Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (4)

สังเขปการปกครองระบบจตุสดมภ์: ก่อนและหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์


แผนที่อยุธยา แสดงอาณาเขตพระนครจากภาพมุมสูง

"กบฏชาวนา" หรือ "กบฏไพร่" ครั้งใหญ่และส่งผลสะเทือนต่อระบอบการเมืองการปกครองมากที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เรียกชื่อต่างๆกันไปคือ "กบฏผู้มีบุญ" หรือ "ขบถผีบุญ" หรือ "กบฏผีบ้าผีบุญ" ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2444-2445 มูลเหตุสำคัญประการหนึ่งคือการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจาก "ระบอบศักดินา" หรือ "ระบอบจตุสดมภ์" มาสู่ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" หรือที่เรียกว่า "การปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน"

ก่อนการปฏิรูประเบียบการบริหารราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นผลมาจาก "กรณีวังหน้า" ในปี พ.ศ. 2417 รัฐสยามนับจากสมัยอยุธยา ปกครองด้วยระบอบจตุสดมภ์ และการปกครองพระราชอาณาเขตแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การปกครองส่วนกลาง การปกครองส่วนหัวเมือง และการปกครองเมืองประเทศราช

การปกครองส่วนกลางที่เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งอยุธยา (พ.ศ. 1893-1912) จตุสดมภ์แบ่งออกเป็น 4 กรม มีหัวหน้าเรียกว่า "ขุน" ฐานะเทียบเท่าเสนาบดี แบ่งเป็น

  1. กรมเมือง มีขุนเมืองเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ดูแลความสงบสุขของบ้านเมืองและราษฎร
  2. กรมวัง มีขุนวังเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ดูแลราชสำนัก คดีความ แต่งตั้งยกกระบัตรไปประจำยังหัวเมือง ทำหน้าที่เป็นขุนนางต่างพระเนตรพระกรรณ ตรวจสอบดูแลและทำหน้าที่รายงานข่าวมายังพระนครหลวง
  3. กรมคลัง มีขุนคลังเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่เก็บรักษาและจ่ายพระราชทรัพย์ในราชการ
  4. กรมนา มีขุนนาเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ตรวจการทำไร่นา ออกสิทธิ์ที่นา และเก็บส่วนแบ่งข้าวมาไว้ในฉางหลวง
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) มีการจัดตั้งกรมขึ้นสองกรม ได้แก่ กรมมหาดไทย ซึ่งดูแลกิจการพลเรือน โดยมีสมุหนายกเป็นอัครเสนาบดีดูแล และกรมกลาโหม ซึ่งดูแลกิจการทหาร โดยมีสมุหพระกลาโหมดูแล จตุสดมภ์นั้นให้มาขึ้นกับกรมมหาดไทย แล้วมีการเปลี่ยนชื่อและเพิ่มหน้าที่ ดังนี้

  1. กรมเมืองเปลี่ยนชื่อเป็น กรมพระนครบาล มีพระยายมราชเป็นเสนาบดี ทำหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้าย รักษาความสงบภายใน ดับเพลิงในพระนคร และตัดสินคดีความร้ายแรง
  2. กรมวังเปลี่ยนชื่อเป็น กรมธรรมาธิบดี มีพระยาธรรมาศรีสุริยวงศ์อัครมหาอุดมบรมวงษาธิบดี หรือพระยาธรรมาธิบดีเป็นเสนาบดี ทำหน้าที่ดูแลงานในพระราชสำนัก งานธุรการ ตัดสินคดีความ และแต่งตั้งยกกระบัตรไปดูแลหัวเมืองต่าง ๆ
  3. กรมคลังเปลี่ยนชื่อเป็น กรมโกษาธิบดี มีพระยาศรีธรรมราชเดชาชาติอำมาตยานุชาติพิพัทรัตนราชโกษาธิบดี หรือเรียกสั้นๆว่า พระยาโกษาธิบดี เป็นเสนาบดี ทำหน้าที่เกี่ยวกับพระราชทรัพย์ การค้ากับต่างประเทศ บัญชีวัสดุและอาวุธของราชการ พระคลังหลวง การรับรองทูตต่างประเทศ และการตัดสินคดีความของคนต่างชาติ
  4. กรมนาเปลี่ยนชื่อเป็น กรมเกษตราธิบดี มีพระยาพลเทพราชเสนาบดีเป็นเสนาบดี ทำหน้าที่ตรวจตราและส่งเสริมการทำนา เก็บข้าวไว้เป็นเสบียงยามสงคราม ตัดสินคดีความเกี่ยวกับที่นา ออกกรรมสิทธิ์ที่นาแก่ราษฎร
ทั้งนี้การปกครองส่วนกลางที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และราชวงศ์จักรีขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองราชอาณาจักร และใช้มาช่วงสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วยอัครมหาเสนาบดีสองคน คือ สมุหพระกลาโหม มียศและพระราชทินนามว่า เจ้าพระยามหาเสนา ใช้ตราคชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่งมีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งด้านการทหารและพลเรือน สมุหนายก มียศและพระราชทินนามไม่ทรงกำหนดแน่นอน ที่ใช้อยู่ได้แก่ เจ้าพระยาจักรี บดินทร์เดชานุชิต รัตนาพิพิธ ฯลฯ ใช้ตราราชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่ง มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและอีสานทั้งด้านการทหารและพลเรือน ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสถานภาพ ศักดิ์ ฐานะ และอำนาจหน้าที่ของจตุสดมภ์ มีดังนี้

  1. กรมเวียง หรือ กรมเมือง เสนาบดีคือ เจ้าพระยายมราช มีตราพระยมทรงสิงห์เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปในพระนคร
  2. กรมวัง เสนาบดีคือ พระยาธรรมา ใช้ตราเทพยดาทรงพระนนทิการ (พระโค) เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลพระราชวังและตั้งศาลชำระความ
  3. กรมคลัง หรือ กรมท่า ใช้ตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่ง มีเสนาบดีดำรงตำแหน่งตามหน้าที่รับผิดชอบคือ ฝ่ายการเงิน ตำแหน่งเสนาบดีคือ พระยาราชภักดี, ฝ่ายการต่างประเทศ ตำแหน่งเสนาบดีคือ พระยาศรีพิพัฒน์ และฝ่ายตรวจบัญชีและดูแลหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ตำแหน่งเสนาบดีคือ พระยาพระคลัง
  4. กรมนา เสนาบดีมีตำแหน่ง พระยาพลเทพ ใช้ตราพระพิรุณทรงนาคเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลนาหลวง เก็บภาษีข้าว และพิจารณาคดีความเกี่ยวกับที่นา
ส่วนการปกครองส่วนหัวเมือง แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ หัวเมืองชั้นใน (ดินแดนที่เป็นอยู่ใต้อำนาจรัฐศักดินาดั้งเดิมหรือดินแดนชั้นใน) กับหัวเมืองชั้นนอก

หัวเมืองชั้นใน (เดิมเรียกว่า เมืองลูกหลวง หรือ เมืองหน้าด่าน) ได้แก่ หัวเมืองที่กระจายอยู่รายล้อมเมืองหลวงอยู่ภายในระยะที่จะติดต่อกันได้ภายใน 2 วัน ถือเป็นเมืองบริวารของเมืองหลวง ไม่มีศักดิ์เป็นเมืองอย่างแท้จริง เพราะไม่มี เจ้าเมือง มีเพียง ผู้รั้ง (ซึ่งไม่มีอำนาจอย่างเจ้าเมือง จะต้องฟังคำสั่งจากเมืองหลวง) ได้แก่ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี สมุทรสาคม นครสวรรค์ ชัยนาท ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก

หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ หัวเมืองที่อยู่ถัดออกไปจากหัวเมืองชั้นในทั้งหมด โดยจัดแบ่งระดับเป็นเมืองชั้น เอก โท ตรี ตามขนาด จำนวนพลเมืองและความสำคัญ แต่ละเมืองยังอาจมีเมืองเล็กๆ (เมืองจัตวา) อยู่ใต้สังกัดอีกด้วย เจ้าเมืองของเมืองเหล่านี้ มีอำนาจสิทธิขาดในเมืองของตน แต่ต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการจากส่วนกลางตามเขตการรับผิดชอบคือ

  •  หัวเมืองเหนือและอีสาน อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหนายก
  •  หัวเมืองใต้ (ตั้งแต่เมืองเพชรบุรีลงไป) อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหพระกลาโหม
  •  หัวเมืองชายทะเลตะวันออก (นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สาครบุรี ชลบุรี บางละมุง ระยอง จันทบุรี และตราด) อยู่ในความรับผิดชอบของเสนาบดีกรมพระคลัง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 08-14 กันยายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (3)

"กบฏผู้มีบุญ" อีสาน :
"กบฏกูย" ต้นรัตนโกสินทร์


การสร้างเมืองอุบล

หลังจากการลุกขึ้นสู้ของชาวนาครั้งใหญ่ในสมัยพระเพทราชา ที่เรียกว่า "กบฏบุญกว้าง" ในปี พ.ศ. 2242 แล้ว การแข็งข้อต่ออำนาจรัฐศักดินา (ระบอบจตุสดมภ์) อย่างเป็นขบวนการ มีการจัดตั้ง วางแผน กระทั่งการประกาศสถาปนาการปกครองและ/หรือราชวงศ์ ที่เป็นราษฎรเชื้อสาย "ลาว" ความพยายามรวบรวมไพร่ผล หรือเกิดมีหัวหน้าซึ่งอ้าง "ความเป็นผู้วิเศษ" มีฤทธิ์เดชเหนือผู้คนทั่วไป สามารถสร้างความเชื่อถือศรัทธาขยายวงกว้างออกไปทุกที ห่างหายว่างเว้นไปจากหน้าประวัติศาสตร์เกือบหนึ่งร้อยปี กระทั่งการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2310 การเกิดราชวงศ์ธนบุรีที่มีอายุแสนสั้นเพียง 15 กษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากสามัญชน สายเลือดจีนโพ้นทะเล เพียงพระองค์เดียวคือ "พระเจ้ากรุงธนบุรี" หรือที่ประชาชนในเวลาต่อมาเรียกชื่อตามบรรดาศักดิ์และนามเดิมว่า "พระเจ้าตาก (สิน)"

กบฏชาวนาช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์เป็นกบฏของ "ชาวกูย" ซึ่งมีถิ่นเดิมอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา และอพยพครั้งใหญ่ในสมัยปลายอยุธยา (พ.ศ.2245-2326) เข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน คนสมัยนั้นเรียกชาวกูยว่า "เขมรป่าดง" แต่ชาวกูยเรียกเรียกตัวองว่า "กุย" หรือ "โกย" ซึ่งแปลว่า "คน" และชาวกูยจะไม่ยอมรับคำเรียกขานชาติพันธุ์ของตนว่า "ส่วย" (ปัจจุบันพบชาวกูยในจังหวัดบุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษและ สุพรรณบุรี) ส่วนใหญ่ชาวกูยในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานปนอยู่กับชาวเขมรสูงและชาวลาว ทำให้ชาวกูยถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เขมรสูงและลาว ชุมชนกูย เป็นชุมชนที่สามารถพึ่งตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจ โดยการหาของป่าทั้งสัตว์และพืชพันธุ์ไม้มีค่า รวมทั้งทำการผลิตเพื่ออยู่เพื่อกินในครัวเรือน นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการพัฒนาเครื่องมือและรูปแบบทางการผลิตเพี่อการดำรงชีวิตประจำวัน มีการจัดระเบียบทางการปกครองในชุมชนอย่างมีศักดิ์ศรีตามลำดับชั้นความสำคัญ ผู้มีอาวุโสที่สุดเป็นผู้มีบทบาทต่อการตัดสินผิดถูกในชุมชน ซึ่งชาวกูย เรียกว่า "โขด"

ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 กลุ่มชาวกูยมีฐานะเป็นข้าไพร่แผ่นดินสยาม ถูกเกณฑ์แรงงานและจัดส่งส่วย ให้แก่ทางราชการอยู่โดยตลอด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการเมืองการปกครองในเวลาต่อมา เนื่องจากชายฉกรรจ์ชาวกูยมักหลบหนีการเกณฑ์ บางครั้งถึงกับซุ่มโจมตีทำร้ายขุนนางท้องถิ่น แล้วหนีเข้าป่า ที่สำคัญมีการ "ลุกขึ้นสู้" ขึ้นหลายครั้ง

กบฏชาวนาครั้งแรกในยุครัตนโกสินทร์เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ คือ "กบฏเชียงแก้ว" เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2334 อ้ายเชียงแก้ว ซึ่งตั้งบ้านอยู่ที่ตำบลเขาโอง แขวงเมืองโขง คิดการกบฏ พาพรรคพวกไพร่พลเข้ายึดนครจำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เจ้าเมืองป่วยหนัก และถึงแก่พิราลัย อ้ายเชียงแก้วจึงยึดเมืองนครจำปาศักดิ์ไว้ได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เมื่อครั้งเป็น พระพรหม ยกกระบัตร ยกกองทัพเมืองนครราชสีมามาปราบกบฎอ้ายเชียงแก้ว แต่ก่อนที่กองทัพนครราชสีมาจะยกไปถึง พระประทุมสุรราช (ท้าวคำผง) และท้าวฝ่ายหน้า ผู้น้อง ที่ตั้งอยู่บ้านสิงห์ท่า (เมืองยโสธร) ยกกำลังไปรบกับกองกำลังของฝ่ายอ้ายเชียงแก้วก่อน การสู้รบถึงขั้นแตกหักที่บริเวณ แก่งตะนะ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี) กองกำลังอ้ายเชียงแก้วแตกพ่ายไป อ้ายเชียงแก้วถูกจับได้ และถูกประหารชีวิต

ส่วนกองทัพเมืองนครราชสีมายกมาถึงเมืองจำปาศักดิ์ เหตุการณ์ก็สงบเรียบร้อยแล้ว จึงยกกองทัพไปตีพวกข่า "ชาติกระเสงสวาง จะรายระแดร์" ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง จับพวกข่าเป็นเชลย ได้เป็นจำนวนมาก จากความดีความชอบในการปราบปรามกบฏอ้ายเชียงแก้วนี้เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ท้าวฝ่ายหน้า เป็นพระวิไชยราชขัตติยวงศา ครองนครจำปาศักดิ์ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระประทุมสุรราช เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ครองเมืองอุบลราชธานี พร้อมกับยกฐานะบ้านห้วยแจระแมขึ้นเป็นเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 (พ.ศ.2335) ดังปรากฏในพระสุพรรณบัตรตั้งเจ้าประเทศราชในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่า

"….ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้า ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพ มหานครศรีอยุธยา มีพระราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ตั้งให้ พระประทุม เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ครองเมืองอุบลราชธานี ศรีวนาไลยประเทศราช เศกให้ ณ วัน 2 แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 ปีจัตวาศก..."

ถัดมาในสมัยรัชกาลที่ 2 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เกิด "กบฏสาเกียดโง้ง" ขึ้นในปี พ.ศ. 2363 ทางกรุงเทพฯรียกกันว่าเป็น "กบฏข่า" (คำว่า "ข่า" ในภาษาไทย ลาวกลาง ลาวใต้ ออกเสียงตรงกันหมดว่าข่า แต่ความหมายและคำที่ถูกคือ "ข้า" ที่หมายถึง ขี้ข้า หรือ ข้าทาส หรือ ทาส; (อ่านแผ่นดินท้องถิ่นเรา, สุจิตต์ วงษ์เทศ, พลังลาว ชาวอีสาน มาจากไหน เวลาเปลี่ยนไป ความหมาย "ลาว" เปลี่ยนแปลง, มติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์, http://info.matichon.co.th/weekly/wk_txt.php?srctag=MTQxMzAwNjQ5) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลาวใต้ และบริเวณอีสานใต้ ทางราชสำนักราชวงศ์จักรีที่กรุงเทพฯ มีบัญชาให้เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเวียงจันทร์ ยกทัพไปปราบ และได้จับสาเกียดโง้ง และชาวข่า (กูย) พร้อมทั้งครอบครัวจำนวนมากส่งมากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จำสาเกียดโง้งไว้ตลอดชีวิต ส่วนครอบครัวกูยโปรดให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ตั้งบ้านเรือนที่บางบอนธนบุรี กูยเคยมีจำนวนถึง 300,000  คน ถูกลดจำนวนลงเหลือเพียงไม่กี่พัน เมื่อรัฐไทยได้เข้าไปจัดเก็บภาษีในบริเวณอีสานใต้ โดยมีการพัฒนาจัดเก็บภาษีเป็นควาย ซึ่งนอกเหนือจากภาษีของคนป่า เพื่อนำส่งไปยังกรุงเทพฯ เช่นปี พ.ศ. 2402 ที่เมืองสุรินทร์ ให้จัดส่งควาย 61 ตัว เมืองรัตนบุรี 163 ตัว และกองพระยาภักดีชุมพลเมืองสุรินทร์ 32 ตัว

จะเห็นว่าราชสำนักทางกรุงเทพฯ มีการวางแผนจัดกำลังให้ชนชาติต่างกันเข้า "ปราบปราม" การลุกขึ้นสู้ที่เป็น "กบฏชาวนา" ไม่เพียงเป็นการใช้นโยบาย "แบ่งแยกแล้วปกครอง" เท่านั้น หากยังเป็นการสร้างความไม่ไว้วางใจและความเคียดแค้นระหว่างชนชาติต่างๆในขอบขัณฑสีมา จนไม่สามารถสามัคคีกันหรือรวมกันติด และอาจก่อให้เกิดปัญหาที่มีขนาดและขอบเขตใหญ่มากกว่าที่เป็นอยู่นั้น แม้ว่าแต่ละเชื้อชาติเหล่านั้น ล้วนตกอยู่ภายใต้ "แอก" การปกครองแบบ "จตุสดมภ์" เดิมดังได้กล่าวมาแล้ว โดยที่ในเวลานั้น การจัดเก็บภาษีส่วยสาอากรได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เข้าวัฏฏจักรวิกฤตอีกครั้ง เนื่องจากภาวะแร้นแค้น การทำมาหากินฝืดเคือง กูยไม่มีส่วยสิ่งของส่ง จึงเอาตัวส่งส่วยด้วยแรงงานแทน เกิด "กบฏสามโบก" ที่ขอนแก่นเมื่อปี 2438 มีจุดเริ่มต้นจากการต่อต้านการเก็บภาษีรัชชูปการ (ภาษีที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์เรียกเก็บจากราษฎรสยามแทนการเกณฑ์แรงงาน "ไพร่" ในฐานะที่ทุกคนเป็นข้าแผ่นดิน ภาษีดังกล่าวได้ยกเลิกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) หลายหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นก่อกบฏและสามารถสร้าง "เขตปลดปล่อย" จากอำนาจรัฐท้องถิ่น ปฏิเสธการส่งส่วยและการเกณฑ์แรงงานเป็นเวลานานถึงสามปี กว่าจะถูกปราบปรามลงจนสำเร็จราบคาบ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 1-7 กันยายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (2)

กบฏชาวนาไทยในประวัติศาสตร์ :
"กบฏผีบุญ"หรือ "กบฏผู้มีบุญ"


 
แผนที่อยุธยา แสดงตำแหน่งวังหลังทางทิศตะวันตก จากจดหมายเหตุของแกมป์เฟอร์

สำหรับดินแดนที่สร้างชาติโดยชนชาติไทยสืบเนื่องมากว่า 700 ปี นับจากการประกาศ "ปลดแอก" จากอำนาจการปกครองของ "ขอม" โดยพันธมิตรชนชาติไทยทั้งสามคือ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง (ต้นราชวงศ์พระร่วง); พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (พะเยา) แห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถุม และ พ่อขุนเม็งราย หรือพญามังราย แห่งราชวงศ์ลัวะ จังคราช เจ้าเมืองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน (เชียงราย) นั้นการสอบค้นทางประวัติศาสตร์ จนถึงช่วงต้นของยุคกรุงศรีอยุธยา อย่างที่การศึกษาประวัติศาสตร์ (เก่า) แบ่งยุคประวัติศาสตร์ตามแบบประวัติศาสตร์จารีต ที่ใช้ "ราชธานี" แบบ "นครรัฐ" หรือ "รัฐใหญ่น้อย" ที่กระจายตัวกัน แล้วใช้ข้อสรุปแบบ "อำนาจรัฐส่วนกลาง" ว่าเป็น "อาณาจักร" ความพยายามในการยึดอำนาจที่ไม่สำเร็จ และกลายเป็น "กบฏ" เกิดขึ้นหลายครั้ง หากในจำนวนนั้น 2 ครั้งแรก ไม่ถือเป็น "กบฏชาวนา" หรือ "กบฏไพร่" ได้แก่

ครั้งที่ 1 "กบฏญาณพิเชียร" เกิดขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชา (พ.ศ. 2124) แต่ไม่ถือเป็นกบฏไพร่ เนื่องจากตัวผู้นำกบฏ จากข้อมูลที่ปรากฏในพงศาวดาร คือญาณพิเชียรน่าจะเคยเป็นบุคคลสำคัญในวงราชการคนหนึ่ง เดิมเคยเป็นภิกษุ เอกสารส่วนใหญ่เรียกญาณพิเชียรว่า "ขุนโกหก" และความในพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์เรียกว่า "พระยาพิเชียร" คำว่า "ขุน" หรือ "พระยา" สะท้อนให้เห็นว่า ญาณพิเชียรนั้นมี "ศักดิ์ศรี" เหนือชาวบ้านหรือสามัญชนธรรมดา (กบฏไพร่ สมัยอยุธยา, สุเนตร ชุตินธรานนท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2526)

นอกจากนั้น ดร.สุเนตร ยังได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่า ชื่อของพันไชยทูตและหมื่นศรียี่ล้น ล้วนเป็นลักษณะพิเศษที่แสดงว่าผู้นำกบฏในครั้งนี้มีความ "เหนือกว่าไพร่ทั้งมวล" และอาจเป็นข้าราชการในรัฐบาลซึ่งไม่พอใจนโยบายบางประการภายใต้การนำของพระมหาธรรมราชาก็เป็นได้ และวิธีกบฏของญาณพิเชียรก็มีความซับซ้อน มีระเบียบชัดเจน แสดงถึงการวางแผนมาอย่างดี นั่นย่อมต้องอยู่ภายใต้นโยบายของผู้ที่มีความรู้ความสามารถ อาจเป็นเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์หรือแม้กระทั่งขุนนางข้าราชการผู้ช่ำชองกลก็ได้ (http://www.hiclasssociety.com/hiclass/detailcontent1.php?sub_id=1596)

ส่วนในพงศาวดารฉบับหลวงประเสิรฐอักษรนิติ์ ได้บันทึกเรื่องราวของกบฏครั้งหนึ่งไว้ใจความว่า "ศักราช 943 (พ.ศ. 2124) ญาณประเชียรเรียนศาสตราคมและคิดเป็นขบถ คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยมาก และยกมาจากเมืองลพบุรี" การก่อการนั้นเริ่มโดยสมคบกับพวก ลวงชาวบ้านว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ จนชาวบ้านหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก ญาณพิเชียรและพวกซ่องสุมผู้คนอยู่ที่วัดใหญ่ บ้านยี่ล้น แขวงวิเศษไชยชาญ เมืองอ่างทอง

ครั้งที่ 2 "กบฏธรรมเถียร" เกิดขึ้นในสมัยพระเพทราชา พ.ศ. 2241 ผู้นำกบฎครั้งนี้เป็นข้าหลวงเดิมของเจ้าฟ้าอภัยทศ (บางฉบับเรียกพระขวัญ) พระอนุชาสมเด็จพระนารายณ์ กระทำการโกหกปลอมตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศหลอกลวงชาวชนบทให้เข้าเป็นพวกกบฎครั้งนี้เกิดขึ้นในแขวงนครนายก แต่ก็กินบริเวณถึงสระบุรี ลพบุรีด้วย (กบฏไพร่ สมัยอยุธยา, สุเนตร ชุตินธรานนท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2526)

ในบันทึกของนายแพทย์ชาวเยอรมัน ชื่อ แกมป์เฟอร์ (Keampfer) ซึ่งเดินทางมากรุงศรีอยุธยาพร้อมกับทูตฮอลันดาใน พ.ศ. 2233 เพื่อถวายสาส์นต่อสมเด็จพระเพทราชา และเขียนบันทึกและแผนที่ไว้อย่างละเอียดและเขียนแผนที่ของกรุงศรีอยุธยา ที่สำคัญยังบันทึกถึงเส้นทางเดินเรือระหว่างเมืองปัตตาเวียกับกรุงศรีอยุธยาไว้ด้วย กล่าวถึงกบฏธรรมเถียรไว้ว่า

"กรุงศรีอยุธยาในต้นรัชกาลนั้นมุ่งแต่การปลดอำนาจของฝรั่งเศสที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว ก็เกิดปัญหาภายในอาณาจักรสยามขึ้นอีกกล่าวคือ พระยายมราช เจ้าเมืองนครราชสีมา กับพระยารามเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองใหญ่นั้น เห็นว่าการที่สมเด็จพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ ทำการชิงอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ นั้นถือว่าเป็นกบฏ จึงพากันโกรธแค้นและต่างแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระเพทราชา ทำให้มีการยกกองทัพขึ้นไปปราบปรามหัวเมืองทั้งสองนี้อยู่หลายปีจึงสงบได้
ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นอีก โดยมีมอญคนหนึ่งชื่อ ธรรมเถียร (ธรรมเสถียร) ได้ปลอมตัวอ้างเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ ชักชวนผู้คนให้หลงเชื่อเพื่อจะนำกำลังเข้ามาชิงราชสมบัติกลับคืน มีผู้คนเชื่อถือจำนวนมากจนจัดเป็นกองทัพเข้ามาถึงชานพระนคร ในที่สุดก็พ่ายแพ้กองทัพกรุงศรีอยุธยา 
จากเหตุการณ์กบฏธรรมเถียรนั้นทำให้ สมเด็จพระเพทราชา ทรงระแวงสงสัยความซื่อสัตย์ของขุนนางข้าราชการที่เคยช่วยเหลือการชิงราชสมบัติในครั้งก่อน จนถึงกับมีการจับนายจบคชประสิทธิ์ กรมพระราชวังหลัง กับเจ้าพระยาสุรสงคราม 2 คน ประหารชีวิต ทำให้มีเหตุการณ์วุ่นวายภายในอยู่ระยะหนึ่งต่อมาก็สงบเรียบร้อย"

"กบฏไพร่" หรือ "กบฏชาวนา" อุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเพทราชาเช่นเดียวกัน พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ กล่าวถึงของ "กบฏบุญกว้าง" หลังจากสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ การปกครองของพระเพทราชาก็หาได้ราบรื่น เกิดการแข็งเมืองที่มีลักษณะกบฏถึงสองครั้ง จากขุนนางท้องถิ่นที่เป็นฐานอำนาจเดิมของพระนารายณ์ คือพระยายมราชสังข์ เจ้าเมืองนครราชสีมาและพระยาเดโชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระเพทราชาต้องใช้เวลาปราบกบฏทั้งสองครั้งนี้ราว 10 ปีจึงปราบสำเร็จ แต่ในระหว่างนั้นการปราบกบฏนครราชสีมาประสบความสำเร็จก่อน หากความไม่สงบยังคงดำรงอยู่ ความอ่อนแอของเจ้าเมืองใหม่และการสลายตัวของกลุ่มอำนาจเดิมย่อมผลักดันให้เกิดภาวะความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในชุมชนของชาวลาวซึ่งกระจายตัวอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเปิดโอกาสให้บุญกว้างและสมัครพรรคพวกอ้างตัวเป็นผู้มีบุญและก่อการกบฏขึ้น

ที่ถือว่าเป็นกบฏไพร่ก็เนื่องจากผู้นำในการก่อกบฏหรือลุกขึ้นสู้ มีลักษณะเป็นปฏิกิริยาที่คนในท้องถิ่นที่เป็นคนเชื้อชาติลาว "ผู้นำกบฎชื่อบุญกว้าง มีถิ่นฐานอยู่แขวงหัวเมืองลาวตะวันออก บุญกว้างเป็นคนที่มี ความรู้ วิชาการดี มีสมัครพรรคพวกรวม 28 คน บุญกว้างได้นำสมัครพรรคพวกเข้ายึดครองนครราชสีมาโดยอาศัยวิทยาคุณทางไสยศาสตร์กำราบเจ้าเมืองและขุนนางคนอื่นๆ ต่อมาเจ้าเมืองนครราชสีมากระทำกลอุบายแหย่ให้บุญกว้างนำกองทัพยกลงไปตีกรุงศรีอยุธยา จนเป็นเหตุให้บุญกว้างเสียทีและถูกจับกุมตัวประหารชีวิต" (กบฏไพร่ สมัยอยุธยา, สุเนตร ชุตินธรานนท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2526)

แต่ถึงกระนั้น "กบฏบุญกว้าง" ก็สามารถยึดครองเมืองนครราชสีมาเอาไว้ได้ถึง 3 ปี โดยที่ผู้นำเป็นชาวนาธรรมดา ไม่ได้อ้างอิงอำนาจการปกครองเดิมหรือฟื้นอำนาจเจ้านายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในราชสำนัก หรือร่วมมือรับใช้ขุนนางอำมาตย์ในการก่อการยึดอำนาจสถาปนาราชวงศ์ใหม่แต่อย่างใด เงื่อนไขพียงประการเดียวในการสามารถรวบรวมไพร่พลลุกขึ้นก่อกบฏได้ คือการอ้างตัวเป็น "ผู้วิเศษ" เท่านั้น.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 25-31 สิงหาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (1)

กบฏชาวนาก่อนยุคประชาธิปไตย :
บทเกริ่นว่าด้วยกบฏในราชวงศ์ชิง


 
การประหารชีวิตด้วยการตัดหัวกบฏนักมวย

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกับนิยาม "กบฏ" เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่เป็นเอกภาพสำหรับข้อเขียนชิ้นนี้ เนื่องจากคำว่า "กบฏ" ครอบคลุมความหมายอยู่หลายบริบทที่หมายถึง "การยึดอำนาจการปกครองที่ไม่สำเร็จ" ไม่ว่าการยึดอำนาจนั้นจะมีจุดมุ่งหมายหรือเนื้อหา "เปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง" หรือเพียงแต่ "เปลี่ยนมือผู้กุมอำนาจการปกครอง" แต่ทั้งนี้ เนื้อหาที่มีลักษณะร่วมประการสำคัญคือเป็นการ "ลุกขึ้นใช้กำลังอาวุธเข้าโค่นล้มอำนาจการปกครองเดิม" โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในหมู่ "ผู้ปกครอง" หรือ "การลุกขึ้นสู้" โดยผู้คนธรรมดาสามัญชนหรือข้าทาสบ่าวไพร่ที่เป็น "ผู้ถูกปกครอง"

ในประวัติอารยธรรมของมนุษย์ยุคการปกครองก่อนประชาธิปไตยคือ ยุคศักดินาสวามิภักดิ์ และยุคราชาธิปไตย หรือที่ในประเทศไทยใช้ว่า "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" นั้นเคยเกิดการลุกขึ้นสู้ขึ้นหลายครั้ง จากสาเหตุหลักถูกสภาพแวดล้อมบังคับกดดันอย่างหนัก และหาทางออกด้วยการล้มล้างสังคมเก่า โดยอาศัยความเชื่อทางศาสนาเป็นอุดมการณ์ บางครั้งเป็นความพยายามลุกขึ้นสู้ของ "ทาส" ในประวัติศาสตร์ยุโรป บางครั้งเป็นการลุกขึ้นสู้ของไพร่ที่มีรากฐานการผลิตแบบเกษตรกรรม ซึ่งเรียกกันว่า "กบฏชาวนา" ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของผู้คนในท้องถิ่น ก่อตัวกันลุกฮือขึ้นต่อต้านนโยบายของรัฐอันก่อให้เกิดผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน เช่น การเอารัดเอาเปรียบจากภาครัฐ ทั้งนโยบายที่มีลักษณะการเอารัดเอาเปรียบจากภาครัฐ ทั้งที่มาจากส่วนกลางและทั้งจากขุนนางอำมาตย์หรือเจ้าศักดินาในท้องถิ่นเอง เช่น การเพิ่มภาษีอากร การเก็บส่วยเกณฑ์แรงงานไปการศึกสงคราม

ทั้งนี้ ที่จะละเว้นไม่นำมาพิจารณาในข้อเขียนชุดนี้คือ การแย่งยึดอำนาจกันเองของ "ชนชั้นผู้ปกครอง" ทั้งการแย่งราชสมบัติในเชื้อสายราชวงศ์เดียวกัน หรือจากต่างสายราชวงศ์ รวมทั้งการลุกขึ้นแย่งยึดอำนาจจากเจ้าศักดินาเดิมโดยขุนนางอำมาตย์ ซึ่งนำไปสู่การสถาปนาราชวงศ์ใหม่ในกรณีที่ก่อการสำเร็จ หรือการกลายเป็น "กบฏ" ที่เรียกกันว่า "ประหารเจ็ดชั่วโคตร"

สำหรับในบริบทของ "กบฏชาวนา" ที่แยกออกจากการ "แย่งยึดอำนาจกันเอง" ในหมู่ชนชั้นปกครองในระบอบศักดินาก็ดี หรือในระบอบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ดี ล้วนแล้วแต่ยากหรือแทบไม่เคยประสบความสำเร็จเลยในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ หากยกตัวอย่างในอาณาจักรจีน นับจากการรวมแผ่นดินและสถาปนาเป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวในสมัย "จิ๋นซีฮ่องเต้" ที่เรียกว่า "ยุคจ้านกว๋อ" ที่ต่อจาก "ยุคชุนชิว" ซึ่งเป็นยุคแห่งการสู้รบกันระหว่างแคว้นต่างๆเพื่อชิงความเป็นใหญ่กว่า 255 ปี โดยมีแคว้นขนาดใหญ่ 7 แคว้นคือ ฉู่, ฉี, หาน, เอี้ยน, จ้าว, เว่ย และฉิน มีกบฏครั้งใหญ่ 3 ครั้งในยุคราชวงศ์ "ชิง" อันเป็นช่วงเวลาที่ชาวฮั่นซึ่งเป็นชนชาติส่วนใหญ่ของจีนถูกปกครองโดยชาวแมนจู ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้ยกทัพเข้าโจมตีและเข้ายึดกรุงปักกิ่งอันเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์หมิงได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1644 และได้เปลี่ยนชื่อจาก "แมนจู" เป็น "ชิง" และสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นในปีเดียวกันนั่นเอง (ราชวงศ์ชิงปกครองจีนจนถึงปี ค.ศ. 1911 มีจักรพรรดิทั้งสิ้น 10 พระองค์ และถูกโค่นล้มโดย "การปฏิวัติซินไฮ่" ที่มี ดร.ซุน ยัตเซ็น เป็นผู้นำ จนได้รับสมญาว่าเป็น "บิดาของจีนใหม่")

การลุกขึ้นสู้หรือกบฏชาวนาครั้งใหญ่ 3 ครั้งดังกล่าวคือ

กบฏพรรคดอกบัวขาว ในรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลง ที่มีเป้าหมายฟื้นฟูราชวงศ์ต้าหมิง (ไต้เหม็ง) แต่การลุกขึ้นสู้ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 1794 และขยายตัวจนดูเหมือนว่าอาจนำไปสู่ชัยชนะขั้นต้นในปี 1796 ถูกทำลายล้างสิ้นในปี 1800 มีการบันทึกตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากการลุกขึ้นสู้นี้ 16 ล้านคน

กบฏไท่ผิง โดยราษฎรจีนเริ่มรวมตัวต่อต้านอำนาจรัฐ มีผู้นำคือ หงซิ่วฉวน เป็นชาวอำเภอฮัวเซี่ยน มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งได้รับอิทธิพลของคริสต์ศาสนา ร่วมกับ เฝิงอวิ๋นซาน ก่อตั้งสมาคมนับถือพระเจ้าในคริสต์ศาสนาที่มณฑลกว่างซี แล้วกลายสภาพเป็นกบฏไท่ผิงเทียนกว๋อในเวลาต่อมาในปี ค.ศ. 1851 ปลายรัชสมัยจักรพรรดิเต้ากวง

กองทัพของหงซิ่วฉวนกับเฝิงอวิ๋นซานมีกำลังพลกว่าล้านคนบุกยึดเมืองหนานจิงได้ในปี ค.ศ. 1853 เป็นปีที่ 3 ในรัชสมัยของจักรพรรดิเสียนเฟิง แต่แล้วหลังจากได้ชัยชนะในหลายสมรภูมิช่วงท้ายของกบฏไท่ผิงเทียนกว๋อ ผู้นำทั้งสองเกิดความขัดแย้งกันเองด้วยการแยกตัวเป็นอิสระ การลอบสังหารกันด้วยความระแวงใจ ทำให้กองทัพกบฏเริ่มอ่อนแอลง กอปรกับราชสำนักชิงขอร้องกองทัพอังกฤษซึ่งมีอาวุธทันสมัยและทหารแข็งแกร่งให้ช่วยกวาดล้างกบฏแลกกับผลประโยชน์ที่เสนอให้อังกฤษ ฝ่ายกบฏเริ่มสูญเสียที่มั่นไปจนถึงปลายปี ค.ศ. 1863 รัชสมัยของจักรพรรดิถงจื้อ (ซึ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลของอดีตสามัญชนชื่อ "เยโฮนาลา" หากได้เข้าวังเป็นนางสนมและได้รับการยกเป็น "เจ้าจอมหลัน" และในเวลาต่อมาได้เป็นพระนางซูสี มเหสีฝ่ายซ้าย หรือซูสีไทเฮา) ปีที่ 2 ทหารชิงและทหารต่างชาติล้อมเมืองเทียนจินได้ ปีถัดมาเมืองนั้นเกิดสภาพอดอยาก หงซิ่วฉวนฆ่าตัวตาย เมืองเทียนจินแตก จึงถือเป็นการปิดฉากกบฏไท่ผิงเทียนกว๋อลง แต่จิตวิญญาณต่อต้านราชวงศ์ชิงยังฝังแน่นในหัวใจของชาวฮั่น ซึ่งส่งผลสืบเนื่องให้เกิดการปฏิวัติต่อต้านแมนจูในเวลาต่อมา ตลอดช่วงของการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้มีการบันทึกว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 20 ล้านคน

ก่อนหน้าที่จักรพรรดิเสียนเฟิงจะสิ้นพระชนม์ได้ฝากราชโองการลับไว้ฉบับหนึ่งให้กับมเหสีฝ่ายขวาคือ พระนางซูอัน กำจัดพระนางซูสี มเหสีฝ่ายซ้าย ซึ่งในเวลานั้นมเหสีทั้งคู่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระโอรส ฮ่องเต้ถงจื้อ ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ ต่อมาพระนางซูสีวางยาสังหารพระนางซูอัน จนสามารถรวบอำนาจไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียว)

กบฏนักมวย ซึ่งเป็นการลุกฮือต่อต้านจักรวรรดินิยมและคริสต์ศาสนา นำโดย "สมาคมอี้เหอถวน" เริ่มต้นขึ้นในเมืองซานตงในปี 1898 มีการลอบสังหารมิชชันนารีชาวตะวันตก ประณามชาวต่างชาติ และเผาโบสถ์ ฯลฯ ในชั้นต้นกบฏนักมวยได้รับการสนับสนุนจากพระนางซูสีไทเฮามาก ทั้งด้านการส่งทัพหลวงมาช่วย และหนุนช่วยในด้านอาวุธยุทธโธปกรณ์ต่างๆ จนกล่าวได้ว่าถูกหลอกใช้ โดยคิดจะคานอำนาจและสร้างการต่อรองกับมหาอำนาจตะวันตกหลังจากเข้ามามีอิทธิพลในจีน และได้ส่งกำลังทหาร อาวุธที่ทันสมัย และมิชชันนารีเข้าไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ แต่ในที่สุดในการยุทธ์หลายครั้งที่เรียกกันว่า "ศึกพันธมิตรแปดชาติ" (รวมญี่ปุ่นด้วย) ก็สามารถปราบกบฏนักมวยลงได้สำเร็จ สามารถยึดเมืองเทียนจินได้ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1900 ความสูญเสียที่มีบันทึกไว้ ผู้เสียชีวิตเป็นทหารต่างชาติ 2,500 คน พลเรือนชาวต่างชาติ 525 คน ชาวจีนที่นับถือศาสนาคริสต์หลายพันคน ในขณะที่ทหารจีนที่ทางราชสำนักส่งมาสนับสนุนเสียชีวิตประมาณ 20,000 คน และกองกำลังกบฏนักมวยประมาณ 100,000-300,000 คน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง และสามารถสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นในปี ค.ศ. 1911

ในการลุกขึ้นสู้ทุกครั้ง รวมทั้ง 3 ครั้งดังกล่าว กล่าวได้ว่าเกิดขึ้นจากการถูกสภาพแวดล้อมบังคับกดดันอย่างหนัก และหาทางออกด้วยการล้มล้างสังคมเก่านั้น...

กบฏทั้งหมดใช้ไสยศาสตร์นำ และถูกปราบราบคาบ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 18-24 สิงหาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8