Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (59)

วิกฤตภายในพรรคประชาธิปัตย์
สู่การสิ้นสุดยุค "นายกคนนอกฯ"

ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 รัฐบาลพยายามนำพระราชกำหนด 9 ฉบับเข้าสภาเพื่อผ่านเป็นพระราชบัญญัติ แต่เนื่องจากความแตกแยกกันในพรรคร่วมรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ในคืนนั้นเอง รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2529

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 347 คน มีผู้สมัครได้รับเลือกเข้ามา 15 พรรค พรรคที่ได้ผู้แทนราษฎรมากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 100 คน พรรคชาติไทยได้ 63 คน พรรคกิจสังคมได้ 51 คน พรรคสหประชาธิปไตยได้ 38 คน พรรคประชากรไทย 24 คน

ที่ประชุมสภาเลือกได้ นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

แล้ววันที่ 5 สิงหาคม 2529  ประเทศไทยก็ได้รัฐบาลชุดที่ 44 เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 7 พรรค รวม 290 เสียง นำโดยพรรคใหญ่คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม และพรรคราษฎร ให้การสนับสนุนพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีร่วมคณะอีก 44 คน คณะรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติในวันที่ 26 สิงหาคม

และได้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านคือ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ หัวหน้าพรรคสหประชาธิปไตย

ในวันที่ 22 สิงหาคม มีวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งร่วมกันยื่นญัตติด่วนถึงประธานรัฐสภา กรณีนายวีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม มีข้อความละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ จึงขอให้วุฒิสภา ส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการตามกฎหมาย

นายวีระ มุสิกพงศ์ ได้ทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมฉายาลักษณ์ที่รัฐสภา และลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นการลดความกดดันจากการโจมตีของฝ่ายค้าน กับเป็นการเปิดโอกาสให้ตำรวจและอัยการดำเนินคดีได้

ต่อมามีการเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลหลายครั้ง หลายคราดังเช่น ในวันที่ 25 กันยายน หัวหน้าฝ่ายค้านและคณะได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 8 ตุลาคม และลงมติไว้วางใจ แต่ร้อยตำรวจเอกสุรัตน์ก็ขอลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา

จากนั้นก็เป็นกรณีนายแคล้ว นรปติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดของแก่น ถูกดำเนินคดีในข้อหาไม่ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2522 ศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี เป็นเหตุให้นายแคล้วหมดสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

วันที่ 22 เมษายน นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ขอเปิดอภิปรายเรื่องการทำหลักฐานเท็จเพื่อขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถอนชื่อออก 15 คน ทำให้จำนวนผู้เข้าชื้อเสนอญัตติเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิก ทั้งหมดจึงไม่สามารถเสนอญัตติได้

และอีกครั้งหนึ่ง นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ กับคณะได้เสนอขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในวันที่ 21-22 ตุลาคม ไม่ไว้วางใจนายบรรหาร ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่สุจริต พื่อประโยชน์ของบริษัทของตน แต่ที่ประชุมลงมติไว้วางใจ

คความแตกแยกครั้งสำคัญมาถึงพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากสมาชิกพรรคส่วนหนึ่งซึ่งต่อมาเรียกกันว่า "กลุ่ม 10 มกราคม" ไม่พอใจนายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรค เรื่องการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีตามโควตาในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้เมื่อรัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 3 ฉบับ ต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 เมษายน 2531 สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งอภิปรายไม่เห็นด้วย ดังนั้นเมื่อลงมติในวาระที่ 3 สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ลงคะแนนเสียงคัดค้าน 31 คน ร่วมกับฝ่ายค้านการลงมติเห็นด้วย 183 เสียง ไม่เห็นด้วย 134 เสียง

รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ 4 คน จึงตัดสินใจขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีปรับปรุงคณะรัฐมนตรี ในขณะที่นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอตัวลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์มีมติให้รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ 16 คน ลาออกจากตำแหน่งพร้อมกันในวันที่ 29 เมษายน นำไปสู่การออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 29 เมษายน

ในช่วงปลายรัฐบาลขณะเตรียมการเลือกตั้ง มีกระแสการคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 จากกลุ่มนักวิชาการ พลเอกเปรมจึงประกาศไม่รับตำแหน่ง รวมเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี 5 เดือน สำหรับคณะรัฐมนตรี 5 ชุด และในระหว่างนั้นมีการยุบสภา 3 ครั้ง

สำหรับผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 เลือกได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 357 คน พรรคต่างๆ ได้รับเลือกมาดังนี้ พรรคชาติไทยได้ผู้แทนราษฎร 87 คน พรรคกิจสังคมได้ 54 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 48 คน เป็น 3 พรรคที่ได้คะแนนสูงกว่าพรรคอื่น

ในวันที่ 25 กรกฎาคม มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพิ่มอีก 13 คน ตามสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภามีทั้งหมด 267 คน รวมสมาชิกรัฐสภา 624 คน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกนายปัญจะ เกสรทอง เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

พรรคชาติไทยได้ผู้แทนราษฎรมากที่สุด จึงเป็นแกนจัดรัฐบาลมีพรรคการเมือง 7 พรรคร่วมเป็นรัฐบาลคือ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคราษฎร พรรคสหประชาธิปไตย พรรคมวลชน และพรรคพลังธรรม รวม 234 คน ในวันที่ 4 สิงหาคม 2531 จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17

หลังจากไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2531 โปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 กันยายน 2541 หลังจาก ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ ถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี และดำรงตำแหน่งมาจนปัจจุบัน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 1-7 พฤษภาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559

"มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" กับการอภิวัฒน์สยามและระบอบประชาธิปไตย

"มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง"
กับการอภิวัฒน์สยามและระบอบประชาธิปไตย

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ ในปี พ.ศ. 2416 และทรงริเริ่มการเปลี่ยนผ่านการปกครองของสยามในระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ มาสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วนั้น นอกเหนือจาก "รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง" ทั้งด้านการเงินการคลัง การทหาร และการปกครองแล้ว การชำระและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายก็เป็นความจำเป็นสำหรับระบอบการปกครองอย่างใหม่ในเวลานั้น ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมเป็นองค์กรหลักของกระบวนการยุติธรรมสยามขึ้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434

จากนั้นเพื่อเป็นการผลิตบุคลากรขึ้นมารับใช้ระบอบการปกครองใหม่ เพื่อรองรับการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลไทย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม แต่ครั้งมีพระยศที่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมาย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2440 สำหรับที่ตั้งของโรงเรียนกฎหมายนั้นได้แก่ห้องเสวยของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมซึ่งอยู่ถัดจากห้องทรงงาน โดยทรงให้การศึกษาด้วยพระองค์เองเมื่อทรงเสร็จสิ้นการเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว ครั้นมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นจึงย้ายไปยังตึกสัสดีหลังกลาง กระทรวงยุติธรรม

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2453 กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เป็นเหตุให้โรงเรียนกฎหมายทรุดโทรมตามลำดับ ต้องไปเปิดการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราวที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร และที่เรือนไม้หลังเล็ก ๆ ระหว่างตึกศาลแพ่งกับตึกเก๋งจีนซึ่งบัดนี้ได้รื้อทิ้งลงแล้ว

พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับโรงเรียนกฎหมายไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยให้สังกัดกระทรวงยุติธรรม และให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโรงเรียนนี้ โดยสถานที่เรียนนั้นย้ายมายังตึกกรมประชาสัมพันธ์เดิมบริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา

เมื่อเกิดการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ใน "ประกาศของคณะราษฎร" ในวันยึดอำนาจกล่าวว่า การที่ราษฎรยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยนั้น "เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่" นโยบายหรือหลักประการที่ 6 ใน หลัก 6 ประการของคณะราษฎร จึงระบุไว้ว่า "จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร" สถาบันศึกษาแบบใหม่ที่เปิดกว้างให้ประชาชนชาวสยามได้รับการศึกษาชั้นสูง โดยเฉพาะที่จะรองรับการปกครองบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมาคู่กันกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

แต่ถึงกระนั้นเอง แนวคิดที่จะจัดสถาบันอุดมศึกษาใหม่ก็ยังไม่สามารถบรรลุได้ ในขั้นต้น พ.ศ. 2476 รัฐบาลคณะราษฎรเปิดการเรียนการสอนทางด้านกฎหมายและการเมืองการปกครองเพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยจัดตั้งคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วให้โอนโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ไปสมทบเมื่อวันที่ 25 เมษายน หากในทางพฤตินัย ยังคงจัดการเรียนการสอนยังคงอยู่ที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลาเช่นเดิม ซึ่งการให้โอนโรงเรียนกฎหมายไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สร้างความไม่พอใจให้แก่นักเรียนโรงเรียนกฎหมาย ที่ต้องการให้ยกฐานะโรงเรียนของตนเป็นมหาวิทยาลัยดังเช่นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่กลับเสมือนถูกยุบหายไปโดยปริยาย เป็นเหตุให้นักเรียนกฎหมายดังกล่าวเคลื่อนไหวหนุนให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น

การเคลื่อนไหวดังกล่าว นำไปสู่การตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 ขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม จากนั้นในวันที่ และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ณ ที่ตั้งเก่าของโรงเรียนกฎหมาย บนถนนราชดำเนิน เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา โดยนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียว ได้กล่าวไว้ในโอกาสจัดตั้งมหาวิทยาลัยว่า

"การตั้งสถานศึกษาตามลักษณะมหาวิทยาลัยย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยามจะเจริญในอารยธรรมได้ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ำ ตลอดจนการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้นการที่จะอำนวยความประสงค์และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจำต้องมีสถานการศึกษาให้ครบบริบูรณ์ทุกชั้น"

และ

"มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น"

จนเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารนำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบโดยตรง ผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ชื่อมหาวิทยาลัยถูกตัดคำว่า "การเมือง" ออก คงเหลือเพียง "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ตำแหน่งผู้ประศาสน์การถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นตำแหน่งอธิการบดีพร้อมกับการยุบหลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตร์บัณฑิต

วิบากกรรมครั้งสำคัญของมหาวิทยาลัยที่ถือกำเนิดขึ้นตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย มาถึงภายหลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตกเป็นเป้าว่าให้ความร่วมมือกับทหารเรือฝ่ายกบฏ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุมทางการเมือง และปิดพร้อมกับส่งทหารเข้ายึดมหาวิทยาลัยโดยให้เหตุผลว่า "ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราว และเพื่อความสงบเรียบร้อย" ต่อมาคณะกรรมการนักศึกษามีมติร่วมกันผลักดันให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนชั่วคราว โดยขอใช้สถานที่ของเนติบัณฑิตยสภาและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาฯ สำหรับการบรรยายให้นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ตามหลักสูตรคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ ทั้งนี้ ในช่วงเย็นนักศึกษาและอาจารย์ต้องอาศัยเพียงแสงตะเกียงสำหรับการเรียนการสอน

และในที่สุดความเป็นตลาดวิชาอันเป็นความประสงค์จะให้ลูกหลานประชาชนทั่วไป สามารถเข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยเสมอหน้ากันตามเจตนารมณ์ของการอภิวัฒน์สยาม ก็มีอันถึงจุดสิ้นสุดลง ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พุทธศักราช 2495.

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 18-24 กุมภาพันธ์ 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8