"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (11)
กบฏหรือสงคราม (11)
จอมพล ป.พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ประธานสวนสนามเนื่องในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ระลึกสงครามอินโดจีน
**********
ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสทหารของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้เข้าไปเคลื่อนไหวและหาเสียงอาหารอยู่ในพื้นที่อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดีและระแงะ ซึ่งมีเขตติดต่อกับชายแดนมลายูของอังกฤษ จนลึกเข้าไปในพื้นที่ตำบลดุซงญอ อำเภอระแงะ การเข้าไปเคลื่อนไหวหาสมาชิกและเสบียงอาหารของทหารพรรคคอมมิวนิสต์มลายนั้น ได้เกิดกระทบกระทั่งกับชาวบ้านมลายูท้องถิ่นเป็นประจำจนเป็นเหตุรุนแรงขขึ้นที่บ้านกัวลือมู (Gua Lembu) กรณีที่ชาวบ้านไม่ยอมร่วมมือส่งเสบียงอาหารให้ ทหารพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้เผาบ้านของชาวบ้านแถบนั้นเสียหายหลายหลัง ทำให้ชาวบ้านเกิดความเกรงกลัว เมื่อความทราบถึงนาย กาลี เจ๊ะเต๊ะ กำนันดุซงญอ จึงได้แจ้งไปยังอำเภอระแงะทราบ แต่ทางอำเภอก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆในเรื่องนี้เนื่องจากข้อมูลการข่าวเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์มลายาเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีฐานการข่าวมากกว่านี้จนกระทั่งต่อมาก่อนจะเกิดเหตุประมาณ 3 เดือน ทหารพรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้ามาปิดล้อมบ้านกำนัน แล้วปล้นเอาทรัพย์สินต่างๆจากบ้านกำนันพร้อมกับยิงปืนเข้าไปในบ้านกำนันเสียหาย แล้วล่าถอยไป พร้อมกับเกณฑ์ชาวบ้านแบกเสบียงอาหารและสิ่งของต่างๆที่ปล้นมาได้ ให้ไปส่งยัง เชิงเขาไอตือกอ เมื่อถึงบริเวณนั้น ชาวบ้านหลายคนทิ้งสิ่งของพากันหลบหนี
2. ชาวบ้านรวมกลุ่มต้านโจรจีนคอมมิวนิสต์ กลับกลายเป็นกบฏ
ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย แจ้งทางอำเภอแล้วก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขประการใด ชาวบ้านจึงไปปรึกษาโต๊ะเปรัค ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ก็ได้รับการแนะนำให้จัดตั้งกองกำลังเพื่อต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา โดยทางโต๊ะเปรัค จะทำพิธีทางศาสนา ดังนั้นชาวบ้านจึงได้รวมกันที่บ้านกัวลือมู ทำพิธีทางศาสนาขึ้นบนภูเขาบ้านกัวลือมูเป็นเวลานานประมาณ 1 สัปดาห์ นอกจากนั้นโต๊ะเปรัค ยังทำพิธีต้มน้ำมันเพื่อเป็นน้ำมนต์ให้ชาวบ้านได้ใช้ประพรมทาตัวเป็นน้ำมนต์ให้เกิดศิริมงคลด้วย
ก่อนเกิดเหตุการณ์ประมาณ 2 วัน มีชาวจีนจากระแงะชื่อนายบุนกี่ หรือชาวบ้านเรียกว่าเจ๊ะมะ นำสินค้าไปขายในตลาดดุซงญอ ได้ถูกนายสะแปอิง ชาวบ้านดุซงญอใช้มีดฟันบาดเจ็บ ทางอำเภอจึงได้ส่งปลัดอำเภอท่านหนึ่งชื่อ นายมนูญ เสมียนอำเภอคนหนึ่งและ ตำรวจอีกคนหนึ่งออกไปสืบสวนข้อเท็จจริง ที่บ้านดุซงญอ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปแอบดูการทำพิธีที่บนภูกัวลือมู พบกับชาวบ้านที่ไปทำพิธี ชาวบ้านก็พากันขับไล่เจ้าหน้าที่ทั้งสองต่างก็หลบหนีกลับไปยังอำเภอและเล่าเหตุการณ์ให้ทางอำเภอ เชื่อว่าเป็นการเตรียมการเพื่อก่อการกบฏ ซึ่งเวลาก่อนหน้านั้นมีกรณีการจับกุมนายหะยีสุหลง ที่จังหวัดปัตตานี ทางราชการจึงได้เชื่อว่าการชุมนุมของชาวบ้านดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อเหตุร้ายและต่อต้านรัฐบาลในกรณีหะยีสุหลงฯ ถูกจับกุมทางการจึงเรียกเหตุการณ์นั้นว่า "กบฏดุซงญอ"
สถานการณ์ในพื้นทีดังกล่าวยิ่งตึงเครียด เหตุการณ์ได้ถูกรายงานไปยังจังหวัด ทางจังหวัดไดรายงานต่อไปจนถึงกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาลได้ส่งกำลังตำรวจจากสงขลา ยะลา สมทบกันตำรวจจากนราธิวาส เข้าไปเพื่อทำการปราบปรามเหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏดุซงญอ" ให้เด็ดขาด โดยมี พ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา เป็นหัวหน้าคณะ ร.ต.ต.พิงพันธ์ เนตรรังสี ร.ต.ต.กรี ไม่ทราบนามสกุลเป็นทีมงาน
คุณวรมัย กบิลสิงห์ ได้เล่าในหนังสือ ดุซงญอ 2491 ว่า
"คุณประยูร ชันสุพัฒน์ ให้ข่าวว่า
เหตุการณ์ในวันที่ 26 เมษายน 2491 ตอนเช้าตำรวจมาถึงศาลาพักร้อน ซึ่งห่างจากตลาดดุซงญอ ราวครึ่งกิโลเมตร รองผู้กำกับบุญเลิศ เลิศปรีชา ร.ต.ท.กรี ร.ต.ต.พิงพันธ์ เนตรรังสี กับพลประมาณ 28 สั่งแยกเป็น 2 หน่วย
หน่วยที่ 1 ร.ต.ต. พิพันธ์ เนตรรังสี กับพล 28 นาย หน่วงที่ 2 รองผู้กำกับบุญเลิศ เลิศปรีชา ร.ต.ท.กรี กับพลประมาณ 14 คนหน่วยที่ 1 และที่ 2 ซุ่มอยู่ช้างทางห่างกันราว 200 เมตร หน่วยที่ 1 แบ่งกองล่อออกไป 4 นาย
พอกองล่า 4 นาย ซึ่งมี สิบตรีสง รุ่งเรือง เป็นหัวหน้า เดินไปถึงที่อยู่ของพวกจลาจล พอมันเห็นก็ตีกลองใหญ่แล้วโห่ร้อง ยา ซัลญาลา ลีวัลอิกรอม วิ่งถือดาบ ถือปืนกรูออกมาไม่เป็นระเบียบช้าบ้างเร็วบ้าง คนหัวหน้าแต่งตัวด้วยผ้าขาวคาดเอวด้วยผ้าแดง เดินพนมมือชูดาบว่าค่าออกมา พอทันกันก็ลงมือฟัน
พวกกองล่อ 4 คนพอล่อให้มันออกมาแล้วก็ถอย ถอยพลางยิงพลางจนกระสุนหมด จะบรรจุกระสุนใหม่ไม่ทัน จึงเอาปืนตีมัน มันก็ยิ่งบ้าเลือกใหญ่ เข้าล้อมรอบตัวกองลาดตระเวรทั้ง 4 และเข้าแย่งเอาปืนไปได้
สี่เสือไทยได้เข้าชกต่อยต่อสู้เป็นสามารถ แต่เพราะน้อยตัวกว่ามากนักจึงเสียชีวิตทั้ง 4 นาย
เมื่อได้เกิดการตะลุมบอนแก่กองตระเวน ดังนั้นรองผู้กำกับการบุญเลิศ เลิศปรีชา จึงสั่งยิง ยิงพร้อมกันทั้ง 2 หน่วย พวกจลาจลไม่หนีกระสุนกลับดาหน้าเข้ามา จึงเกิดต่อสู้กันในระยะใกล้ชิด พวกเราน้อยกว่ามาก พวกจลาจลราว 300 คน...ฯลฯ
เหตุการณ์ปะทะระหว่างตำรวจไทยกับมลายูในวันที่ 26 นี้ตำรวจไทยเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 1 นาย มลายูประมาณ 10 คน (ไม่แน่นอนเพราะเราเป็นฝ่ายถอย)
เหตุการณ์ในวันที่ 26 เมษายน 2491 ตอนค่ำ ตำรวจทางจังหวัดใกล้เคียงมาช่วยเหลือคือ
1.สายยะลา ร.ต.อ. อรรถถพล สูยะโภชน์ ร.ต.ต.ประยูร ชั้นสุพัฒน์ กับพล 20 นายทั้ง 3 สายนี้เดินทางรวมกันที่ตันหยงมัส (อำเภอระแงะ)แล้วแยกเดินทางมาพักที่ตำบลกลีซา 1 คืน รอฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือ
2.สายปัตตานี พล 30 นาย นายสิบมาส่งแล้วกลับก่อน
(ยังมีต่อ)
**********
ประเด็นสำคัญ ที่ยังคงดูเหมือนเป็น "จุดอ่อน" ของรัฐไทย จนแม้ทุกวันนี้ต่อการบริหารประเทศในพื้นที่ล่อแหลมทางการเมือง คือ "การข่าว" (เพียงพิจารณาจากความขัดแย้งในเหตุการณ์ยุคใกล้ ที่ยังไม่อาจนับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำไป นับจาก "เหตุการณ์ 14 ตุลา" เป็นต้นมา) โดยเฉพาะใน "พื้นที่ไวต่อปัญหา (sensitive area)" เช่น "จังหวัดชายแดนใต้" ซึ่งมีการสะสมปมเงื่อนทางการเมืองการปกครองมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ (ดังที่เริ่มต้นเขียนเรื่องนี้ใน โลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 395 วันที่ 19-25 มกราคม พ.ศ. 2556) แม้ดูเหมือนว่ารัฐบาลประชาธิปไตยภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร ที่ต่อมาพัฒนาเป็นพรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรคสหชีพ และพรรคแนวรัฐธรรมนูญ จะได้มีความพยายามสะสางและบริหารจัดการปัญหาดังกล่าว (จะเขียนถึงต่อไปถึงการหารือวางแนวทางโดยนายปรีดี พนมยงค์และหะยีสุหลง) แต่แล้วการรัฐประหาร 8 พฤศจิการยน 2490 ก็ทำลายโอกาสตามแนวทางดังกล่าวลงอย่างสิ้นเชิง.
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 8-14 กุมภาพันธ์ 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน