Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (51)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (17)

"ภาพหมู่เจ้าเมืองแขก" Old Pic.(Unnone) of Melayu Sultan in Southern Thailand จากกองจดหมายเหตุเห่งชาติ ภ.หวญ.707/25

พรรณงาม เง่าธรรมสาร ทิ้งท้ายบทความและในส่วน "ส่งท้าย" บทความ "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ไว้อย่างสำคัญไว้ว่า "เป็นห้องบทเรียนของความล้มเหลวและความสำเร็จของรัฐสยามครั้งนั้นได้ถูกลืมเลือน ประสบการณ์เรียนรู้ที่ผู้นำรัฐสยามและผู้คนในดินแดนนั้นได้เรียนรู้ร่วมกันได้สูญหายไปตามกระแสธารประวัติศาสตร์อย่างน่าเสียดาย" ทั้งนี้ โดย "ยังมีข้าราชการจำนวนหนึ่งผู้ซึ่งมีทัศนะเปิดกว้าง มีขันติธรรมต่อความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนาและภาษาวัฒนธรรมของประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครอง มีความเที่ยงตรงยุติธรรม มีวิสัยทัศน์ รวมทั้งมีความทุ่มเทมุ่งมั่น"
**********
"หลักรัฐประศาสโนบาย 6 ประการ" และ "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม" สะท้อนหลักพหุนิยมทางการเมืองการปกครองและวัฒนธรรม อันมีลักษณะที่ก้าวหน้า กล่าวคือ ไม่เพียงไม่สนับสนุนการกีดกันอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีของประชาชนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังต้องการส่งเสริมหลักการปกครองและปฏิบัติราชการที่สอดคล้องกับหลักความเชื่อและวัฒนธรรมของชนชาติในพื้นที่นั้น ๆ อีกทั้งขจัดอุปสรรคที่เป็นเครื่องกีดขวางความแตกต่างนั้น ๆ อีกด้วย

ด้วยเครื่องมือในการปกครองตามทิศทางและหลักการพหุนิยมดังกล่าว ความสงบจึงค่อย ๆ กลับมาสู่ดินแดนส่วนนี้ การปรับเปลี่ยนแนวทางและนโยบายของรัฐสยามในครั้งนี้จึงเป็นที่ยอมรับแม้โดยขบวนการต่อต้านของชาวมุสลิมในพื้นที่ ว่าทำให้การต่อต้านของขบวนการลดความรุนแรงลงระหว่างปี พ.ศ. 2466-2481 (ดู วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน "การเมืองนำการทหาร : กระบวนการประชาธิปไตยกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้" แปลโดย ปริญญา นวลเปียน และนิพนธ์ โซะเฮง จาก Wan Kadir Cheman, "Decolonization and national Integretion : Malay Muslim Community in Southern Thailand", Intellectual Discourse, 2003, Vol. 11, No. 1, 26 pp. บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 601 เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2548.) แต่ พระราโชบายที่วางอยู่บนหลักการพหุนิยมทางการปกครองและวัฒนธรรมในพื้นที่พิเศษนี้มีอายุสั้นมากเพราะสิ้นสุดลงพร้อมกับการสิ้นสุดของราชาธิปไตยในสยามใน พ.ศ. 2475 หรือเพียงสิบปีหลังจากนั้น ความสำเร็จในการแก้ปัญหาครั้งนั้นอันเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในนโยบายการปกครองดินแดนส่วนนั้นของสยาม และเปิดมิติของความยืดหยุ่นในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น จะถูกกลบด้วยนโยบายของยุคเผด็จการชาตินิยมสุดขั้วในทศวรรษ พ.ศ. 2480 ทั้งที่เป็น "นโยบายผสมผสานกลมกลืน" หรือ "นโยบายกลืนชาติ" ที่เน้น "ชาตินิยมไทยเป็นใหญ่" อันนำไปสู่ปฏิกิริยาการต่อต้านรัฐสยามที่ก่อเกิดเป็นขบวนการต่อต้านของชาวมลายูปัตตานีที่ขยายตัวและรุนแรงยิ่งขึ้น จากนั้นมาไม่เคยมีการย้อนกลับไปสู่แนวทางและเนื้อหาของหลักการปกครองดินแดนส่วนนั้นที่มีอัตลักษณ์พิเศษอีกเลย "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ซึ่งเป็นห้องบทเรียนของความล้มเหลวและความสำเร็จของรัฐสยามครั้งนั้นได้ถูกลืมเลือน ประสบการณ์เรียนรู้ที่ผู้นำรัฐสยามและผู้คนในดินแดนนั้นได้เรียนรู้ร่วมกันได้สูญหายไปตามกระแสธารประวัติศาสตร์อย่างน่าเสียดาย

ส่งท้าย

นับจากรัฐสยามได้เข้ามาปกครองหัวเมืองทั้ง 4 (หรือรัฐปัตตานีเดิม) โดยตรงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยการปฏิรูปดึงอำนาจการปกครองจากเจ้าเมืองชาวมลายูเดิมที่มีฐานะกึ่งอิสระมานานนับศตวรรษและโยงเข้าสู่ศูนย์กลางการปกครองผ่านระบบเทศาภิบาลนั้น รัฐสยามในระยะต้นสามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายผู้ปกครองและราษฎรในพื้นที่ได้ เพราะ "นโยบายผ่อนปรน" ต่าง ๆ ที่โปรดให้ดำเนินการเพื่อสอดคล้องกับสภาวการณ์ในพื้นที่ แต่ภายใต้ระบบการปกครองเทศาภิบาลที่เสื่อมถอยลงในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เปิดโอกาสให้ "อำนาจส่วนกลาง" และ "ระเบียบราชการ" ของรัฐบาลกลางสยามเข้าครอบงำเหนือนโยบายที่ให้ความเคารพและเชิดชูอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมของประชาชนชาวมลายูซึ่งเป็นส่วนใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินการมาในรัชกาลก่อนหน้านั้น ในบริบทเช่นนี้เองที่ความเดือดร้อนทางภววิสัย ผนวกกับความคับข้องไม่พอใจในระเบียบปฏิบัติของรัฐ ขัดขวางวิถีชีวิตทางสังคม ความเชื่อและวัฒนธรรม ได้นำไปสู่ความขัดแย้งและการปฏิเสธรัฐในหลาย ๆ มิติของชีวิตทางสังคมของประชาชนชาวมลายูในพื้นที่ และประชาชนบางส่วนได้เริ่มขับเคลื่อนเข้าร่วมอุดมการณ์ต่อต้านอำนาจรัฐกับฝ่ายผู้ปกครองเดิมที่สูญเสียอำนาจ

บทความนี้พยายามทำความเข้าใจ เงื่อนไขและสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไปในมณฑลปัตตานีภายใต้ระบบเทศาภิบาลในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่านำไปสู่ความขัดแย้ง และ (แผน) การขบถต่อต้านรัฐสยามใน พ.ศ. 2465 อย่างไร หลักฐานเอกสารรายงานต่าง ๆ ได้เสนอมุมมองที่แตกต่างกันของผู้มีอำนาจระดับต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารปกครองดินแดนส่วนนั้นในช่วงสถานการณ์ที่เป็น "วิกฤต" และแสดงออกถึงปฏิกิริยาอันหลากหลายของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายต่าง ๆ บทบาทข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ที่ขาดความเข้าใจในความซับซ้อนของปัจจัยต่าง ๆ ขาดจิตสำนึกและความละเอียดอ่อนในการปกครองและให้บริการผู้คนที่ต่างความเชื่อ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่นและขัดขวางการพัฒนาและความก้าวหน้าของพหุสังคม เหล่านี้สร้างความร้าวฉานให้เกิดกับประชาชนในพื้นที่ แต่นับว่าโชคดีที่ในวิกฤติ พ.ศ. 2465 รัฐสยามยังมีข้าราชการจำนวนหนึ่งผู้ซึ่งมีทัศนะเปิดกว้าง มีขันติธรรมต่อความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนาและภาษาวัฒนธรรมของประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครอง มีความเที่ยงตรงยุติธรรม มีวิสัยทัศน์ รวมทั้งมีความทุ่มเทมุ่งมั่น อย่างเช่น เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พระวิชัยประชาบาล พระนนทมณฑาดุล และหลวงอรรถกระวีสุนทร ฯลฯ นักปกครองเหล่านี้ เช่น เจ้าพระยายมราช มีภูมิหลังการปกครองดินแดนส่วนนี้มาตั้งแต่ก่อนการนำเอาดินแดนส่วนนี้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม รายงานปัญหามณฑลปัตตานีและแนวทางแก้ไขที่หลายท่านนำขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ให้แง่มุมความเข้าใจอย่างลุ่มลึกและเที่ยงตรงต่อนโยบายของรัฐบาลสยามกับผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่มีต่อประชาชนในพื้นที่ รายงานเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นบทบาทของนโยบายและเจ้าหน้าที่ รวมถึงกฎระเบียบทางเศรษฐกิจสังคมของรัฐบาลกลางที่มีอิทธิพลกำหนด และขัดขวางวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะในมิติของอัตลักษณ์ชนกลุ่มน้อยที่แตกต่างไปจาก คนส่วนใหญ่ของประเทศ เอกสารและรายงานต่าง ๆ ของบุคคลที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาวิกฤตินี้ ทำให้เราเข้าใจเบื้องหลังของสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงกับเหตุการณ์ "ขบถ"

(ยังมีต่อ ตอนจบ)
**********

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 3-9 สิงหาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (50)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (16)

เจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงและบุตรธิดา พ.ศ. 2474

พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอและวิเคราะห์ "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือสาสนาอิสลาม" ต่อเนื่องในตอนท้ายของบทความ "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ทั้งยังนำเสนอและวิเคราะห์ "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือสาสนาอิสลาม" ก่อนจะเข้าสู่บทสรุปในช่วงท้าย
**********
แนวทางของ "สมุดคู่มือ..." คือให้ความรู้ความเข้าใจถึงหลักการที่ผู้นับถืออิสลามในพื้นที่ให้ความนับถือและยึดปฏิบัติอยู่ และให้ "รู้เหตุผล" ที่จะต้องระมัดระวัง ไม่ประพฤติหรือดำเนินการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งทางด้านความรู้สึกหรือจิตใจหรือเป็นการล่วงละเมิด หลักการของคำแนะนำว่าควรวางแนวปฏิบัติในส่วนของเจ้าหน้าที่อย่างไรนั้น วางอยู่บนพื้นฐานของ "การอนุโลม" ให้การดำเนินการต่าง ๆ สอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาและสังคมในพื้นที่

ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอ่าน มีคำแนะนำว่า "อย่าให้เห็นเปนการขัดขวางการเรียนโกรานซึ่งเขาต้องเรียน ถ้ายิ่งมีอาการให้เห็นเปนอุดหนุนจะเป็นที่นิยม" (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 7) และชี้แนะว่าไม่ควรจับต้องคัมภีร์ "เมื่อรู้ว่าเขารังเกียจก็อย่าให้เห็นเปนการกระทำเพื่อข่มเหง" และ "ถ้ายิ่งให้เห็นว่าแม้เรามิได้เชื่อถือแต่ก็ไม่ดูหมิ่น อยู่ในฐานคารวะสิ่งที่เปนที่นับถือของเขา ก็จะเปนที่นิยมยิ่งขึ้น" (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 7-8) หรืออธิบายถึงการรู้ภาษายาวี ว่าเป็นความจำเป็นเพื่อจะสามารถแปลอัลกุรอ่านได้ และ ดังนั้น "หน้าที่ผู้ปกครองก็ควรจะผ่อนผันตามความที่ราษฎรนิยมสิ่งใดมาก ก็อนุโลมให้มีการเล่าเรียนในสิ่งนั้นด้วย หรือให้มีการเรียนไปด้วยกันโดยวิธีปันเวลาการเล่าเรียนสุดแต่เหตุผลภูมิประเทศความสามารถที่อาจจะจัดทำได้." (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 6) ในเรื่องของประเพณีเกี่ยวกับผู้หญิงในอิสลาม มีคำอธิบายถึงบัญญัติในพระคัมภีร์ซึ่งแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างหญิงและชายไม่ให้ปะปนกัน ครอบคลุมไปถึงการแต่งกายที่มิดชิดของฝ่ายหญิงและการห้ามคบหากับเพื่อนต่างเพศสำหรับหญิงที่แต่งงานแล้วเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสามี หนังสือ "สมุดคู่มือ.." ให้คำเตือนว่า "..บัญญัติในเรื่องผู้หญิงชาวอิสลามนั้น เขาห้ามหวงกันเคร่งครัดนัก.." (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 7) ดังนั้น จึงเป็น "หน้าที่เราผู้ปกครองบังคับบัญชาราษฎรชาว อิสลาม เพื่อความนิยมนับถือก็จำจะต้องอนุโลมตามแต่ที่จะเป็นไปได้" (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 8) เช่น การจัดการศึกษาให้เด็กหญิงเรียนแยกจากเด็กชาย และให้มีครูผู้หญิงสอนแยกต่างหาก หากยังไม่พร้อม ก็ไม่สมควรจัดการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กหญิง หรือ "การเปิดผ้าคลุมศีศะผู้หญิง" นั้น "หาควรรบกวนไม่" ทั้งหมดนี้ชี้ว่า "ย่อมเปนสิ่งที่ควรต้องรู้เหตุผล" (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 8)

สำหรับช่วงเทศกาลถือบวช หรือวันตรุษ "สมุดคู่มือ.." ให้ข้อแนะนำว่าไม่ควรทำการเกณฑ์แรงงานหรือเรียกใช้สอย เพราะเป็น "วันที่นิยมว่าเปนสำคัญที่เขาปฏิบัติตามศาสนา ก็จะเกิดความโทมนัส หรือขัดขืนให้เปนเหตุยืดยาวไปก็ได้.." (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 9)  นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายว่า การถือบวชโยงเกี่ยวกับ "การทรมานตน" ผู้ถือบวชส่วนใหญ่มักขาดเรี่ยวแรงที่จะทำงาน จึงถือกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ศาสนิกจะทำกุศล ให้ทาน ด้วยเหตุผลนี้ จึงควร "เลี่ยงหลีกละเว้นหรือผ่อนผัน" การบังคับกะเกณฑ์ใด (หัวข้อใน "สมุดคู่มือ.." หน้า 10)

"สมุดคู่มือ..." แม้จะแต่งโดยผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเอง แต่คำอธิบายและการใช้ภาษาในการอธิบายคตินิยมและแนวปฏิบัติทางศาสนาอิสลามในนั้นหลายข้อก็ถูกตั้งข้อสังเกตจากผู้รู้ทางศาสนาในยุคปัจจุบัน* ว่าสะท้อนความคิดความเข้าใจของมุสลิมภาคกลางซึ่งแตกต่างจากมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ และอยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2465 อีกทั้งยังสะท้อนความพยายามสื่อกับบุคคลต่างศาสนา** (หมายถึง ชาวพุทธ) เช่น คำว่า "เสกป่า" "ฤดูบวช" "ฟังธรรม" "ฟังเทศน์" เป็นต้น อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงสาระหลักและเป้าหมายของงานเขียนแล้ว ก็ไม่อาจกล่าวว่างานเขียนชิ้นนี้ "มองว่าอิสลามเป็นศาสนาที่มีความรุนแรงทางการเมืองและรังเกียจคนต่างศาสนา.." อย่างที่นักวิชาการบางคนวิพากษ์ไว้ ตรงกันข้าม งานเขียนชิ้นนี้แสดงถึงความพยายามของผู้นำรัฐสยามในขณะนั้นที่มุ่งหวังจะสร้างทัศนคติและความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ปกครองของรัฐกับประชาชนในปกครองที่นับถือศาสนาอิสลาม ดังตัวอย่างที่ได้ชี้ให้เห็นข้างต้น หากจะมีการอธิบายหรือการใช้คำใด ๆ ซึ่งนักการศาสนาหรือมุสลิมสมัยใหม่มองว่าล้าหลัง หรือผิดเพี้ยนไปบ้าง นั่นก็เป็นไปตามความรับรู้ของผู้เขียนที่เป็นมุสลิมในยุคสมัยนั้น ซึ่งไม่เห็นถึงเจตนาใด ๆ ที่จะมองศาสนาอิสลามในแง่ลบดังที่มีการวิพากษ์ข้างต้น

หมายเหตุโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร:

    * คือ สมเจตน์ นาคเสวี และ อาจารย์ดลมนรรจน์ บากา ซึ่งผู้เขียนได้ขอร้องให้อาจารย์ดลมนรรจน์ ขณะนั้นประจำที่แผนกวิชาอิสลามศึกษา ภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทำเชิงอรรถชี้แจงความเห็นที่ต่างออกไปประกอบในการตีพิมพ์ "สมุดคู่มือ.." จากต้นฉบับที่คุณวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ค้นพบจากกองหนังสือในวัง พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ตีพิมพ์ครั้งแรกใน รวมบทความประวัติศาสตร์ ฉบับที่ 8 กุมภาพันธ์ 2529 ดู พรรณงาม เง่าธรรมสาร "บทนำ", "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือสาสนาอิสลาม" รวมบทความประวัติศาสตร์, ฉบับที่ 8 กุมภาพันธ์ 2529 หน้า 46 ดังนั้นข้อมูลที่ระบุว่า นายประยูรศักดิ์ ชลายเดชะ เป็นผู้ขอให้อาจารย์ดลมนรรจน์ บากา ทำเชิงอรรถ จึงผิดพลาด ดู ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย, โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549, หน้า 27. ซึ่งอ้างข้อมูลจาก ประยูรศักดิ์ ชลายเดชะ, มุสลิมในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : โครงการหอสมุดกลางอิสลามสายสกุลสุลต่านสุลัยมาน, 2539), หน้า 275-292.)

    ** ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, เพิ่งอ้าง, หน้า 31
(ยังมีต่อ)
**********
ก่อนจะถึง "บทสรุป" ในตอนต่อไป สมควรอย่างยิ่งที่จะนำมุมมองของพรรณงามฯ มาพิจารณาทบทวน เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะความเห็นที่ว่า "งานเขียนชิ้นนี้แสดงถึงความพยายามของผู้นำรัฐสยามในขณะนั้นที่มุ่งหวังจะสร้างทัศนคติและความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ปกครองของรัฐกับประชาชนในปกครองที่นับถือศาสนาอิสลาม"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 27 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (49)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (15)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระวรชายา กับ องค์อภิรัฐมนตรีสภา แถวบนขวาสุด: จอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต

ใน จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 41 "วิกฤตมณฑลปัตตานี 2465 : บทเรียนสมัยรัชกาลที่ 6" โดย ผศ. พรรณงาม เง่าธรรมสาร พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง มิถุนายน 2551 จัดพิมพ์โดย โครงการความมั่นคงศึกษา ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีบรรณาธิการ คือ รศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ได้ยกส่วนหนึ่งของ รายงานประชุมเรื่องมณฑลปัตตานีของเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์ ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 โปรยไว้ในส่วน "บทนำ" ว่า

"ระเบียบการหรือวิธีการปฏิบัติการอย่างใดเป็นทางให้พลเมืองรู้สึกหรือเห็นไปว่าเป็นการเบียดเบียนกดขี่ศาสนาอิสลามต้องยกเลิกหรือแก้ไขเสียทันที"
**********
ถ้าอ่านข้อความในข้างต้นโดยไม่ดูพระนามที่เป็นผู้เขียนแล้ว เราอาจจะนึกว่าเป็นข้อเสนอในยุคสมัยใหม่ และยิ่งไปกว่านั้นหากดูตัวเลขของกาลเวลาแล้ว เราก็แทบไม่นึกเลยว่าข้อเสนอในข้างต้น เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2466 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 6 ซึ่งในยุคสมัยของพระองค์ท่าน มีเอกสารเกี่ยวกับปัญหาของมณฑลปัตตานีและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่หลายชิ้น

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างดีว่า ปัญหาภาคใต้เช่นที่รัฐไทยในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21 ต้องเผชิญเช่นปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด หากแต่เป็นประเด็นที่รัฐประชาชาติสยามเองก็ได้พยายามหาหนทางด้วยวิธีการต่างๆ มาแล้วในอดีต ดังจะเห็นได้จากร่องรอยทางความคิดของชนชั้นนําที่ตกทอดมาให้คนรุ่นเราได้ตระหนักถึงความพยายามของคนในรุ่นก่อน ที่นําเสนอแนวทางแก้ปัญหาจนได้กลายเป็น "ผลึกความคิด" ที่ไม่มีข้อจํากัดของกาลเวลา ตัวอย่างสําคัญเช่น สมุดคู่มือสําหรับข้าราชการกระทรวมหาดไทย ที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองที่นับถือศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2466 ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้นําเอามาปรับปรุงเป็นแนวทางให้แก่ข้าราชการที่ไปปฏิบัติราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับปี 2547 เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่องของศาสนาอิสลาม เป็นต้น

นอกจากสมุดคู่มือข้าราชการ พ.ศ. 2466 แล้ว เอกสารที่น่าสนใจและยังสามารถนําเอามาใช้เป็นแนวทางให้แก่รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ได้อย่างดีก็คือ รายงานประชุมเรื่องมณฑลปัตตานีของเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์ ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2466

เอกสารนี้เป็นอีกชิ้นหนึ่งของงานที่ไม่มีมติของกาลเวลา และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสําหรับรัฐบาลในการเสริมสร้างแนวคิดและปรับเปลี่ยนทัศนะในอันที่จะ "เอาชนะ" ปัญหา ไม่ใช่ดําเนินการเพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นฝ่ายที่เอาชนะรัฐบาลได้ หรือกล่าวได้โดยง่ายว่า รัฐบาลต้องดําเนินการเพื่อที่จะลดทอนความรุนแรงของปัญหาให้ได้ และทั้งยังจะต้องมีมาตรการเพื่อที่จะเอาประชาชนในพื้นที่มาเป็นพวก ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านกลายเป็น "แนวร่วม" ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ดังจะเห็นได้ว่า รัฐบาลในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เล็งเห็นถึงความสําคัญในการกําหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ และในการนี้ได้ให้เจ้าพระยายมราชลงไปตรวจราชการที่มณฑลปัตตานี เพื่อสํารวจปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
**********
ในช่วงท้ายของบทความ "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" พรรณงาม เง่าธรรมสาร ยังได้วิเคราะห์ "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือสาสนาอิสลาม" ไว้ดังนี้
**********
หลักที่จะเป็น "ผู้ปกครองที่ดี" นอกจากจะขึ้นกับ "ธรรมประจำอยู่กับใจ" ของแต่ละคนว่าคุณสมบัติแบบไหนที่คนจะนับถือหรือรักใคร่แล้ว ท่านได้ยก พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อดินแดนส่วนนั้นมาเป็นหลักที่ข้าราชการในพื้นที่พึงยึดปฏิบัติ ดังความว่า

......จำจะต้องรฤกอยู่เสมอ (ว่า)...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรภายใต้พระราชอาณาของพระองค์ได้รับความสันติสุขอย่างสูงที่สุด ที่เจ้าพนักงานจะพึงปกครองทนุบำรุงให้เปนไปได้ และมิได้ทรงรังเกียจด้วยชาติ ด้วยสาสนาซึ่งราษฎรของพระองค์กำเนิดมาแต่บุคคลเพศนั้น และเลื่อมสัยในสาสนาอย่างนั้น กับทั้งประเพณีนิยมของเขาด้วย... รวมความว่า รัฐประศาสโนบายของประเทศไม่ดำเนินการเปนปรปักแก่ทางสาสนาของราษฎร แลคตินิยมอีกจะพึงเห็นว่าสมควรนั้น เพราะฉะนั้นเจ้าน่าที่ผู้ปกครองราษฎรซึ่งมีคตินิยมต่างจากคนไทย แลต่างสาสนาดังเช่นมณฑลปัตตานี เป็นต้น ควรต้องรู้จักหลักพระราชประสงค์และรัฐประสาสน์ของรัฐบาลไว้เปนอารมณ์ เพื่อดำเนินทางราชการให้ถนัดชัดเจน ว่าไม่ประสงค์จะขัดขวางสาสนา และลัทธิของเขาดังกล่าวแล้ว... การปกครองของราษฎรที่ถือสาสนาอิสลาม... จะเข้าใจเอาอย่างที่เราเข้าในกันทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ว่าแขกเกลียดหมูและไม่กินหมูเท่านั้นหามิได้ ยังมีบางสิ่งบางอย่าง แขกถือเปนของสำคัญยิ่งกว่าหมูก็มี...ชาวอิสลามปฏิบัติสาสนาเคร่งครัดนัก ด้วยว่าคำสั่งสอนของศาสดา (มหะหมัด) พระศาสดาของเขา คือที่เรียกว่าโกราน... นั้น เปนกฎหมายไปด้วยในตัว ("คำปรารภ" ใน "สมุดคู่มือ..", หน้า 3-5.) (สะกดตามอักขระต้นฉบับ)

องค์ประกอบ ของ "สมุดคู่มือ…" แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ "คำปรารภ" ซึ่งเจ้าพระยายมราชชี้แจงถึงที่มาและเป้าหมายของงานเขียนชิ้นนี้ ส่วนที่ 2 คือ "หัวข้อ" ซึ่งเป็นการย่อใจความของเนื้อหาส่วนที่ 3 มาไว้เป็นสังเขปสำหรับผู้อ่านที่ "ต้องการรู้แต่ใจความ" ส่วนที่ 3 คือเรื่องต่าง ๆ ที่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ถือเคร่งครัดตามหลักคำสอนในอัลกุรอาน ทั้งที่เป็นข้อปฏิบัติและข้อห้าม ซึ่งพระรังสรรค์สารกิจได้เรียบเรียงขึ้น "อย่างพิสดารละเอียดลออ" จำนวน 14 เรื่อง ได้แก่ เรื่องคัมภีร์ อัล-กุรอ่าน การเรียนหนังสือยาวี ประเพณีเกี่ยวกับผู้หญิงในศาสนาอิสลาม การถือบวชและการลาบวช การทำละหมาดประจำวัน การไปมัสยิดวันศุกร์ ข้อห้ามที่สำคัญ เช่น การใส่ รองเท้าเข้ามัสยิด "การทำกริยาท่าคล้ายกราบพระและการกล่าวคำสาบาน" การบริโภคสุกร การดื่มสุรา และเรื่องเกี่ยวกับ "โต๊ะหะยี" (ผู้ที่ผ่านการไปเมกกะมาแล้ว) และ "โต๊ะครู" (ผู้รู้ทางศาสนา) เป็นต้น
(ยังมีต่อ)
**********

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 20-26 กรกฎาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน


หมายเหตุหรือคำบรรยายภาพแบบเต็ม : สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระวรชายา กับ องค์อภิรัฐมนตรีสภา (ก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468); แถวบนจากซ้ายไปขวา: จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระรมราชินี, จอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต แถวล่างจากซ้ายไปขวา: นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ, นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์, มหาอำมาตย์เอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8