Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (62)

รัฐชาติหลังการอภิวัฒน์สยาม
และกบฏหมอลำหลังเกิด "รัฐไทย"

การแจกจ่ายประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แก่ราษฎรสยาม นับเป็นก้าวแรกของการปกครองใหม่ที่ในเวลานั้นเรียกว่า "ระบอบรัฐธรรมนูญสยาม"

เมื่อกล่าวถึงการลุกขึ้นสู้ของชาวนาหลังการอภิวัฒน์สยาม นอกเหนือจากการเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองแผ่นดินจากพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเป็นหลักในการปกครองประเทศแล้ว บทบาทอย่างสำคัญของคณะราษฎรที่ตามมาคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบและความหมายของ "รัฐ" ขึ้นมาใหม่ ราษฎรหาได้เป็นเพียงผู้ถูกปกครองเช่นในอดีตอีกต่อไป การมีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตของตนที่ในปัจจุบันเรียกว่า "ภาคพลเมือง" เพิ่งก่อรูปขึ้นและถูกนำเสนอในสังคมสยามอย่างท้าทายอำนาจเก่า ด้วยการเลือก "ผู้แทน" เข้าไปทำหน้าที่บัญญัติกฎหมายและบริหารประเทศ ซึ่งหาใช่ "บริหารราชการแผ่นดิน" อีกต่อไป

การประกาศว่า "ราษฎร" จะไม่ยอมโง่อีกแล้ว ผนวกกับการตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมใน "รัฐไทย" ที่ไม่ใช่ "สยาม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศอุดมการณ์ "รัฐประชาชาติ (Nation state)" อย่างใหม่ จากที่เคยรวมศูนย์เบ็ดเสร็จอยู่สถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ ซึ่งผ่านพัฒนาการมาจากระบอบศัดินา/จตุสดมภ์ไม่ถึง 50 ปี มาอยู่ในมือของสามัญชน แม้ว่าอาจจะไม่ลงสู่ราษฎรทั่วไปอย่างแท้จริง แต่คำประกาศที่ส่งผลสะเทือนทั้งสองฝ่าย ที่ว่า "บ้านเมืองนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของพระมหากษัตริย์ตามที่กล่าวอ้าง" นั้น เท่ากับการสถาปนา "รัฐของประชาชน" หรือ "รัฐประชาชาติ" ขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมสยาม และที่กำลังจะเปลี่ยนเป็น "ไทย" ในปี พ.ศ. 2483 นี้เอง

และผู้ที่นำพาสิ่งนี้มาสู่สังคมสยามก็หาใช่ใครอื่น หากคือหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งกล่าวถึง "ชาติ (nation)" ว่า
ประกอบขึ้นโดยรวมหลายกลุ่ม, เผ่าพันธุ์, หลายกลุ่มชนชาติ เป็นเวลาช้านานจนกระทั่งเผ่าพันธุ์และชนชาติ ได้มีความความเคยชินและจิตสำนึกว่าเป็นสมาชิกแห่งชาติเดียวกัน ชาติดังกล่าวนั้นก็มีฐานะที่จะเป็นหรือเป็น "รัฐ" อันหนึ่งอันเดียวของชาตินั้นได้
จากแนวนโยบายขอบเขตการสร้าง "รัฐไทย" เพื่อให้เกิดความแตกต่างจาก "รัฐสยาม" ในอดีต โดยมีเป้าหมายอยู่ที่สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของระบอบการปกครองและรูปแบบ "รัฐประชาชาติ" ดังกล่าวแล้วนั้น หากกระบวนการนำไปปฏิบัติยังคงเป็นเรื่องไม่ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผ่าน "ข้าราชการ" บางส่วนเป็นตัวการขัดขวางพัฒนาการทางการเมืองการปกครองใน "ระบอบรัฐธรรมนูญสยาม" หรือ "ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ" โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากกระบวนการคิดหรือ "จิตสำนึก" ที่ติดมาจาก "รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ที่ขุนนาง อำมาตย์ เป็น "นาย" ประชาชน

นอกจากนั้น สำหรับท้องถิ่นห่างไกลในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคอิสาน ซึ่งโดยธรรมชาติของพื้นที่และสภาพลมฟ้าอากาศสร้างความยากลำบากให้แก่ราษฎรอยู่แล้วนั้น การส่ง "ขุนนาง/ข้าราชการ" จากส่วนกลาง ที่มองราษฎรอิสานว่าเป็น "ลาว" นั้น เท่ากับเป็นการทับถมความคับแค้นให้เพิ่มทวีขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และความคับแค้นชนิด "พายเรือในอ่าง" นี้เอง ที่เป็นที่มาของการลุกขึ้นสู้ของชาวนามาหลายยุคหลายสมัยของประวัติศาสตร์ไม่เฉพาะในประเทศไทย หลังจากการลุกขึ้น "เตรียมการต่อสู้ปลดแอกของชาวนาอิสาน" ครั้งแรกในยุคการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือ "กบฏหมอลำน้อยชาดา" ในปี พ.ศ. 2479 เว้นอีกเพียง 3 ปี ก็เกิดการก่อหวอดครั้งใหม่ ขนานนามกันว่า "กบฏผู้มีบุญโสภาแห่งบ้านสาวะถี" หรือ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา พลตรี แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" ในปี พ.ศ. 2483

ตามประวัติ หมอลำโสภา พลตรี เป็นหมอลำที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอันมาก เป็นที่รักใคร่และชื่นชอบของประชาชนในพื้นที่ หมอลำโสภานับได้ว่าเป็นหมอลำที่มีความสามารถในศิลปะการแสดงหมอลำซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นฐานของราษฎรในดินแดนที่ราบสูงของสยาม และเลยไปจนข้ามฝั่งโขงไปถึงราชอาณาจักรลาว ต่อมาหมอลำอาสัยความเชี่ยวชาญของตนผสมผสานเข้ากับเนื้อหาทางการเมืองโดยสอดแทรกความไม่เป็นธรรมของรัฐชาติสยาม (ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นไทยในปีเดียวกันนี้) ที่มีต่อราษฎรชนชาติลาวลงไปในกลอนลำด้วย จนกระทั่งทางราชการเห็นว่าการกระทำของหมอลำโสภา พลตรี นั้นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ จึงได้จับหมอลำโสภา พลตรี และลูกศิษย์ไปขัง ศาลได้ตัดสินให้จำคุกหมอลำโสภา พลตรี และบริวารใกล้ชิดตลอดชีวิต แต่ลดโทษให้เหลือจำคุก 16 ปี

ต่อมาไม่นาน หมอลำโสภา พลตรี เสียชีวิตลงอย่างเป็นปริศนาในที่จองจำ

ขออนุญาตยกรายละเอียดบางส่วนของ "กบฏผู้มีบุญโสภา" จากบทความ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" เขียนโดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ชอบ ดีสวนโคก ตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) 12, 1 พ.ค.-ต.ค. 2537 หน้า 39-51 โดยเริ่มต้นวิเคราะห์ที่สาเหตุและพฤติการณ์ของกบฏ ไว้ดังนี้:
**********
ในช่วงทศวรรษ 2460-2480 รัฐได้พยายามครอบงำหัวเมืองเพิ่มอีกระดับหนึ่งซึ่งสำคัญมาก นั่นคือการครอบงำทางวัฒนธรรมโดยการตรา พรบ. ประถมศึกษา 2464 บังคับให้ราษฎรทุกคนที่อายุถึงเหณฑ์ต้องเรียนหนังสือไทย ฝ่ายรัฐมาองว่าการศึกษาจะทำให้คนไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่คนไทยบางส่วนในหัวเมืองเห็นว่าเป็นการครอบงำทางวัฒนธรรม พ่อใหญ่ โสภา พลตรี เป็นคนไทยบางส่วนที่ต่อต้านระบบการศึกษาของรัฐบาลกลาง เพราะ "ย่านเป็นคนไทย เขา (โสภา) อยากให้เป็นลาวเสมอเก่า อยากให้เฮียนที่วัดอย่างเก่า บ่อยากให้มีโฮงเฮียนประชาบาล" (บุญเลื่อน เพี้ยอาสา – ชาวบ้านสาวัถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขณะอายุ 73 ปี ใน พ.ศ. 2528) พ่อใหญ่โสภาได้บอกครูใหญ่โรงเรียนบ้านสาวะถี (ครูบุญเลิศ) ว่า "ลูกกูบ่ให้เข้าโฮงเฮียนภาษาไทย จะให้เฮียนภาษาธรรม เพราะภาษาไทย กินเด็ก แต่ภาษาธรรมเพื่อสั่งสอนคน" (อรุณ เชื้อสาวะถี – ชาวบ้านสาวัถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขณะอายุ 75 ปี ใน พ.ศ. 2528) พ่อใหญ่โสภายังได้กล่าวไม่พอใจกับครูใหญ่บุญเลิศอีกว่า "บักบุญเลิศมึงเห็นบ่ ทางการเขาสั่งปักอักษร ป ป ตัวนี้แปลว่าปล่อย มึงเป็นหยังเอาเด็กน้อยมากักขังไว้ เขาบอกให้ปล่อยแล้ว เฮียนตามเสรีมึงเข้าใจบ่ อยากเฮียนจึงเฮียน ใครบ่อยากเฮียนก็แล้วไป มึงเอาอำนาจมาแต่ไส" เรื่องนี้พ่อใหญ่โสภาเกือบชกปากกับครูบุญเลิศ พ่อพิมพ์ซึ่งเป็นครูและอยู่ในเหตุการณ์เป็นผู้เล่าเรื่องนี้ พ่อใหญ่โสภาทำตามที่เขาเชื่อ คือ ไม่ยอมส่งลูกเข้าโรงเรียนประชาบาล สานุศิษย์คนสำคัญของท่านคือ พ่อเสริม ก็ไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน พ่อโสภาเป็นคนสอนลูกของท่านกับลูกของพ่อเสริม โดยใช้อักษรตัวธรรมไม่ได้ใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษาเขียน (พิมพ์ รัตนคุณศาสน์ – ชาวบ้านสาวัถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขณะอายุ 80 ปี ใน พ.ศ. 2528)
**********
"อักษรธรรมล้านนา" หรือ "ตัวเมือง" พัฒนามาจากอักษรมอญโบราณ เช่นเดียวกับอักษรพม่า อักษรชนิดนี้ใช้ในอาณาจักรล้านนาเมื่อราว พ.ศ. 1802 จนกระทั่งถูกพม่ายึดครองใน พ.ศ. 2101 ปัจจุบันใช้ในงานทางศาสนา พบได้ทั่วไปในวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย (ส่วนที่เป็นเขตอาณาจักรล้านนาเดิมและเขตที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมล้านนาบางแห่ง) นอกจากนี้ยังแพร่หลายถึงไปถึงเขตรัฐไทยใหญ่แถบเมืองเชียงตุง ซึ่งอักษรที่ใช้ในแถบนั้นจะเรียกชื่อว่า "อักษรไตเขิน" มีลักษณะที่เรียบง่ายกว่าตัวเมืองที่ใช้ในแถบล้านนา

อนึ่ง อักษรธรรมล้านนายังได้แพร่หลายเข้าไปยังอาณาจักรล้านช้างเดิมผ่านความสัมพันธ์ทางการทูตและทางศาสนาระหว่างล้านนากับล้านช้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ร่วมสมัยกับพระเจ้าโพธิสารราชและพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง เป็นต้นเค้าของการวิวัฒนาการของแบบอักษรที่เรียกว่าอักษรธรรมลาว (หรือที่เรียกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยว่า "อักษรธรรมอีสาน") ในเวลาต่อมา (ขอบคุณ http://th.wikipedia.org/wiki/อักษรธรรมล้านนา)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 19-25 ตุลาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (61)

ผู้มีบุญ "หมอลำน้อยชาดา"
กบฏชาวนาแรกหลังการอภิวัฒน์

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475ประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้าอันเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยสยามที่นำมาสู่สังคมไทยในการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 แต่ราษฎรยังคงมุ่งหา "สังคมพระศรีอาริย์"

ดังได้กล่าวมาแล้วจากช่วงต้นของบทความ "กบฏชาวนา" โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกว่า "กบฏผู้มีบุญอีสาน" ซึ่งเกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐไทย นั้น มีจุดมุ่งหมายคือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน จะโดยการล้มล้างสังคมเก่าที่สร้างความ "ทุกข์ยากปากหมอง" ให้แก่ราษฎรอีสานซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรอยู่ตาม "หัวไร่ปลายนา" ทั่วทุกหัวระแหงตลอดภูมิภาคอันกว้างใหญ่ไพศาลของรัฐไทย นับจากการก่อรูปรัฐศักดินา/จตุสะดมภ์ไทยในช่วงต้นของ "อำนาจรัฐรัตนโกสินทร์" กระทั่งการเปลี่ยนผ่านอย่าง "สันติ" จากบนลงล่างจนสามารถสถาปนา "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชาธิปไตย" ขึ้นสำเร็จโดยพื้นฐานช่วงกลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 แห่งบรมราชจักรีวงศ์

แม้จนเกิดการอภิวัฒน์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชิปไตย มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ/ประชาธิปไตย แนวความคิดที่ถูกนำมาชักจูงให้ราษฎรเข้าร่วมกับแข็งข้อขึ้นต่ออำนาจการปกครอง ก็ยังใช้ "อุดมการณ์พระศรีอาริย์" ซึ่งมีปรากฏในวรรณกรรมทางศาสนาที่ถูกบิดเบือนจากหลักธรรมที่แท้จริงของพุทธศาสนา หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษของนิกายเถรวาทแบบสุวรรณภูมิ โดยมีการอ้งถึงคำพยากรณ์ของ พระศรีอาริยเมตไตรย์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นพระโพธิสัตว์ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 และองค์สุดท้ายแห่งภัทรกัปนี้ พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าเมื่อศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าสิ้นสุดไปแล้ว โลกจะล่วงเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมถอย อายุขัยของมนุษย์ลดลงจนเหลือ 10 ปี ก็เข้าสู่ยุคมิคสัญญีหรือกลียุค

จากนั้นผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนาจะรวมตัวกันการปฏิบัติตนตามหลักธรรมเพื่อให้ให้รอดพ้นจากกลียุค จากนั้นอายุขัยเพิ่มขึ้นถึง 1 อสงไขยปี แล้วจึงลดลงอีกจนเหลือ 80,000 ปี ในยุคนี้จะมีพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีครบ 80 อสงไขยแสนมหากัป ลงมาตรัสรู้เป็น "พระเมตไตรยพุทธเจ้า" มาเผยแผ่พระธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาอีกครั้ง เมื่อผู้คนเลื่อมใสกันมากเข้า น้อมนำสังคมไปสู่ "ยุคพระศรีอาริย์" ในลักษณะเดียวกับความเชื่อทางตะวันตกที่จะเกิดสังคมที่เรียกว่า "ยูโทเปีย (Utopia)" อันเป็นยุคแห่งอุดมคติ มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ในทุกด้านตลอดพรรษายุกาลของศาสนาพระศรีอารย์ โดยมนุษย์กับธรรมชาติ ตลอดจนสิ่งมีชีวิตทั้งหลายและสัตว์เดรัจฉานจะสามารถอยู่ร่มกันอย่างปรองดอง ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน มีความยุติธรรม ความเสมอภาค ทั้งร่างกาย สติปัญญาและฐานะ

ดังนั้นเอง ราษฎรก็ดีหรือผู้พอมีความรู้ผ่านการบวชเรียนก็ดี หรือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่หรือกึ่งเจ้าหน้าที่เช่นกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือแม้แต่ที่พอได้รับการศึกษจนอ่านออกเขียนได้มากกว่าราษฎรทั่วไป เมื่อสบช่อง ก็จะประกาศตนเป็น "ผู้มีบุญ" จึงมักจะนำความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์มาเป็นอุดมการณ์ในการแข็งข้อก่อกบฏ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ราษฎรหัวไร่ปลายนาภาคอีสานหรือภาคอื่นๆ ก็ตามต้องเผชิญกับสภาพความแร้นแค้นในการทำมาหากินดำรงชีพในสภาพสภาพแวดล้อมที่กันดารแห้งแล้งในบางฤดูกาล มิหนำซ้ำยังถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งถูกกดขี่บีบคั้นจากข้าราชการท้องถิ่น

เพื่อจะบรรลุการแข็งข้อก่อกบฏ ลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังจัดตั้งชของมวลชน ย่อมเกิดการก่อหวอดปลุกระดมโดยผู้ที่ตั้งตนเป็น "แกนนำ" ในลักษณะ "ผู้มีบุญ" ทุกครั้งจะมีจุดประสงค์เพื่อต้องการแยกตัวจากอำนาจการปกครองในเวลานั้น แล้วสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นใหม่ที่เป็นอิสระ โดยชักจูง โน้มนำ ให้มวลชนของตน หรือราษฎรในพื้นที่เกิดความเชื่อมั่นไปว่า จะสามารถนพาพวกตนไปสู่วิถีชีวิตที่ดีกว่าในปัจจุบันหรืออย่างน้อยก็มีความสงบร่มเย็น ก่นร้างถางไร่นา มีชีวิตที่สุขสบายดั่งเช่นในอดีตชนิด "สมัยบ้านเมืองยังดีอยู่"

ขนาดของการจัดตั้งมวลชนจะขึ้นอยู่กับความเชื่อถือศรัทธาของราษฎรที่มีต่อ "ผู้นำ" หรือ "แกนนำ" หากมวลชนที่จัดตั้งกันหลวม ๆ นี้ส่วนใหญ่ จะมีขนาดไม่ใหญ่ มีกำลังไม่มากนัก ไม่มีการเคลื่อนไหวที่เน้นความรุนแรง แต่ละกลุ่มจะเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน น้อยครั้งที่จะใช้กำลังต่อต้านรัฐ หรือลุกลามบานปลายจนถึงขนาดเข้าปล้นชิงเมืองและฆ่าเจ้าหน้าที่ของรัฐดังมีให้เห็นในกบฏชาวนาทางภาคเหนือและภาคอีสาน โดยที่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในผู้นำหรือผู้มีบุญ และอุดมการณ์พระศรีอารย์ดังได้กล่าวแล้ว ต่างก็จะทำตามการชี้นำผ่านสื่อเช่นคำทำนายในใบลาน ที่เรียกกันว่า "ผญา" (ซึ่งหมายถึง ปัญญา, ปรัชญา, ความฉลาด, คำภาษิตที่มีความหมายลึกซึ้ง หรือเรียกกันอีกอย่างว่า "คำผญา" หรือ "ผะหยา") เป็นบทกวีพื้นเมืองอย่างหนึ่ง โดยทั่วไปแสดงถึงภูมิปัญญาโบราณ เป็นคติสอนใจ หรือบอกทางดำเนินชีวิตแก่อนุชน ให้ยึดหลักจารีตประเพณี

สำหรับการก่อหวอดของชาวนาอีสานที่บันทึกไว้ว่าเป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือครั้งที่เรียกว่า "กบฏหมอลำน้อยชาดา" เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2479 ก่อหวอดขึ้นที่บ้านเชียงเหียน (ปัจจุบันอยู่ตำบลเขวา อำเภอเมือง มหาสารคาม) เริ่มต้นขึ้นเมื่อ หมอลำคนหนึ่ง (ซึ่งโดยทั่วไปต้องมีการศึกษาพอสมควรเกินกว่าอ่านออกเขียนได้ธรรมดา) ชื่อ คำสา สุมังกะเศษ เป็นคนร่างเล็ก คนทั่วไปพากันเรียกว่า “หมอลำน้อย” ประกาศว่าตนเป็นผู้มีบุญชื่อ พระชาดา เมื่อครั้งกบฏผู้มีบุญอีสาน พ.ศ. 2444-2445 กลับชาติมาเกิด ทำให้ราษฎรในท้องถิ่นเรียกกันในอีกชื่อว่า "หมอลำชาดา" หรือ "หมอลำน้อยชาดา"

แนวคิดที่หมอลำน้อยชาดานำมาชี้นำราษฎรผ่าน "กลอนลำ" ในลักษณะสั่งสอนด้วย "คำทวย" (คำทำนาย) ไปตามหมู่บ้าน ในหลายตำบลตำบล ก็คือ "ให้คนถือศีล ไม่เบียดเบียนกัน ให้สามัคคีกัน ให้นุ่งขาวห่มขาว และสวมเกือกขาวด้วย เพื่อความบริสุทธิ์" นอกจากคำสอนแล้ว หมอลำน้อยชาดายังจัดทำให้มีพิธีสู่ขวัญ และฟ้อนรำทำเพลงในเวลาที่เข้าทรง ต่อจากนั้นก็จะมีการแห่แหนกันไปตามบ้านต่างๆเป็นเวลาหลายคืนติดต่อกัน นอกจากคำทวย (คำทำนาย) ประกอบการ "ลำพื้นเวียง" หรือ "ฟื้นเวียงจันทน์" แล้วยังมี "คำสู่ขวัญ" ของผีบุญด้วย

ในบทความ "โคงกระดูกในตู้(อีกโครงหนึ่ง)" ขียนโดย ทองแถม นาถจำนง ในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ (http://www.siamrath.co.th/web/?q=โคงกระดูกในตู้อีกโครงหนึ่ง) เขียนว่า 
"ใจความลำของนายชาดานี้ มีข้อความเป็นเชิงยุยงให้ราษฎรกระด้างกระเดื่อง เป็นต้นว่าไม่ควรเสียภาษีอากร เป็นต้น และไม่ให้ส่งเด็กเข้าโรงเรียน เพราะเสียเวลาทำมาหากิน และไม่ให้กราบไหว้พระสงฆ์เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่พระ เพียงแต่นุ่งห่มเหลืองเฉย ๆ ตัวหมอลำชาดาเองและหม่อมราชวงศ์สนิท จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ตัวนายชาดาจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินขึ้นที่เมืองเวียงจันทน์ หม่อมราชวงศ์สนิทจะเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้นที่เมืองนครราชสีมา และว่าต่อไปจะเกิดรบพุ่งกันระหว่างไทยภาคตะวันออกกับภาคกลางโดยนายชาดาจะ เป็นผู้ใช้อำนาจสิทธิขาด ทั้งราษฎรจะได้ลดค่ารัชชูปการลงเหลือ 2 บาท ฯลฯ"
ส่วนในบทความ "อุดมการณ์ขบถผู้มีบุญอีสาน" เขียนโดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ ประนุช ทรัพยสาร ในหนังสือ ความเชื่อพระศรีอาริย์และกบฏผู้มีบุญในสังคมไทย จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, 2527. หน้า 232 เขียนว่า 
"เขาทำนายว่าต่อไปผู้คนจะเดือดร้อน จะเกิดไฟไหม้ แผ่นดินไหว คนจะตายนอกจากคนถือธรรม หลังจากนั้นอีก 2-3 ปี พระศรีอาริย์จะลงมา ถึงตอนนั้นคนจะสมบูรณ์พูสุข มีต้นกัลปพฤกษ์เกิดขึ้นจะขอสิ่งใดก็ได้ เวียงจันทน์จะกลับรุ่งเรืองอีกครั้ง หมอลำน้อยชุมนุมชาวบ้านอยู่ 2-3 เดือน ก็ถูกตำรวจจับ ศาลจำคุกหมอลำน้อย 4 ปี ต่อมาพรรคพวกของหมอลำน้อยชาดาได้จัดชุมนุมคนและเผยแพร่ศาสนาต่อ และมีทีท่าจะชิงตัวหมอลำน้อยออกจากเรือนจำ จึงถูกตำรวจจับไป 2 คน ถูกจำคุกคนละ 6 เดือน"
ทั้งนี้ รายละเอียดอื่นใดเท่าที่สอบค้นในเวลานี้ไม่มีนอกเหนือไปจากนั้น.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 12-18 ตุลาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (60)

ภาวการณ์หลังอภิวัฒน์สยาม
ความยากลำบากของผู้ก่อการ

ภาพประวัติศาสตร์ หัวหน้าคณะผู้ก่อการฯ สายทหารบกชั้นยศสูง พระยาพหลหลหยุหเสนา (ยืนกลาง ถือหมวก) และสายพลเรือน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ถือไม้เท้า

การลุกขึ้นสู้ของอดีตเจ้านายและขุนนางฝ่ายทหารในสมัยสมบูรณาญาสิทิราชย์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือที่นายปรีดี พนมยงค์ใช้คำว่า "การอภิวัฒน์สยาม" ที่เกิดขึ้นและถูกปราบปรามราบคาบในเวลาเพียงเดือนเดียวคือ เดือนตุลาคม 2476 นอกจากแสดงให้เห็นถึงความพยายามโดยตรงในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงฯ ตามที่นายปรีดีใช้คำว่า "โต้อภิวัฒน์" นั้น ยังสะท้อนความยากลำบากในการใช้อำนาจรัฐอย่างใหม่ที่ควบคุมและดำเนินการโดย "คณะราษฎร" ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญโดยมีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ที่บ่งบอกว่าเอกภาพในการบริหารบ้านเมืองยังคงเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้

ที่สำคัญ สำหรับการเมืองการปกครองในทศวรรษ 2470 ของประเทศในสังคมที่ยังก้าวไม่พ้นการผลิตภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่อำนาจรัฐยังคงรวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวง ส่งผลให้การที่รัฐบาลเลือกตั้ง (ตามรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475) มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วนต้องสำหรับภารกิจสอดส่องเฝ้าระวังความพยายามรื้อฟื้นระบอบการปกครองเดิม หรือกระทั่งความแตกแยกทางความคิด รวมทั้งความพยายามในการแย่งยึดอำนาจกันเองในหมู่ผู้ร่วมก่อการฯ

นั่นหมายความว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี นับจากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ถึงวันที่ 8 พฤศจิการยน 2490 ของความพยายามสถาปนาการปกครองในระบอบประชิปไตย ไม่เพียงรัฐบาลคณะราษฎรจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังในการสถาปนาระบอบการปกครอง (ประชาธิปไตย) และระบบรัฐ (ราชอาณาจักรที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ) เท่านั้น แม้จนความพยายามในการเปลี่ยนผ่านระบบบริหารราชการแผ่นดินที่ตกทอดมาจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปการจิตสำนึกของ "ข้าราชการเดิม" ที่รับช่วงมาจากระบอบที่เก่ากว่า ล้าหลังกว่าถึงสองระบอบคือ "ศักดินาสวามิภักดิ์/จตุสดมภ์" (จากรัฐอยุธยาจนถึงกลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ) และ "ราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทธิราชย์" (จากกลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จนถึงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ) ก็ยังไม่อาจปรับเปลี่ยบนและพัฒนารองรับระบอบการปกครองใหม่หลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 นี้ได้ แม้ในเวลาต่อมา จะมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยดำริของหัวหน้าคณะผู้ก่อก่ารฯ สายพลเรือน ก็ถือได้ว่ายังไม่ทันต่อภาวการณ์ในเวลานั้นอย่างที่คาด

ผลโดยตรงต่อการบริหารประเทศ ในส่วนของการปกครองส่วนภูมิภาค ก็คือ ความไม่สามารถบรรลุในทางปฏิบัติซึ่ง "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร" อันได้แก่
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
6. จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ช่วงเวลา 15 ปีแรกหลังการอภิวัฒน์สยามนั้น เป็นห้วงเวลาที่เท่ากันพอดีหลังจาก "พระยาวชิระปราการ" หรือ "พระยาตาก" หรือ "พระเจ้ากรุงธนบุรี" สามัญชนลูกครึ่งจีนปลายสมัยอยุธยา นำแม่ทัพนายกองและราษฎรลุกขึ้นต่อต้านการยึดครองของพม่าข้าศึกและสามารถขับไล่ข้าศึกจากทิศตะวันตกเป้นผลสำเร็จ พร้อมกับสำเร็จโทษขุนนางน้อยใหญ่ซึ่งเอาใจออกหากทรยศต่อแผ่นดิน สวามิภักด์แก่พม่าข้าศึกครั้งนั้น กระทั่งรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้งหนึ่ง ตามมาด้วยการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ในปี พ.ศ. 2310

เวลาที่ต่างกัน 135 ปี ภายหลังการสถาปนาและการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อำนาจรัฐใหม่ ระหว่าง "รัฐศักดินาธนบุรี" (พ.ศ. 2310-2325)  กับ "รัฐประชาธิปไตยสยาม" (พ.ศ. 2475-2490) ส่งผลให้ผู้ปกครองสองยุคสมัยแทบจะเผชิญหน้ากับปัญหาในลักษณะเดียวกัน คือ "ความมั่นคงภายใน"

ในบริบทความขัดแย้งระหว่างใหม่กับเก่า ในยุค "ราชวงศ์ธนบุรี" ซึ่งมาจากสามัญชนลูกครึ่งจีนโพ้นทะเล แม้ว่าจะไม่มีประเด็น "ความเป็นเอกภาพ" ของ "กองกำลังกู้ชาติ" ภายใต้การนำของพระยาตาก หากการยอมรับในหมู่ขุนนางและเชื้อพระวงศ์ "กรุงเก่า" ย่อมเป็นที่น่ากังขาเสียยิ่งกว่า "รุ่น" ของ "นักเรียนเตรียมทหาร" หรือ "โรงเรียนนายร้อย" เหล่าใดเหล่าหนึ่งหลังกึ่งพุทธกาลของสยามประเทศด้วยซ้ำไปนั้น มีความสอดคล้องกับการก่อตัวในลักษณะ "คณะกู้ชาติ" คราวกบฏบวรเดช ตลอดจนความร่วมมือของข้าราชการในระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร ที่ส่วนใหญ่สืบเนื่องมากจาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิม ทั้งขุนนางอำมาตย์ที่มาจากสามัญชน และทั้งที่มาจากเจ้านายเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์จักรี

และลักษณะเช่นนี้เอง ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ย่อมเป็นเสมือน "หอกข้างแคร่" ของผู้ถือครองอำนาจรัฐใหม่ที่สำคัญในอีกบริบทหนึ่ง คือ "ความแตกแยก" ในหมู่ผู้ก่อการฯ สมาชิกระดับนำของคณะราษฎรสายต่างๆ ทั้งสายพลเรือน ที่นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), สายทหารเรือ นำโดย นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) และสายทหารบกซึ่งแยกไปอีกเป็น สายทหารบกชั้นยศน้อย นำโดย พันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตสังคะ) และสายนายทหารชั้นยศสูง นำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ซึ่งความร้าวฉานนี้มีให้เห็นตั้งแต่ครั้งรัฐประหารสองครั้งครั้งแรกคือเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีคนแรกของระบอบรัฐธรรมนูญ (หรือระบอบประชาธิปไตย) ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน สภาวะเสมือนสูญญากาศทางการเมืองหรืออำนาจการปกครองในขอบเขตทั่วประเทศ ย่อมเปิดโอกาสให้ความพยายามกระด้างกระเดื่องของราษฎรในชนบท ที่ดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก บนพื้นฐานความยากจน และขาดการดูแลอย่างทั่วถึงเท่าทีควร ซึ่งในแง่มุมหนึ่งกลายเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมด้อยพัฒนาทั้งหลาย กลายเป็น "ความลักลั่น" สำหรับการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้แก่ราษฎรได้อย่างเสมอหน้ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็น "กบฏชาวนา" ทางภาคเหนือและภาคอิสาน และเป็น "กบฏหัวเมืองมลายู" ทางภาคใต้

เมื่อกรุงเทพฯ เมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลางของประเทศที่เริ่มจากฐานรากของการปกครองคือ "อำนาจรัฐ" เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบอบการปกครองพร้อมกับคำประกาศนำพาประเทศและราษฎรสู่ยุคใหม่ ที่มีอนาคตใหม่ ต่างจากระบอบรัฐเดิมที่เอื้ออำนวยให้แก่ราษฎรระดับล่างของสังคมด้วยนโยบายทางการเมืองแบบใหม่

อุดมการณ์พื้นบ้านของภาคอิสานในลักษณะ "โลกพระศรีอาริย์" ที่เคยใช้ได้ผลในการก่อการลุกขึ้นสู้ของ "กบฏไพร่/กบฏชาวนา" ในอดีตก็ถูกนำมาประกาศเป็นธงนำของความพยายามลุกขึ้นสู้อีกครั้งหนึ่ง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 5-11 ตุลาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8