Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (53)

"กบฏหนองหมากแก้ว"
กบฏเจ้าผู้มีบุญ พ.ศ. 2467 (1)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร พ.ศ. 2449

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พ.ศ. 2453 แล้ว ทรงดำเนินการปฏิรูปการเมืองการปกครองของสยามต่อไปตามพระราชดำริต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันกระแสคัดค้านต่อต้านในส่วนภูมิภาคก็คงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากราษฎรและจากเจ้าเมืองเก่าในระบอบศักดินา/จตุสดมภ์

สถานการณ์ที่ราชสำนักสยามต้องเผชิญในเวลาไล่เลี่ยกันชนิด "ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก" คาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ "ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465" ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ "หัวเมืองชายแดนใต้" นั่น นั่นคือ ในปี พ.ศ. 2466 เกิด "กบฏผีบุญที่หนองหมากแก้ว" ("หนองบักแก้ว" ก็ว่า) จังหวัดเลย ผู้นำ 4 คน ทนเห็นชาวบ้านทุกข์ร้อนจากปัญหาสารพัดไม่ไหว ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ข้าวยากหมากแพง แล้วยังถูกกดขี่ข่มเหงจากเจ้านายบ้านเมือง ลุกขึ้นประกาศว่า "พี่น้อง ต่อไปนี้จะไม่มีเจ้ามีนาย ใบไม้จะเป็นเงินเป็นทอง" คือภาพนิมิตของสังคมพระศรีอาริย์ แต่วิธีการผิดก็ไปไม่ถึงไหน กลายเป็นกบฏ (โฮมเพจ ดร.เสรี พงศ์พิศ: "วิสัยทัศน์การเกษตร", สยามรัฐรายวัน 10 สิงหาคม 2554; http://www.phongphit.com/older/content/view/567/1/)

ซึ่งจากข้อเขียนเรื่อง "อุดมการณ์ขบถผู้มีบุญอีสาน" ในหนังสือ ความเชื่อพระศรีอาริย์และกบฏผู้มีบุญในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์. 2527; หน้า 231-232 เขียนโดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และประนุช ทรัพยสาร ขยายความว่า:
**********
กบฎหนองหมากแก้ว พ.ศ. 2467 ผู้นำกบฏเป็นพระชื่ออาจารย์บุญมา จัตุรัส มีพระธุดงค์ที่มาด้วยกับ 3 รูปและสามเณรอีก 1 คน เข้ามาที่บ้านหนองหมากแก้ว ตำบลปวนพุ อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย มาสอนธรรม ให้ชาวบ้านถือศีลทำบุญทำทาน ให้กินแต่ถั่ว งา ผัก ผลไม้ ข้าว ไม่ให้กินเนื้อสัตว์ไม่ให้ลักขโมย ให้ระลึกคุณบิดามารดา นอกจากนี้คณะพระธุดงค์นี้ยังรักษาคนเจ็บป่วยด้วย มีชาวบ้านใกล้เคียงพากันนับถือมาก ไม่ต่ำกว่า 4,000 คนชาวบ้านเรียกอาจารย์บุญมาและคณะว่า "เจ้าผีบุญ" ต่อมาพระทั้งสมได้สึกออกมาและมีภรรยา คณะเจ้าผู้มีบุญได้จัดชุมนุมชาวบ้านทั้งกลางวันและกลางคืนที่บริเวณวัด ให้ชาวบ้านดื่มน้ำมนต์ ให้หญิงสาวชาวบ้านแต่งตัวสวยงามฟ้อนรำ และคณะเจ้าผู้มีบุญประกาศว่าพระศรีอาริยเมตไตรจะมาเกิดที่บ้านหนองหมากแก้ว ถึงตอนนั้นจะเป็นยุคที่ "ไม่มีนาย ใบไม้กลายเป็นเงินเป็นทอง" มีการร้องเพลงเตือนให้ชาวบ้านระลึกถึงเมื่อครั้งกองทัพสยามทำลายเมืองเวียงจันทร์ในสมัยเจ้าอนุวงศ์
**********
จะเห็นว่า สาเหตุหลักที่ผลักดันให้ราษฎรกล้าลุกขึ้น "กระด้างกระเดื่อง" ต่ออำนาจการปกครองในสมัยราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ ความอดอยากแร้นแค้น ประกอบกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เปลี่ยนไป ทำให้ระบบส่วยสาอากรพุ่งตรงมาที่ราษฎรโดยตรงแทนที่จะผ่านระบบขุนนางศักดินาเช่นที่เคยเป็นมาจากสมัยอยุธยาจนถึงปลายรัชกาลที่ 5

แต่ถึงกระนั้น แนวทาง "การลุกขึ้นสู้" หรือ "กบฏชาวนา" ก็ไม่อาจหนีพ้นความคิดเทวนิยม ไสยศาสตร์หรือกึ่งไสยศาสตร์ โดยการตั้งต้นเป็น "เจ้าผีบุญ" หรือ "องค์บุญ" แล้วประกาศเป้าหมายสร้างสังคม "พระศรีอารย์" ที่คนทั้งหลายอยู่ดีกินดี สังคมมีความเสมอภาค "ไม่มีนาย"

ทว่าในที่สุด การลุกขึ้นสู้โดยใช้อุดมการณ์รัฐศักดินาหรือราชาธิปไตย ที่เพียงเปลี่ยน "ผู้ปกครอง" พร้อมกับสถาปนา "ราชวงศ์" ขึ้นมาใหม่ ก็มักจากถูกปราบปรามอย่างราบคาบทุกครั้งไป ต่างจากการความสำเร็จหลายครั้งจากการ "แย่งยึดอำนาจ" ภายในหมู่ชนชั้นปกครองเดิม ที่เป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ใกล้ชิด ตลอดจนขุนนางอำมาตย์ชั้นสูงที่กุมอำนาจและอิทธิพลในระดับค่อนข้างมากอยู่แล้ว ที่ปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์เป็นระยะในประวัติศาสตร์ ไม่เพียงประวัติศาสตร์ชนชายไต-ไท

สำหรับช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการเคลื่อนไหวในพื้นที่หัวเมืองชายแดนใต้ระหว่างปี พ.ศ. 2465-2467 ปรากฏการเคลื่อนไหวของราษฎรในภาคอิสานอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า "ผีบุญที่บ้านหนองหมากแก้ว" หรือ "กบฏเจ้าผู้มีบุญหนองหมากแก้ว" พ.ศ. 2467 ครั้งที่ พระยาศรีนครชัย (ประสงษ์ อมาตยกุล) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย (ระหว่างปี พ.ศ. 2466-2475) ซึ่งในเวลานั้นการปกครองของจังหวัดเลยหรือเมืองเลยอยู่ในระบบ "มณฑลเทศาภิบาล" หรือ ระบบแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งเริ่มขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจัดลำดับการปกครองเป็น มณฑล, เมือง (จังหวัด), อำเภอ, ตำบล และ บ้าน (หมู่บ้าน) โดยจังหวัดเลยขึ้นต่อมณฑลอุดร (ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2442 เมืองที่ขึ้นกับมณฑลนี้ประกอบด้วย เมืองอุดรธานี, เมืองขอนแก่น, เมืองเลย, เมืองนครพนม, เมืองหนองคาย และเมืองสกลนคร)

จนถึงปี พ.ศ. 2458 ดินแดนสยามมีมณฑลอยู่ 19 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 72 เมือง (เปลี่ยนเป็น "จังหวัด" ในสมัยรัชกาลที่ 6) ต่อมาในปี พ.ศ.2465 โปรดเกล้าฯ ให้รวมมณฑลอุดร อุบล ร้อยเอ็ด เป็นภาคเรียกว่า ภาคอีสาน มีอุปราชประจำภาค อยู่ที่อุดรธานี และเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำทำให้หลายมณฑลถูกยุบรวมกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 (มณฑลเพชรบูรณ์ถูกยุบก่อนหน้านั้นแล้ว) ภายหลังจึงคงเหลืออยู่เพียง 14 มณฑล ได้แก่ กรุงเทพพระมหานคร มณฑลจันทบุรี มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลนครราชสีมา มณฑลปราจีนบุรี มณฑลปัตตานี มณฑลพายัพ มณฑลพิษณุโลก มณฑลภูเก็ต มณฑลราชบุรี มณฑลอยุธยา และมณฑลอุดรธานี

กระทั่ง ระบบการปกครองแบบ "มณฑลเทศาภิบาล" ถูกล้มเลิกไปในปี พ.ศ. 2476 ภายหลังการการอภิวัฒน์สยาม เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติการบริหารราชการส่วนภูมิภาค พุทธศักราช 2476 ขึ้น และนับจากนั้น จังหวัดก็ได้กลายเป็นเขตการปกครองย่อยของสยาม (ในเวลานั้น และไทยในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน) ที่มีระดับสูงที่สุด

ใน "ประวัติศาสตร์จังหวัดเลย" สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จาก เว็บไซต์ของจังหวัดเลย http://www.loei.go.th เขียนถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ว่า
**********
เมื่อปี พ.ศ.2467 ได้เกิดมีผีบุญขึ้นมาคณะหนึ่ง จำนวน 4 คน อ้างว่า คณะของตนได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้ลงมาบำบัดทุกข์บำรุงบำรุงสุขแก่มวลมนุษย์ซึ่งยากไร้และเต็มไปด้วยกิเลส ได้กำหนดสถานที่อันบริสุทธิ์ไว้ดำเนินการเพื่อแสดงอภินิหารประกอบพิธีกรรม อบรมสั่งสอนผู้คนที่วัดบ้านหนองหมากแก้วในหมู่บ้านหนองหมากแก้ว (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลปวนพุ อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย) บุคคลในคณะของผีบุญ 4 คน ต่างมีหน้าที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 17-23 สิงหาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8