Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (72)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (5)
 
นายแช่ม พรหมยงค์ จุฬาราชมนตรีท่านแรกในสมัยประชาธิปไตย นำเสด็จในหลวงทั้ง 2 พระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คราวเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคพร้อมพระอนุชา (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) เพื่อเยี่ยมชุมชนมัสยิดต้นสน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2489

ในช่วงท้ายของบทความจากเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดย วรัญญา เพ็ชรคง เรื่อง "กรณีการจับตัวหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/กรณีการจับตัวหะยีสุหลง_อับดุลกาเดร์)ในหัวข้อ ผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรพา และจบลงด้วย หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ถูกจับและหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เป็นการนำเสนอเพียงสาเหตุที่นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ปิดฉากโดยสมบูรณ์ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือนดังได้กล่าวมาแล้ว และผลพวงสำคัญต่อกรณีความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารครั้งนั้น คือการยุติความพยายามอย่างมีนัยสำคัญของรายปรีดีพนม กับผู้นำที่มีอิทิพลต่อประชาชนในพื้นที่ คือ หะยีสุหลง
**********
ผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรพา

นโยบายการสร้างชาติที่ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อวิถีชีวิตชาวมุสลิมแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันชาวมุสลิมในพื้นที่ดังกล่าวก็ได้รับผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรณพาด้วย เมี่อชาวมุสลิมได้รับกระทบการการที่รัฐบาลร่วมมือกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ตกต่ำ ราคาข้าวสูงขึ้นมาก ถึงกับเกิดภาวะขาดแคลนข้าว ราคายางตกต่ำลง เพราะไม่สามารถส่งออกยางพาราได้ ผู้คนก็ไม่มีรายได้ที่จะจุนเจือครอบครัว บางหมู่บ้านขาดแคลนอย่างหนักถึงขนาดต้องกินเผือกและมันแทนข้าว และจากการที่ญี่ปุ่นต้องเดินทัพผ่านพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้าน ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักเพิ่มขึ้นไปอีก ยิ่งช่วงสมัยสิ้นสุดสงครามด้วยแล้ว เกิดขาดแคลนข้างสำหรับบริโภคเป็นอย่างหนัก ชาวมุสลิมต้องไปขอให้หะยีสุหลงหาทางช่วยเหลือ

ความไม่พอใจของชาวมุสลิมที่ได้รับผลกระทบมาจากทั้งสองด้านคือนโยบายสร้างชาติของรัฐบาลและวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในช่วงสงคราม เหล่านี้ล้วนตอกย้ำความไม่พอใจต่อการปกครองเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ และยิ่งปะทุมากขึ้นจนถึงจุดแตกหักหลังจากสิ้นสุดสงครามเพียงไม่กี่ปี

หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ถูกจับและหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

หลังจากโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สร้างปัญหาให้ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก ชาวบ้านที่ไม่เคยเห็นดีกับการแบ่งแยกดินแดน ถูกผลักให้เป็นแนวร่วมของขบวนการคิดแบ่งแยกดินแดนไปโดยปริยาย กระนั้นก็ตาม หลังจาก จอมพล ป. หมดอำนาจและรัฐบาลที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่แทน แผนการดับไฟใต้โดยรัฐบาลพลเรือนได้เกิดขึ้น อย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการแต่งตั้งนายแช่ม พรหมยงค์ เป็นจุฬาราชมนตรี พร้อมมอบหมายให้ ไปเจรจาแก้ปัญหาภาคใต้ โดยการรับฟังความคิดเห็น ความต้องการของผู้นำ ศาสนาอิสลาม

ขณะนั้น หะยีสุหลง เป็นนักการศาสนามีความรู้สูงที่สุดและเป็นที่ยอมรับของชาวมุสลิมเป็นอย่างมากกว่าผู้นำศาสนาคนอื่นในภาคใต้ หะยีสุหลงจึงกลายเป็นคนที่มีบทบาทในการร่างบันทึกข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลมากที่สุด แต่แผนการดับไฟใต้ของนายปรีดี ไม่อาจดำเนินการได้สำเร็จ เพราะ จอมพล ป. ได้ปฏิวัติยึดอำนาจอีกครั้ง ท่านปรีดีและนายแช่ม จุฬาราชมนตรี ต้องอพยพหลีกลี้หนีภัยการเมืองไปอยู่ต่างแดน

เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่หนทางในการแก้ปัญหากลับไม่ราบรื่นดังที่คาดหวังไว้ ในที่สุดหะยีสุหลงก็พลอยได้รับมรสุมภัยการเมืองด้วย เพราะรัฐบาลมองข้อเรียกร้องที่เสนอไปนั้น เป็นแผนการแบ่งแยกดินแดนที่ทำขึ้นมาตามแผนของลูกชายอดีตเจ้าเมืองปัตตานีที่สูญเสียอำนาจ ทั้งที่ข้อเรียกร้องนั้นเกิดจากความต้องการของทางรัฐบาลก่อนหน้านั้นที่ต้องการจะแก้ปัญหาภาคใต้ โดยข้อเรียกร้องที่เสนอไปมี 7 ข้อ มีดังนี้
1) ขอปกครอง 4 จังหวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งประเทศไทย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัด
2) การศึกษาในชั้นประถม (ขณะนั้นชั้นประถมมีเรียนแค่ชั้น ป.4) ให้มี การศึกษาภาษามลายูควบคู่ไปกับภาษาไทย
3) ภาษีที่เก็บได้ให้ใช้ภายใน 4 จังหวัดเท่านั้น
4) ในจำนวนข้าราชการทั้งหมด ขอให้มีข้าราชการชาวมลายู ร้อยละ 85 (คิดตามสัดส่วนประชากรในพื้นที่ มีผู้นับถือศาสนาอิสลาม 85% พุทธ 15%)
5) ขอให้ใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทย เป็นภาษาราชการ
6) ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาอิสลาม โดยความเห็นชอบของผู้มีอำนาจสูงสุด
7) ให้ศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกอฎี หรือดาโต๊ะยุติธรรมตามสมควรและมีเสรีภาพในการพิจารณาคดี
จากข้อเรียกดังกล่าวจึงทำให้หะยีสุหลงถูกมองเป็นกบฏ เป็นผู้นำแบ่งแยกดินแดน ถูกจับดำเนินคดี 2 ข้อหาสำคัญ คือเป็นกบฏและหมิ่นประมาทรัฐบาลที่กล่าวหากดขี่ประชาชน

ในที่สุดศาลได้ตัดสินให้หะยีสุหลงพ้นมลทินข้อหากบฏ แต่มีความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทรัฐบาล จนต้องถูกจำคุกที่เรือนจำนครศรีธรรมราชเป็นเวลา 4 ปี 6 เดือน และหลังพ้นโทษในปี พ.ศ.2495 หะยีสุหลงเดินทางกลับบ้านที่ปัตตานี และกลับไปเป็นครูสอนศาสนาอยู่เช่นเดิม

วันที่ 13 สิงหาคมพ.ศ. 2497 ตำรวจสันติบาลที่สงขลาเรียกให้หะยีสุหลงไปพบ เขาไปพร้อมกับลูกชายคนโตที่เป็นล่าม เพราะหะยีสุหลงและเพื่อนๆ ที่ถูกเรียกตัวไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ บุคคลทั้งหมดได้ "สูญหาย" ไปและไม่กลับไปยังปัตตานีอีกเลย บ้างก็ว่าเขาถูกจับฆ่าถ่วงน้ำอยู่ในทะเลสาบสงขลา หลงเหลือไว้แต่ความทรงจำที่สร้างความรู้สึกหวาดกลัวให้กับคนรุ่นหลัง และคำถามมากมายที่ยังรอคำตอบ
(จบหัวข้อ "กรณีการจับตัวหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์" แต่เพียงเท่านี้)
**********
ในเว็บไซต์ wikipedia.org เขียนถึงเหตุการณ์ในพื้นที่หลังจากมีการจับกุมตัวไว้ว่า
หะยีสุหลงถูกจับด้วยข้อหากบฏเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรอย่างกว้างขวาง
การรวมกลุ่มของชาวไทยเชื้อสายมลายูในยุคนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 สาเหตุ อย่างแรก คือ ไม่พอใจนโยบายรัฐบาลที่ราษฎรรู้สึกว่าเป็นการกดขี่พวกตน อย่างที่สองคือ รวมตัวกันต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาที่มักข้ามแดนมารังควานชาวไทยเชื้อสายมลายูเป็นประจำ แต่พวกเขาไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐเพราะมีความระแวงกันอยู่แล้ว ความระแวงซึ่งกันและกันนี้เป็นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในที่สุด ทั้งโดยความเข้าใจผิดและถูกยุยงจากผู้ไม่หวังดี
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 28 ธันวาคม 2556-3 มกราคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (71)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (4)

จอมพล ป.(แปลก) พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 และอีกหลายสมัย

เนื้อหาของบทความจากเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดย วรัญญา เพ็ชรคง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ คือ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต ได้ให้ข้อมูลของ "หะยีสุหลง" เรื่อง "กรณีการจับตัวหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/กรณีการจับตัวหะยีสุหลง_อับดุลกาเดร์)ในหัวข้อ นโยบายของรัฐไทยที่ส่งผลกระทบต่อสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับว่ามีความสำคัญต่อการพิจารณาประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังการขึ้นครองอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังการปราบปราม "กบฏพระยาทรงสุรเดช"

(ในตอนต่อๆ ไป จะนำเสนอแนวนโยบายของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองในพื้นที่นี้ เพื่อจำแนกให้เห็น แนวความคิดที่แตกต่างกันของหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน กับหัวหน้าสายทหารบกชั้นยศน้อย)
**********
นโยบายของรัฐไทยที่ส่งผลกระทบต่อสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ระหว่างปี พ.ศ. 2482-2490 ได้เกิดเหตุการณ์การต่อต้านนโยบายรัฐบาลในสี่จังหวัดภาคใต้ โดยเริ่มต้นจากความไม่พอใจนโยบายสร้างชาติของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และความเดือดร้อนที่เป็นผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรพา

นโยบายการสร้างชาติ

จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2481 รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลชาตินิยม เพราะมีอุดมการณ์ที่จะนำประเทศไทยเข้าสู่ระดับนานาอารยประเทศ และให้ความสำคัญกับเชื้อชาติไทยซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการประกาศใช้รัฐนิยมช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2482-เดือนมกราคม พ.ศ.2485 จำนวน 12 ฉบับ เช่น ฉบับที่ 1 ว่าด้วย "ใช้ประเทศ, ประชาชน และสัญชาติ" มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย กำหนดให้เรียกคนสยามว่าคนไทยเพื่อเน้นความถูกต้องตามเชื้อชาติและความนิยมของประชาชน รัฐนิยมฉบับแรกจึงเริ่มสร้างความรู้สึกคนละพวกให้มีความเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชาวมุสลิมในภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ต่างกัน

หลังจากประกาศใช้รัฐนิยมครบทั้ง 12 ฉบับ ปฏิกิริยาความไม่พอใจของชาวมุสลิมไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่เป็นการพัฒนาความไม่พอใจที่รู้สึกว่าบีบคั้นให้เกิดขึ้นอย่างเรื่อยๆ โดยเฉพาะรัฐนิยมฉบับที่ 9 ด้วยเรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี รัฐนิยมฉบับที่ 10 ว่าด้วยเครื่องแต่งกายของประชาชนชาวไทย ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้และมีผลบังคับอย่างจริงจัง กระแสความไม่พอใจและการต่อต้านของชาวมุสลิมในพื้นที่ก็ค่อยเพิ่มมากขึ้น

ที่จังหวัดสตูล ทางจังหวัดมีจดหมายราชการถึงอำเภอต่างๆ ขอให้แนะนำ ชักชวน และขอความร่วมมือจากบรรดาพ่อค้าให้งดสั่งซื้อผ้าโสร่งมาจำหน่ายแก่ราษฎร

ที่จังหวัดยะลา มีกรณีการจับกุมเด็กชายกิมซง แซ่ลิ้ม ซึ่งวิ่งเปลือยกายตามรถแจกใบปลิวภาพยนตร์ไปว่ากล่าวตักเตือน ลงโทษควบคุมตัวเอาไว้ถึง 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้แนะนำตักเตือนผู้ปกครองหรือพ่อแม่ของเด็กอีกหลายรายที่ปล่อยให้บุตรหลานเปลือยกายตามริมถนน ตลอดจนที่อุ้มอยู่และที่ใส่รถเข็น ส่วนคนขอทานก็ได้แนะนำให้เลิกอาชีพขอทานเสีย และบรรดาแม่ค้าก็ถูกห้ามทูนของบนศรีษะแต่ให้ใช้คานหาบแทน [หจช. แฟ้มสำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรี (สร.) 1201.15 กล่อง 2 ปึก 40 แผ่น 4 เรื่อง "คดีหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์กับพวก พ.ศ.2496" อ้างใน เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร. หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์. กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน. 2547. หน้า 27.]

ที่จังหวัดนราธิวาส ชาวมุสลิมจะยอมทำตามในสิ่งที่ปฏิบัติได้ แต่บางอย่างก็ไม่อาจจะปฏิบัติตามได้คือ การห้ามสวมหมวกแบบอิสลามและห้ามสตรีใช้ผ้าคลุมศรีษะ

แต่สำหรับจังหวัดปัตตานีแล้ว ปรากฏว่าค่อนข้างโดนต่อต้านมากกว่าที่อื่นๆ จนทำให้ข้าหลวงประจำจังหวัดขณะนั้นมีคำสั่งให้แต่ละอำเภอกวดขันให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่นถ้าใครไม่ปฏิบัติ หรือถ้ายังนุ่งโสร่งหรือแต่กายตามแบบประเพณีเดิมแล้วจะไม่ให้ความสะดวกในการติดต่อราชการ เป็นต้น

หรือบางกรณีที่เกิดขึ้นและมีปรากฏในเอกสารทางราชการซึ่งชาวมลายูมุสลิมเห็นว่าเป็นการกดขี่ทารุณ ดังเช่น

เครื่องแต่งตัวให้สวมหมวก สวมกระโปรง ให้ถอดโสร่ง พวกราษฎรไม่พอใจ แต่เมื่อถูกบังคับก็จำเป็นต้องทำ...มีการจับ ทำร้าย ทุบตีดึงมาโรงพัก ผู้หญิงที่โพกผ้าก็ดึกกระชากทิ้งให้เห็น...

ความไม่พอใจของชาวมลายูมุสลิมยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อรัฐบาลประกาศประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และ 6 ว่าด้วยครอบครัวและมรดกแทนที่การใช้กฏหมายอิสลามซึ่งเคยใช้กันในศาลจังหวัดของสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้เดินทางไปขึ้นศาลศาสนาในรัฐมลายูซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ยกเว้นปัตตานีที่ไม่มีพรมแดนติดกับมลายู จึงใช้วิธีเลือกกอฎีขึ้นมาทำหน้าที่ติดสินข้อพิพาท ซึ่งปรากฏว่า หะยีสุหลงได้รับเลือกมาทำหน้าที่นี้ ด้วยความสามารถและการสร้างศรัทธาในหมู่ชาวมุสลิมที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
(ยังมีต่อ) 
**********
ในบทวิจัยเรื่อง "มุมมองนักวิชาการ กบฏดุซงญอ การเมืองในประวัติศาสตร์" เขียนโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เขียนถึงมูลเหตุของกบฏดุงซงญอไว้ว่า:
ในด้านของการนำเสนอ ถ้าจะใช้ศัพท์แบบการเขียนนิยาย ก็คือในแต่ละเหตุการณ์จะมีพล๊อตเรื่อง มีทั้งพล๊อตเรื่องหลักและรอง  การจะเข้าใจเหตุการณ์นั้นๆ จำเป็นจะต้องรู้ถึงพล๊อตเรื่องทั้งหมดด้วย จึงจะทำให้สามารถวินิจฉัยเรื่องราวนั้นๆได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงมาก ที่สุด  และจึงจะบรรลุการเกิดความเข้าใจในเหตุการณ์นั้นๆได้อย่างดีมากที่สุดด้วย

ท้องเรื่องใหญ่ของกรณี "กบฏดุซงญอ" นั้น อยู่ในเรื่องการเคลื่อนไหวเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิของประชาชนชาวมลายูมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้สุด อันได้แก่ ปัตตานีนราธิวาส ยะลา(ในอดีตคืออาณาจักรปตานี) และสตูล ซึ่งดำเนินมายาวนาน แต่ในพล๊อตเรื่องนี้ เราจะจำกัดเพียงแค่การเคลื่อนไหวของประชาชนมลายูมุสลิมในปัญหาการเมืองการ ปกครองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งแรก ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงรัฐบาลยุคเสรีไทยหลังสงครามโลก กรณีรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 แล้วมาจบลงในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่สอง กินเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2481 ถึง 2491 ราวสิบปีหรือหนึ่งทศวรรษ.
**********
บรรยายภาพ (ขยาย) จอมพล ป.(แปลก) พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 และอีกหลายสมัยในเวลาต่อมา ชื่อจริง "แปลก" นั้น มาจากการที่เกิดมาแล้ว หูอยู่ต่ำกว่าตา และว่าเป็นผู้นำที่มีนโยบายหลายอย่างขัดกับมุสลิมในประเทศ  เช่นห้ามใส่ผ้าคลุม ห้ามใส่กาปีเยาะห์หรือแม้แต่ออกนโยบายสร้างกะบะฮ์ขึ้นในไทย เพื่อป้องกันการรั่วไหลเงินตราออกนอกประเทศจากผู้ทำฮัจญ์ (จน สว.มุสลิมท่านหนึ่ง ต้องบอกกล่าวว่าต้องอยู่ที่มักกะฮฺเท่านั้น และยกกุรอานซูเราะฮฺอัลฟีล มาอธิบาย ถึงได้ยกเลิกไปในที่สุด) http://smiana.wordpress.com/2011/02/23/โต๊ะครูใต้-ฮีโร่สามจังห/


พิมพ์คั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 ธันวาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนา ในสยาม-ไทย (70)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (3)

วันเปิดปอเนาะ "อัลมุอาริฟ อัลวะฏอนียะฮฺ ปัตตานี" ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2472

จากเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดย วรัญญา เพ็ชรคง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ คือ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต ได้ให้ข้อมูลของ "หะยีสุหลง" ไว้ในหัวข้อ "กรณีการจับตัวหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/กรณีการจับตัวหะยีสุหลง_อับดุลกาเดร์) ได้เขียนถึงที่มาทางความคิดการเมืองและบทบาทของ "หะยีสุหลง" ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปว่า
**********
บทบาทของหะยีหลง อับดุลกาเดร์ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อหะยีสุหลงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่กลับไปอยู่นครมักกะห์ดังที่เคยตั้งใจไว้ เขาก็เริ่มชีวิตการเป็นโต๊ะครูในจังหวัดปัตตานีเพื่อสอนหลักศาสนา ออกไปเทศนาตามที่ต่างๆ ในปัตตานี ระยะแรกๆ ถูกโจมตีจากโต๊ะครูหัวเก่าเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งมีการรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมของหะยีสุหลงต่อผู้ปกครองมณฑลหรือสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี คือพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว.ประยูร อิสรภักดี) ว่าเขาเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ในขณะที่เขาทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาได้ยังไม่ถึงปี ในปลายปี พ.ศ 2470 เขาถูกจับไปสอบสวน แต่เมื่อหะยีสุหลงได้ชี้แจงเหตุผลก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา และยืนหยัดในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามต่อไป

หลังจากหะยีสุหลงเผยแพร่ศาสนาอิสลามได้ประมาณสองปี สังคมของชาวปัตตานีก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เขาสังเกตจากความคิดเห็นและความสำนึกในศาสนาอิสลามของชาวมลายูปัตตานีได้ตื่นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว มีโต๊ะครูตามปาเนาะต่างๆ กันมาสอนศาสนาในลักษณะเดียวกับหะยีสุหลง จนมีแนวร่วมมากขึ้นในการที่เขาจะคิดพัฒนาด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวมุสลิม

จึงมีโครงการที่จะสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแทนการเปิดปอเนาะแบบเดิม และเขามีความคิดว่าอยากให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นสมบัติส่วนรวมของชาวบ้าน เงินทุนที่จะใช้สร้างโรงเรียนจึงมาจากการเรี่ยไรจากชาวบ้านและผู้สนับสนุนต่างๆ โครงการก่อสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแห่งแรกในจังหวัดปัตตานีจึงเริ่มขึ้นในปลายปี พ.ศ.2472 แต่เงินทุนที่ได้มาก็ยังไม่เพียงพอ เพราะสภาพเศรษฐกิจของประเทศขณะนั้นกำลังตกต่ำ รวมทั้งฐานะความเป็นอยู่ของชาวมุสลิมในปัตตานีด้วย ในคราวระดมทุนครั้งแรก พระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะริ่งเคยรับปากไว้ว่า ถ้าหะยีสุหลงระดมทุนได้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งท่านจะออกให้เอง โดยมีข้อแม้ว่าต้องใช้ชื่อของท่านเป็นชื่อโรงเรียน แต่เมื่อติดป้ายชื่อโรงเรียนว่า "พระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะริ่ง ปัตตานี ฮ.ศ. 1350" ได้ประมาณ 2 เดือน พระพิพิธภักดี นายอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ได้ทำเรื่องแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้นคือ พระวิเทศปัตตานาทร (แจ้ง สุวรรณจินดา) ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยารัตนภักดี ว่าหะยีสุหลงนำชื่อบิดาของตนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ทางหะยีสุหลงเข้าใจว่าทางพระยาพิพิธเสนามาตย์จะล้มเลิกสัญญาที่เคยรับปากไว้ในที่ประชุมเพื่อหาทุนสร้างโรงเรียน จึงเป็นสาเหตุความขัดแย้งกับกลุ่มพระยาเมืองยะริ่งจนไม่อานคืนดีกันได้อีก และหันไปเป็นมิตรกับขุนเจริญวรเวชช์ (เจริญ สืบแสง) สาธารณสุขจังหวัดปัตตานีแทน

ส่วนโรงเรียนที่สร้างก็ตั้งชื่อเสียใหม่ว่า "มัดราเซาะห์ อับมูอารฟอับาฏอนียะห์ปัตตานี" และระหว่างที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงินที่จะนำมาใช้สร้างโรงเรียน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญ โดยคณะราษฎร วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และมอบหมายพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย แต่อีกประมาณ 1 ปีต่อมา พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาก็เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาแทน

หลังจากพระยาพหลพลพยุหเสนาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน หะยีสุหลงก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขอความช่วยเหลือในการสร้างโรงเรียนให้แล้วเสร็จ และท่านก็บริจาคเงินมาก่อสร้างโรงเรียนก้อนหนึ่ง ทางหะยีสุหลงได้เชิญท่านมาเป็นประธานเปิดโรงเรียนด้วย พร้อมได้ถือโอกาสเยี่ยมเยียนชาวจังหวัดปัตตานีไปด้วย อีกทั้งยังได้มีการถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึกที่หน้าโรงเรียนด้วย
หลังจากสร้างโรงเรียนได้เป็นผลสำเร็จ หะยีสุหลงก็ยิ่งได้รับการยอมรับและศรัทธาจากชาวมลายูมุสลิมปัตตานีได้เป็นผลสำเร็จ และใช้ชีวิตการเป็นโต๊ะครูอย่างเป็นกิจจะลักษณะตั้งแต่ พ.ศ.2476 เป็นต้นมา มีลูกศิษย์มาของสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก ด้วยวิธีการสอนที่มีวาทศิลป์ดี มีมุขตลกและอารมณ์ขันอยู่ด้วย และพยายามเนื้อหาการสอนให้ผู้เรียนเข้าใจหลักของคัมภีร์อัลกุรอานอย่างแท้จริง จนได้ชื่อว่าเป็นโต๊ะครูหัวใหม่ของปัตตานีในขณะนั้น

ความนิยมของชาวมลายูมิสลิมในจังหวัดปัตตานีต่อหะยีสุหลงเริ่มมีขึ้นเรื่อย ตั้งแต่ พ.ศ.2470-2479 รวมระยะเวลา 10 ปี จนเป็นที่สังเกตของทางการ และเริ่มมีรายงานจากพระประเสริฐสุนทราศัย ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี ต่อกระทรวงมหาดไทยว่ามีความก้ำกึ่งกับกลุ่มมุสลิมหัวเก่า

หลังจากนั้นความนิยมนับถือต่อหะยีสุหลงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งในท้องถิ่นจังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง ในระหว่างพ.ศ.2488-2490 ปรากฏว่ามีผู้ศรัทธามากถึงขนาดก้มลงถอดรองเท้าและล้างเท้าให้หะยีสุหลงก่อนที่จะเข้าไปในสุเหร่าและมัสยิดต่างๆ มีศานุศิษย์คอยกลางกลดกันแดนให้ในขณะเดินทางไปชุมชนชาวมลายูมุสลิมในเขตสี่จังหวัดภาคใต้และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา

นอกจากความรู้และความสามารถเฉพาะตัวของหะยีสุหลงแล้ว การพัฒนาตนเองของหะยีสุหลงในสถานภาพและบทบาทที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น นโยบายของรัฐบาลซึ่งออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.2488 ก็มีส่วนสนับสนุนสถานะที่เป็นอยู่ขณะนั้นไปด้วย

ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้หะยีสุหลงได้รับการยอมรับในกลุ่มชาวมลายูมุสลิมเป็นอย่างสูงและมีบทบาทการเป็นผู้นำที่โดดเด่น แต่อีกด้านหนึ่งการกระทำของเขาก็ถูกรัฐจับตามองมาตลอด เพราะนโยบายการสร้างชาติของรัฐบาลในขณะนั้นได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อวิถีชีวิตชาวมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้ และเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการต่อต้านอย่างเปิดเผย
**********
ในบล็อก http://smiana.wordpress.com/tag/มัสญิดกรือเซะ/ เขียนถึงความสำคัญของหะยีสุหลงที่มีต่อปอเนาะ และการศึกษาอัลกุรอานของอนุชนและเยาวชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนใตไว้ว่า

พ.ศ. 2472 โต๊ะครูหะยีสุหลงก่อตั้งปอเนาะ 'อัลมุอาริฟ อัลวะฏอนียะฮฺ ปัตตานี' เพื่อเป็นรั้วกั้นกระแสธารญะฮีลียะฮฺที่กำลังโหมกระหน่ำในดินแดนปัตตานี โดยมีท่านปรีดี พนมยงค์ เดินทางมาร่วมงานเปิดปอเนาะด้วย แม้ในภายหลังตัวท่านเองจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใส่ความในเรื่องกบฏแบ่งแยกดินแดนอย่างหนัก แต่ในความเป็นจริงนั้นท่านเพียงแต่ต่อสู้กับความชั่วและขอเพียงอิสรภาพในการมีชีวิตของชาวมุสลิมมลายู แต่ตำรวจก็เล่นไม่ซื่อนัก อุ้มฆ่าท่านในที่สุด แต่ปอเนาะของท่าน และองค์ความรู้อิสลามที่ถูกต้องที่ท่านเรียนรู้มาจากมักกะฮฺนั้น ก็ส่งผลต่อผู้คนยุคหลังมากมาย ซึ่งเราสามารถรับรู้ได้ในปัจจุบัน
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 14-20 ธันวาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8