"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (13)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ที่สองจากขวา)
ร่วมโต๊ะเสวยกับสุลต่านยโฮร์ที่วังของสุลต่าน เมื่อคราวเสด็จประพาสสหรัฐมลายู พ.ศ.
2467
พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอและวิเคราะห์ต่อเนื่องไว้ใน "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ถึงบทบาทในการบริหารจัดการของ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ในท่ามกลางความอึมครึมของสถานการณ์การเมืองการปกครองในพื้นที่ "จังหวัดชายแดนใต้" และปฏิกิริยาจากขุนนางอำมาตย์ในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับเสนาบดีเองนั้น ส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเคลื่อนไหวสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวอย่างเปิดเผย
**********
กล่าวได้ว่า ในเชิงการบริหารการปกครอง เจ้าพระยายมราชประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการได้รับพระราชทานความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ตามรายละเอียดที่ได้กราบบังคมทูล
ในการประชุมเสนาบดีสภาเพื่อนำเอารายงานเจ้าพระยายมราชไปสู่การปฏิบัติ แน่นอนว่าการเมืองระหว่างเสนาบดีต่าง ๆ ไม่ได้ทำให้เสนาบดีที่เกี่ยวข้องยอมสูญเสียอำนาจของตนโดยง่าย แต่ทุกคนก็ถูกเตือนตั้งแต่ก่อนประชุมด้วยพระราชกระแสที่โปรดให้มีถึงราชเลขาธิการ เกี่ยวกับการจัดประชุมคณะเสนาบดีเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ไว้ 2 ประการ ดังนี้
- ให้ราชเลขาธิการอัญเชิญพระบรมราชโองการไปอ่านให้ที่ประชุมฟัง เพื่อเป็นเครื่องมือเตือนสติไว้
- ให้ราชเลขาธิการทูลประธานไม่ให้เร่งรัดการประชุม แต่ให้โอกาสแก่เสนาบดีเจ้ากระทรวงต่าง ๆ ได้แสดงความเห็นโต้แย้งอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะลงมติ
ก่อนการประชุม สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ ราชเลขาธิการเสนาบดีสภาได้จัดรวบรวม ข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่กราบบังคมทูลมา จัดทำ "กติกากลาง" เฉพาะมณฑลปัตตานี ที่สมควรถือเป็น "หลักรัฐประศาสโนบาย" รวม 6 ข้อ เพื่อขอความเห็นชอบ ส่วนรายละเอียดประเด็นต่าง ๆ ที่เจ้าพระยายมราชทูลฯ ปรึกษานั้น ก็ได้นำมาหารือในที่ประชุมเป็นข้อ ๆ ตามลำดับไป
ที่ประชุมได้ตกลงเห็นชอบ หลักรัฐประศาสโนบาย 6 ประการ ซึ่งมีสาระดังนี้
ข้อ 1 ระเบียบหรือวิธีปฏิบัติการอย่างใดเปนทางให้พลเมืองรู้สึกหรือเห็นไปว่าเปนการเบียดเบียนกดขี่สาสนาอิลาม ต้องยกเลิกหรือแก้ไขเสียทันที ...การใดจะจัด ขึ้นใหม่ต้องอย่าให้ขัดกับลัทธินิยมอิสลามหรือยิ่งทำให้เห็นเปนการอุดหนุนสาสนา ได้ยิ่งดี
ข้อ 2 การกะเกณฑ์อย่างใด ๆ ก็ดี การเก็บภาษีอากรหรือพลีอย่างใด ๆ ก็ดี เมื่อพิจารณาโดยส่วนรวมเทียบกันต้องอย่าให้ยิ่งกว่าที่พลเมืองในแว่นแคว้นประเทศราชของอังกฤษซึ่งอยู่ใกล้เคียงนั้น ต้องเกณฑ์ต้องเสียอยู่เปนธรรมดา เมื่อพิจารณาเทียบกันแต่เฉพาะต้องอย่าให้ยิ่งหย่อนกว่ากันจนถือเป็นเหตุเสียหายในทางปกครองได้
ข้อ 3 การกดขี่บีบคั้นแต่เจ้าพนักงานของรัฐบาลเนื่องแต่การใช้อำนาจในทางที่ผิดมิเปนธรรมก็ดี เนื่องแต่การหมิ่นลู่ดูแคลนพลเมืองชาติแขกโดยที่เปนคนต่างชาติก็ดี เนื่องแต่การหน่วงเหนี่ยวชักช้าในกิจการน่าเปนเหตุให้ราษฎรเสียความสะดวกในทางหาเลี้ยงชีพก็ดี พึงต้องแก้ไขและระมัดระวังมิให้มีขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องให้ผู้ทำผิดต้องรับผลตามความผิดโดยยุติธรรม ไม่ใช่สักแต่ว่าจัดการกลบเกลื่อนให้เงียบไปเสียเพื่อจะไว้หน้าสงวนศักดิ์ของข้าราชการ
ข้อ 4 กิจการใด ๆ ทั้งหมดอันเจ้าพนักงานจะต้องบังคับแก่ราษฎร ต้องระวังอย่าให้ราษฎรต้องขัดข้องเสียเวลาเสียการในทางหาเลี้ยงชีพของเขาเกินสมควร แม้จะเปนการจำเปนโดยระเบียบการก็ดี เจ้าน่าที่พึงสอดส่องแก้ไขอยู่เสมอเท่าที่จะทำได้
ข้อ 5 ข้าราชการที่จะแต่งตั้งออกไปประจำตำแหน่งในมณฑลปัตตานี พึงเลือกเฟ้นแต่คนที่มีนิสัยซื่อสัตย์สุจริตสงบเงียบเยือกเย็น ไม่ใช่สักแต่ว่าส่งไปบรรจุให้เต็มตำแหน่งหรือส่งไปเปนทางลงโทษเพราะเลว
เมื่อจะส่งไป ต้องสั่งสอนชี้แจงให้รู้ลักษณทางการ อันจะพึงประพฤติระมัดระวังโดยหลักที่ได้กล่าวในข้อ 1 ข้อ 3 และข้อ 4 ข้างบนนั้นแล้ว ผู้ใหญ่ในท้องที่พึงสอดส่องฝึกฝนอบรมกันต่อ ๆ ไปในคุณธรรมเหล่านั้นเนือง ๆ ไม่ใช่แต่คอยให้พลาดพลั้ง ลงไปก่อนแล้วจึงว่ากล่าวลงโทษ
ข้อ 6 เจ้ากระทรวงทั้งหลายจะจัดวางระเบียบการอย่างใดขึ้นใหม่หรือบังคับการอย่างใดในมณฑลปัตตานีอันจะเปนทางพาดพานถึงทุกข์สุขของราษฎรควรฟังความเห็นสมุหเทศาภิบาลก่อน ถ้าสมุหเทศาฯ ขัดข้องก็ควรพิจารณาเหตุผลแก้ไขหรือยับยั้ง ถ้าไม่เห็นด้วยว่ามีมูลขัดข้องก็ควรหารือกับกระทรวงมหาดไทย แม้ยังไม่ตกลงกันได้ระหว่างกระทรวงก็พึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย" (กจช., ร.6 ม.22/13, เจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2465)หลังจากที่ประชุมรับหลักการ "หลักรัฐประศาสโนบาย 6 ประการ" แล้ว ประธานก็ได้นำรายงานเจ้าพระยายมราชขึ้นปรึกษา ข้อเสนอส่วนใหญ่ที่ประชุมสามารถตกลงกันได้อย่างราบรื่น อาทิเช่น เรื่องอากรค่านา และเงินรัชชูปการ ซึ่งเสนาบดีมหาดไทยยกขึ้นพูดเป็นตัวอย่างของการออก พ.ร.บ. "ที่เร็วเกินควร", ประเด็นอากรค่าน้ำ ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า "ควรงดชั่วคราว เพื่อแสดงพระมหากรุณาธิคุณ", ประเด็น พ.ร.บ.ล้อเลื่อน กระทรวงมหาดไทยรายงานว่ากำลังแก้ไขอยู่, ประเด็น การสำรวจสวนผลไม้ กระทรวงมหาดไทยรับจะประเมินใหม่โดยจะสำรวจว่าคุ้มค่าไหม, เรื่องป่าไม้ กระทรวงมหาดไทยรับจะปรึกษากระทรวงเกษตรเอง, และเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นประเด็นที่ยากที่สุด เพราะเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยเคยขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายการจัดการศึกษาภาคบังคับมาก่อน ดังกล่าวมาข้างต้น เจ้าพระยายมราชได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องนี้ไว้ว่า "ถ้ากระทรวงศึกษาธิการจะถามข้าพระพุทธเจ้าสักคำหนึ่ง โดยที่เคยรับราชการทางนั้นนาน ข้าฯ ก็ต้องตอบทันทีเดียวว่าที่อื่นควรค่อยจัดการได้ แต่ในมณฑลปัตตานีต้องรอไปก่อน..." (กจช., ร.6 ม.22/13, เจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2465)
(ยังมีต่อ)
**********
ใน "หลักรัฐประศาสโนบาย 6 ประการ" ดังกล่าวข้างต้น มีประเด็นสำคัญที่พึงสังวรและนำมาใช้เป็นหลักคิดพื้นฐานสำหรับผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ "สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ในสมัยต่อๆมา นั่นคือประเด็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ (ข้อ 5) "ข้าราชการที่จะแต่งตั้งออกไปประจำตำแหน่งในมณฑลปัตตานี พึงเลือกเฟ้นแต่คนที่มีนิสัยซื่อสัตย์สุจริตสงบเงียบเยือกเย็น ไม่ใช่สักแต่ว่าส่งไปบรรจุให้เต็มตำแหน่งหรือส่งไปเปนทางลงโทษเพราะเลว"ซึ่งนำไปสู่คำถามว่า ปัจจุบันการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในประเทศที่ประกาศความเป็นรัฐประชาธิปไตย ได้ยึดหลักการตามที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ให้แนวทางไว้หรือไม่อย่างไร?
พิมพ์ครังแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 6-12 กรกฎาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน