Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (54)

"กบฏหนองหมากแก้ว"
กบฏเจ้าผู้มีบุญ พ.ศ. 2467 (2)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร ร.ศ. 125

สำหรับเหตุการณ์กบฏเจ้าผู้มีบุญซึ่งเกิดขึ้นในจังหวัดเลยในปี พ.ศ. 2467 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งสยามบรมราชจักรีวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ต้องนับว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันกับกบฏผีบุญที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้ว่าการคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์จะไม่รุนแรงมากเหมือนที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ก็ก่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การดำเนินการใช้กระบวนการหลอกลวง อันเป็นแนวทางพื้นฐานของการ "ลุกขึ้นสู้ของไพร่" หรือ "กบฏชาวนา" คือใช้การปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อบนพื้นฐานความคิดแบบไสยศาสตร์ เทวนิยม โดยอิงกับแนวคิดเชิงพุทธศาสนาที่ถูกบิดเบือนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ให้ชาวบ้านหลงงมงายจนไม่เป็นอันทำมาหากิน ซึ่งก็ไม่พ้นที่ทางการต้องใช้กำลังเข้าทำการปราบปราม

ความเดิมในตอนที่แล้วใน "ประวัติศาสตร์จังหวัดเลย" สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จาก เว็บไซต์ของจังหวัดเลย http://www.loei.go.th  เขียนถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ว่ากล่าวถึงบุคคลระดับ "แกนนำ" ในคณะของผีบุญ 4 คน ต่างมีหน้าที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
**********
1. นายบุญมา จัตุรัส อุปสมบทได้หลายพรรษาเดินทางมาจากจังหวัดชัยภูมิ ได้ขนานนามของตนเองเป็น พระประเสริฐ มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะ มีหน้าที่ทำน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ใส่ตุ่มไว้ให้ผู้คนได้ดื่มกินและอาบเป็นการสะเดาะเคราะห์ แล้วทำพิธีปลุกเสกลงเลขยันต์ในตะกรุด ซึ่งใช้ตะกั่วลูกแหมาตีแผ่ออกเป็นแผ่นบาง ๆ เสร็จแล้วมัวนออกแจกจ่ายให้ผู้คนร้อยเชือกผูกสะเอวติดตัวไว้ เป็นเครื่องรางของขลังชั้นยอดของพระประเสริฐในทางคงกระพันชาตรีป้องกันผีร้าย

2. ทิดเถิก บุคคลผู้คงแก่เรียนชาวบ้านหนองหมากแก้ว ได้ขนานนามตนเองเป็น เจ้าฝ่าตีนแดง มีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้า มีหน้าที่ทำผ้าประเจียดกันภัยอันทรงประสิทธิภาพเป็นมหาอุตม์แม้ปืนผาหน้าไม้ตลอดจนมีดพร้ากะท้าขวานก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรแก่ผู้ที่มีผ้าประเจียดอันทรงฤทธิ์ของเจ้าฝ่าตีนแดงได้ วิธีทำผ้าประเจียด ไม่ว่าบุคคลใดที่มีความประสงค์ก็ให้บุคคลเหล่านั้นไปจัดหาผ้าฝ้ายสีขาวขนาดกว้างยาว ด้านละหนึ่งศอกของตนมาหนึ่งผืน เมื่อมาพร้อมหน้ากันครั้นได้เวลาสานุศิษย์ก็ให้ผู้ประสงค์รอคอยอยู่ข้างล่างศาลาแล้วเรียกขึ้นไปทีละคน ผู้ที่ขึ้นไปแต่ละคนจะต้องคลานเข้าไปหาเจ้าฝ่าตีนแดงและห้ามมองหน้า เมื่อคลานเข้าไปถึงที่ที่เจ้าฝ่าตีนแดงนั่งอยู่จึงคลี่ผ้าขาวที่จะมาทำผ้าประเจียดปูออกแล้วพนมหมอบก้มหน้านิ่งจนกว่าเจ้าฝ่าตีนแดงจะทำผ้าประเจียดเสร็จ ฝ่ายเจ้าฝ่าตีนแดงเมื่อเห็นผู้ที่ประสงค์อยากได้ผ้าประเจียดได้กระทำตามกฎซึ่งตนวางไว้ด้วยความเคารพก็ลุกขึ้นยกเท้าขวาหรือซ้ายย่ำลงไปในบม (บมคือภาชนะที่ทำด้วยไม้ มีลักษณะทรงกลมแบนและลึกคล้ายถาดซึ่งชาวอีสานใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกดีแล้ว เพื่อให้ไอน้ำออกก่อนที่จะนำไปเก็บไว้ในกระติบ) ที่มีขมิ้นกับปูนตำผสมกันไว้อย่างดี แล้วจึงยกเท้าข้างที่ย่ำลงไปในบมเหยียบผ้าขาวก็จะปรากฏรอยเท้าของเจ้าฝ่าตีนแดงอย่างชัดเจนเป็นอันเสร็จพิธีทำผ้าประเจียดนำไปใช้ได้ทันที แต่ถ้าหากเหยียบผ้าขาวแล้วปรากฏรอยไม่ชัดเจน หรือไม่สบอารมณ์ของเจ้าฝ่าตีนแดง ผู้ที่ต้องการก็ต้องไปหาผ้าขาวมาทำใหม่จนกว่าจะได้ผ้าประเจียดชั้นดีไปไว้ใช้ต่อไป ครั้นได้ผ้าประเจียดไปแล้วจะต้องนำไปเก็บบูชาเอาไว้บนหิ้งพระ หรือเมื่อออกเดินทางจะต้องพับชายผูกคอไปเป็นเครื่องรางของขลังประจำตัวทุกครั้งจะลืมไม่ได้เป็นอันขาด

3. นายสายทอง อินทองไชยศรี ขนานนามตนเองเป็น เจ้าหน่อเลไลย์ อ้างว่า ได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้มาปราบยุคเข็ญโดยเฉพาะ มีวาจาสิทธิ์สามารถที่จะสาปผู้ละเมิดกฎสวรรค์ให้เป็นไปตามโทษานุโทษที่ตนพิจารณาเห็นตามสมควรได้ทันที ครั้งนั้นได้เกิดมีการขโมยเกิดขึ้นในหมู่บ้านหนองหมากแก้ว แล้วจับขโมยได้ ชาวบ้านจึงควบคุมตัวไปให้เจ้าหน่อเลไลย์เป็นผู้ตัดสิน ผลของการตัดสินปรากฏว่า ขโมยได้ละเมิดกฎของสวรรค์ในข้อบังเบียดเครื่องยังชีพของมวลมนุษย์อย่างสุดที่จะอภัยให้ได้ โทษที่ขโมยพึงได้รับในครั้งนี้ก็คือ ต้องถูกสาปให้ธรณีสูบลงไปทั้งเป็น ครั้นได้พิพากษาโทษให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้เห็นทั่วไปแล้ว พิธีสาปก็เริ่มขึ้นโดยเจ้าหน่อเลไลย์มีบัญชาให้สานุศิษย์ขุดหลุมขนาดพอฝังศพได้ในสถานที่ที่ได้กำหนดไว้ ครั้นแล้วให้ไปนำตัวขโมยซึ่งได้ผูกมัดข้อมือเอาไว้อย่างแน่นหนา พาไปยืนที่ปากหลุม แล้วเจ้าหน่อเลไลย์ก็เริ่มอ่านโองการอัญเชิญเทวทูตให้ลงมาจากสรวงสวรรค์ มาเป็นสักขีพยานในการที่ตนได้ดำเนินการสาปให้ขโมยต้องถูกธรณีสูบลงไปทั้งเป็นตามโทษานุโทษ พอเจ้าหน่อเลไลย์กล่าวคำสาปสิ้นสุดลงก็บัญชาให้สานุศิษย์ผลักขโมยลงไปในหลุม พร้อมกับช่วยกันรีบขุดคุ้ยโกยดินลงกลบฝังขโมยที่ต้องคำสาปให้ธรณีสูบลงไปทั้งเป็น ท่ามกลางความตกตะลึงพรึงเพริดสยดสยองของผู้คนที่ไปร่วมชมพิธีกรรมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคณะผีบุญคล้อยหลังลับไป บรรดาญาติพี่น้องของขโมยก็รีบพากันขุดคุ้ยโกยดินนำขโมยที่ถูกฝังทั้งเป็นอาการร่อแร่ปางตายขึ้นมาปฐมพยาบาล แล้วรีบพากันอพยพหลบหนีบัญชาจากสวรรค์ของคณะผีบุญไปในคืนนั้นทันที และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น เป็นผลให้ไม่มีการลักขโมยใด ๆ เกิดขึ้นในหมู่บ้านหนองหมากแก้วต่อไปอีกเลย ทั้งนี้ ด้วยทุกคนได้ประจักษ์แก่ตาในประกาศิตจากสวรรค์ของเจ้าหน่อเลไลย์เป็นอย่างยิ่ง

4. นายก้อนทอง พลซา ชาวบ้านวังสะพุงซึ่งเป็นบุคคลที่ 4 ขณะนั้นรับราชการในหน้าที่สารวัตร อำเภอวังสะพุง ได้ไปพบเห็นพิธีการต่าง ๆ ของคณะผีบุญจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จนถึงกับได้ขออนุญาตลาบวชจากทางราชการมีกำหนด 10 วัน ในระหว่างที่ทางราชการได้อนุญาตให้ลาบวชได้ นายก้อนทอง ฯ ได้ถือโอกาสหลบไปสมทบกับคณะผีบุญที่บ้านหนองหมากแก้ว แล้วก็รีบทำความเพียรแต่ยังไม่ทันจะได้รับความสำเร็จจนถึงขั้นได้รับการขนานนาม ก็มาถูกทางบ้านเมืองเข้าทำการปราบปรามและจับตัวได้เสียก่อน
(ยังมีต่อ)
**********
อย่างไรก็ดี มีผู้เขียนถึงการแข็งข้อลุกขึ้นก่อการของชาวนี้ครั้งนี้ โดยนำเสนอข้อมูลที่ดุเหมือนจะต่างจากข้อมูลในเว็บไซต์ที่เป็นทางการของจังหวัดเลย โดย ใน บล็อก OKnation ของผู้ใช้ชื่อ "จอมมารกระบี่หัก" ซึ่งโพสต์บทความชื่อ "บ้านผมก็มีกบฏ" เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 http://www.oknation.net/blog/print.php?id=490430 โดยนอกเหนือจากข้อมูลอื่นๆ จะมีส่วนต้องตรงกันอยู่มาก แต่ที่แตกต่างออกไป และเป็นประเด็นสำคัญ คือ... "นั้นคือการร่วมตัวของกลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการกลับชาติมาเกิด เพื่อมาพาพี่น้องพ้นทุกข์เข็ญ สถาปนาตนเองเป็นผู้วิเศษ หลอกลวงชาวบ้านให้มาหลงเชื่อศรัทธา จนคิดการใหญ่ถึงขั้นแยกประเทศปกครอง...มองๆไปแม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นราวๆ ปี พ.ศ. 2476 หรือประมาณเจ็ดสิบกว่าปีล่วงผ่านมาแล้ว" ทั้งเขียนว่าการก่อหวอดเกิดขึ้นขณะที่ "พระยาศรีนครชัย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เจ้าพระยาราชนิกุลวิบูลย์ภักดี เป็นอุปราชภาคอีสาน"

หากการเขียนถึงปีที่เกิดเหตุการณ์ จะต่างกันตรงเลขพุทธศักราช ที่กลับ จาก "2467" เป็น "2476" อาจนำไปสู่การตีความถึง "ผลเชิงลบ" ต่อ "การอภิวัฒน์สยาม 2475" อย่างที่มีสำนักคิดจำนวนมากพยายามนำเสนอ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 24-30 สิงหาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8