Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

อย่าให้พลังประชาธิปไตยเป็นเพียงทรายร่วน

อย่าให้พลังประชาธิปไตยเป็นเพียงทรายร่วน


อย่าให้พลังประชาธิปไตยเป็นเพียงทรายร่วน ที่ออกแรงกำไว้ในมือก็จะไหลออกตามซอกนิ้วจนหมดสิ้น เรา...ประชาชนผู้รักเสรีภาพ รักประชาธิปไตย ต้องประสานตัวเองให้เป็นประดุจดินเหนียว ที่อาจปั้นขึ้นรูปเป็นอย่างใดก็ได้ตามความคิดชี้นำที่ถูกต้อง

เวลานี้ ขบวนประชาธิปไตยต้องการความเข้าใจ ความทุ่มเท และความตั้งใจแน่วแน่ มากกว่าครั้งไหนๆในประวัติศาสตร์ อาการน้ำขุ่นที่เป็นมานับจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กำลังได้รับการกวนซ้ำด้วยสารส้ม และน้ำกำลังจะตกตะกอน เมื่อน้ำใสเมื่อใด ทุกอย่างในน้ำจะกระจ่างชัด

ผมเสนอคำถามมาจากปลายปีที่แล้ว ว่า "1.เราเข้าใจประชาธิปไตยแค่ไหน/อย่างไร" จากนั้น "2.เรามีรูปแบบประชาธิปไตยสำหรับสังคมไทยเสนอต่อสาธารณะแล้วหรือไม่"

ถ้าเราสามารถสร้างเอกภาพความเข้าใจร่วมกันบนพื้นฐานสร้างชาติไทยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ คำถามที่ 3 และ 4 จึงจะตามมา นั่นคือ "What is to be done?" และ "Where to begin?"

ถ้าเราไม่เคลื่อนไหวให้เข้าเป้า ตรงประเด็น เราก็จะเท่ากับเดินวนเวียนอยู่ใน "เขาวงกตแห่งการหมกเม็ดเผด็จอำนาจ" ปัญหาพื้นฐานที่เป็นใจกลางของปัญหาทั้งปวงก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ประชาธิปไตยก็จะกร่อนความหมายลงตามที่ฝ่ายปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ต้องการ คือ ประชาชนหมกมุ่นอยู่แค่ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งสามานย์" ที่ไม่เป็นและไม่อยู่ในเงื่อนไขประชาธิปไตย

ในรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับของประเทศนี้ มีที่ใกล้เคียงกับความเป็น "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ตามนัยของนายปรีดี พนมยงค์ ก็มาสิ้นสุดลงแค่รัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคม 2489 ซึ่งมีโอกาสใช้เพียง 18 เดือน ก็ถูกรัฐประหารที่นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัน

นับจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา เป็นรัฐธรรมนูญ "อำมาตย์/อภิชน" ทุกฉบับ: มีเหตุผลสำคัญ 2 ประการ 1.ผู้แทนปวงชนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด และ/หรือ 2.มีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ขององค์กรนอกอธิปไตยทั้ง 3 ตราไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "องคมนตรี" ซึ่งในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475; รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 9 พฤษภาคม 2489 ไม่มี "องคมนตรี" (ดู "รัฐธรรมนูญที่ปราศจากองคมนตรี :ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"[/b] http://arin-article.blogspot.com/2010/06/blog-post_08.html

ใจกลางของปัญหาในเวลานี้ คือ
1.พี่น้องเสื้อแดงต้องเร่งทำความเป็นเอกภาพใน "ประชาธิปไตย"
2.ขบวนประชาธิปไตยนำองค์ความรู้ในประการแรกไปสู่พี่น้องประชาชน "ฝ่ายกลาง" เพื่อโดดเดี่ยวกลุ่ม "ปฏิกิริยา"
3.นั่นคือ ไม่เพียงเราต้องรู้จัก "ตัวเอง" อย่างถ่องแท้แล้ว เรายังต้องรู้ด้วยว่า "ใคร" คือเพื่อนพ้องที่สามารถรับฟังความเห็นและต้อนรับแนวคิดของเรา
4.ตระหนักและเลิกหวังพึ่ง "พลังภายนอก" ซึ่งในที่นี้ คือหวังว่าจะมีอำนาจอื่นใดนอกเหนือพลังประชาชน ที่จะนำพาภารกิจสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไปสู่ความสำเร็จ

จะออกจากเขาวงกตแห่งการเผด็จอำนาจการปกครองไว้ในมือคนส่วนน้อยได้อย่างไร?:
1.เลิกพายเรือในอ่างกับ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย"
2.หยุด "การซุกขยะใต้พรม" ในความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ด้วยการชำระประวัติศาสตร์ฝ่ายประชาชนอย่างแท้จริง
3.สร้าง "สำนึกประชาธิปไตย" เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและจุดยืน "โค่นล้มระบอบเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน"

ปมเงื่อนสำคัญที่จะจูงขบวนประชาธิปไตยออกจากเงามืด สู่แสงสว่างคือ การตระหนักว่า นับจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ประเทศนี้ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย "แม้แต่ฉบับเดียว"

และจากวันนั้นถึงวันนี้ อำนาจรัฐที่แท้จริงอยู่ในเงื้อมเงาของกลุ่ม "อำมาตย์/อภิชน/ขุนศึกฟาสซิสต์" มาโดยตลอด ในสัดส่วนมากน้อยแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละช่วงเวลา หรือกล่างอย่างถึงที่สุดและตรงไปตรงมา คือ 63 ปีมานี้ ประเทศนี้ไม่เคยปกครองในระบอบประชาธิปไตย

นั่นย่อมหมายความว่า ภารกิจสำคัญของขบวนประชาธิปไตยย่อมหนีไม่พ้น การต้องตอบโจทย์ประชาธิปไตยนี่ให้แตกในเวลาอันรวดเร็ว.



หมายเหตุ: สรุปทัศนะจากเนื้อหาการเสวนา "เปิดแนวคิดทิศทางประเทศไทย" จัดโดยกลุ่มแดงอิสระ ในวันที่ 25 กันยายน 2553 ที่ตลาดน้ำสุวินทวงศ์ คลองหลวงแพ่ง ฉะเชิงเทรา

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

วันอัปยศ 19 กันยายน 2549

จุดยืนและท่าทีขบวนประชาธิปไตย
ต่อวันอัปยศ 19 กันยายน 2549


มาตรา 309 บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

ข้างต้นนั้นคือมาตราสุดท้ายอันอัปยศของ "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ด้วยการมีบทบัญญัติที่ให้ไม่ต้องรับโทษ ในการกระทำทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากการละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งครอบคลุมการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกสภาผู้แทนราษฎร และทำลายอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรัฐประชาธิปไตยเยี่ยงอารยะประเทศ

ในเวลานี้ขบวนประชาธิปไตยมุ่ง ความสนใจไปที่การเรียกร้องความถูกต้องชอบธรรม และหาตัวผู้บงการในการสังหารโหดประชาชนผู้ลุกขึ้นทวงถามประชาธิปไตยในรอบ 4 ปีหลัง "การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" ที่อัปยศที่สุดในการเมืองยุคใกล้ของมนุษยชาติ

ทว่าขบวนประชาธิปไตยของประชาชน กลับละเลยหลักการพื้นฐานและพิจารณาไปถึง "เหตุ" แห่งความเลวร้ายทางการเมืองการปกครอง ซึ่งย่อมหนีไม่พ้นกลุ่มบุคคลในฝ่ายอำนาจรัฐ อันประกอบไปด้วยบุคลากรระดับผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเหล่าทัพ ที่ประกาศตนเป็น "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" หรือในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)"

หลังการฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549 ประชาชนกลุ่มต่างๆ ต่างทยอยกันออกมาอย่างองอาจกล้าหาญ คัดค้าน "โจรกบฏ" ผู้เข้าครอบครองอำนาจการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และตามมาด้วยการอาศัยคำสั่งและ "กฎโจร" สถาปนาอำนาจการปกครอง (ชั่วคราว) ผ่านคณะรัฐบาลที่ไม่ได้มาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย และองค์กรนอกอำนาจอธิปไตย ที่เรียกว่าองค์กรอิสระ อีกทั้งดำเนินการเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองเพื่อเป็นการอำพรางการใช้อำนาจเผด็จการ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จึงแต่งตั้งนักกฎหมายคณะหนึ่งเพื่อร่าง "รัด-ทำ-มะ-นูน" ฉบับชั่วคราว 2549 มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งต่อมาภายหลังได้ลาออก โดย คปค. ได้แต่งตั้งผู้ทำหน้าที่แทนคือ นายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการประธานศาลฎีกา

จนที่สุดใช้พฤติการณ์ "อุดหูขโมยกระดิ่ง" ตั้งสภาเถื่อนด้วยอำนาจเผด็จการ ซึ่งดำเนินการภายหลังจาก คปค. ลอกคราบเผด็จการเสียใหม่เป็น คมช. ในนาม "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549" เพื่อทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ตามมาตรา 5 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 โดยไม่ผ่านมติความเห็นชอบจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่พึงมี

ในวันที่ 19 คุลาคม 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ คณะหนึ่ง และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับ ดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ลงวันที่วันเดียวกัน ให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว นอกจากนั้นยังกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

จากนั้นกระบวนการสร้าง "รัด-ทำ-มะ-นูน" เผด็จอำนาจก็เข้าสู่ขั้นตอนกำหนดทิศทางการปกครองของประเทศ โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการกำกับดูแลเพื่อ สรรหา สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,000 คน จากนั้นสมัชชาแห่งชาติ กรอง ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 200 คน ตามมาด้วย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กรอง ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จาก 200 คน เหลือ 100 คน และผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กรอง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 25 คน ตบท้ายด้วยการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แต่งตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยตรง อีกจำนวน 10 คน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 242 คน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ผลงานอัปยศของ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549" นอกเหนือจากการผ่าน "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" ที่มีวิญญาณของการเผด็จอำนาจ ปรากฏอยู่โดยตลอด ยังตามมาด้วยการออกกฎหมายหลายฉบับที่เอื้อประโยชน์ให้กับ คมช. และเพิ่มอำนาจทหารมากขึ้น โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านอย่างหนักจากผู้รักความถูกต้องชอบธรรม

และที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในแวดวงต่างๆที่ตระหนักในหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ การอนุมัติกฎหมาย 70 ฉบับภายในเวลาเพียง 3 วัน

ภายใต้เงื้อมเงาเผด็จการทหาร นำไปสู่การเสียสละชีวิตเพื่อลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" ในคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ของ "ลุงนวมทอง ไพรวัลย์" โชเฟอร์แท็กซี่ผู้รักและหวงแหนประชาธิปไตย อดีตพนักงานการไฟฟ้าบางกรวย และการเสียสละชีวิตเพื่อแสดงเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของ "นายณรงค์ศักดิ์ กอบไธสง" จากน้ำมือของอันธพาลจัดตั้งทางการเมือง ในคืนวันที่ 2 กันยายน 2551

การเสียสละชีวิตของวีรชนประชาธิปไตยทั้งสอง ตลอดจนวีรชนจำนวนมากนับจากการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เป็นเสียสละด้วยเจตนารมณ์ที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นอย่างมั่นคง

เมื่อถึงเวลาที่ประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของทุกคนนี้ ก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะตอบข้อกังขาในประเด็นที่ว่า มีความเป็นได้มากน้อยเพียงใด สำหรับการที่อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่าย จะพิจารณาพิพากษา "กบฏต่อระบอบประชาธิปไตย" ทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาแล้ว แม้ว่า "การฉีกรัฐธรรมนูญ" หลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2475 จะเป็น "รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย" ก็ตาม แต่พฤติการณ์ "โจรกบฏ" เป็นสิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป

นั่นคือประชาชนไม่เพียงมีพันธกิจร่วมกันในการขับเคลื่อนปิตุภูมิไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หากยังต้องมีส่วนร่วมในการชำระประวัติศาสตร์ที่ปกปิด บิดเบือนความจริง ด้วยการฟื้นคดีทุกคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และนำตัวผู้กระทำผิดเหล่ามารับโทษทัณฑ์ที่สมควรได้รับ เช่นในประเทศที่กฎหมายเป็นกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนไม่ถูกละเมิด

ในวาระแห่งการครบรอบ 4 ปีแห่งความอัปยศทางการเมือง ขอเชิดชูจิตใจที่วีระอาจหาญของมิตรสหายทั้งปวงในขบวนประชาธิปไตยด้วยความน้อมใจ.

โค่นระบอบเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน
ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนจงเจริญ.

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาชนสร้างพรรค พรรคสร้างชาติ

ประชาชนสร้างพรรค พรรคสร้างชาติ


ถึงเวลาแล้วที่การเมืองแบบ 2 ขั้วอำนาจแย่งกันบริหารงบประมาณจะต้องยุติลง ประชาชนต้องสร้างการเมืองจากระดับถนน-ตรอก-ซอก-ซอย หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และระดับชาติ ที่ผู้ทนหน่วยพรรคขึ้นไปเลือกตัวแทนพรรคเข้าไปทำหน้าที่ "ฝ่ายนิติบัญญัติ"; ในขณะที่ผู้แทนหน่วยพรรค เลือกตัวแทนไปชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี; ทั้ง 2 ประการ จะทำให้อำนาจอธิปไตย 2 อำนาจ คือ ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แยกจากกันและสามารถตรวจสอบและคานอำนาจกันได้; ในเวลาเดียวกัน อำนาจตุลาการก็ผ่านการเสนอโดยฝ่ายบริหารและตรวจสอบรับรองโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้อำนาจตุลาการ "ยึดโยง" กับประชาชนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

สร้าง หน่วยพรรคพื้นฐานจากอุดมการณ์ที่ชัดเจนก่อน แล้วตั้งสาขาพรรคประจำตำบล ระดับอำเภออำเภอ สู่ระดับจังหวัด และระดับชาติ; พรรคการเมืองเช่นนี้จะเข้มแข็ง ไม่อาจทำลายได้

เรา "ต้อง" มีระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เสียก่อน จึงจะมีรัฐธรรมนูญของประชาชนได้ จะมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ ก็ต้องสร้าง "สำนึกประชาธิปไตย" ในหมู่ประชาชน ไม่ต้องมากครับ แค่ 51% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งครับ และที่สำคัญ "ต้อง" ทำลาย "ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้ง" ใต้กติกา "เผด็จอำนาจ" ลงไปให้ได้ ไม่อย่างนั้น "วงจรอุบาทว์" ทางการเมือง ตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ก็จะไม่หมดไปจากสังคมไทย ที่สำคัญ "ยุติ" งานชุมนุม "ตบมือ/ร้องเพลง/จัดคอนเสิร์ตกินโต๊ะจีน" ได้แล้ว ใช้เวลาและทรัพยากรที่มีทั้งหมด "จัดตั้งแนวทางการเมือง" และ "การให้การศึกษาทางประชาธิปไตย" ที่ลงลึกกว่าที่เป็นอยู่ และแพร่ขยายให้กว้างไกลตามสภาวการณ์ที่ประชาชนตื่นตัวกันในขอบเขตทั่วประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

และถึงเวลาแล้วอีกเช่นกัน ที่ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ได้ต้องการมี "ผู้นำ" ที่ต้องการแค่ "ชนะเลือกตั้ง" เข้าไปบริหาร "งบประมาณแผ่นดิน" อีกทั้งไม่เคยบอกประชาชนว่า "ประชาธิปไตย" มีหลักการอย่างไร เราจะสร้างประชาธิปไตยสำหรับประเทศเราด้วยรูปแบบไหน แล้วถึงมาร่วมกันคิดว่า "เราจะทำอย่างไรจึงจะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริง"

พลเมือง อเมริกันรุ่นบุกเบิกสร้างประเทศ รู้ว่าสู้เพื่ออะไร... จึงได้ชัยชนะในที่สุด และใช้เวลาหลายปีเหลือเกินด้วย ตายกันทั้ง 2 ฝ่ายเป็นจำนวนมหาศาลทีเดียว ใน "สงครามประกาศอิสรภาพอเมริกัน" (American Revolutionary War หรือ American War of Independence; ค.ศ. 1775-1783)

ข้อสรุปเบื้องต้นคือ ประชาชนของเราขาดความรู้ความเข้าใจในระบบการเมืองการปกครอง; ส่วนระบบการศึกษาก็ทำได้แค่ให้คนสอบผ่านใบรับรองวุฒิ เพราะแม้แต่นักวิชาการเอง ยังขาดความรู้ความเข้าใจในปรัชญาประชาธิปไตยที่มีปรัชญามนุษยนิยมเป็นพื้น ฐาน ทั้งนี้เพราะจารีตและขนบทางศาสนธรรมของเราเป็น "เทวนิยม"

ฝ่ายประชาชนต้องเร่งสร้าง "นักคิด" เพื่อลุกขึ้นท้าทายระบบคิดของอำมาตย์/อภิชนให้ได้โดยเร็วและมีความหนักแน่นเป็นปึกแผ่นพอ ที่จะรับการ "โจมตี" ทางปรัชญาได้ทุกรูปแบบ

จากนี้ำไปท่าทีชนิดหนึ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยควรทบทวนและตระหนักเพื่อเร่งสร้างในระดับจิดสำนึก คือ "การสันทัดในการฟัง" ซึ่งในเวลานี้ จะเจาะจงลงไปด้วยซ้ำว่า คือ "การสันทัดในการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง"

ผมขอย้ำในที่นี้ซ้ำอีกครั้งเช่นกัน ว่า "ประชาธิปไตยไม่อาจสร้างได้ด้วยความเกลียดชัง ความอาฆาตมาดร้าย ความกระเหี้ยนกระหือกระหายเลือด" สิ่งเหล่านั้น จะสร้างได้ก็เพียง "ระบอบทรราชย์(ใหม่)" ขึ้นมาเท่านั้นเอง

สำหรับในสถานการณ์เบื้องหน้า ท่าทีต่อการเลือกตั้งที่อาจมีขึ้นเมื่อฝ่ายปฏิกิริยาเห็นช่องทางที่ได้เปรียบ ขอเสนอจุดยืนที่ให้ "ประชาชนสร้างพรรค พรรคสร้างนโยบาย นโยบายสร้างชาติ".

วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

วิวาทะว่าด้วย "แนวคิดศักดินา" และ "ความเท่าเทียม"

วิวาทะว่าด้วย "แนวคิดศักดินา"
และ "ความเท่าเทียม"


จากวาทกรรมนำไปสู่การโต้แย้งบางระดับในหมู่นักท่องโลกไซเบอร์ ที่เริ่มจากประโยค "ระบบศักดินาได้เข้าไปกัดกินในระบบราชการ" ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของ "ระบบศักดินา" พร้อมกับการตั้งคำถามว่าด้วย "ความเท่าเทียม"

ทัศนะจากมิตรสหายคนที่หนึ่ง:
ระบบศักดินาได้เข้าไปกัดกินในระบบราชการ และนายทุน อย่างมากเกินที่จะเยียวยา ในระยะหลายสิบปี ฉะนั้นการปฏิรูปไม่ได้ก่อให้เกิด ระบอบประชาธิปไตย อย่างแท้จริงได้ ถ้าสังเกตดีๆก็จะเห็นได้ว่า พอบ้านเมืองกำลังจะไปได้ดี มันก็ยึดอำนาจกันอีก การปฏิรูปจึงไม่ได้เป็นการแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ

คำถามจาก Chotisak Onsoong:
ระบบศักดินา?
สมัยนี้ยังมีระบบศักดินาอยู่อีกเหรอ?
เอ่อ.. แล้วตอนนี้ใครศักดินาเท่าไหร่บ้างครับ
ฯพณฯ มาร์กซ์ นี่ศักดินากี่ไร่
ทั่นเนวินล่ะ ศักดินาเท่าไหร่
...ทั่นเหลิม ทั่นจตุพรล่ะครับ
แล้วพวกอ้ายอีที่กำลังสนทนากันอยู่ในนี้ล่ะครับ แต่ละคนศักดินากี่ไร่กันบ้าง

เอ แล้วยังงี้ต้องไปเข้าเดือนด้วยหรือเปล่าครับ

ความเห็นจากรุ่งโรจน์ วรรณศูทร:
ตามทัศนะส่วนตัว ณ เวลานี้การพิจารณาบริบทนี้ควรอยู่ในขอบเขต "ซากเดนแนวคิดศักดินา" ซึ่งอุบัติขึ้นและดำรงอยู่ในภูมิภาคนี้มาเกือบตลอดสมัยอยุธยา ต่อเนื่องมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งยังปกครองด้วย "ระบอบศักดินา" มาจนถึงปี 2435-3440 จึงเป็น "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" แต่ "ซากเดนแนวคิดศักดินา" ยังสืบทอดมาในหมู่ "ทาส/ไพร่ที่ปล่อยไม่ไป" และ "กลุ่มอำมาตย์/อภิชน" ที่มีผลประโยชน์จากระบอบศักดินาเดิม และแม้แนวคิดนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในช่วงปี 2475-2489 แต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 คือการฟื้นอำนาจของกลุ่ม "กษัตริย์นิยม" ที่พัฒนามาจนหลังการรัฐประหาร 2501 เป็นพันธมิตร 3 ฝ่าย "อำมาตย์/อภิชน/ขุนศึก" มีส่วนฟื้นตัวและขยาย "แนวคิดศักดินา" กลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง และก่อรูปชัดเจนยิ่งขึ้นช่วงปี 2503-2506

แนวคิดศักดินาคือ การสร้างสถานภาพไม่เท่าเทียมกัน ด้วยการแบ่งคนเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีการ "กดข่ม" กันลดหลั่นลงไป จนถึง 2 ชั้นล่างสุด คือ "ทาส" และ "ไพร่" ระบอบนี้มีผลอย่างชัดเจนทั้งสถานภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และทางสังคม ผลคือ คนในแต่ละชั้นจะพยายามถีบตัวขึ้นสู่ชั้นเหนือๆขึ้นไป เพื่อที่จะหลีกหนีภาวะการถูก "กดข่ม" และ มีศักยภาพที่จะ "กดข่ม" คนที่อยู่ระดับล่างๆ ลงไป

การแบ่งแยกพลเมืองแบบนี้เอง คือที่มาของ "ชนชั้น"

"ระบอบศักดินา" มีความแตกต่างจากระบอบ "ราชาธิปไตย" หรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ซึ่งอำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ที่ยอดบนสุด คือ "กษัตริย์" และบัญชา หรือ "ให้" อำนาจในการจัดการระบบ แก่ เชื้อพระวงศ์ใกล้ชิด หรือ "ขุนนาง" ที่ไว้วางใจได้

หาก สรุปย่อ สังเกตและวางลำดับพัฒนาการทางการเมืองของสยาม/ไทยในรอบ 150 ปี -> 2417 เริ่มต้นที่จุดเปลี่ยนสำคัญของระบอบศักดินาเกิด ขึ้นจากกรณีวังหน้า -> 2435-2540 การก่อรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ -> 2440-2475 สถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูป -> 2475 การอภิวัฒน์สยาม นำโดยกลุ่มชนชั้นนำ (elite) ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนที่รับอิทธิพลแนวคิดจากชาติตะวันตก -> 2490-2494-2499 การก่อรัฐประหารโดยกลุ่มอำมาตย์และครอบครองอำนาจ โดยกลุ่มอำมาตย์/ขุนศึก; เน้นที่การกวาดล้างสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน และขบวนการเสรีไทยสายในประเทศ -> 2500-2502 การทำรัฐประหารโดยขุนศึกฟาสซิสต์ -> 2503-2506-2511 การก่อรูปและปิดจุดอ่อนเสริมความแข็งแกร่งของ "พันธมิตร 3 ฝ่าย" อำมาตย์/อภิชน/ขุนศึก -> 2512-2514 กลุ่มอำมาตย์/ขุนศึกปกครองผ่านรัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย -> 2514-2516 ระบอบฟาสซิสต์อีกครั้ง -> 2516-2519 การเคลื่อนไหวลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมที่นำโดยนิสิตนักศึกษา -> 2519-2521 ระบอบฟาสซิสต์ขวาจัดพลเรือน/ทหาร -> 2522-2528 การฟื้นอำนาจ "พันธมิตร 3 ฝ่าย" -> 2529-2534 รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตยและความพยายามครั้งใหม่ของขุนศึกฟาสซิสต์ -> 2535-2549 การก่อรูปของกึ่งพันธมิตร (ชั่วคราว) ประชาชาติประชาธิปไตยและการตีโต้เผด็จการทหาร นำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของกลุ่มรัฐธรรมนูญนิยม -> 2550-2552 การตีโต้และเข้าครองอำนาจของ "พันธมิตร 3 ฝ่าย" พร้อมกับการฟื้นตัวของ "กลุ่มรัฐธรรมนูญนิยม" -> 2552-2553 ขบวนการประชาธิปไตยประชาชนเคลื่อนไหวเป็นคู่ขนานกับกลุ่มรัฐธรรมนูญนิยมลุกขึ้นคัดค้าน "พันธมิตร 3 ฝ่าย"

ข้อสังเกตจาก Chotisak Onsoong:
ในยุคทุนนิยมก็มี "การสร้างสถานภาพไม่เท่าเทียมกัน" เช่นในโรงงาน คนงาน 1 คน ย่อมไม่เท่าเทียมกับนายทุน 1 คน หรือยิ่งไปกว่านั้น คนงานพันคนหมื่นคนยังเสียงดังสู้นายทุนคนเดียวไม่ได้เลย หรือถ้านอกโรงงาน ถามว่าคนงานจะไปกินอาหารที่โรงแรม 5 ดาวได้หรือเปล่า แน่นอนว่าไม่ได้มีกฎหมายห้ามไว้ แต่ถามว่าในความเป็นจริงแล้วเราสามารถไปกินอาหารแพงๆได้เท่าเทียมกับนานทุนหรือเปล่า หรือในทางการเมือง เป็นไปได้แค่ไหนที่คนงานจะไปสมัคร ส.ส. (โดยไม่ต้องรวมตัวกันเป็นพรรค) เอาแค่ค่าสมัครก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนแล้ว แต่ถ้าเป็นนายทุนสบายครับ เท่าเทียมกันไหม?

หรืออย่างยุคทาส แน่นอนย่อมไม่มีความคิดที่ว่าเจ้าทาสกับนายทาสเท่าเทียมกันแน่ๆ ดังนั้น "การสร้างสถานภาพที่ไม่เทียมกัน" จึงไม่น่าจะเป็น "ลักษณะเฉพาะ" ของ "แนวคิดศักดินา" ส่วนการ "แบ่งคนเป็นชั้นๆลดหลั่นกันไป" เท่าที่รู้ที่ไหนๆก็มี ประเทศทุนนิยมอย่างอเมริกาหรือทุนนิยมที่เกิดก่อนอย่างอังกฤษหรือที่ไหนๆก็มีรูปธรรมเช่นในโรงงาน (อีกแล้ว) มีตั้งแต่ผู้จัดการใหญ่-รอง-ผู้ช่วย ผู้จัดการฝ่าย/แผนก-รอง-ผู้ช่วย ไปจนถึงหัวหน้างาน-รอง-ผู้ช่วย (ซึ่งหัวหน้างานก็อาจจะมีการแบ่งย่อยไปอีกกี่ชั้นก็ได้) ไปจนถึงคนงานพื้นฐาน

ดังนั้นการ "แบ่งคนเป็นชั้นๆลดหลั่นกันไป" จึงไม่น่าจะเป็น "ลักษณะเฉพาะ" ของ "แนวคิดศักดินา" ด้วยเหมือนกัน

(แต่อันนี้อาจจะน่าสนใจกว่าเรื่องความไม่เท่าเทียมตรงที่เราจะไม่เห็น "การแบ่งชั้นลดหลั่น" ในสังคมทั่วไปอย่างชัดเจน เราจะไม่รู้ชัดๆว่าใครสูงกว่ากันระหว่างครู หมอ ทนายความ แต่เราก็รู้ว่าเราอยู่ต่ำกว่าพวกที่ว่ามาทั้งสิ้น เราต้องเคารพเขา ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าใครบ้างที่อยู่ต่ำกว่าเรา)

ความเห็นของรุ่งโรจน์ วรรณศูทร:
ในสังคมทุนนิยม มีแต่ "สถานภาพทางเศรษฐกิจ" ไม่มี "สถานภาพชนชั้นทางสังคม" ให้พิจารณาก่อน 2475 - หลัง 2475 - หลัง 2490 - หลัง 2500 - หลัง 2516 - หลัง 2535 - หลัง 2549

พิจารณาว่าเป็น "ซากเดนแนวคิดศักดินา" ซึ่งสืบทอดมาใยยุคทุนนิยมแบบไทยครับ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ปลอดพ้น "อิทธิพล" แนวคิดดังกล่าว จะพบว่าพลเมือง มีความเท่าเทียมกันโดยพื้นฐาน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า "เท่ากัน" แต่หมายถึงมีความเสมอภาคกันในกฎหมายมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งได้รับหลักประกันโดย "รัฐธรรมนูญ" ที่มีรากฐานจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย

สังคมที่มี "จารีต" แบบศักดินา ใช้เวลายาวนานกว่าในการขจัด "แนวคิด" ดังกล่าวออกไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากๆ คือในกรณีฝรั่งเศส การต่อสู้กันใช้เวลากว่า 80 ปี จึงทำให้จารีตแบบ "ราชาธิปไตย" หมดไปโดยพื้นฐาน ในสมัย "สาธารณรัฐที่ 3" (กฎหมายรัฐธรรมนูญ 1875) และกว่าจะสถาปนาระบบสาธารณรัฐที่มั่นคงได้ก็ในรัฐธรรมนูญ 1958 ในสมัย "สาธารณรัฐที่ 5" ซึ่งดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน 52 ปี

ลักษณะพิเศษของระบอบประชาธิปไตย 3 แบบ คือ สหรัฐอเมริกา - ฝรั่งเศส - และ - อังกฤษ มีรูปแบบและเนื้อหาที่มีทั้งร่วมกันและแตกต่างกัน

นั่นคือ ผมกำลังพยายามตรวจสอบและค้นหา "รูปแบบเฉพาะ" ของสังคมไทย ที่เป็น "ประชาธิปไตย"

ก่อนอื่น ผมถือว่านี่เป็นการอภิปราย "ชนชั้น" ในบริบทของ "ไพร่" ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการจัดลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ/การเมืองนะครับ แต่มีบริบททางวัฒนธรรมด้วย

การเกิดระบอบทาสผิวดำในสหรัฐมีความแตกต่างจากระบอบทาสในยุคทาส และไพร่/ทาสในยุคศักดินา/ราชาธิปไตย ในสหรัฐมี "นายทาส" ไม่มี "เจ้าทาส" ระบบชนชั้นแบบเศรษฐกิจทุนนิยม (ที่มีจุดกำเนิดที่สำคัญในสหรัฐ ที่พัฒนาควบคู่กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม) จึงไม่มี "วัฒนธรรม" หรือ "จารีต"

การลุกขึ้นสู้ของ "คนงานหญิงชิคาโก" ที่นำโดยคลารา เซ็ตกิน จึงไม่ใช้การลุกขึ้นสู้ของ "ทาสกสิกร (serf)" และชนชั้นกลางล่าง/ผู้ใช้แรงงานในเมือง เช่นกรณีการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 หรือแม้แต่คอมมูนปารีส 1871

ในกรณีประเทศไทย การหมดไปของ "ระบอบไพร่/ทาส" (2440-2448) จึงถือว่าพลเมืองเป็น "เสรีชน" การใช้บริบท "ไพร่ล้มอำมาตย์" จึงเป็นความผิดพลาด และก่อให้เกิดจุดอ่อนในการตอบโต้โดยฝ่ายปฏิกิริยา เพราะความหมายของ "ไพร่/ทาส" ของ "สยาม" ย่อมหมายรวมถึง "มูลนาย" และตัว "ระบอบ" สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เอง

การชูธงการต่อสู้ของฝ่ายประชาชนว่าเป็น "ไพร่" จึงเป็นข้อบกพร่องผิดพลาดประการหนึ่งในรูปการจิตสำนึก

นั่นคือผมเสนอ "ตำแหน่ง" ของฝ่ายประชาชนในขบวนประชาธิปไตยไว้ว่าเป็น "เสรีชน" ซึ่งลุกขึ้นสู้เพื่อ "สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค" ที่ถูกลิดรอนและ ปกปิดบิดเบือนแย่งยึดไปนับจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา

เมื่อเป็นดังนี้ หมายถึงบริบท "เสรีชนสู้เพื่อเสรีภาพ" จึงมีขอบเขตกว้างกว่า และสามารถเชื่อมโยงกับการต่อสู้ทางชนชั้นในยุคการผลิตแบบทุนนิยมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสามัคคีประชาชนชั้นชนต่างๆได้ในวงกว้างมากกว่า "ไพร่ล้มอำมาตย์" ซึ่งไม่มีอยู่จริงแล้วในทางเศรษฐกิจและการเมือง มิหนำซ้ำยังส่งผลก่อให้เกิด "วาทกรรม" ที่ผิดพลาดด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย คือในฝ่ายประชาธิปไตยเอง และในฝ่ายปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

สำหรับประเด็นสถานภาพทางสังคม หรือ "แบบแผนการปฏิบัติต่อกัน" เข้าใจว่า น่าจะมีก็เฉพาะ "โฮจิมินห์" เท่านั้น ที่ใช้คำเรียกทั่วไปใน เวียดนาม (เหนือ) ก่อนชัยชนะในสงครามรวมประเทศ ว่า "ลุงโฮ" ซึ่งโดยเนื้อแท้เป็น "ค่านิยม" ที่ให้ความสำคัญแก่ผู้อาวุโสที่ควรได้รับการยกย่อง

คงไม่มีใคร แม้ในขบวนปฏิวัติประชาธิปไตย ที่คนอายุ 20 ปีเศษหรือน้อยกว่า/มากกว่า สนทนากับคนอายุ 5-60 ปี ด้วยคำพูดและอากัปกิริยาที่มองข้ามวัยวุฒิและรวมทั้งประสบการณ์อันอุดมกว่าของผู้สูงวัย หรือแม้แต่บทบาทหน้าที่/ความรับผิดชอบต่อภารกิจที่แบกรับ

ส่วน "ไอ้มืด" นั้น หากไม่นับพื้นฐานเดิมของรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐ ที่มีจารีต "ระบบทาสเกษตร/อุตสาหกรรม" ในยุคสร้างชาติแล้ว เนื้อหาของการ "เหยียดเชื้อชาติ" ลดน้อยถอยลงไปมากแล้วในสหรัฐ ถ้าจะมีก็คงเป็น "เศษเดนลัทธิเหยียดสีผิว" ที่รอเวลาการสิ้นสลายลงไป (ประธานาธิบดีคนปัจจุบันเป็น "คนผิวดำ" ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลชุดที่แล้วเป็น "สตรีผิวดำ")

ขอบเขตปริมณฑลของการปฏิวัติประชาธิปไตยของรัฐชาติสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ที่มีพัฒนาการของจารีตเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ นั้น มีความจำเป็นที่ต้องค้นคว้าทำความเข้าใจกันให้ลึกซึ้ง มากยิ่งกว่า "การชุมนุม" และการขึ้น "ปราศรัยปลุกระดม" ในทางที่มีเนื้อหาในทางให้การศึกษาทางการเมืองไม่สูง

การรวบรวมกำลัง ร่วมกันเป็นหน่วยมวลชนระดับต่างๆ มีความสำคัญมากกว่าการดำเนิน "กิจกรรม" ทางการเมือง

ความจำเป็นที่มวลมหาประชาชน จะต้องตระหนักถึงเป้าหมาย "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริง" เป็นภารกิจเร่งด่วนเบื้องหน้าสถานการณ์ที่เข้าใกล้วาระสุกงอมที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ จากนั้นคำถามที่ว่า "แล้วจะทำกันอย่างไร" จึงเป็นความจำเป็นตามมาในเวลาอันรวดเร็ว

เมื่อไม่สามารถสร้างเอกภาพใน "เป้าหมาย" อย่างถูกต้องสอดคล้องกับขั้นตอนพัฒนาการความขัดแย้งทางการเมืองเสียแล้ว ขบวนประชาธิปไตยยิ่งลดความเป็นไปได้ที่จะสร้าง "ยุทธศาสตร์/ยุทธวิธี" ที่ถูกต้อง เพื่อขับเคลื่อนพลังประชาธิปไตย ทั้งที่เป็นพลังหลัก และความสนับสนุนจากประชาชนวงการต่างๆที่ยังคงอยู่ในสถานะ "พวกฝ่ายกลาง"

แล้วประชาชนก็จะวนเวียนอยู่กับคำถามในหลายปีมานี้ที่ว่า "เมื่อไหร่จะชนะ" อยู่นั่นเอง.


การสนทนาผ่านเพจ Facebook ช่วงกลางวันวันที่ 5 กันยายน 2553
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8