Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (60)

รัฐบาลเลือกตั้ง “ชาติชาย”
และการรัฐประหาร รสช.

วันที่ 25 สิงหาคม 2531 รัฐบาลชุดที่ 45 นับจากการอภิวัฒน์สยาม 2475 ที่นำโดย พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติไว้วางใจ นั่นหมายความว่าพล.ต.ชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งหลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ผลงานทางการเมืองที่สำคัญใน 2 สัปดาห์หลังถวายสัตย์ปฏิญาณเข้าบริหารราชการแผ่นดินสำหรับรัฐบาลพลเรือน ที่มีศักดิ์และสิทธิในฐานะนายทหารนอกราชการ นั่นคือในวันที่ 8 กันยายน 2531 จัดการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินวันที่ 9 กันยายน 2528 เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นการด่วน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยพิจารณารวดเดียวสามวาระ ทั้งยังให้รัฐบาลดำเนินการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองอื่นๆ ที่กำลังได้รับโทษ เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลในแต่ละยุคแต่ละสมัย จากนั้นจึงได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2531

ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวทางรัฐสภาอันมีผลต่ออำนาจนิติบัญญัติคือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรัฐสภารับหลักการ โดยให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญจำนวน 45 คน กำหนดการแปรญัตติภายใน 7 วัน

จากนั้นในวันที่ 19 มกราคม 2532 พรรคฝ่ายค้านที่ประกอบด้วย พรรครวมไทย พรรคประชาชน พรรคกิจประชาคม และพรรคก้าวหน้า รวม 4 พรรคได้รวมกันเป็นพรรคเดียวใช้ชื่อว่า พรรคเอกภาพ หัวหน้าพรรคได้แก่ นายณรงค์ วงศ์วรรณ เลขาธิการพรรคคือ นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ มีสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวม 71 คนทั้งนี้เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้ในเวลาต่อมาเกิดกหลักการที่แนวโน้มการเมืองไทย พูดกันเรื่องพรรคการเมืองใหญ่จำนวนน้อย แทนที่จะเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย ซึ่งยากจะเป็นเอกภาพในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อการบริหาประเทศ

รัฐบาลพล.อ.ชาติชายรอดพ้นจากการขอเปิดอภิปรายทั่วไปถึง 2 ครั้งในเวลา 2 ปี ครั้งแรกในวันที่ 18 กรกฎาคม 2532 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติ ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และการพลังงาน แต่รัฐมนตรีทั้ง 4 คน ยังคงได้รับความไว้วางใจ

ต่อมาพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติเสนอขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐมนตรีทั้งคณะ เมื่อวันที่ 18-20 กรกฎาคม 2533 และลงมติใน โดยอ้างสาเหตุว่ามีปัญหาด้านเศรษฐกิจและการคลัง ปัญหาด้านการเมืองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาความไม่มั่นคงทั้งภายในราชอาณาจักรและบริเวณพรมแดนของประเทศ และปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การเปิดอภิปรายใช้เวลานานกว่า 40 ชั่วโมง มีผู้อภิปราย 67 คน ฝ่ายค้านได้นำเสนอข้อมูลมาแถลงต่อสภา และรัฐมนตรีก็นำเอกสารมาชี้แจงและโต้ตอบ ปรานสภากำหนดให้สภาลงมติในวันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม 2533 ผลคือที่ประชุมให้ความไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ด้วยคะแนนเสียง 220 ต่อ 38

แต่แล้วสิ่งที่ตามมาคือความแตกแยกในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล และภาพพจน์ของรัฐบาลตกต่ำลงในเรื่องที่รัฐมนตรีบางคนถูกกล่าวหาว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถึงแม้นายกรัฐมนตรีจะจัดการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี โดยมีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีไปแล้วก็ตาม ประกอบกับมีความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีกับฝ่ายทหาร ทำให้พล.อ.ชาติชายตัดสินใจกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2533 ก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพล.อ.ชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง คณะรัฐมนตรีชุดใหม่มีทั้งหมด 46 คน ประกอบด้วยรัฐมนตรีจากพรรคการเมือง 5 พรรค คือ พรรคชาติไทย พรรคเอกภาพ พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร และพรรคปวงชนชาวไทย มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมรัฐบาล 2 คน รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2534

ระหว่างนั้นจากผลของสงครามอ่าวเปอร์เซียอันเป็นการสู้รบระหว่างกลุ่มพันธมิตร นำโดยสหรัฐอเมริกากับประเทศอิรัก ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการที่อิรักเข้ายึดครองคูเวต ในเดือนสิงหาคม 2533 รัฐบาลต้องประกาศขึ้นราคาน้ำมันปิโตรเลียมถึง 2 ครั้ง เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลที่ทำให้ไม่สามารถรับมือกับปัญหาค่าครองชีพที่ขยับสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง

แต่แล้วในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ระหว่างที่พล.อ.ชาติชาย กำลังจะนำพล.อ.อาทิตย์ ขึ้นเครื่องบินจากสนามบินกองทัพอากาศ เพื่อเข้าเฝ้าถวายคำสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายพลทั้งสองก็ถูกคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จับกุมตัว

จากนั้นคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่ง ชาติ (รสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก, พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ, และ พล.อ. อิสระพงศ์ หนุนภักดี ก็ออกแถลงการณ์ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ยกเลิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 พุทธศักราช 2521 โดยอ้างเหตุผลในการยึดอำนาจว่า

  1. รัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นรัฐบาลบุฟเฟ่ต์คาบิเนต ร่ำรวยผิดปกติ
  2. เพื่อขจัดภยันตรายที่มีต่อประเทศชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากรัฐบาลละเลยคดีลอบสังหารเชื้อพระวงศ์ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีก 2 คนโดยอ้างอิงคำสารภาพของ พ.อ.บุลศักดิ์ โพธิเจริญ ส.ส. พรรคพลังธรรม จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งให้การซัดทอด พล.ต.มนูญ รูปขจร (พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร)

ภายหลังการยึดอำนาจ คณะ รสช. ได้แต่งตั้งให้ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดในขณะนั้น ดำรงตำแหน่ง ประธาน รสช.

คณะ รสช. ได้ออกคำสั่งคณะ รสช. ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2534 แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) มีพลเอกสิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน ทำการอายัตและตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จำนวน 23 คน ผลการตรวจสอบทรัพย์สิน สรุปให้ยึดทรัพย์ของอดีตรัฐมนตรีจำนวน 10 คน.



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 8-14 พฤษภาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8