Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (24)

15 พฤษภาคม กองกำลังทหารรัฐบาลใน "พื้นที่ใช้กระสุนจริง"

15 พฤษภาคม ฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดงขยายแนวป้องกันจากยางรถยนต์ ที่เกิดขึ้นตามจุดปะทะต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่แยกราชประสงค์ ซึ่งช่วงเวลาเปลี่ยนวัน คือในเวลา 00.00 น. นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ร่วมก่อตั้งและสมาชิกระดับแกนนำของ "กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย" ที่ถือกำเนิดขึ้นคัดค้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเคยถูกวางตัวเป็นแกนนำชุดที่ 2 ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลัง "กรณีสงกรานต์เลือด 2552" แถลงว่ามีการปะทะกันอีกบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง สามารถนำพาร่างผู้เสียชีวิตออกมาได้ 3 คน มีการเผายางเป็นหย่อมๆ "มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดแล้ว ราวกับสงครามกลางเมือง ผมเห็นศพถูกนำส่งราชวิถีจนสมองเครียด พยายามจะเข้าไปราชประสงค์ ชูบัตรนักข่าว มันกลับชูปืน M16 บอกว่าไม่ให้เข้าอันตรายถึงชีวิต ผมเห็นนักข่าวคนหนึ่งถูกหามใส่เปลตะโกนบอกว่ายิงกูทำไมกูเป็นนักข่าว"

จากนั้นในเวลา 00.30 น. เกิดเหตุรถตู้โตโยต้าคอมมิวเตอร์สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ขับมาบนถนนราชปรารภ มุ่งหน้าไปทางดินแดงด้วยความเร็วสูง เมื่อวิ่งมาถึงบริเวณสถานีแอร์พอร์ตเรลลิงก์มักกะสัน ทหารประจำด่านตรวจ ส่งสัญญาณให้หยุดรถ แต่รถตู้คันดังกล่าวไม่ยอมหยุด เจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงยางรถ แต่รถยังคงไม่หยุดวิ่ง ทหารจึงตัดสินใจระดมยิงด้วยกระสุนจนรถพรุนไปทั้งคัน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสามราย ประกอบด้วยคนขับรถตู้, เด็กชายวัย 10 ปี และคนขับรถแท็กซี่อีก 1 คน ที่รอรถกลับบ้านบริเวณดังกล่าว ถูกยิงเข้าที่ลำตัวบาดเจ็บสาหัส

ช่วงเวลาจากประมาณเที่ยงคืนจนถึงรุ่งเช้า มีรายงานผู้ร่วมชุมนุมและประชาชนบางส่วนที่ใช้เส้นทางสัญจรเพื่อเดินทางกลับที่พักหลังจากเลิกงานสำหรับงานที่เลิกงานดึก และมีความจำเป็นต้องผ่านพื้นที่ล่อมแหลมตามที่ ศอฉ. ประกาศ ถูกยิงและซุ่มยิงเป็นระยะ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) รายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 157 ราย ถูกนำตัวส่งรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ 15 แห่ง ในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บสาหัสต้องเข้าห้องไอซียู 7 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะรอบบริเวณการชุมนุม เพิ่มขึ้นจากเดิม 10 ราย เป็น 17 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ราย นำส่งโรงพยาบาลราชวิถี 3 ราย และโรงพยาบาลพญาไท 1 อีก 3 ราย ทั้งนี้มีผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวต่างชาติ 3 ราย

เวลา 07.30 น. มีคำแถลงจากนายบัน คีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แสดงความเสียใจต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่มีการสูญเสียชีวิตของประชาชนเกิดขึ้น พร้อมทั้งเรียกร้องทุกฝ่ายในประเทศไทย หลีกเลี่ยงความรุนแรงและความสูญเสีย

นายจตุพร พรหมพันธุ์ เปิดการแถลงข่าวช่วงสายวันเดียวกัน เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการกับกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้ประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เห็นว่า เหตุการณ์ขณะนี้ได้มาไกลกว่าที่จะมีการเจรจาแล้ว ทางออกเฉพาะหน้าคือนายกรัฐมนตรีต้องลาออก และตั้งบุคคลเกิดขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการเท่านั้น หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าล้อมปราบคนเสื้อแดง เหตุการณ์จะยกระดับความรุนแรงเหมือนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เวลา 13.10 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เจ้าหน้าที่หยุดยิงและถอนกำลังออกจากพื้นที่ทันที เหมือนเช่นเหตุการณ์การสลายการชุมนุม 10 เมษายน เพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตของประชาชน เพราะยิ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่ถือเป็นความพ่ายแพ้ของประเทศ หลังจากรัฐบาลสั่งการให้ฝ่ายทหารหยุดยิงแล้ว จึงจะเข้าสู่กระบวนการเจรจาอีกครั้งกันต่อไป เพราะการที่รัฐบาลใช้วิธีการตั้งด่านสกัดรอบพื้นที่การชุมนุมในเวลานี้ เหมือนเป็นการสลายการชุมนุมไปในตัว โดยจะยิ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายมากขึ้นและใกล้สงครามกลางเมืองเข้ามาทุกที เนื่องจากแกนนำไม่ทราบความเป็นไปตามจุดต่างๆและไกลเกินความควบคุม ไม่สามารถพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้

นายณัฐวุฒิแถลงอีกด้วยว่าจากเหตุการณ์การใช้อาวุธตลอดช่วงเช้า โดยเฉพาะบริเวณแยกดินแดงและถนนราชปรารภ ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 7 ราย โดยเจ้าหน้าที่ได้นำศพไปเก็บไว้ที่วัดตะพาน ซอยราชปรารภ 27 ใกล้แยกดินแดง โดยไม่อนุญาตให้คนเสื้อแดงรับศพกลับ โดยทางแกนสนำ นปช. ขอร้องสื่อสารมวลชน ช่วยตรวจสอบที่วัดตะพาน เนื่องจากเกรงว่ารัฐบาลอาจทำลายหลักฐาน ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง นอกจากนั้นยังแจ้งในช่วงท้ายการแถลงข่าวว่าการ์ดคนเสื้อแดงพบวัตถุระเบิดซุกซ่อนอยู่ในสวนลุมพินี ซึ่งได้แจ้งให้พลตำรวจตรีวิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาลรับทราบเพื่อเข้าตรวจสอบและเก็บกู้แล้ว

นอกจากนี้ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทหารสลายการชุมนุมของ นปช. หลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีจำนวนผู้ชุมนุมน้อย ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย เจ้าหน้าที่ต้องถูกบังคับจิตใจให้เข่นฆ่าประชาชนคนไทยด้วยกัน ผลที่เกิดขึ้นคือชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนชาวไทยจำนวนมากที่ต้องสังเวยความหลงอำนาจของนายอภิสิทธิ์ไม่สามารถประเมินค่าได้

"วันนี้ผมคิดว่านายอภิสิทธิ์คงไม่มีความคิดมองประชาชนผู้ชุมนุมว่าเป็นคนไทยอีกแล้ว เพราะการกระทำที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและล้มตายของประชาชนชาวไทยหลายครั้ง ที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองในห้วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา คือสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่านายอภิสิทธิ์ไม่มีความปราณีต่อคนไทยด้วยกัน และไม่ต้องการปรองดองเหมือนที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ผมผิดหวังกับผู้นำคนนี้เป็นที่สุด ดังนั้นถ้าหากนายอภิสิทธิ์คิดว่าคนเสื้อแดงที่ชุมนุมแยกราชประสงค์ไม่ใช่คน ไทย ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่ให้กำลังในคนเสื้อแดงซึ่งมีความคิดแตกต่างจากนายอภิสิทธิ์ก็ไม่ใช่คนไทยเช่นกัน หากจะถูกเข่นฆ่าเหมือนกับที่ประชาชนกำลังถูกกระทำก็คงไม่ต่างกัน แต่ถ้าหากคิดว่าทุกคนคือคนไทยนายอภิสิทธิ์ต้องสั่งหยุดสลายการชุมนุมทันที"

เวลา 22.48 น. มีรายงานข่าวว่า สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม กรรมการมหาเถรสมาคม แถลงขอบิณฑบาตชีวิตประชาชน โดยให้ยุติการฆ่าและให้อภัยกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เวลา 24.00 น. ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร รายงานรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ทหารกระชับพื้นที่การชุมนุม ของกลุ่มคนเสื้อแดง ตั้งแต่วันที่ 14-15 พฤษภาคม ว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 24 ราย และบาดเจ็บ 187 ราย


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 2-8 กรกฎาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (23)

14 พฤษภาคม เปิดฉากเส้นทางเลือดมุ่งสลายการชุมนุม

14 พฤษภาคม นับจากเวลา 12.00 น. เป็นต้นไป กำลังทหารปิดการจราจรจากบริเวณถนนสาทรเหนือมุ่งหน้าถนนพระรามที่ 4 และเริ่มเคลื่อนพลเข้าแยกวิทยุ ในระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ ขณะเดียวกันกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกส่วนหนึ่งเคลื่อนเข้าไปปิดล้อมและ พยายามตัดขาดกลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อประกาศว่านากยกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดฉากสงครามกลางเมือง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดความแตกแยกในกองกำลังความมั่นคง สถานทูตอเมริกันและอังกฤษปิดด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ราว 13.30 น. มีการปะทะกันระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี ทางฝ่ายเจ้าหน้ายิ่งด้วยอาวุธปืนลูกซอง ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงตอบโต้ด้วยประทัดยักษ์และพลุตะไล มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย จากการปะทะกันบริเวณหน้าสวนลุมไนท์บาซาร์ จากนั้นนับจากเวลา 14.00 น. สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศรายงานตรงกัน ว่า ฝ่ายทหารทหารยิงกระสุนจริงจากสวนลุม มีผู้สื่อข่าวต่างชาติ และนายสุบิน น้ำจันทร์ ช่างภาพหนังสือพิมพ์มติชน ถูกยิงบริเวณขาขวา ได้รับบาดเจ็บ

15.00 น. มูลนิธิร่วมกตัญญูรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายกลุ่ม นปช. ที่บริเวณหน้าบ่อนไก่ ใกล้สนามมวยลุมพินี ถนนพระรามที่ 4 มีผู้ถูกยิงมาส่งที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1 และเสียชีวิตแล้ว 1 คน คือ นายอินแตง เทศวงษ์ อายุ 33 ปี ถูกยิงเข้าที่หน้าอกด้านขวา

15.20 น. ทหารและกลุ่มคนเสื้อแดงยังมีการปะทะกันบริเวณแยกราชปรารภ เสียงปืนยังคงดังขึ้นเป็นระยะ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้ถอยร่นไปบริเวณแยกประตูน้ำ ถนนราชปรารภทั้งสองฝั่ง และบริเวณสถานีรถไฟฟ้าราชปรารภ

เจ้าหน้าที่ของศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 12 ราย จากเหตุการณ์ปะทะในช่วงเช้าระหว่างกองทัพและกลุ่มคนเสื้อแดง

จากนั้นในเวลา 15.35 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจโดย "คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ออกแถลงการณ์ 4 ข้อ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

  • 1. ยุติการใช้เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ พร้อมอาวุธสงครามร้ายแรง ทำการสลายการชุมนุมของประชาชนโดยทันที และสั่งให้เจ้าหน้าที่กลับกรมกองที่ตั้ง
    2. ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศในทุกจังหวัดโดยทันที
    3. เปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยทันทีเพื่อหาทางออกทางการเมืองโดยสันติวิธี
    4. ร่วมเจรจาหาแนวทางปรองดองอย่างแท้จริงกับทุกฝ่ายในชาติ เพื่อให้ประเทศชาติมีประชาธิปไตยและความยุติธรรม และประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้การปรองดองต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม เมตตาธรรม และความจริงใจ

จากนั้นในเวลา 16.10 น. แกนนำ นปช.แถลงมติของที่ประชุมแกนนำ เรียกร้องให้ทหารหยุดยิง ยกเลิกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ให้นายกรัฐมนตรียุบสภาทันที โดยไม่ให้นายอภิสิทธิ์ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ พร้อมทั้งให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในฐานะผู้อำนายการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ต้องเข้าสู่กระบวนยุติธรรมเช่นเดียวกับ นปช.

แต่แล้วคำตอบที่การชุมนุมคนเสื้อแดงได้รับจากรัฐบาลผ่านการปฏิบัติการของหน่วยกำลังในพื้นที่ภายใต้การดูแลสั่งการของ ศอฉ. ก็คือ ในเวลา 16.20 น. เจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการอยู่ที่แยกบ่อนไก่ ถนนพระรามที่ 4 ได้รุกคืบคุมพื้นที่อีกครั้ง ด้วยการกลับมาวางลวดหนามปิดล้อมเส้นทางเข้าออกพื้นที่การชุมนุมหลังจากกลุ่ม นปช. ได้รุกเข้ามานำออกไปก่อนหน้านี้ โดยตลอดเวลามีเสียงคล้ายปืนและประทัดดังอย่างต่อเนื่อง โดยยุทธวิธีของฝ่ายทหารในปฏิบัติที่อ้างว่า "เป็นการขอคืนพื้นที่" นั้นมีการใช้ใช้ทั้งกระสุนจริง และแก๊สน้ำตาเข้าเคลียร์พื้นที่ ทั้งนี้ในเวลา 16.40 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หน.ศอฉ. ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 93/2553 ประกาศห้ามเข้าถนนพระรามที่ 4 โดยผู้ฝ่าฝืน มีโทษจำคุก 2 ปี

เวลา 17.30 น. กำลังทหารเพิ่มกำลังเข้ายึดพื้นที่บริเวณประตูน้ำ ส่วนทางเวที นปช. นายณัฐวุฒิขึ้นปราศรัยเรียกร้องประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่การชุมนุม เข้าร่วมกดดันขับไล่นายอภิสิทธิ์ให้ยุบสภาโดยไม่อยู่รักษาการณ์ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และในเวลา 18.00 น. นายปริญญา เทวานฤมิตกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เมื่อครั้งเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ 2535" ได้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เสนอให้รัฐบาลหยุดยิง เปิดทางนปช.ยุติการชุมนุมด้วยตัวเองเอง แล้วเปิดการเจรจารอบใหม่ระหว่าง 2 ฝ่าย

ในเวลาใกล้เคียงกัน เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นหน้าเวทีคนเสื้อแดง โดยเกิดเสียงคล้ายปืนดังขึ้น และมีระเบิดควันขว้างลงมาหลังเวที ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 15 คน เวลา 18.40 น. กำลังทหารหน่วยหนึ่งพร้อมรถหุ้มเกราะเคลื่อนที่เข้าไปยังแยกศาลาแดง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าต่อต้านด้วยการขว้างขวด ระเบิดขวด และระเบิดควันเข้าใส่ ในขณะที่ฝ่ายทหารประกาศเตือนเตือนว่าจะนับหนึ่งถึงสามแล้วจะยิงทันที ซึ่งเมื่อสิ้นเสียงนับเสียงปืนจากฝ่ายทหารก็ดังขึ้น

เวลา 21.00 น. บริเวณถนนสาทร ปรากฏว่ากำลังทหารตั้งแนวป้องกันปิดถนน ไม่ให้ประชาชนผ่านเข้าไปยังถนนพระรามที่ 4 ตามประกาศของ ศอฉ. ทั้งนี้มีการยิงปืนเป็นระยะเข้าใส่ประชาชนที่ขับรถไปตามเส้นทางถนนสาทร ช่วงบริเวณแยกไฟแดงซอยสาทร 6 หน้าโรงแรมเอฟเวอร์กรีน ปรากฏว่ามีผู้ถูกยิงเข้าบริเวณตาตุ่มข้อเท้าด้านขวาได้รับบาดเจ็บไป 1 ราย เจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลตากสิน นอกจากนี้ ฝ่ายทหารยังใช้ปืนยิงขู่ประชาชนที่ขับรถเข้ามาตามถนนสาทร มุ่งหน้าถนนพระรามที่ 4 อีกด้วย

นายเพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ เปิดเผยว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เมื่อเวลา 22.00 น. มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 101 ราย เสียชีวิต 7 ราย ส่วนมากถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ศีรษะ ปาก และช่องท้อง ต่อมาสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีผู้บาดเจ็บ 125 ราย และเสียชีวิต 10 ราย ส่วนตามข้อมูลของเดอะเทเลกราฟนั้น ได้รายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 16 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 157 คน


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 25 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8