Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (61)

"มหาจำลอง" กับพรรคพลังธรรม 
เส้นทางสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ในห้วงเวลาคาบเกี่ยวกับ "เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535" มีเหตุการณ์และผู้คนที่ก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองอย่างสำคัญ และมีผลสืบเนื่องต่อการเมืองไทยอีกกว่า 1 ทศวรรษ หนึ่งในจำนวนนั้นคือการก้าวมามีบทบาททางการเมืองของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

พล.ต.จำลอง ผู้ได้รับฉายา "มหา 5 ขัน" หรือที่ในเวลาต่อมาเหลือเพียง "มหา" เนื่องจากเคยประกาศเป็นผู้ใฝ่ในทางธรรมปฏิบัติตนสมถะ นอนไม้กระดานแผ่นเดียว แม้แต่การอาบน้ำก็จะใช้น้ำเพียง 5 ขัน นอกจากนั้นก็แต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ คือ สวมเสื้อม่อฮ่อมเป็นประจำ โดยสวมมาตั้งแต่ปี 2522 และไว้ผมสั้นเกรียนมาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต่อมาได้ขอลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไขกฎหมายทำแท้ง

แต่ชื่อเสียงของพล.ต.จำลองมาโดดเด่นในช่วงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี 2528 เบอร์ 8 ในนาม "กลุ่มรวมพลัง" โดยชนะได้รับคะแนนเสียงถึง 408,233 คะแนน และต่อมาในปี 2531 จึงก่อตั้ง "พรรคพลังธรรม" หรือที่สื่อสารมวลชนพากันเรียกว่า "พรรคพลังผัก" โดยที่สนับสนุนให้คนหันมากินอาหารมังสวิรัติ ตามแนวทางปฏิบัติของสำนัก "สันติอโศก" ของ "สมณะโพธิรักษ์ (รักษ์ รักพงษ์)" กระแสความนิยมในตัว พล.ต.จำลอง พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นกระแส "จำลองฟีเวอร์" และเรียกกันติดปากว่า "มหาจำลอง" ชนะการเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่า ฯ เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันในปี 2533 โดยได้รับคะแนนท่วมท้นถึง 703,671 คะแนน ทิ้งห่างผู้สมัครจากพรรคประชากรไทยคือ นายเดโช สวนานนท์ ถึง 419,894 คะแนน แต่ก่อนที่จะครบวาระ 4 ปี ก็ลาออก และผันตัวเองสู่สนามเลือกตั้งระดับชาติ

หลังจากการทำรัฐประหาร รสช. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 และประกาศจัดตั้งสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งต่อมาได้เลือกสรรให้นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาและอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรี มีคณะรัฐมนตรีรวม 34 คน รัฐบาลนายอานันท์ ถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นชุดธุรกิจการเมือง และทุนนิยม ขุนนาง หรือ "ผู้ดีรัตนโกสินทร์" เป็นต้น แล้วเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จเรียบร้อย และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้ ณ วันที่ 9 ธันวาคม พุทธศักราช 2534 และได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม 2535 สำหรับในระหว่างการยกร่างนั้น มีการเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบทบัญญัติว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือที่เรียกกันว่า "นายกคนนอก"

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม 2535 มีพรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด 3 พรรคดังนี้ พรรคสามัคคีธรรม 79 คน พรรคชาติไทย 74 คน พรรคความหวังใหม่ 72 คน ในขณะที่พรรคพลังธรรมได้รับคะแนนความนิยมสูงสุดในพื้นที่กรุงเทพ ฯ โดยสามารถกวาดที่นั่งได้ถึง 32 ที่นั่งจาก 35 ที่นั่ง ดังนั้นหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมคือ นายณรงค์ วงศ์วรรณ จะเป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐบาลและหัวหน้าพรรคควรจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายณรงค์ถูกคัดค้านว่า มีชื่ออยู่ในบัญชีดำของฝ่ายปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับมีพรรคการเมืองหลายพรรคหนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกให้เป็นนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในที่สุด พล.อ.สุจินดา ก็ยินดีรับเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้มีพระบรมราชโองการตั้งสมาชิกวุฒิสภา 270 คน ในวันที่ 22 มีนาคม 2535 เช่นกัน

ผลจากการจัดตั้งรัฐบาลผสม ทำให้เกิดวาทกรรม "พรรคเทพ พรรคมาร" ขึ้นซึ่งเป็นคำที่สื่อมวลชนใช้เรียกกลุ่มพรรคการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬหลังจากนั้น นั่นคือ "พรรคมาร" หมายถึง 5 พรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.สุจินดา ได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย  พรรคกิจสังคม (31 เสียง) พรรคประชากรไทย (7 เสียง) และพรรคราษฎร (4 เสียง) ซึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมีกระแสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และทั้ง 5 พรรคนี้ต่างเคยตอบรับมาก่อน แต่ในที่สุดกลับหันมาสนับสนุน พล.อ.สุจินดา และเห็นว่าเป็นการพยายามสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร (รสช.)

ในขณะที่พรรคที่ถูกเรียกว่า "พรรคเทพ" คือพรรคที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน ไม่สนับสนุนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำคณะรัฐประหาร รสช. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และได้ประกาศต่อสาธารณะมาตลอดว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยที่กระแส "นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง" เป็นกระแสหลักของสังคมไทยในขณะนั้น พรรคเทพ ประกอบด้วย 4 พรรคการเมืองคือ พรรคความหวังใหม่ (72 เสียง) พรรคประชาธิปัตย์ (44 เสียง) พรรคพลังธรรม (41 เสียง) และพรรคเอกภาพ (6 เสียง)

ทันทีที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีร่วมคณะ 51 คน และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2535 พล.อ.สุจินดาซึ่งเคยให้ให้สัมภาษณ์หลายครั้งหลังจากการรัฐประหารโดย รสช. ว่า ตนและสมาชิกในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แต่แล้วกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั้นเองเป็นที่มาของวาทกรรม "เสียสัตย์เพื่อชาติ" และเป็นหนึ่งในชนวนให้ฝ่ายที่คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาเคลื่อนไหว เช่นการประกาศและเริ่มอดอาหารของ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง (หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น) อีกทั้งการออกโรงของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ ตามมาด้วยการสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้านประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเอกภาพ พรรคความหวังใหม่และพรรคพลังธรรม โดยมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเสนอว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

การชุมนุมก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน แล้วยืดเยื้อมาจนถึงเดือนพฤษภาคม รัฐบาลเริ่มระดมทหารจากต่างจังหวัดโดยข้ออ้างเพื่อเข้ามารักษาการในกรุงเทพมหานคร ยังผลให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในบริเวณถนนราชดำเนินกลาง และสถานการณ์ทวีความตึงเครียดมากขึ้น

กระทั่งในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม ขณะที่แกนนำประท้วงรัฐบาล ซึ่งมี พล.ต.จำลองรวมอยู่ด้วย มีมติให้เคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมจากสนามหลวงมุ่งหน้าไปทางถนนราชดำเนินกลางเพื่อไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล ตำรวจและทหารก็ได้รับคำสั่งเคลื่อนกำลังเข้าสกัด.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 15-21 พฤษภาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8