของผู้คนในพื้นที่มานับร้อยปีมากยิ่งขึ้น.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 10-16 สิงหาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8