Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559

"มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" กับการอภิวัฒน์สยามและระบอบประชาธิปไตย

"มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง"
กับการอภิวัฒน์สยามและระบอบประชาธิปไตย

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ ในปี พ.ศ. 2416 และทรงริเริ่มการเปลี่ยนผ่านการปกครองของสยามในระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ มาสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วนั้น นอกเหนือจาก "รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง" ทั้งด้านการเงินการคลัง การทหาร และการปกครองแล้ว การชำระและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายก็เป็นความจำเป็นสำหรับระบอบการปกครองอย่างใหม่ในเวลานั้น ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมเป็นองค์กรหลักของกระบวนการยุติธรรมสยามขึ้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434

จากนั้นเพื่อเป็นการผลิตบุคลากรขึ้นมารับใช้ระบอบการปกครองใหม่ เพื่อรองรับการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลไทย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม แต่ครั้งมีพระยศที่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมาย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2440 สำหรับที่ตั้งของโรงเรียนกฎหมายนั้นได้แก่ห้องเสวยของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมซึ่งอยู่ถัดจากห้องทรงงาน โดยทรงให้การศึกษาด้วยพระองค์เองเมื่อทรงเสร็จสิ้นการเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว ครั้นมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นจึงย้ายไปยังตึกสัสดีหลังกลาง กระทรวงยุติธรรม

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2453 กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เป็นเหตุให้โรงเรียนกฎหมายทรุดโทรมตามลำดับ ต้องไปเปิดการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราวที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร และที่เรือนไม้หลังเล็ก ๆ ระหว่างตึกศาลแพ่งกับตึกเก๋งจีนซึ่งบัดนี้ได้รื้อทิ้งลงแล้ว

พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับโรงเรียนกฎหมายไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยให้สังกัดกระทรวงยุติธรรม และให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโรงเรียนนี้ โดยสถานที่เรียนนั้นย้ายมายังตึกกรมประชาสัมพันธ์เดิมบริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา

เมื่อเกิดการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ใน "ประกาศของคณะราษฎร" ในวันยึดอำนาจกล่าวว่า การที่ราษฎรยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยนั้น "เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่" นโยบายหรือหลักประการที่ 6 ใน หลัก 6 ประการของคณะราษฎร จึงระบุไว้ว่า "จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร" สถาบันศึกษาแบบใหม่ที่เปิดกว้างให้ประชาชนชาวสยามได้รับการศึกษาชั้นสูง โดยเฉพาะที่จะรองรับการปกครองบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมาคู่กันกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

แต่ถึงกระนั้นเอง แนวคิดที่จะจัดสถาบันอุดมศึกษาใหม่ก็ยังไม่สามารถบรรลุได้ ในขั้นต้น พ.ศ. 2476 รัฐบาลคณะราษฎรเปิดการเรียนการสอนทางด้านกฎหมายและการเมืองการปกครองเพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยจัดตั้งคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วให้โอนโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ไปสมทบเมื่อวันที่ 25 เมษายน หากในทางพฤตินัย ยังคงจัดการเรียนการสอนยังคงอยู่ที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลาเช่นเดิม ซึ่งการให้โอนโรงเรียนกฎหมายไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สร้างความไม่พอใจให้แก่นักเรียนโรงเรียนกฎหมาย ที่ต้องการให้ยกฐานะโรงเรียนของตนเป็นมหาวิทยาลัยดังเช่นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่กลับเสมือนถูกยุบหายไปโดยปริยาย เป็นเหตุให้นักเรียนกฎหมายดังกล่าวเคลื่อนไหวหนุนให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น

การเคลื่อนไหวดังกล่าว นำไปสู่การตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 ขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม จากนั้นในวันที่ และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ณ ที่ตั้งเก่าของโรงเรียนกฎหมาย บนถนนราชดำเนิน เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา โดยนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียว ได้กล่าวไว้ในโอกาสจัดตั้งมหาวิทยาลัยว่า

"การตั้งสถานศึกษาตามลักษณะมหาวิทยาลัยย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยามจะเจริญในอารยธรรมได้ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ำ ตลอดจนการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้นการที่จะอำนวยความประสงค์และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจำต้องมีสถานการศึกษาให้ครบบริบูรณ์ทุกชั้น"

และ

"มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น"

จนเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารนำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบโดยตรง ผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ชื่อมหาวิทยาลัยถูกตัดคำว่า "การเมือง" ออก คงเหลือเพียง "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ตำแหน่งผู้ประศาสน์การถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นตำแหน่งอธิการบดีพร้อมกับการยุบหลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตร์บัณฑิต

วิบากกรรมครั้งสำคัญของมหาวิทยาลัยที่ถือกำเนิดขึ้นตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย มาถึงภายหลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตกเป็นเป้าว่าให้ความร่วมมือกับทหารเรือฝ่ายกบฏ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุมทางการเมือง และปิดพร้อมกับส่งทหารเข้ายึดมหาวิทยาลัยโดยให้เหตุผลว่า "ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราว และเพื่อความสงบเรียบร้อย" ต่อมาคณะกรรมการนักศึกษามีมติร่วมกันผลักดันให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนชั่วคราว โดยขอใช้สถานที่ของเนติบัณฑิตยสภาและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาฯ สำหรับการบรรยายให้นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ตามหลักสูตรคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ ทั้งนี้ ในช่วงเย็นนักศึกษาและอาจารย์ต้องอาศัยเพียงแสงตะเกียงสำหรับการเรียนการสอน

และในที่สุดความเป็นตลาดวิชาอันเป็นความประสงค์จะให้ลูกหลานประชาชนทั่วไป สามารถเข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยเสมอหน้ากันตามเจตนารมณ์ของการอภิวัฒน์สยาม ก็มีอันถึงจุดสิ้นสุดลง ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พุทธศักราช 2495.

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 18-24 กุมภาพันธ์ 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8