"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (15)
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (15)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระวรชายา
กับ องค์อภิรัฐมนตรีสภา แถวบนขวาสุด: จอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ
เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต
ใน จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 41 "วิกฤตมณฑลปัตตานี 2465 : บทเรียนสมัยรัชกาลที่ 6" โดย ผศ. พรรณงาม เง่าธรรมสาร พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง มิถุนายน 2551 จัดพิมพ์โดย โครงการความมั่นคงศึกษา ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีบรรณาธิการ คือ รศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ได้ยกส่วนหนึ่งของ รายงานประชุมเรื่องมณฑลปัตตานีของเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์ ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 โปรยไว้ในส่วน "บทนำ" ว่า
"ระเบียบการหรือวิธีการปฏิบัติการอย่างใดเป็นทางให้พลเมืองรู้สึกหรือเห็นไปว่าเป็นการเบียดเบียนกดขี่ศาสนาอิสลามต้องยกเลิกหรือแก้ไขเสียทันที"
**********
ถ้าอ่านข้อความในข้างต้นโดยไม่ดูพระนามที่เป็นผู้เขียนแล้ว เราอาจจะนึกว่าเป็นข้อเสนอในยุคสมัยใหม่ และยิ่งไปกว่านั้นหากดูตัวเลขของกาลเวลาแล้ว เราก็แทบไม่นึกเลยว่าข้อเสนอในข้างต้น เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2466 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 6 ซึ่งในยุคสมัยของพระองค์ท่าน มีเอกสารเกี่ยวกับปัญหาของมณฑลปัตตานีและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่หลายชิ้นสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างดีว่า ปัญหาภาคใต้เช่นที่รัฐไทยในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21 ต้องเผชิญเช่นปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด หากแต่เป็นประเด็นที่รัฐประชาชาติสยามเองก็ได้พยายามหาหนทางด้วยวิธีการต่างๆ มาแล้วในอดีต ดังจะเห็นได้จากร่องรอยทางความคิดของชนชั้นนําที่ตกทอดมาให้คนรุ่นเราได้ตระหนักถึงความพยายามของคนในรุ่นก่อน ที่นําเสนอแนวทางแก้ปัญหาจนได้กลายเป็น "ผลึกความคิด" ที่ไม่มีข้อจํากัดของกาลเวลา ตัวอย่างสําคัญเช่น สมุดคู่มือสําหรับข้าราชการกระทรวมหาดไทย ที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองที่นับถือศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2466 ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้นําเอามาปรับปรุงเป็นแนวทางให้แก่ข้าราชการที่ไปปฏิบัติราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับปี 2547 เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่องของศาสนาอิสลาม เป็นต้น
นอกจากสมุดคู่มือข้าราชการ พ.ศ. 2466 แล้ว เอกสารที่น่าสนใจและยังสามารถนําเอามาใช้เป็นแนวทางให้แก่รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ได้อย่างดีก็คือ รายงานประชุมเรื่องมณฑลปัตตานีของเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์ ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2466
เอกสารนี้เป็นอีกชิ้นหนึ่งของงานที่ไม่มีมติของกาลเวลา และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสําหรับรัฐบาลในการเสริมสร้างแนวคิดและปรับเปลี่ยนทัศนะในอันที่จะ "เอาชนะ" ปัญหา ไม่ใช่ดําเนินการเพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นฝ่ายที่เอาชนะรัฐบาลได้ หรือกล่าวได้โดยง่ายว่า รัฐบาลต้องดําเนินการเพื่อที่จะลดทอนความรุนแรงของปัญหาให้ได้ และทั้งยังจะต้องมีมาตรการเพื่อที่จะเอาประชาชนในพื้นที่มาเป็นพวก ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านกลายเป็น "แนวร่วม" ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ดังจะเห็นได้ว่า รัฐบาลในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เล็งเห็นถึงความสําคัญในการกําหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ และในการนี้ได้ให้เจ้าพระยายมราชลงไปตรวจราชการที่มณฑลปัตตานี เพื่อสํารวจปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
**********
ในช่วงท้ายของบทความ "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" พรรณงาม เง่าธรรมสาร ยังได้วิเคราะห์ "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือสาสนาอิสลาม" ไว้ดังนี้
**********
หลักที่จะเป็น "ผู้ปกครองที่ดี" นอกจากจะขึ้นกับ "ธรรมประจำอยู่กับใจ" ของแต่ละคนว่าคุณสมบัติแบบไหนที่คนจะนับถือหรือรักใคร่แล้ว ท่านได้ยก พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อดินแดนส่วนนั้นมาเป็นหลักที่ข้าราชการในพื้นที่พึงยึดปฏิบัติ ดังความว่า......จำจะต้องรฤกอยู่เสมอ (ว่า)...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรภายใต้พระราชอาณาของพระองค์ได้รับความสันติสุขอย่างสูงที่สุด ที่เจ้าพนักงานจะพึงปกครองทนุบำรุงให้เปนไปได้ และมิได้ทรงรังเกียจด้วยชาติ ด้วยสาสนาซึ่งราษฎรของพระองค์กำเนิดมาแต่บุคคลเพศนั้น และเลื่อมสัยในสาสนาอย่างนั้น กับทั้งประเพณีนิยมของเขาด้วย... รวมความว่า รัฐประศาสโนบายของประเทศไม่ดำเนินการเปนปรปักแก่ทางสาสนาของราษฎร แลคตินิยมอีกจะพึงเห็นว่าสมควรนั้น เพราะฉะนั้นเจ้าน่าที่ผู้ปกครองราษฎรซึ่งมีคตินิยมต่างจากคนไทย แลต่างสาสนาดังเช่นมณฑลปัตตานี เป็นต้น ควรต้องรู้จักหลักพระราชประสงค์และรัฐประสาสน์ของรัฐบาลไว้เปนอารมณ์ เพื่อดำเนินทางราชการให้ถนัดชัดเจน ว่าไม่ประสงค์จะขัดขวางสาสนา และลัทธิของเขาดังกล่าวแล้ว... การปกครองของราษฎรที่ถือสาสนาอิสลาม... จะเข้าใจเอาอย่างที่เราเข้าในกันทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ว่าแขกเกลียดหมูและไม่กินหมูเท่านั้นหามิได้ ยังมีบางสิ่งบางอย่าง แขกถือเปนของสำคัญยิ่งกว่าหมูก็มี...ชาวอิสลามปฏิบัติสาสนาเคร่งครัดนัก ด้วยว่าคำสั่งสอนของศาสดา (มหะหมัด) พระศาสดาของเขา คือที่เรียกว่าโกราน... นั้น เปนกฎหมายไปด้วยในตัว ("คำปรารภ" ใน "สมุดคู่มือ..", หน้า 3-5.) (สะกดตามอักขระต้นฉบับ)
องค์ประกอบ ของ "สมุดคู่มือ…" แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ "คำปรารภ" ซึ่งเจ้าพระยายมราชชี้แจงถึงที่มาและเป้าหมายของงานเขียนชิ้นนี้ ส่วนที่ 2 คือ "หัวข้อ" ซึ่งเป็นการย่อใจความของเนื้อหาส่วนที่ 3 มาไว้เป็นสังเขปสำหรับผู้อ่านที่ "ต้องการรู้แต่ใจความ" ส่วนที่ 3 คือเรื่องต่าง ๆ ที่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ถือเคร่งครัดตามหลักคำสอนในอัลกุรอาน ทั้งที่เป็นข้อปฏิบัติและข้อห้าม ซึ่งพระรังสรรค์สารกิจได้เรียบเรียงขึ้น "อย่างพิสดารละเอียดลออ" จำนวน 14 เรื่อง ได้แก่ เรื่องคัมภีร์ อัล-กุรอ่าน การเรียนหนังสือยาวี ประเพณีเกี่ยวกับผู้หญิงในศาสนาอิสลาม การถือบวชและการลาบวช การทำละหมาดประจำวัน การไปมัสยิดวันศุกร์ ข้อห้ามที่สำคัญ เช่น การใส่ รองเท้าเข้ามัสยิด "การทำกริยาท่าคล้ายกราบพระและการกล่าวคำสาบาน" การบริโภคสุกร การดื่มสุรา และเรื่องเกี่ยวกับ "โต๊ะหะยี" (ผู้ที่ผ่านการไปเมกกะมาแล้ว) และ "โต๊ะครู" (ผู้รู้ทางศาสนา) เป็นต้น
(ยังมีต่อ)
**********
**********
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 20-26 กรกฎาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
หมายเหตุหรือคำบรรยายภาพแบบเต็ม : สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระวรชายา
กับ องค์อภิรัฐมนตรีสภา (ก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน
พ.ศ. 2468); แถวบนจากซ้ายไปขวา: จอมพล
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระรมราชินี, จอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ
เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต แถวล่างจากซ้ายไปขวา: นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระดำรงราชานุภาพ, นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์, มหาอำมาตย์เอก
พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท