Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (50)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (16)

เจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงและบุตรธิดา พ.ศ. 2474

พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอและวิเคราะห์ "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือสาสนาอิสลาม" ต่อเนื่องในตอนท้ายของบทความ "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ทั้งยังนำเสนอและวิเคราะห์ "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือสาสนาอิสลาม" ก่อนจะเข้าสู่บทสรุปในช่วงท้าย
**********
แนวทางของ "สมุดคู่มือ..." คือให้ความรู้ความเข้าใจถึงหลักการที่ผู้นับถืออิสลามในพื้นที่ให้ความนับถือและยึดปฏิบัติอยู่ และให้ "รู้เหตุผล" ที่จะต้องระมัดระวัง ไม่ประพฤติหรือดำเนินการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งทางด้านความรู้สึกหรือจิตใจหรือเป็นการล่วงละเมิด หลักการของคำแนะนำว่าควรวางแนวปฏิบัติในส่วนของเจ้าหน้าที่อย่างไรนั้น วางอยู่บนพื้นฐานของ "การอนุโลม" ให้การดำเนินการต่าง ๆ สอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาและสังคมในพื้นที่

ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอ่าน มีคำแนะนำว่า "อย่าให้เห็นเปนการขัดขวางการเรียนโกรานซึ่งเขาต้องเรียน ถ้ายิ่งมีอาการให้เห็นเปนอุดหนุนจะเป็นที่นิยม" (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 7) และชี้แนะว่าไม่ควรจับต้องคัมภีร์ "เมื่อรู้ว่าเขารังเกียจก็อย่าให้เห็นเปนการกระทำเพื่อข่มเหง" และ "ถ้ายิ่งให้เห็นว่าแม้เรามิได้เชื่อถือแต่ก็ไม่ดูหมิ่น อยู่ในฐานคารวะสิ่งที่เปนที่นับถือของเขา ก็จะเปนที่นิยมยิ่งขึ้น" (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 7-8) หรืออธิบายถึงการรู้ภาษายาวี ว่าเป็นความจำเป็นเพื่อจะสามารถแปลอัลกุรอ่านได้ และ ดังนั้น "หน้าที่ผู้ปกครองก็ควรจะผ่อนผันตามความที่ราษฎรนิยมสิ่งใดมาก ก็อนุโลมให้มีการเล่าเรียนในสิ่งนั้นด้วย หรือให้มีการเรียนไปด้วยกันโดยวิธีปันเวลาการเล่าเรียนสุดแต่เหตุผลภูมิประเทศความสามารถที่อาจจะจัดทำได้." (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 6) ในเรื่องของประเพณีเกี่ยวกับผู้หญิงในอิสลาม มีคำอธิบายถึงบัญญัติในพระคัมภีร์ซึ่งแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างหญิงและชายไม่ให้ปะปนกัน ครอบคลุมไปถึงการแต่งกายที่มิดชิดของฝ่ายหญิงและการห้ามคบหากับเพื่อนต่างเพศสำหรับหญิงที่แต่งงานแล้วเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสามี หนังสือ "สมุดคู่มือ.." ให้คำเตือนว่า "..บัญญัติในเรื่องผู้หญิงชาวอิสลามนั้น เขาห้ามหวงกันเคร่งครัดนัก.." (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 7) ดังนั้น จึงเป็น "หน้าที่เราผู้ปกครองบังคับบัญชาราษฎรชาว อิสลาม เพื่อความนิยมนับถือก็จำจะต้องอนุโลมตามแต่ที่จะเป็นไปได้" (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 8) เช่น การจัดการศึกษาให้เด็กหญิงเรียนแยกจากเด็กชาย และให้มีครูผู้หญิงสอนแยกต่างหาก หากยังไม่พร้อม ก็ไม่สมควรจัดการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กหญิง หรือ "การเปิดผ้าคลุมศีศะผู้หญิง" นั้น "หาควรรบกวนไม่" ทั้งหมดนี้ชี้ว่า "ย่อมเปนสิ่งที่ควรต้องรู้เหตุผล" (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 8)

สำหรับช่วงเทศกาลถือบวช หรือวันตรุษ "สมุดคู่มือ.." ให้ข้อแนะนำว่าไม่ควรทำการเกณฑ์แรงงานหรือเรียกใช้สอย เพราะเป็น "วันที่นิยมว่าเปนสำคัญที่เขาปฏิบัติตามศาสนา ก็จะเกิดความโทมนัส หรือขัดขืนให้เปนเหตุยืดยาวไปก็ได้.." (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 9)  นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายว่า การถือบวชโยงเกี่ยวกับ "การทรมานตน" ผู้ถือบวชส่วนใหญ่มักขาดเรี่ยวแรงที่จะทำงาน จึงถือกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ศาสนิกจะทำกุศล ให้ทาน ด้วยเหตุผลนี้ จึงควร "เลี่ยงหลีกละเว้นหรือผ่อนผัน" การบังคับกะเกณฑ์ใด (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 10)

"สมุดคู่มือ..." แม้จะแต่งโดยผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเอง แต่คำอธิบายและการใช้ภาษาในการอธิบายคตินิยมและแนวปฏิบัติทางศาสนาอิสลามในนั้นหลายข้อก็ถูกตั้งข้อสังเกตจากผู้รู้ทางศาสนาในยุคปัจจุบัน* ว่าสะท้อนความคิดความเข้าใจของมุสลิมภาคกลางซึ่งแตกต่างจากมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ และอยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2465 อีกทั้งยังสะท้อนความพยายามสื่อกับบุคคลต่างศาสนา** (หมายถึง ชาวพุทธ) เช่น คำว่า "เสกป่า" "ฤดูบวช" "ฟังธรรม" "ฟังเทศน์" เป็นต้น อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงสาระหลักและเป้าหมายของงานเขียนแล้ว ก็ไม่อาจกล่าวว่างานเขียนชิ้นนี้ "มองว่าอิสลามเป็นศาสนาที่มีความรุนแรงทางการเมืองและรังเกียจคนต่างศาสนา.." อย่างที่นักวิชาการบางคนวิพากษ์ไว้ ตรงกันข้าม งานเขียนชิ้นนี้แสดงถึงความพยายามของผู้นำรัฐสยามในขณะนั้นที่มุ่งหวังจะสร้างทัศนคติและความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ปกครองของรัฐกับประชาชนในปกครองที่นับถือศาสนาอิสลาม ดังตัวอย่างที่ได้ชี้ให้เห็นข้างต้น หากจะมีการอธิบายหรือการใช้คำใด ๆ ซึ่งนักการศาสนาหรือมุสลิมสมัยใหม่มองว่าล้าหลัง หรือผิดเพี้ยนไปบ้าง นั่นก็เป็นไปตามความรับรู้ของผู้เขียนที่เป็นมุสลิมในยุคสมัยนั้น ซึ่งไม่เห็นถึงเจตนาใด ๆ ที่จะมองศาสนาอิสลามในแง่ลบดังที่มีการวิพากษ์ข้างต้น

หมายเหตุโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร:

    * คือ สมเจตน์ นาคเสวี และ อาจารย์ดลมนรรจน์ บากา ซึ่งผู้เขียนได้ขอร้องให้อาจารย์ดลมนรรจน์ ขณะนั้นประจำที่แผนกวิชาอิสลามศึกษา ภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทำเชิงอรรถชี้แจงความเห็นที่ต่างออกไปประกอบในการตีพิมพ์ "สมุดคู่มือ.." จากต้นฉบับที่คุณวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ค้นพบจากกองหนังสือในวัง พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ตีพิมพ์ครั้งแรกใน รวมบทความประวัติศาสตร์ ฉบับที่ 8 กุมภาพันธ์ 2529 ดู พรรณงาม เง่าธรรมสาร "บทนำ", "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือสาสนาอิสลาม" รวมบทความประวัติศาสตร์, ฉบับที่ 8 กุมภาพันธ์ 2529 หน้า 46 ดังนั้นข้อมูลที่ระบุว่า นายประยูรศักดิ์ ชลายเดชะ เป็นผู้ขอให้อาจารย์ดลมนรรจน์ บากา ทำเชิงอรรถ จึงผิดพลาด ดู ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย, โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549, หน้า 27. ซึ่งอ้างข้อมูลจาก ประยูรศักดิ์ ชลายเดชะ, มุสลิมในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : โครงการหอสมุดกลางอิสลามสายสกุลสุลต่านสุลัยมาน, 2539), หน้า 275-292.)

    ** ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, เพิ่งอ้าง, หน้า 31
(ยังมีต่อ)
**********
ก่อนจะถึง "บทสรุป" ในตอนต่อไป สมควรอย่างยิ่งที่จะนำมุมมองของพรรณงามฯ มาพิจารณาทบทวน เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะความเห็นที่ว่า "งานเขียนชิ้นนี้แสดงถึงความพยายามของผู้นำรัฐสยามในขณะนั้นที่มุ่งหวังจะสร้างทัศนคติและความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ปกครองของรัฐกับประชาชนในปกครองที่นับถือศาสนาอิสลาม"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 27 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8