Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (54)

"กบฏหนองหมากแก้ว"
กบฏเจ้าผู้มีบุญ พ.ศ. 2467 (2)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร ร.ศ. 125

สำหรับเหตุการณ์กบฏเจ้าผู้มีบุญซึ่งเกิดขึ้นในจังหวัดเลยในปี พ.ศ. 2467 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งสยามบรมราชจักรีวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ต้องนับว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันกับกบฏผีบุญที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้ว่าการคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์จะไม่รุนแรงมากเหมือนที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ก็ก่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การดำเนินการใช้กระบวนการหลอกลวง อันเป็นแนวทางพื้นฐานของการ "ลุกขึ้นสู้ของไพร่" หรือ "กบฏชาวนา" คือใช้การปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อบนพื้นฐานความคิดแบบไสยศาสตร์ เทวนิยม โดยอิงกับแนวคิดเชิงพุทธศาสนาที่ถูกบิดเบือนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ให้ชาวบ้านหลงงมงายจนไม่เป็นอันทำมาหากิน ซึ่งก็ไม่พ้นที่ทางการต้องใช้กำลังเข้าทำการปราบปราม

ความเดิมในตอนที่แล้วใน "ประวัติศาสตร์จังหวัดเลย" สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จาก เว็บไซต์ของจังหวัดเลย http://www.loei.go.th  เขียนถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ว่ากล่าวถึงบุคคลระดับ "แกนนำ" ในคณะของผีบุญ 4 คน ต่างมีหน้าที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
**********
1. นายบุญมา จัตุรัส อุปสมบทได้หลายพรรษาเดินทางมาจากจังหวัดชัยภูมิ ได้ขนานนามของตนเองเป็น พระประเสริฐ มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะ มีหน้าที่ทำน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ใส่ตุ่มไว้ให้ผู้คนได้ดื่มกินและอาบเป็นการสะเดาะเคราะห์ แล้วทำพิธีปลุกเสกลงเลขยันต์ในตะกรุด ซึ่งใช้ตะกั่วลูกแหมาตีแผ่ออกเป็นแผ่นบาง ๆ เสร็จแล้วมัวนออกแจกจ่ายให้ผู้คนร้อยเชือกผูกสะเอวติดตัวไว้ เป็นเครื่องรางของขลังชั้นยอดของพระประเสริฐในทางคงกระพันชาตรีป้องกันผีร้าย

2. ทิดเถิก บุคคลผู้คงแก่เรียนชาวบ้านหนองหมากแก้ว ได้ขนานนามตนเองเป็น เจ้าฝ่าตีนแดง มีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้า มีหน้าที่ทำผ้าประเจียดกันภัยอันทรงประสิทธิภาพเป็นมหาอุตม์แม้ปืนผาหน้าไม้ตลอดจนมีดพร้ากะท้าขวานก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรแก่ผู้ที่มีผ้าประเจียดอันทรงฤทธิ์ของเจ้าฝ่าตีนแดงได้ วิธีทำผ้าประเจียด ไม่ว่าบุคคลใดที่มีความประสงค์ก็ให้บุคคลเหล่านั้นไปจัดหาผ้าฝ้ายสีขาวขนาดกว้างยาว ด้านละหนึ่งศอกของตนมาหนึ่งผืน เมื่อมาพร้อมหน้ากันครั้นได้เวลาสานุศิษย์ก็ให้ผู้ประสงค์รอคอยอยู่ข้างล่างศาลาแล้วเรียกขึ้นไปทีละคน ผู้ที่ขึ้นไปแต่ละคนจะต้องคลานเข้าไปหาเจ้าฝ่าตีนแดงและห้ามมองหน้า เมื่อคลานเข้าไปถึงที่ที่เจ้าฝ่าตีนแดงนั่งอยู่จึงคลี่ผ้าขาวที่จะมาทำผ้าประเจียดปูออกแล้วพนมหมอบก้มหน้านิ่งจนกว่าเจ้าฝ่าตีนแดงจะทำผ้าประเจียดเสร็จ ฝ่ายเจ้าฝ่าตีนแดงเมื่อเห็นผู้ที่ประสงค์อยากได้ผ้าประเจียดได้กระทำตามกฎซึ่งตนวางไว้ด้วยความเคารพก็ลุกขึ้นยกเท้าขวาหรือซ้ายย่ำลงไปในบม (บมคือภาชนะที่ทำด้วยไม้ มีลักษณะทรงกลมแบนและลึกคล้ายถาดซึ่งชาวอีสานใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกดีแล้ว เพื่อให้ไอน้ำออกก่อนที่จะนำไปเก็บไว้ในกระติบ) ที่มีขมิ้นกับปูนตำผสมกันไว้อย่างดี แล้วจึงยกเท้าข้างที่ย่ำลงไปในบมเหยียบผ้าขาวก็จะปรากฏรอยเท้าของเจ้าฝ่าตีนแดงอย่างชัดเจนเป็นอันเสร็จพิธีทำผ้าประเจียดนำไปใช้ได้ทันที แต่ถ้าหากเหยียบผ้าขาวแล้วปรากฏรอยไม่ชัดเจน หรือไม่สบอารมณ์ของเจ้าฝ่าตีนแดง ผู้ที่ต้องการก็ต้องไปหาผ้าขาวมาทำใหม่จนกว่าจะได้ผ้าประเจียดชั้นดีไปไว้ใช้ต่อไป ครั้นได้ผ้าประเจียดไปแล้วจะต้องนำไปเก็บบูชาเอาไว้บนหิ้งพระ หรือเมื่อออกเดินทางจะต้องพับชายผูกคอไปเป็นเครื่องรางของขลังประจำตัวทุกครั้งจะลืมไม่ได้เป็นอันขาด

3. นายสายทอง อินทองไชยศรี ขนานนามตนเองเป็น เจ้าหน่อเลไลย์ อ้างว่า ได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้มาปราบยุคเข็ญโดยเฉพาะ มีวาจาสิทธิ์สามารถที่จะสาปผู้ละเมิดกฎสวรรค์ให้เป็นไปตามโทษานุโทษที่ตนพิจารณาเห็นตามสมควรได้ทันที ครั้งนั้นได้เกิดมีการขโมยเกิดขึ้นในหมู่บ้านหนองหมากแก้ว แล้วจับขโมยได้ ชาวบ้านจึงควบคุมตัวไปให้เจ้าหน่อเลไลย์เป็นผู้ตัดสิน ผลของการตัดสินปรากฏว่า ขโมยได้ละเมิดกฎของสวรรค์ในข้อบังเบียดเครื่องยังชีพของมวลมนุษย์อย่างสุดที่จะอภัยให้ได้ โทษที่ขโมยพึงได้รับในครั้งนี้ก็คือ ต้องถูกสาปให้ธรณีสูบลงไปทั้งเป็น ครั้นได้พิพากษาโทษให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้เห็นทั่วไปแล้ว พิธีสาปก็เริ่มขึ้นโดยเจ้าหน่อเลไลย์มีบัญชาให้สานุศิษย์ขุดหลุมขนาดพอฝังศพได้ในสถานที่ที่ได้กำหนดไว้ ครั้นแล้วให้ไปนำตัวขโมยซึ่งได้ผูกมัดข้อมือเอาไว้อย่างแน่นหนา พาไปยืนที่ปากหลุม แล้วเจ้าหน่อเลไลย์ก็เริ่มอ่านโองการอัญเชิญเทวทูตให้ลงมาจากสรวงสวรรค์ มาเป็นสักขีพยานในการที่ตนได้ดำเนินการสาปให้ขโมยต้องถูกธรณีสูบลงไปทั้งเป็นตามโทษานุโทษ พอเจ้าหน่อเลไลย์กล่าวคำสาปสิ้นสุดลงก็บัญชาให้สานุศิษย์ผลักขโมยลงไปในหลุม พร้อมกับช่วยกันรีบขุดคุ้ยโกยดินลงกลบฝังขโมยที่ต้องคำสาปให้ธรณีสูบลงไปทั้งเป็น ท่ามกลางความตกตะลึงพรึงเพริดสยดสยองของผู้คนที่ไปร่วมชมพิธีกรรมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคณะผีบุญคล้อยหลังลับไป บรรดาญาติพี่น้องของขโมยก็รีบพากันขุดคุ้ยโกยดินนำขโมยที่ถูกฝังทั้งเป็นอาการร่อแร่ปางตายขึ้นมาปฐมพยาบาล แล้วรีบพากันอพยพหลบหนีบัญชาจากสวรรค์ของคณะผีบุญไปในคืนนั้นทันที และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น เป็นผลให้ไม่มีการลักขโมยใด ๆ เกิดขึ้นในหมู่บ้านหนองหมากแก้วต่อไปอีกเลย ทั้งนี้ ด้วยทุกคนได้ประจักษ์แก่ตาในประกาศิตจากสวรรค์ของเจ้าหน่อเลไลย์เป็นอย่างยิ่ง

4. นายก้อนทอง พลซา ชาวบ้านวังสะพุงซึ่งเป็นบุคคลที่ 4 ขณะนั้นรับราชการในหน้าที่สารวัตร อำเภอวังสะพุง ได้ไปพบเห็นพิธีการต่าง ๆ ของคณะผีบุญจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จนถึงกับได้ขออนุญาตลาบวชจากทางราชการมีกำหนด 10 วัน ในระหว่างที่ทางราชการได้อนุญาตให้ลาบวชได้ นายก้อนทอง ฯ ได้ถือโอกาสหลบไปสมทบกับคณะผีบุญที่บ้านหนองหมากแก้ว แล้วก็รีบทำความเพียรแต่ยังไม่ทันจะได้รับความสำเร็จจนถึงขั้นได้รับการขนานนาม ก็มาถูกทางบ้านเมืองเข้าทำการปราบปรามและจับตัวได้เสียก่อน
(ยังมีต่อ)
**********
อย่างไรก็ดี มีผู้เขียนถึงการแข็งข้อลุกขึ้นก่อการของชาวนี้ครั้งนี้ โดยนำเสนอข้อมูลที่ดุเหมือนจะต่างจากข้อมูลในเว็บไซต์ที่เป็นทางการของจังหวัดเลย โดย ใน บล็อก OKnation ของผู้ใช้ชื่อ "จอมมารกระบี่หัก" ซึ่งโพสต์บทความชื่อ "บ้านผมก็มีกบฏ" เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 http://www.oknation.net/blog/print.php?id=490430 โดยนอกเหนือจากข้อมูลอื่นๆ จะมีส่วนต้องตรงกันอยู่มาก แต่ที่แตกต่างออกไป และเป็นประเด็นสำคัญ คือ... "นั้นคือการร่วมตัวของกลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการกลับชาติมาเกิด เพื่อมาพาพี่น้องพ้นทุกข์เข็ญ สถาปนาตนเองเป็นผู้วิเศษ หลอกลวงชาวบ้านให้มาหลงเชื่อศรัทธา จนคิดการใหญ่ถึงขั้นแยกประเทศปกครอง...มองๆไปแม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นราวๆ ปี พ.ศ. 2476 หรือประมาณเจ็ดสิบกว่าปีล่วงผ่านมาแล้ว" ทั้งเขียนว่าการก่อหวอดเกิดขึ้นขณะที่ "พระยาศรีนครชัย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เจ้าพระยาราชนิกุลวิบูลย์ภักดี เป็นอุปราชภาคอีสาน"

หากการเขียนถึงปีที่เกิดเหตุการณ์ จะต่างกันตรงเลขพุทธศักราช ที่กลับ จาก "2467" เป็น "2476" อาจนำไปสู่การตีความถึง "ผลเชิงลบ" ต่อ "การอภิวัฒน์สยาม 2475" อย่างที่มีสำนักคิดจำนวนมากพยายามนำเสนอ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 24-30 สิงหาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (53)

"กบฏหนองหมากแก้ว"
กบฏเจ้าผู้มีบุญ พ.ศ. 2467 (1)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร พ.ศ. 2449

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พ.ศ. 2453 แล้ว ทรงดำเนินการปฏิรูปการเมืองการปกครองของสยามต่อไปตามพระราชดำริต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันกระแสคัดค้านต่อต้านในส่วนภูมิภาคก็คงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากราษฎรและจากเจ้าเมืองเก่าในระบอบศักดินา/จตุสดมภ์

สถานการณ์ที่ราชสำนักสยามต้องเผชิญในเวลาไล่เลี่ยกันชนิด "ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก" คาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ "ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465" ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ "หัวเมืองชายแดนใต้" นั่น นั่นคือ ในปี พ.ศ. 2466 เกิด "กบฏผีบุญที่หนองหมากแก้ว" ("หนองบักแก้ว" ก็ว่า) จังหวัดเลย ผู้นำ 4 คน ทนเห็นชาวบ้านทุกข์ร้อนจากปัญหาสารพัดไม่ไหว ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ข้าวยากหมากแพง แล้วยังถูกกดขี่ข่มเหงจากเจ้านายบ้านเมือง ลุกขึ้นประกาศว่า "พี่น้อง ต่อไปนี้จะไม่มีเจ้ามีนาย ใบไม้จะเป็นเงินเป็นทอง" คือภาพนิมิตของสังคมพระศรีอาริย์ แต่วิธีการผิดก็ไปไม่ถึงไหน กลายเป็นกบฏ (โฮมเพจ ดร.เสรี พงศ์พิศ: "วิสัยทัศน์การเกษตร", สยามรัฐรายวัน 10 สิงหาคม 2554; http://www.phongphit.com/older/content/view/567/1/)

ซึ่งจากข้อเขียนเรื่อง "อุดมการณ์ขบถผู้มีบุญอีสาน" ในหนังสือ ความเชื่อพระศรีอาริย์และกบฏผู้มีบุญในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์. 2527; หน้า 231-232 เขียนโดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และประนุช ทรัพยสาร ขยายความว่า:
**********
กบฎหนองหมากแก้ว พ.ศ. 2467 ผู้นำกบฏเป็นพระชื่ออาจารย์บุญมา จัตุรัส มีพระธุดงค์ที่มาด้วยกับ 3 รูปและสามเณรอีก 1 คน เข้ามาที่บ้านหนองหมากแก้ว ตำบลปวนพุ อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย มาสอนธรรม ให้ชาวบ้านถือศีลทำบุญทำทาน ให้กินแต่ถั่ว งา ผัก ผลไม้ ข้าว ไม่ให้กินเนื้อสัตว์ไม่ให้ลักขโมย ให้ระลึกคุณบิดามารดา นอกจากนี้คณะพระธุดงค์นี้ยังรักษาคนเจ็บป่วยด้วย มีชาวบ้านใกล้เคียงพากันนับถือมาก ไม่ต่ำกว่า 4,000 คนชาวบ้านเรียกอาจารย์บุญมาและคณะว่า "เจ้าผีบุญ" ต่อมาพระทั้งสมได้สึกออกมาและมีภรรยา คณะเจ้าผู้มีบุญได้จัดชุมนุมชาวบ้านทั้งกลางวันและกลางคืนที่บริเวณวัด ให้ชาวบ้านดื่มน้ำมนต์ ให้หญิงสาวชาวบ้านแต่งตัวสวยงามฟ้อนรำ และคณะเจ้าผู้มีบุญประกาศว่าพระศรีอาริยเมตไตรจะมาเกิดที่บ้านหนองหมากแก้ว ถึงตอนนั้นจะเป็นยุคที่ "ไม่มีนาย ใบไม้กลายเป็นเงินเป็นทอง" มีการร้องเพลงเตือนให้ชาวบ้านระลึกถึงเมื่อครั้งกองทัพสยามทำลายเมืองเวียงจันทร์ในสมัยเจ้าอนุวงศ์
**********
จะเห็นว่า สาเหตุหลักที่ผลักดันให้ราษฎรกล้าลุกขึ้น "กระด้างกระเดื่อง" ต่ออำนาจการปกครองในสมัยราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ ความอดอยากแร้นแค้น ประกอบกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เปลี่ยนไป ทำให้ระบบส่วยสาอากรพุ่งตรงมาที่ราษฎรโดยตรงแทนที่จะผ่านระบบขุนนางศักดินาเช่นที่เคยเป็นมาจากสมัยอยุธยาจนถึงปลายรัชกาลที่ 5

แต่ถึงกระนั้น แนวทาง "การลุกขึ้นสู้" หรือ "กบฏชาวนา" ก็ไม่อาจหนีพ้นความคิดเทวนิยม ไสยศาสตร์หรือกึ่งไสยศาสตร์ โดยการตั้งต้นเป็น "เจ้าผีบุญ" หรือ "องค์บุญ" แล้วประกาศเป้าหมายสร้างสังคม "พระศรีอารย์" ที่คนทั้งหลายอยู่ดีกินดี สังคมมีความเสมอภาค "ไม่มีนาย"

ทว่าในที่สุด การลุกขึ้นสู้โดยใช้อุดมการณ์รัฐศักดินาหรือราชาธิปไตย ที่เพียงเปลี่ยน "ผู้ปกครอง" พร้อมกับสถาปนา "ราชวงศ์" ขึ้นมาใหม่ ก็มักจากถูกปราบปรามอย่างราบคาบทุกครั้งไป ต่างจากการความสำเร็จหลายครั้งจากการ "แย่งยึดอำนาจ" ภายในหมู่ชนชั้นปกครองเดิม ที่เป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ใกล้ชิด ตลอดจนขุนนางอำมาตย์ชั้นสูงที่กุมอำนาจและอิทธิพลในระดับค่อนข้างมากอยู่แล้ว ที่ปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์เป็นระยะในประวัติศาสตร์ ไม่เพียงประวัติศาสตร์ชนชายไต-ไท

สำหรับช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการเคลื่อนไหวในพื้นที่หัวเมืองชายแดนใต้ระหว่างปี พ.ศ. 2465-2467 ปรากฏการเคลื่อนไหวของราษฎรในภาคอิสานอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า "ผีบุญที่บ้านหนองหมากแก้ว" หรือ "กบฏเจ้าผู้มีบุญหนองหมากแก้ว" พ.ศ. 2467 ครั้งที่ พระยาศรีนครชัย (ประสงษ์ อมาตยกุล) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย (ระหว่างปี พ.ศ. 2466-2475) ซึ่งในเวลานั้นการปกครองของจังหวัดเลยหรือเมืองเลยอยู่ในระบบ "มณฑลเทศาภิบาล" หรือ ระบบแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งเริ่มขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจัดลำดับการปกครองเป็น มณฑล, เมือง (จังหวัด), อำเภอ, ตำบล และ บ้าน (หมู่บ้าน) โดยจังหวัดเลยขึ้นต่อมณฑลอุดร (ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2442 เมืองที่ขึ้นกับมณฑลนี้ประกอบด้วย เมืองอุดรธานี, เมืองขอนแก่น, เมืองเลย, เมืองนครพนม, เมืองหนองคาย และเมืองสกลนคร)

จนถึงปี พ.ศ. 2458 ดินแดนสยามมีมณฑลอยู่ 19 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 72 เมือง (เปลี่ยนเป็น "จังหวัด" ในสมัยรัชกาลที่ 6) ต่อมาในปี พ.ศ.2465 โปรดเกล้าฯ ให้รวมมณฑลอุดร อุบล ร้อยเอ็ด เป็นภาคเรียกว่า ภาคอีสาน มีอุปราชประจำภาค อยู่ที่อุดรธานี และเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำทำให้หลายมณฑลถูกยุบรวมกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 (มณฑลเพชรบูรณ์ถูกยุบก่อนหน้านั้นแล้ว) ภายหลังจึงคงเหลืออยู่เพียง 14 มณฑล ได้แก่ กรุงเทพพระมหานคร มณฑลจันทบุรี มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลนครราชสีมา มณฑลปราจีนบุรี มณฑลปัตตานี มณฑลพายัพ มณฑลพิษณุโลก มณฑลภูเก็ต มณฑลราชบุรี มณฑลอยุธยา และมณฑลอุดรธานี

กระทั่ง ระบบการปกครองแบบ "มณฑลเทศาภิบาล" ถูกล้มเลิกไปในปี พ.ศ. 2476 ภายหลังการการอภิวัฒน์สยาม เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติการบริหารราชการส่วนภูมิภาค พุทธศักราช 2476 ขึ้น และนับจากนั้น จังหวัดก็ได้กลายเป็นเขตการปกครองย่อยของสยาม (ในเวลานั้น และไทยในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน) ที่มีระดับสูงที่สุด

ใน "ประวัติศาสตร์จังหวัดเลย" สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จาก เว็บไซต์ของจังหวัดเลย http://www.loei.go.th เขียนถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ว่า
**********
เมื่อปี พ.ศ.2467 ได้เกิดมีผีบุญขึ้นมาคณะหนึ่ง จำนวน 4 คน อ้างว่า คณะของตนได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้ลงมาบำบัดทุกข์บำรุงบำรุงสุขแก่มวลมนุษย์ซึ่งยากไร้และเต็มไปด้วยกิเลส ได้กำหนดสถานที่อันบริสุทธิ์ไว้ดำเนินการเพื่อแสดงอภินิหารประกอบพิธีกรรม อบรมสั่งสอนผู้คนที่วัดบ้านหนองหมากแก้วในหมู่บ้านหนองหมากแก้ว (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลปวนพุ อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย) บุคคลในคณะของผีบุญ 4 คน ต่างมีหน้าที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 17-23 สิงหาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (52)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (18)

หนังสือ Hikayat Patani ภาษายาวี ถือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ปัตตานีที่เก่าแก่ที่สุดเล่มหนึ่ง กล่าวถึงเรื่องราวช่วงต้นทศวรรษ พ.ศ. 1940-1950 ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมากระหว่างปี พ.ศ. 2233 ถึงปี พ.ศ. 2273 โดยฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุด จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2382 และเก็บไว้ที่ ห้องสมุดรัฐสภาสหรัฐ

บทสรุปสำหรับบทความ "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" โดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร ตีพิมพ์ใน วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2552 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ลงที่ความเห็นที่ต้องการการค้นคว้าสรุปต่อเนื่อง ว่า "หลัก 'รัฐประศาสโนบาย 6 ประการ' และ 'สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม' เป็นประดิษฐกรรมทางการปกครองพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในรัชกาลที่ 6 ที่ก้าวหน้า มีการออกแบบที่สอดคล้องกับปัญหาความขัดแย้งของการเป็น 'ท้องที่พิเศษ' ของมณฑลปัตตานี" อีกทั้งยังตั้งคำถาม "ที่จำเป็น" สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกบริบทในการแก้ไขปัญหา ควรจะนำไปพินิจพิจารณา "หรือว่าคนและระบบในปัจจุบันอ่อนด้อยและ คับแคบในองค์ความรู้ ขาดวิสัยทัศน์และขันติธรรมที่จะธำรงความหลากหลายให้ดำรงอยู่คู่กับหลักการพหุสังคมอันแท้จริงทั้งในดินแดนส่วนนั้นและส่วนอื่นของชาติโดยถ้วนหน้ากัน"
**********
"กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความล้มเหลวในการบูรณาการประชาชนในดินแดนส่วนนี้ซึ่งเพิ่งถูกดึงเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐสยามใหม่โดยตรงเพียงเมื่อสองทศวรรษก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ดี ความพยายามในการแก้วิกฤติครั้งนั้น ได้เปิดมิติใหม่ให้กับการสร้างความเข้าใจใหม่ในกลุ่มผู้นำรัฐสยามที่ตระหนักในอัตลักษณ์ของผู้คนและพื้นที่ และได้นำไปสู่การริเริ่มแนวนโยบายและหลักการปกครองประชากรและดินแดนส่วนนั้นใหม่ที่สอดคล้องกับ "ความเป็นท้องที่พิเศษด้วยภูมิประเทศแลบุคคล" "หลักรัฐประศาสโนบาย 5 ประการ" เป็นนวัตกรรมทางการปกครองดินแดนส่วนนี้ที่มีความสมสมัย เป็นหลักการที่ประกาศรับรองความเป็นพหุนิยมของรัฐสยามในการปกครองประชากรและดินแดนส่วนนั้น โดยยอมเปิดกว้างให้กับการ "ดัดแปลง" กฎระเบียบการปกครองในพื้นที่ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์พิเศษทางดินแดน ชาติพันธุ์ภาษาศาสนาและธรรมเนียมนิยมของประชากรในพื้นที่ซึ่งแตกต่างไปจากส่วนอื่นของประเทศ

ท้ายที่สุด ในด้านลึก "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ได้เผยให้เห็น "จุดอ่อนอันแท้จริง" ทางโครงสร้างการปกครองที่รัฐบาลกลางมีอำนาจรวมศูนย์และเด็ดขาด และการจัดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นขาดการกระจายอำนาจที่สมดุล ประวัติศาสตร์การเกิด "รัฐชาติสยาม" ในกรณีของมณฑลปัตตานีเรียกร้องการจัดรูปแบบความสัมพันธ์และความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันแบบ "พหุสังคมนิยม" ของกลุ่มคนในชาติที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การสำรวจพัฒนาการทางการเมืองของดินแดนที่เป็นชายแดนภาคใต้ในบทความนี้และบทความก่อนหน้านี้ ชี้ว่าความสำเร็จของการเกิดรัฐชาติสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการบูรณาการดินแดนและประชาชนในพื้นที่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับในความ แตกต่างที่เป็นอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่ และความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจนเป็น วิกฤตินั้น ก็มาจากการละเลย ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ และการไม่ยอมรับและไม่เปิดทางให้กับความแตกต่างนั้น และยิ่งไปกว่านั้นคือ การบังคับใช้หรือยัดเยียดกรอบการปกครอง ที่เบียดขับและทำลายล้างอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของท้องถิ่น แนวทางหลังสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ประชาชนและดินแดนส่วนนั้นมีสถานภาพดุจ "ไส้ติ่ง" อันเป็นอวัยวะในองคาพยพของร่างกายที่ง่ายต่อการติดเชื้อและการอักเสบจนเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อเจ้าของร่างกาย คือประเทศและสังคมชาติโดยรวมได้ รอเพียงจังหวะเวลาอันเหมาะสมของปัจจัยปรุงแต่งจากภายในและภายนอก ดังปรากฏในประวัติศาสตร์ของดินแดน ส่วนนี้ในอีกหลายยุคหลายสมัย จวบจนปัจจุบัน

หลัก "รัฐประศาสโนบาย 6 ประการ" และ "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม" เป็นประดิษฐกรรมทางการปกครองพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในรัชกาลที่ 6 ที่ก้าวหน้า มีการออกแบบที่สอดคล้องกับปัญหาความขัดแย้งของการเป็น "ท้องที่พิเศษ" ของมณฑลปัตตานี และได้พิสูจน์ว่าเป็นที่ยอมรับแม้จากกลุ่มชาตินิยมปัตตานีที่ต่อต้านรัฐในพื้นที่ ข้อพึงพินิจใคร่ครวญก็คือ เหตุใดปัจจุบันเราจึงอับจนหนทาง ไม่อาจหาหลักการและรูปแบบการปกครองที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ตอบสนองต่อเนื้อแท้ของปัญหาความขัดแย้ง และสามารถรับมือกับปัญหาการปะทะทางความคิดและอารยธรรมอันซับซ้อนของสังคมยุคโลกาภิวัตน์ หรือว่าคนและระบบในปัจจุบันอ่อนด้อยและ คับแคบในองค์ความรู้ ขาดวิสัยทัศน์และขันติธรรมที่จะธำรงความหลากหลายให้ดำรงอยู่คู่กับหลักการพหุสังคมอันแท้จริงทั้งในดินแดนส่วนนั้นและส่วนอื่นของชาติโดย ถ้วนหน้ากัน
(ตอนจบ)
**********
นอกจากนั้นใน "บทนำ" (ในฐานะบรรณาธิการ) โดย รศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ใน จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 41 "วิกฤตมณฑลปัตตานี 2465 : บทเรียนสมัยรัชกาลที่ 6" โดย ผศ. พรรณงาม เง่าธรรมสาร (พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง มิถุนายน 2551 จัดพิมพ์โดย โครงการความมั่นคงศึกษา ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยังเขียนสรุปไว้ในตอนท้ายว่า
**********
สิ่งที่กล่าวแล้วในข้างต้นจากการสรุปแนวทางการบริหารราชการจากรายงานการประชุมเรื่องมณฑลปัตตานีในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2466 เป็นประจักษ์พยานอย่างดีที่ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในอดีต ที่พยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาภาคใต้อย่างละมุนละม่อม เพราะตระหนักดีว่า การดําเนินการให้ประสบความสําเร็จในมณฑลปัตตานีนั้น จําเป็นจะต้องมีกรอบนโยบายที่กําหนดให้เกิดความชัดเจนแก่ข้าราชการฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ "หลัก 6 ประการ" ดังกล่าวยังสามารถนํามาใช้เป็นกรอบสําหรับรัฐบาลในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ดังที่ล้นเกล้ารัชการที่ 6 ได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า "หลักรัฏฐประศาสโนบาย 6 ข้อ ตามที่ได้กะไว้นั้น เป็นการถูกต้องและสมควรแก่กาละเทศะแล้ว ให้ถือเป็นระเบียบสําหรับปฏิบัติราชการเนื่องด้วยมณฑลปัตตานีต่อสืบไป"
**********
และเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้เขียน (อริน) เห็นว่า การศึกษาประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง รอบด้าน และอย่างมีใจเป็นธรรม มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อการดำเนินการใดๆ เพื่อการยุติความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อย่างมีขั้นตอน ทั้งโดยการ "รักษาไข้ตามอาการ" และทั้ง "รักษาที่สมุฏฐาน" ทั้งนี้ การมองปัญหาเพียงกรอบสถานการณ์ในรอบไม่กี่สิบปี จะยิ่งทำให้สถานการณ์นอกจากไม่เพียงไม่อาจคลี่คลายขยายตัวไปในทางสร้างสรรค์แล้ว อาจจะเท่ากับเป็นการซ้ำเติมตอกย้ำบาดแผลและความทรงจำที่เจ็บปวดที่ฝังลึกอยู่ในใจของผู้คนในพื้นที่มานับร้อยปีมากยิ่งขึ้น.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 10-16 สิงหาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8