Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (51)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (17)

"ภาพหมู่เจ้าเมืองแขก" Old Pic.(Unnone) of Melayu Sultan in Southern Thailand จากกองจดหมายเหตุเห่งชาติ ภ.หวญ.707/25

พรรณงาม เง่าธรรมสาร ทิ้งท้ายบทความและในส่วน "ส่งท้าย" บทความ "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ไว้อย่างสำคัญไว้ว่า "เป็นห้องบทเรียนของความล้มเหลวและความสำเร็จของรัฐสยามครั้งนั้นได้ถูกลืมเลือน ประสบการณ์เรียนรู้ที่ผู้นำรัฐสยามและผู้คนในดินแดนนั้นได้เรียนรู้ร่วมกันได้สูญหายไปตามกระแสธารประวัติศาสตร์อย่างน่าเสียดาย" ทั้งนี้ โดย "ยังมีข้าราชการจำนวนหนึ่งผู้ซึ่งมีทัศนะเปิดกว้าง มีขันติธรรมต่อความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนาและภาษาวัฒนธรรมของประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครอง มีความเที่ยงตรงยุติธรรม มีวิสัยทัศน์ รวมทั้งมีความทุ่มเทมุ่งมั่น"
**********
"หลักรัฐประศาสโนบาย 6 ประการ" และ "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม" สะท้อนหลักพหุนิยมทางการเมืองการปกครองและวัฒนธรรม อันมีลักษณะที่ก้าวหน้า กล่าวคือ ไม่เพียงไม่สนับสนุนการกีดกันอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีของประชาชนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังต้องการส่งเสริมหลักการปกครองและปฏิบัติราชการที่สอดคล้องกับหลักความเชื่อและวัฒนธรรมของชนชาติในพื้นที่นั้น ๆ อีกทั้งขจัดอุปสรรคที่เป็นเครื่องกีดขวางความแตกต่างนั้น ๆ อีกด้วย

ด้วยเครื่องมือในการปกครองตามทิศทางและหลักการพหุนิยมดังกล่าว ความสงบจึงค่อย ๆ กลับมาสู่ดินแดนส่วนนี้ การปรับเปลี่ยนแนวทางและนโยบายของรัฐสยามในครั้งนี้จึงเป็นที่ยอมรับแม้โดยขบวนการต่อต้านของชาวมุสลิมในพื้นที่ ว่าทำให้การต่อต้านของขบวนการลดความรุนแรงลงระหว่างปี พ.ศ. 2466-2481 (ดู วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน "การเมืองนำการทหาร : กระบวนการประชาธิปไตยกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้" แปลโดย ปริญญา นวลเปียน และนิพนธ์ โซะเฮง จาก Wan Kadir Cheman, "Decolonization and national Integretion : Malay Muslim Community in Southern Thailand", Intellectual Discourse, 2003, Vol. 11, No. 1, 26 pp. บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 601 เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2548.) แต่ พระราโชบายที่วางอยู่บนหลักการพหุนิยมทางการปกครองและวัฒนธรรมในพื้นที่พิเศษนี้มีอายุสั้นมากเพราะสิ้นสุดลงพร้อมกับการสิ้นสุดของราชาธิปไตยในสยามใน พ.ศ. 2475 หรือเพียงสิบปีหลังจากนั้น ความสำเร็จในการแก้ปัญหาครั้งนั้นอันเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในนโยบายการปกครองดินแดนส่วนนั้นของสยาม และเปิดมิติของความยืดหยุ่นในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น จะถูกกลบด้วยนโยบายของยุคเผด็จการชาตินิยมสุดขั้วในทศวรรษ พ.ศ. 2480 ทั้งที่เป็น "นโยบายผสมผสานกลมกลืน" หรือ "นโยบายกลืนชาติ" ที่เน้น "ชาตินิยมไทยเป็นใหญ่" อันนำไปสู่ปฏิกิริยาการต่อต้านรัฐสยามที่ก่อเกิดเป็นขบวนการต่อต้านของชาวมลายูปัตตานีที่ขยายตัวและรุนแรงยิ่งขึ้น จากนั้นมาไม่เคยมีการย้อนกลับไปสู่แนวทางและเนื้อหาของหลักการปกครองดินแดนส่วนนั้นที่มีอัตลักษณ์พิเศษอีกเลย "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ซึ่งเป็นห้องบทเรียนของความล้มเหลวและความสำเร็จของรัฐสยามครั้งนั้นได้ถูกลืมเลือน ประสบการณ์เรียนรู้ที่ผู้นำรัฐสยามและผู้คนในดินแดนนั้นได้เรียนรู้ร่วมกันได้สูญหายไปตามกระแสธารประวัติศาสตร์อย่างน่าเสียดาย

ส่งท้าย

นับจากรัฐสยามได้เข้ามาปกครองหัวเมืองทั้ง 4 (หรือรัฐปัตตานีเดิม) โดยตรงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยการปฏิรูปดึงอำนาจการปกครองจากเจ้าเมืองชาวมลายูเดิมที่มีฐานะกึ่งอิสระมานานนับศตวรรษและโยงเข้าสู่ศูนย์กลางการปกครองผ่านระบบเทศาภิบาลนั้น รัฐสยามในระยะต้นสามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายผู้ปกครองและราษฎรในพื้นที่ได้ เพราะ "นโยบายผ่อนปรน" ต่าง ๆ ที่โปรดให้ดำเนินการเพื่อสอดคล้องกับสภาวการณ์ในพื้นที่ แต่ภายใต้ระบบการปกครองเทศาภิบาลที่เสื่อมถอยลงในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เปิดโอกาสให้ "อำนาจส่วนกลาง" และ "ระเบียบราชการ" ของรัฐบาลกลางสยามเข้าครอบงำเหนือนโยบายที่ให้ความเคารพและเชิดชูอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมของประชาชนชาวมลายูซึ่งเป็นส่วนใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินการมาในรัชกาลก่อนหน้านั้น ในบริบทเช่นนี้เองที่ความเดือดร้อนทางภววิสัย ผนวกกับความคับข้องไม่พอใจในระเบียบปฏิบัติของรัฐ ขัดขวางวิถีชีวิตทางสังคม ความเชื่อและวัฒนธรรม ได้นำไปสู่ความขัดแย้งและการปฏิเสธรัฐในหลาย ๆ มิติของชีวิตทางสังคมของประชาชนชาวมลายูในพื้นที่ และประชาชนบางส่วนได้เริ่มขับเคลื่อนเข้าร่วมอุดมการณ์ต่อต้านอำนาจรัฐกับฝ่ายผู้ปกครองเดิมที่สูญเสียอำนาจ

บทความนี้พยายามทำความเข้าใจ เงื่อนไขและสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไปในมณฑลปัตตานีภายใต้ระบบเทศาภิบาลในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่านำไปสู่ความขัดแย้ง และ (แผน) การขบถต่อต้านรัฐสยามใน พ.ศ. 2465 อย่างไร หลักฐานเอกสารรายงานต่าง ๆ ได้เสนอมุมมองที่แตกต่างกันของผู้มีอำนาจระดับต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารปกครองดินแดนส่วนนั้นในช่วงสถานการณ์ที่เป็น "วิกฤต" และแสดงออกถึงปฏิกิริยาอันหลากหลายของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายต่าง ๆ บทบาทข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ที่ขาดความเข้าใจในความซับซ้อนของปัจจัยต่าง ๆ ขาดจิตสำนึกและความละเอียดอ่อนในการปกครองและให้บริการผู้คนที่ต่างความเชื่อ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่นและขัดขวางการพัฒนาและความก้าวหน้าของพหุสังคม เหล่านี้สร้างความร้าวฉานให้เกิดกับประชาชนในพื้นที่ แต่นับว่าโชคดีที่ในวิกฤติ พ.ศ. 2465 รัฐสยามยังมีข้าราชการจำนวนหนึ่งผู้ซึ่งมีทัศนะเปิดกว้าง มีขันติธรรมต่อความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนาและภาษาวัฒนธรรมของประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครอง มีความเที่ยงตรงยุติธรรม มีวิสัยทัศน์ รวมทั้งมีความทุ่มเทมุ่งมั่น อย่างเช่น เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พระวิชัยประชาบาล พระนนทมณฑาดุล และหลวงอรรถกระวีสุนทร ฯลฯ นักปกครองเหล่านี้ เช่น เจ้าพระยายมราช มีภูมิหลังการปกครองดินแดนส่วนนี้มาตั้งแต่ก่อนการนำเอาดินแดนส่วนนี้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม รายงานปัญหามณฑลปัตตานีและแนวทางแก้ไขที่หลายท่านนำขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ให้แง่มุมความเข้าใจอย่างลุ่มลึกและเที่ยงตรงต่อนโยบายของรัฐบาลสยามกับผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่มีต่อประชาชนในพื้นที่ รายงานเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นบทบาทของนโยบายและเจ้าหน้าที่ รวมถึงกฎระเบียบทางเศรษฐกิจสังคมของรัฐบาลกลางที่มีอิทธิพลกำหนด และขัดขวางวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะในมิติของอัตลักษณ์ชนกลุ่มน้อยที่แตกต่างไปจาก คนส่วนใหญ่ของประเทศ เอกสารและรายงานต่าง ๆ ของบุคคลที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาวิกฤตินี้ ทำให้เราเข้าใจเบื้องหลังของสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงกับเหตุการณ์ "ขบถ"

(ยังมีต่อ ตอนจบ)
**********

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 3-9 สิงหาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8