Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (59)

วิกฤตภายในพรรคประชาธิปัตย์
สู่การสิ้นสุดยุค "นายกคนนอกฯ"

ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 รัฐบาลพยายามนำพระราชกำหนด 9 ฉบับเข้าสภาเพื่อผ่านเป็นพระราชบัญญัติ แต่เนื่องจากความแตกแยกกันในพรรคร่วมรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ในคืนนั้นเอง รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2529

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 347 คน มีผู้สมัครได้รับเลือกเข้ามา 15 พรรค พรรคที่ได้ผู้แทนราษฎรมากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 100 คน พรรคชาติไทยได้ 63 คน พรรคกิจสังคมได้ 51 คน พรรคสหประชาธิปไตยได้ 38 คน พรรคประชากรไทย 24 คน

ที่ประชุมสภาเลือกได้ นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

แล้ววันที่ 5 สิงหาคม 2529  ประเทศไทยก็ได้รัฐบาลชุดที่ 44 เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 7 พรรค รวม 290 เสียง นำโดยพรรคใหญ่คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม และพรรคราษฎร ให้การสนับสนุนพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีร่วมคณะอีก 44 คน คณะรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติในวันที่ 26 สิงหาคม

และได้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านคือ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ หัวหน้าพรรคสหประชาธิปไตย

ในวันที่ 22 สิงหาคม มีวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งร่วมกันยื่นญัตติด่วนถึงประธานรัฐสภา กรณีนายวีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม มีข้อความละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ จึงขอให้วุฒิสภา ส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการตามกฎหมาย

นายวีระ มุสิกพงศ์ ได้ทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมฉายาลักษณ์ที่รัฐสภา และลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นการลดความกดดันจากการโจมตีของฝ่ายค้าน กับเป็นการเปิดโอกาสให้ตำรวจและอัยการดำเนินคดีได้

ต่อมามีการเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลหลายครั้ง หลายคราดังเช่น ในวันที่ 25 กันยายน หัวหน้าฝ่ายค้านและคณะได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 8 ตุลาคม และลงมติไว้วางใจ แต่ร้อยตำรวจเอกสุรัตน์ก็ขอลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา

จากนั้นก็เป็นกรณีนายแคล้ว นรปติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดของแก่น ถูกดำเนินคดีในข้อหาไม่ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2522 ศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี เป็นเหตุให้นายแคล้วหมดสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

วันที่ 22 เมษายน นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ขอเปิดอภิปรายเรื่องการทำหลักฐานเท็จเพื่อขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถอนชื่อออก 15 คน ทำให้จำนวนผู้เข้าชื้อเสนอญัตติเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิก ทั้งหมดจึงไม่สามารถเสนอญัตติได้

และอีกครั้งหนึ่ง นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ กับคณะได้เสนอขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในวันที่ 21-22 ตุลาคม ไม่ไว้วางใจนายบรรหาร ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่สุจริต พื่อประโยชน์ของบริษัทของตน แต่ที่ประชุมลงมติไว้วางใจ

คความแตกแยกครั้งสำคัญมาถึงพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากสมาชิกพรรคส่วนหนึ่งซึ่งต่อมาเรียกกันว่า "กลุ่ม 10 มกราคม" ไม่พอใจนายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรค เรื่องการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีตามโควตาในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้เมื่อรัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 3 ฉบับ ต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 เมษายน 2531 สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งอภิปรายไม่เห็นด้วย ดังนั้นเมื่อลงมติในวาระที่ 3 สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ลงคะแนนเสียงคัดค้าน 31 คน ร่วมกับฝ่ายค้านการลงมติเห็นด้วย 183 เสียง ไม่เห็นด้วย 134 เสียง

รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ 4 คน จึงตัดสินใจขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีปรับปรุงคณะรัฐมนตรี ในขณะที่นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอตัวลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์มีมติให้รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ 16 คน ลาออกจากตำแหน่งพร้อมกันในวันที่ 29 เมษายน นำไปสู่การออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 29 เมษายน

ในช่วงปลายรัฐบาลขณะเตรียมการเลือกตั้ง มีกระแสการคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 จากกลุ่มนักวิชาการ พลเอกเปรมจึงประกาศไม่รับตำแหน่ง รวมเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี 5 เดือน สำหรับคณะรัฐมนตรี 5 ชุด และในระหว่างนั้นมีการยุบสภา 3 ครั้ง

สำหรับผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 เลือกได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 357 คน พรรคต่างๆ ได้รับเลือกมาดังนี้ พรรคชาติไทยได้ผู้แทนราษฎร 87 คน พรรคกิจสังคมได้ 54 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 48 คน เป็น 3 พรรคที่ได้คะแนนสูงกว่าพรรคอื่น

ในวันที่ 25 กรกฎาคม มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพิ่มอีก 13 คน ตามสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภามีทั้งหมด 267 คน รวมสมาชิกรัฐสภา 624 คน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกนายปัญจะ เกสรทอง เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

พรรคชาติไทยได้ผู้แทนราษฎรมากที่สุด จึงเป็นแกนจัดรัฐบาลมีพรรคการเมือง 7 พรรคร่วมเป็นรัฐบาลคือ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคราษฎร พรรคสหประชาธิปไตย พรรคมวลชน และพรรคพลังธรรม รวม 234 คน ในวันที่ 4 สิงหาคม 2531 จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17

หลังจากไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2531 โปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 กันยายน 2541 หลังจาก ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ ถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี และดำรงตำแหน่งมาจนปัจจุบัน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 1-7 พฤษภาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8