Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (48)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (14)


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสเลียบมณฑลปักษ์ใต้

พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอผลจากการจัดเตรียมเพื่อนำ "หลักรัฐประศาสโนบาย 6 ประการ" ไปสู่การปฏิบัติ ไว้ใน "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ในประเด็น "หลักรัฐประศาสโนบาย 6 ประการ" โดยพิจารณาประกอบกับรายงานของเสนาบดีมหาดไทย คือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งกล่าวถึงประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหาที่เกิดแก่ราษฎรในมณฑลปัตตานี (ดังได้กล่าวไปแล้ว) ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงระเบียบและวิธีการต่างๆ 2. ศาสนา 3. วีจัดการต่อความไม่สงบ 4. การเก็บภาษีอากร ซึ่งรวมอากรค่าน้ำ อากรค่านา และค่ารัชชูปการ 5. การป่าไม้ 6. การศึกษา 7. การกะเกณฑ์ 8. การศาล 9. การกดขี่บีบคั้น และยังรวมประเด็นปลีกย่อยไว้ด้วยอีกสองประเด็น คือ ค่าธรรมเนียมและอนุญาตล้อเลื่อน, การสํารวจผลไม้, การเกณฑ์ตํารวจภูธร และเรื่องเสือป่า

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าความเห็นของที่ประชุมเสนาบดีสภา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2466  (ในปี พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงตั้ง "เสนาบดีสภา" หรือ "ลูกขุน ณ ศาลา" ขึ้นเป็นฝ่ายบริหาร ต่อมา ใน พ.ศ. 2435 ได้ตั้ง "องคมนตรีสภา" หรือเดิมเรียก "สภาที่ปรึกษาในพระองค์" เพื่อวินิจฉัยและทำงานให้สำเร็จ และ "รัฐมนตรีสภา" หรือ "ลูกขุน ณ ศาลาหลวง" ขึ้นเพื่อปรึกษาราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกฎหมาย ต่อมาเสนาบดีสภาก็ยกเลิกไปภายหลังการประชุมครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) หาได้เป็นเอกภาพไปในทางเดียวกันไม่
**********
ข้อเสนอแนวทางแก้ไขด้านการศึกษาที่กระทรวงมหาดไทยนำเสนอในที่ประชุม เน้นที่การแก้ความหมางใจของชาวบ้านที่ถูกบังคับให้ส่งลูกมาเรียน โดยหาผู้รู้ทางศาสนามาสอนคัมภีร์ที่โรงเรียน และให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ท่านเหล่านั้นด้วย เพื่อให้เห็นว่าทรงพระมหากรุณาธิคุณถึงให้ช่วยสอนศาสนานั้น ข้อเสนอนี้ถูกคัดค้านจากเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการด้วยข้อขัดข้องด้านเงินค่าใช้จ่าย แต่เสนาบดีส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการที่จะเปิดทางให้เด็กมีเวลาไปศึกษาศาสนาเอง โดยรัฐอุดหนุนด้านการเงินบ้าง สำหรับปัญหาเรื่องเกณฑ์เด็กหญิงเข้าเรียนสหศึกษา กระทรวงศึกษาไม่ยอมรับว่ามีการสั่งให้ดำเนินการ และเสนอให้ตีความว่าการดำเนินการที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการดำเนินการส่วนบุคคล

ด้านการเกณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งเกณฑ์ตำรวจ กระทรวงมหาดไทยเรียนว่ากำลังดำริอยู่ ต่อมาภายหลังเจ้าพระยายมราชได้กราบบังคมทูลขอให้หยุด และให้เปลี่ยนเป็นการจ้างแรงงาน แต่ให้ดำเนินการเมื่อเป็นความจำเป็นจริง ๆ เพื่อประหยัดเงิน และต้องไม่ให้ขัดกับเวลาทำการทางศาสนา เช่น เทศกาลปอซอ (กจช., ร.6 ม.22/15, "จัดราชการมณฑลปัตตานีอันเกี่ยวแก่ลัทธิและศาสนา" เจ้าพระยายมราช ทูลเจ้าพระยามหิธร วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 – พรรณงาม เง่าธรรมสาร)

เรื่องศาล เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งที่ประชุมพิจารณาด้วยความยากลำบาก กระทรวงยุติธรรมเกี่ยงว่าถ้าจะให้กลับไปทำเหมือนเมื่อเป็น "บริเวณ 7 หัวเมือง" ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ก็ควรโอนให้กระทรวงมหาดไทยรับไปทำเอง ที่ประชุมเห็นว่ากระทรวงยุติธรรมควรหาทางเลิกดาโต๊ะยุติธรรม และดำเนินคดีทางศาสนาในแนวอนุญาโตตุลาการ (เรื่องศาลที่เกี่ยวกับการศาสนานี้ ยังมีการพัฒนาต่อมาอีกยาว ดู กจช., ร.7 ม.12, บันทึกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีฯ ถึงเจ้าพระยามหิธรฯ ที่ 121/2964 วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2469. – พรรณงาม เง่าธรรมสาร)

การแก้ปัญหาอันเกิดจาก "ขบถ? พ.ศ. 2465" สิ้นสุดลงด้วยการเริ่มต้น พระบรมราโชบายใหม่สำหรับมณฑลปัตตานีที่มีชื่อว่า "หลักรัฐประศาสโนบาย 6 ประการ" ซึ่งเป็นการ "ดัดแปลง" แก้ไขระเบียบราชการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความเป็น "ท้องที่พิเศษด้วยภูมิประเทศแลบุคคล" นับจากเจ้าพระยายมราชได้กลับเข้ามาเป็นเสนาบดีมหาดไทย (วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2465) การปกครองมณฑลปัตตานีก็เข้าสู่มิติใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เริ่มจากการเปลี่ยนถ่ายข้าราชการชุดเดิมตั้งแต่ระดับสมุหเทศาภิบาลออกไป แก้ระเบียบทางราชการที่ขัดกับธรรมเนียมความเชื่อทางศาสนาอิสลาม เช่น ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งมีการอ้างถึงพระรัตนตรัย เปลี่ยนเป็นการทำพิธีสาบานต่อหน้าพระคัมภีร์อัลกุรอานมัสยิดตามธรรมเนียมในศาสนาอิสลามแทน ลดอัตราการเก็บเงินศึกษาพลีและเงินรัชชูปการ เลิกการเก็บอากรค่าน้ำ และออก "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือสาสนาอิสลาม" ตอนกลางปี พ.ศ. 2466

"สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือสาสนาอิสลาม" กับหลักพหุนิยมทางการปกครองและวัฒนธรรม

ที่มาและเป้าหมาย ของการจัดทำ "สมุดคู่มือ..." เป็นผลมาจากการไปตรวจราชการมณฑลปัตตานีของเจ้าพระยายมราชในต้นปี พ.ศ. 2466 ภายหลังการเกิด "วิกฤติ" เจ้าพระยายมราชจาก "เหตุผลที่ได้ยิน" ประกอบกับประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยรับราชการในท้องที่นั้น พิจารณาเห็นว่าจำเป็นต้องมีสมุดคู่มือ เพื่อ "ตักเตือนเพื่อนราชการที่มารับราชการในน่าที่ปกครองอยู่ประจำมณฑลแลจังหวัดภาคนี้" จึงมอบหมายให้พระรังสรรค์สารกิจ (เทียม กาญจนประกร) ซึ่งนับถืออิสลาม เรียบเรียงขึ้น อย่างไรก็ดี เจ้าพระยายมราชออกตัวว่า "ข้อความที่กล่าวไว้ในสมุดนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้ถือเปนตำรับตำราอย่างไร" จากเนื้อหาโดยรวมและความหมายระหว่างบรรทัดจะเห็นว่า เป้าหมายโดยรวมของการออก "สมุดคู่มือ..." คือความพยายามปลูกฝังและจูงใจผู้อ่านที่เป็นนักปกครองในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่ มี "หลักในการปฏิบัติตน" เพื่อเป็น "ผู้ปกครองที่ดี" การเป็นผู้ปกครองที่ดีในทัศนะเจ้าพระยายมราชต้องไม่ใช่อาศัย "อำนาจกฎหมายหนุนหลัง" ซึ่งทำให้ราษฎร "ต้องจำยำเกรง" แต่มาจากการได้รับ "ความเคารพนับถือเพิ่มขึ้นจากความ ยำเกรง...(ซึ่ง) อย่างสูงได้รับความรักใคร่เปนส่วนอัทยาศรัยและเลื่อมสัยในกิติคุณที่ ผู้นั้นมีอยู่" ("คำปรารภ" ใน "สมุดคู่มือ..", หน้า 2.)
(ยังมีต่อ)
**********
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียด จะเห็นว่าผลสรุปที่ออกมาสะท้อนความพยายามในระดับสำคัญของ "รัฐสยาม" ในความพยายามอย่างจริงจังที่จะแก้ไขปัญหา "หัวเมืองใต้" ที่คุกรุ่นมาตลอดและดูเหมือนว่าอาจจะปะทุเป็นปัญหาบานปลายได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (นโยบายต่อมณฑลปัตตานี 2466 : ผลิตผลกบฏ พ.ศ. 2465 โดย สุรชาติ บํารุงสุข) ในพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ที่พระราชทานแก่ที่ประชุมว่า "หลักรัฏฐประศาสโนบาย 6 ข้อ ตามที่ได้กะไว้นั้น เป็นการถูกต้องและสมควรแก่กาละเทศะแล้ว ให้ถือเป็นระเบียบสําหรับปฏิบัติราชการเนื่องด้วยมณฑลปัตตานีต่อสืบไป".


พิมพ์ครังแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 13-19 กรกฎาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8