พ่อหลวงอินถา สีบุญเรือง
ปืน...ที่ดังสิ้นสั่งสิ้นเสียง
เหลือเพียงๆแต่ชื่อพ่ออินถา
ทิ้งแนวร่วมชาวนา
พ่ออินถาเหมือนเป็นเช่นร่มไทร
วิญญาณ...พ่ออยู่แห่งไหน
ทุกคนแสนห่วงอาลัย
ทุกคนร้องไห้พากันหลั่งน้ำตา
จากเนื้อเพลง "อาลัยพ่อหลวงอินถา" ผลงานของวงลูกทุ่งสัจธรรม ผ่านทำนองเพลง "วอนผีพ่อ" ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อนิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งมีโอกาสไปสัมผัสข้อเท็จจริงของชีวิตอันขมขื่นของชาวไร่ชาวนา ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อรำลึกการจากไปของนายอินถา ศรีบุญเรือง ผู้ใหญ่บ้านใน ต.ป่าบง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ และรองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้นำการเรียกร้องให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีพระราชทานหลังเหตุกาณ์ 14 ตุลาฯ จัดการปัญหาการไร้ที่ดินทำกินและปัญหาหนี้สิน กระทั่งวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 มีการประกาศจัดตั้ง "สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย" โดยมี นายใช่ วังตะกู ชาวนาจากจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธานคนแรก
การต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคามอย่างต่อเนื่อง มีการลอบสังหารผู้นำชาวนา และในวันที่ 31 กรกฎาคม 2518 พ่อหลวงอินถาถูกลอบยิงเสียชีวิตที่บ้านพัก
การล่าสังหารที่เป็นขบวนการ
ในวันที่ 8 สิงหาคม 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ออกโทรทัศน์ชี้แจงต่อประชาชนถึงสถานการณ์ "ขวาพิฆาตซ้าย" ที่เพิ่งจะเริ่มต้น โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะปราบปรามประชาชน แต่ยอมรับว่า... "การลอบสังหารผู้นำชาวนานั้น คล้ายมีขบวนการล่าสังหาร"
เหยื่อจากการลอบสังหารในห้วงระยะเวลาดังกล่าวมีลักษณะเป็นขบวนการและไม่มีการคลี่คลายคดีแต่อย่างใด เกือบทั้งหมดเป็นผู้นำชาวนาในสังกัดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย เฉพาะใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2518 ที่ตรวจสอบยืนยันได้มีดังต่อไปนี้
5 เมษายน นายเฮียง สิ้นมาก ผู้แทนชาวนาสุรินทร์
10 เมษายน นาย อ้าย ธงโต
18 เมษายน นายประเสริฐ โฉมอมฤต
21 เมษายน นายโง่น ลาววงศ์ ผู้นำชาวนาหมู่บ้านหนองบัวบาน จ.อุดรธานี
5 พฤษภาคม นายมงคล สุขหนุน ผู้นำชาวนานครสวรรค์
20 พฤษภาคม นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ อ.ห้างฉัตร
22 มิถุนายน นายพุฒ ปงลังกา ผู้นำชาวนาเชียงราย
3 กรกฎาคม นายจา จักรวาล รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่บ้านดง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
18 กรกฎาคม นายบุญทา โยธา ถูกยิงเสียชีวิตที่ลำพูน
31 กรกฎาคม นายอินถา ศรีบุญเรือง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ
4 สิงหาคม นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ ผู้นำชาวนาดอยสะเก็ด
11 สิงหาคม นายพุฒ ทรายดำ ชาวนา ต.แม่บอน อ.ฝาง
22 ตุลาคม นายบุญรัตน์ ใจเย็น ผู้นำชาวนา อ.สารภี
มีความตายมาหยิบยื่น
จากรายงานของคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การลอบสังหารผู้นำท้องถิ่นและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างปี 2544-2547 ได้ให้รายชื่อและข้อมูลความขัดแย้งที่เป็นประเด็นการลอบสังหารไว้ โดยลำดับเหตุการณ์และรายชื่อไว้ดังนี้
30 มกราคม 2544 นายจุรินทร์ ราชพล นักอนุรักษ์ป่าชายเลน บ้านป่าคลอก อ.ถลาง
1 พฤษภาคม 2544 นายนรินทร์ โพธิ์แดง กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เขาชะอางกลางทุ่ง อ.เขาชะเมา จ.ระยอง
17 พฤษภาคม 2544 นายพิทักษ์ โตนวุธ ประธานชมรมนักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ปรึกษาชาวบ้านลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
21 มิถุนายน 2544 นางฉวีวรรณ ปึกสูงเนิน เจ้าหน้าที่ อบต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
26 มิถุนายน 2544 นายสุวัฒน์ วงศ์ปิยะสถิต ผู้นำคัดค้านโครงการกำจัดขยะราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
1 สิงหาคม 2544 นายสมพร ชนะพล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำกระแตะ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี
23 มิถุนายน 2545 นายแก้ว ปินปันมา สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และแกนนำชาวบ้านที่เข้าไปใช้ที่ดินในพื้นที่ กิ่งอ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่
2 กันยายน 2545 นายบุญสม นิ่มน้อย ผู้นำเรียกร้องสิทธิชุมชนจากโครงการโรงแยกคอนเดนเสทในพื้นที่ ต.บางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
27 กันยายน 2545 นายปรีชา ทองแป้น ผู้นำสิทธิชุมชนโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย เทศบาลต.ปากแพรก อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
15 ธันวาคม 2545 นายบุญฤทธิ์ ชาญณรงค์ ร่วมต่อสู้เรื่องที่ดิน ขัดขวางการทำไม้เถื่อนของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกรุง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี
20 ธันวาคม 2545 นายบุญยง อินต๊ะวงศ์ แกนนำต่อต้านโรงโม่หิน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านร้องห้า ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย
1 กุมภาพันธ์ 2546 นายคำปัน สุกใส ผู้ใหญ่บ้าน นักอนุรักษ์-รองประธานเครือข่ายป่าชุมชนแม่น้ำปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
4 กุมภาพันธ์ 2546 นายชวน ชำนาญกิจ แกนนำชุมชนด้านยาเสพติด อ.ฉวาง จ. นครศรีธรรมราช
25 พฤษภาคม 2546 นายสำเนา ศรีสงคราม ประธานชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น
12 มีนาคม 2547 นายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ
21 มิถุนายน 2547 นายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธุ์
11 สิงหาคม 2547 นายสุพล ศิริจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านเด่นอุดม หมู่ 7 ต.แม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง นักอนุรักษ์แกนนำเครือข่ายป่าชุมชนแม่มอก
14 ตุลาคม 2547 นางพักตร์วิภา เฉลิมกลิ่น รองประธานชุมชนบ้านหัวกระบือ ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง
'สมพร พัฒนภูมิ' เหยื่ออธรรมรายสุดท้าย?
ล่าสุดช่วงหัวค่ำของวันที่ 11 มกราคม 2553 มือปืนไม่ต่ำกว่า 2 คน ได้กราดกระสุนปืน M 16 ใส่นาย สมพร พัฒนภูมิ อายุ 53 ปี สิ้นใจคาที่พัก
นายสมพรเป็นประชาชนรากหญ้าคนหนึ่งที่เดินทางมาเคลื่อนไหวขอจับจองที่ดินทำการเกษตรในจังหวัดสุราษฎร์ธานีตามโครงการ สปก.4-01 อันเป็นการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองรายละ 50 ไร่ ณ ชุมชนครองไทรพัฒนา และชุมชนยกย่องให้เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่มีความมุ่งมั่นลงแรงพลิกผืนดินให้เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงชีวิต ในท่ามกลางข้อพิพาทขัดแย้งและข่มขู่คุกคามมาตลอดหลายปี
ในระหว่างนั้นมีการเคลื่อนไหวได้มีการเปิดโปงถึงการนำที่ดินสปก.4-01 นับพันไร่ให้กับบริษัท จิวกังจุ้ย จำกัด ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี อย่างมีเงื่อนงำโดยไม่สอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปที่ดินที่มีบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย จนกระทั่งมีการดำเนินการฟ้องร้องบริษัทจิวกังจุ้ย จำกัด ทั้งทางแพ่งและทางอาญา ในที่สุดศาลตัดสินให้บริษัทแพ้คดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างบริษัทยื่นอุทธรณ์
ความตายของนายสมพรได้ตอกย้ำถึงความไม่มีหลักประกันของรัฐ ที่ไม่สามารถปกป้องชิวิตของประชามหาชนคนรากหญ้า จากความเป็น "เหยื่ออธรรม" เพียงจะได้มาซึ่งโฉนดชุมชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนตัวเล็กๆ ที่ตกอยู่ในสภาพต่ำต้อยน้อยหน้าไร้สิทธิไร้เสียง แม้กระทั่งในการหาเลี้ยงชีพ... ในสังคมซึ่งอำนาจอันไม่ชอบธรรมกำลังเริงร่าท้าทายกระบวนการพัฒนาไปสู่ความมี อารยะเช่นทุกวันนี้.
เขียนโดย "อริน"
โพสต์ครั้งแรก 28 มกราคม 2010, 14:37:03
http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=9567.0
ตีพิมพ์ประกอบบทความใน THAIFREEDOM ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ปักษ์แรก กุมภาพันธ์ 2553