Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จดหมายเปิดผนึก กรณีเกษตรกรสุราษฎร์ 56 ราย ถูกนายทุนสวนปาล์มฟ้องร้องคดีความ

จดหมายเปิดผนึก
กรณีเกษตรกรสุราษฎร์ 56 ราย ถูกนายทุนสวนปาล์มนำเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ถูกต้องตามกฏหมายมาฟ้องร้องคดีความ ส่งผลให้เกษตรกรเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีความกว่าล้านบาท



21 ธันวาคม 2553 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี

สวัสดีพี่น้องชาวสุราษฎร์ธานี


               วันที่ 21-24 ธันวาคม นี้ พี่น้องเกษตรกรสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จำนวน 19 คน กำลังอยู่ในระหว่างการขึ้นศาล ในฐานะจำเลยในคดีความ ที่ถูกฟ้องร้องโดยนายทุนสวนปาล์ม ในข้อหาการบุกรุกพื้นที่เอกชน และถูกเรียกค่าเสียหายกว่า 15 ล้านบาท
               พวกเราชาวบ้าน และเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง และความเดือดร้อนของพวกเรา กับพี่น้องชาวสุราษฎร์ธานี ด้วยความสมานฉันท์ ในฐานะผู้ร่วมชะตากรรม และคนในจังหวัดเดียวกัน
               นโยบายการกระจายการถือครองที่ดินในสังคมไทยมีความไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด ที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ถึง 90% ตกอยู่ในมือคนมีเงิน-นายทุน ซึ่งเป็นกลุ่มคนเพียง 10% ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ 90% มีส่วนแบ่งในที่ดินพียง 10% ของที่ดินที่เหมาะสมในการทำการเกษตร
               จังหวัดสุราษฎร์เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีการปลูกปาล์มน้ำมัน - ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก แต่ที่ดินของรัฐที่สามารถใช้ทำการเกษตรได้มากกว่า 1 แสนไร่ กลับตกอยู่ในมือนายทุน โดยกลวิธีต่างๆ เช่น
               1. นายทุนเช่าที่ดินรัฐในราคาถูก หรือเมื่อหมดสัญญาแล้วไม่ถอนตัวออก  ยังคงครอบครองทำประโยชน์ต่อไป เสมือนเป็นที่ดินส่วนตัว
               2. นายทุนเช่าที่ดินรัฐและบุกรุกเพิ่มเติมหรือบุกรุกทั้งแปลง โดยใช้อิทธิพลและเส้นสายทางการเมือง
               3.การออกเอกสารสิทธิ์ของนายทุน ทับลงที่ดินรัฐ เช่น พื้นที่เขตส.ป.ก, ป่าไม้ถาวร, ที่สาธารณะประโยชน์
               ตลอดเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ ขาดความฉับไวจนไม่อาจจัดการปัญหาได้  สำหรับพื้นที่ ส.ป.ก.ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนไทรงามพัฒนา คลองไทรพัฒนา อำเภอชัยบุรี  และชุมชนสันติพัฒนา อำเภอพระแสง ทางสำนักงาน ส.ป.ก.ระดับชาติ ได้ฟ้องขับไล่นายทุนบ้างแล้ว ส่วนที่ยังขาดคือ การเร่งดำเนินการปฏิรูปที่ดิน กระจายสิทธิที่ดินให้กับคนจน ตามแนวทางโฉนดชุมชน เพราะ แท้จริงแล้วกรรมสิทธิ์ในที่ดินเหล่านี้ เป็นของ ส.ป.ก.
               กรณี ชุมชนน้ำแดงพัฒนา และชุมชนสันติพัฒนา มีการออก น.ส.3 ก โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ากรมที่ดินเร่งตรวจสอบและเพิกถอน น.ส.3 ก ตามที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษส่วนกลาง ชี้มูลความผิดไว้ เมื่อสามเดือนก่อน นั่นก็จะช่วยคลี่คลายปลดเปลื้องคดีความมิให้เป็นภาระกับคนจน ถ้าไม่เช่นนั้น ก็อาจตั้งข้อสังเกตุได้ว่า กรมที่ดินพยายามถ่วงเวลาเพื่อช่วยเหลือนายทุน
               การรวมศูนย์การถือครองที่ดิน โดยใช้ที่ดินของรัฐเป็นฐานการผลิตของนายทุนสวนปาล์มรายใหญ่สร้างกำไรมหาศาล ในขณะที่เกษตรกรคนจนนับแสนคนในภาคใต้ ขาดแคลนที่ดินทำกิน ต้องกลายเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูก ทั้งในเมือง-ชนบท
               สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เห็นว่าการจัดสรรทัพยากรที่ดิน ที่เป็นอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่มีความเป็นธรรม จึงอาศัยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540-2550 ว่าด้วยสิทธิของประชาชนและชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติฯ จึงเข้าปฏิบัติการตั้งชุมชนในพื้นที่ เพื่อสอบสวนกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ และ เพื่อทำการผลิต ปลูกพืชผักอาหาร เพียงพอกิน  แต่ได้นำมาสู่  การถูกดำเนินคดีแพ่งและอาญา ของสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ 56 คน
               สกต. เห็นว่าคดีความเหล่านี้เป็นผล สืบเนื่องจากความไม่เป็นธรรมในการกระจายการถือครองที่ดินและความไม่เป็นธรรม ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิเกษตรกรและคนจน สร้างความเดือดร้อนอย่างรุนแรง สะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานรัฐยังไม่ยอมรับสิทธิเกษตรกร และคนจนในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรฯ ส่งผลให้เกษตรกรที่ไร้อำนาจต่อรองทางการเมือง ประสบความทุกข์เข็ญจากการถูกดำเนินคดี 
               ผ่านมา 2 ปี จนถึงปัจจุบัน เกษตรกรเหล่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีมากกว่า 1,120,000 บาท
               คดีความที่เกิดจากการต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินจึงมีฐานะเป็นคดีการเมือง เรื่องความไม่เป็นธรรม เป็นการเมืองเรื่องที่ดินและชีวิตความเป็นอยู่ของคนจน
               เกษตกรเพียงต้องการปัจจัยการผลิตเพื่อปรับปรุงฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ให้ ดีขึ้นกว่าเดิม การแก้ไขปัญหาของรัฐ จึงมิใช่การดำเนินคดีกับชาวบ้าน แต่ต้องปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น อย่างเร่งด่วน


ด้วยความสมานฉันท์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
เครือข่ายสลัม 4 ภาค
21 ธันวาคม 2553

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาธิปไตยกับหลักสิทธิเสรีภาพ

ประชาธิปไตยกับหลักสิทธิเสรีภาพ:
อำนาจอันชอบธรรมของรัฏฐาธิปัตย์

"ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)" คือการประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมมือระหว่างประเทศที่มีความสำคัญในการวางกรอบ เบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และเป็นเอกสารหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรก ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ให้การรับรองตามข้อมติที่ 217 A (III) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 โดยประเทศไทยออกเสียงสนับสนุน ประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน 30 ข้อ ในจำนวนนี้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักความมีอิสระและความเสมอกัน ไว้คือ

ข้อ 1 มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติ ศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ

ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอดและที่ จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสารและความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใดๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน


เมื่อย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดในประเทศไทยที่ประกาศตัวมาตลอดว่าเป็นประชาธิปไตยจะพบว่า นับจากการต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2548 โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง นักวิชาการบางส่วน และสื่อสารมวลชนที่นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล กับสื่อในเครือผู้จัดการ ได้เกิดปรากฏการณ์ผิดธรรมชาติทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย และถูกนำมาขยายความจนกระทั่งมีฐานะเป็นความคิดครอบงำในการต่อต้านการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย นั่นคือการใช้ "สัญลักษณ์" โดยใช้ "เสื้อเหลือง" เป็นสัญลักษณ์ต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" ของกลุ่มการเมืองที่ในเวลาต่อมาพัฒนาสู่ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)" อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวในลักษณะ "อิงแอบ" สถาบันเบื้องสูงมากขึ้น

กระทั่งหลังปฏิบัติการ "ฉีกรัฐธรรมนูญ/ปล้นประชาธิปไตย" (แม้จะไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบุรณ์ก็ตาม) ภายใต้การปกครองของ "รัฐบาลอำมาตย์/ขุนศึก" ซึ่งค้ำจุนโดยฝ่ายทหาร ผู้ก่อการยึดอำนาจการปกครองรัฐบาลพลเรือนเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง โดยประกาศชื่อของตนเองชนิดยาวเหยียดเพื่อสร้างความชอบธรรมจอมปลอม ว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ตามมาด้วยการเปลี่ยนถ่ายชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)" ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับองค์กรหลักที่มีหน้าที่รักษาสันติภาพและเสรีภาพ ภายใต้การกำกับขององค์การสหประชาชาติ

ทั้งหมดนั้นเพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมจอมปลอม!

เป็นความชอบธรรมจอมปลอมต่อเนื่องในแทบทุกพฤติกรรมปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ความพยายามโยงเสื้อสีเหลือง/ผ้าพันคอสีฟ้า ของผู้นำกลุ่ม พธม. เพื่อบิดเบือนและอิงแอบสถาบันเบื้องสูง ในการโจมตี ใส่ร้าย การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย จะโดยในเสื้อสีแดง (ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเสื้อสีเหลือง) หรือการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ หรือไม่อย่างไรก็ตาม

นั่นคือความพยายามในอันที่จะแยก พลังประชาธิปไตย ออกจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่รักเสรีภาพ รักประชาธิปไตย และคัดค้านระบอบอำมาตย์/เผด็จการซ่อนรูป

ไม่ว่าจะพิจารณาจากจุดยืนใด ความขัดแย้งระหว่าง มวลชน "เสื้อแดง" ที่ประกอบด้วยกลุ่มพลังประชาชนหลากหลายแนวทาง ที่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง นำโดย "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" กับ มวลชน "เสื้อเหลือง" ที่นำโดย พธม. ซึ่งสนับสนุนการขับไล่รัฐบาลประชาธิปไตย และมีส่วนขับเคลื่อนไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เองนั้น...

เป็นเพียงบริบทหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

ความพยายามของรัฏฐาธิปัตย์ปัจจุบัน ที่สะท้อนนัยในการสนับสนุนการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ก็ดี หรือช่วงหนึ่งการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พธม. ก็ดี ไม่เพียงบ่งชี้ถึงการใช้นโยบายเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย หรือ "นโยบาย 2 มาตรฐาน" หากบ่งชี้อย่างชัดเจนในความเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย บนหลักการพื้นฐาน เสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ดังกล่าวมาข้างต้นใน "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)" และประกอบกับใน "คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง (Déclaration des droits de l'homme et du citoyen de 1789)" อันเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกิดขึ้นในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยกำหนดให้สิทธิของปัจเจกชนและสิทธิมวลชนเป็นสิทธิสากล โดยประกาศเป็นครั้งแรกถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ข้อ 1. มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาและทรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันใน (การมีและการใช้) สิทธิประการต่างๆ ความแตกต่างทางสังคมไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะเช่นไรก็ตาม จะมีขึ้นได้ก็แต่เพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันเท่านั้น

ดังนั้น ไม่ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง จะมีรูปแบบหรือเนื้อหาประการใด จะมีเป้าหมายเฉพาะหน้าหรือเป้าหมายในที่สุดอย่างไร ตราบเท่าที่การเคลื่อนไหวนั้นหาได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอื่นๆ นั่นหมายความไม่อาจมีอำนาจใดมาระงับยับยั้งสิทธิเสรีภาพนั้นได้ และแม้ว่าอำนาจนั้นๆ จะเป็นการใช้หรือสั่งการโดยตัวรัฏฐาธิปัตย์ในสถานะใดสถานะหนึ่ง ก็ย่อมหมายความว่ารัฏฐาธิปัตย์นั้น ละเมิดหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนที่ว่า "สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ หรือเสรีภาพ ย่อมไม่อาจถูกกำจัดหรือกำจัดได้ โดยสิทธิบัญญัติ หรือกฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้นมาใช้ แม้ว่ากฎหมายนั้นจะมีชื่อเรียกว่า รัฐธรรมนูญ"

ดังเช่นใน "คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง" ประกาศไว้ในข้อ 16. ว่า "สังคมใดมิได้มีหลักประกันแห่งสิทธิทั้งปวงและมิได้มีการแบ่งแยกอำนาจโดยชัดเจน สังคมนั้นย่อมปราศจากรัฐธรรมนูญ"

นั่นย่อมหมายความว่า รัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถให้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือยิ่งไปกว่านั้น ย่อมไม่อาจถือเป็นรัฐธรรมนูญแห่งระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย

และรัฏฐาธิปัตย์ที่ใช้อำนาจที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าว ย่อมหมายถึงรัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่ชอบด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอธิบายได้ด้วยคำกำจัดความเพียงสถานเดียว ว่าเป็น

"รัฏฐาธิปัตย์แห่งการเผด็จอำนาจที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 4-10 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
การนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง คัดลอก ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8