Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ปูมชีวิต 'นายกฯจับตั้ง' พจน์ "สารสิน"

ปูมชีวิต 'นายกฯจับตั้ง'
พจน์ "สารสิน"


นายพจน์ สารสิน
เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2448 ที่บ้านพักถนนสุรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ พระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้) ต้นตระกูลสารสิน แพทย์หลวงประจำราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับคุณหญิงสุ่น มีพี่น้อง ดังนี้ (ไม่ได้เรียงลำดับอายุ)
- นายกิจ สารสิน
- นางสาวแสง สารสิน สมรสกับ พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร (บุญจ๋วน บุณยะปานะ) อดีตประธานศาลฎีกา
- หม่อมลิ้นจี่ สารสิน ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดนัยวรนุช

นายพจน์ศึกษาที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่วัยเยาว์ ต่อมาเดินทางกลับมาเรียนวิชากฎหมาย จนสอบได้เนติบัณฑิตไทยเมื่อปี พ.ศ. 2472 และไปศึกษาวิชากฎหมายต่อในประเทศอังกฤษ

ชีวิตการเมือง
นายพจน์เริ่มบทบาททางการเมืองจากการ เป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยการสนับสนุนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2490 และเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ. 2491 และต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

งานระหว่างประเทศ
ระหว่างปี พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2500 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาและทำหน้าที่ผู้แทนประเทศไทยประจำองค์การสหประชาชาติ และในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2500 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.)

นายกรัฐมนตรี
นายพจน์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 จากการปฏิวัตินำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากที่คณะปฏิวัติได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 และกลับไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ส.ป.อ. ตามเดิม และใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการอยู่ในกรุงเทพฯ จนถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2543 รวมอายุได้ 95 ปีเศษ

ชีวิตครอบครัว
นายพจน์สมรสกับ คุณหญิงศิริ สารสิน (โชติกเสถียร) มีบุตร-ธิดา ดังนี้

1. นายพงส์ สารสิน อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ในคณะรัฐมนตรีคณะที่ 45 (4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533) ต่อมาช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หลังจากขายหุ้นให้ บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ในเครือ เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์, สิงคโปร์ สมรสกับ นางมาลินี สารสิน (วรรณพฤกษ์)

2. พลตำรวจเอกเภา สารสิน อดีตอธิบดีกรมตำรวจ สมรสกับ ท่านผู้หญิงถวิกา สารสิน (สุจริตกุล) นางสนองพระโอษฐ์

3. นายบัณฑิต บุญยะปาณะ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ใช้นามสกุลตามบิดาบุญธรรมคือ พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร (บุญจ๋วน บุณยะปานะ) กับนางแสง (สารสิน พี่สาวนายพจน์) สมรสกับ หม่อม ราชวงศ์หญิงพิลาศลักษณ์ (กิติยากร) บุณยะปานะ ธิดาของหม่อมเจ้าโกลิต กิติยากร กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพิสิฐสบสมัย พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม (ไชยันต์)

4. นางพิมสิริ ณ สงขลา สมรสกับ พ.อ.จินดา ณ สงขลา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

5. พลเอกสุพัฒน์ สารสิน อดีต ทส. ของจอมพลประภาส จารุเสถียร และอัตราพลตรีประจำกองบัญาการกองทัพบกสมัยที่ สมัย พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอกดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.และผบ.สูงสุด

6. นายอาสา สารสิน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ก่อนจะหันมาประกอบธุรกิจ มีฐานะและตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด(มหาชน), กรรมการ ธนาคารกรุงเทพ, รองประธานกรรมการ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ร่วมเสริมกิจ จำกัด, ประธานกรรมการ บริษัท ไทยเอเชียแปซิฟิคบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย เบียร์ไฮเนเก้น และ ไทเกอร์เบียร์ ของประเทศสิงคโปร์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ราชเลขาธิการ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2543  สมรสกับ ท่านผู้หญิงสุจิตคุณ สารสิน ธิดาคนสุดท้องของ หม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิติยากร (พระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ และ หม่อมเจ้าหญิงอัปสรสมาน เทวกุล) กับ หม่อมราชวงศ์วิจิตรโฉม กิติยากร ธิดาคนที่สามของ หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร กับ หม่อมเนื่อง ชยางกูร

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หยุดตาบอดคลำประชาธิปไตย

หยุดตาบอดคลำประชาธิปไตย


เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ที่ผมจะย้อนเวลากลับไปซุกตัวเงียบๆอยู่ในซอกหลืบของโลกหนังสือ ไม่ว่าจะในฐานะคนอยู่เบื้องหลัง หรือแม้กระทั่งพยายามเขียนสิ่งที่ตั้งใจจะเขียนเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ หรือไม่ก็พาตัวเข้าไปอยู่ในท่ามกลางมิตรสหายฝ่ายประชาธิปไตยอย่างที่ไม่มีใครรู้จักเหมือนเมื่อก่อนเดือนธันวาคม 2552 ผมเขียนอะไรน้อยลง นำเสนออะไรน้อยลง กระทบกระทั่งผู้คนน้อยลง พลางก็นั่งดูการเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ผมไม่ใช่นักพูดในที่สาธารณะ... อีกนัยหนึ่งคือ ผมไม่ได้เป็นนักวิชาการ อย่างที่ใครๆมักจะยัดเยียดให้ผมเป็น ผมเป็นแค่คนเรียนจบมัธยม ที่ไม่ยอมให้ตัวเองมีชีวิตอยู่กับความไม่รู้เท่านั้นเอง

จะเป็นด้วยวัยที่ความฮึกห้าวถูกแทนที่ด้วยความยับยั้งชั่งใจ หรือประสบการณ์เฉพาะตัวในการไม่ยอมก้อมหัวให้เผด็จการทรราชย์ และความมุ่งมั่นที่จะทุ่มอุทิศตัวแก่ภารกิจประชาธิปไตยนับจากวัยหนุ่มตลอดระยะเวลาเฉียด 40 ปี คืออุปสรรคสำคัญในการสื่อสารกับผู้คนสมัยใหม่ และในจำนวนประสบการณ์นั้นคือประสบการณ์ที่หลายๆในขบวนสู้รบของประชาชนมักจะกู่ร้องกันเสมอในยามยากลำบาก

"สู้..พ่ายแพ้ สู้ใหม่...พ่ายแพ้ สู้ใหม่จนชัยได้มา...."

ขณะเดียวกับที่วาทกรรมติดปากในระยะใกล้ๆ คือ คือ รู้หรือไหม ว่า... "ต่างฝ่ายต่างสู้อยู่กับใคร"

แต่คำถามที่มาก่อนคำถามอื่นก็ยังคงไม่ถูกถามอยู่นั่นเอง คือคำถามที่เกือบจะพบคำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จคือ "รู้ๆกันอยู่แล้ว" หรือไม่ก็ "พูดไม่ได้" นั่นคือคำถามที่ว่า "สู้เพื่ออะไร"

แล้วขบวนก็ขับเคลื่อนไปวันต่อวัน สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ขบวนแถวที่ผู้คนมองเห็นแต่ฝูงชนเป็นกลุ่มก้อน คลุกเคล้าเข้าด้วยอารมณ์ความรู้สึกคล้ายคลึงกัน พูดจาไปในทิศทางเดียวกัน กับเรื่องราวเฉพาะหน้า กับเป้าหมายรูปธรรมเฉพาะหน้า สิ่งที่ยังคงขาดหาย คือ "การใส่ใจ" ที่จะรับฟังอย่างพินิจพิเคราะห์ใน "ความเห็นที่แตกต่าง" ออกไป รวมทั้งที่เริ่มตระหนักการวิเคราะห์รูปธรรมอย่างเป็นรูปธรรม

จนถึงเวลานี้ ในประเทศนี้ยังไม่เคยเกิดสิ่งที่เรียกว่า "แนวร่วมแห่งชาติ" ที่มีเป้าหมายเป็นเอกภาพชัดเจน ทั้งในรูปแบบความคิดทางประชาธิปไตย และทั้งที่เป็นเค้าโครงรูปการปกครองที่กำลังฟันฝ่าให้ได้มาก น่าเสียดาย ที่หลายคนยังคงยืนยันว่า "งวงคือช้าง" ขณะที่อีกหลายคนประกาศหนักแน่นว่า "งาคือช้าง" หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ "หางคือช้าง"

จากประสบการณ์ความเจ็บปวดชอกช้ำในความเป็นฝ่ายถูกกระทำมาตลอด 2 ปี บางทีนี่อาจถึงเวลาแล้วที่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนเสื้อแดง จะต้องเปิดใจให้กว้าง เพื่อจะค้นพบให้ได้ว่า "ช้างประชาธิปไตย" มีรูปร่างหน้าตาที่เป็นองค์รวมอย่างไร.

ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนจงเจริญ
ด้วยภราดรภาพ
รุ่งโรจน์ วรรณศูทร
10 ตุลาคม 2553; 01:46 น.
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8