วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (64)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (4)

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2514 เป็นการยึดอำนาจตัวเองโดยจอมพลถนอม กิติตขจร เหมือนรัฐประหาร พ.ศ. 2494 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

บทความลำดับที่ 1284 บริบทเหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ "ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว: เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗" เขียนโดย ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999646.html) นำเสนอต่อไปว่า เป็นที่น่าสังเกคว่า ในบทความชิ้นนี้ นอกเหนือจากใช้คำ เช่น "ฝ่ายก้าวหน้า" แล้ว ยังใช้คำว่า "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 อีกด้วย
**********
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว:
เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (2)


การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗

1. บทนำ: รัฐธรรมนูญของประชาชนกับความเป็นประชาธิปไตยในการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (ต่อ)

ระบอบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สืบเนื่องมาถึงจอมพลถนอม กิตติขจร และคณะปกครองประเทศภายใต้กรอบของธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีสถานะเป็น "รัฐธรรมนูญชั่วคราว" เป็นเวลาถึง 9 ปี 5 เดือน จึงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2511 แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในระยะเวลาเพียง 3 ปี 4 เดือน 28 วัน (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2521, น.1) จอมพลถนอม กิตติขจรและคณะก็กระทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองอีกครั้ง โดยประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 และแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ เพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้พลเอกประภาส จารุเสถียร (ยศขณะนั้น) เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญอย่างล่าช้า ดังการประชุมครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2516 ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญถึงเพียงหลักการของรัฐธรรมนูญหมวดที่ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ในส่วนของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยการพูด การเขียน การพิมพ์และการโฆษณา (รัฐสภาสาร, 21:10, 2516) และประมาณระยะเวลาที่จะร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จภายใน 3 ปี (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.7 และรายงานการประชุมคณะ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 4/2516 ใน รัฐสภาสาร, 21:5, เมษายน 2516)

ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนนำโดยกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา ได้ก่อตั้งกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรโดยเร็ว เหตุการณ์ได้ลุกลามไปจนเป็นกรณี 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยคหรือวันมหาประชาปิติ มีผลให้รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจรต้องลาออก และจอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ซึ่งถูกขนานนามว่าสามทรราชย์ (สะกดตามต้นฉบับ) พร้อมด้วยครอบครัว ต้องเดินทางออกจากประเทศไทย

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อคลี่คลายสถานการณ์และเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกาศใช้ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี เป็นที่น่าสังเกตว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 แต่ขณะเดียวกันก็มีความพยายามแก้ไขให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีความเป็น "ประชาธิปไตย" มากขึ้น ดังเช่นการตั้ง สมัชชาแห่งชาติ เพื่อเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติชุดใหม่ และการเสนอให้มีการลงประชามติว่าจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้กติกาของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2515 นั้น ก็เพื่อลดความระส่ำระสายของระบบราชการ หรืออีกนัยหนึ่งระบอบอำมาตยาธิปไตย และรักษาความต่อเนื่อง ตลอดจนจำกัดขอบเขตของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 14 ตุลาคมมิให้เกินความควบคุม (เสน่ห์ จามริก, 2529: น.373)

ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของกลุ่มต่างๆ เพื่อผลักดันให้รัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระเป็นไปตามความต้องการของตน นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่าง "กลุ่มอนุรักษ์นิยม" กับ "ฝ่ายก้าวหน้า" ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ เช่น กลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ และนักการเมืองในสายเสรีนิยมและสังคมนิยม อันนำไปสู่ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเด็น

สภาพการเมืองแบบเปิดภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้นักศึกษาและประชาชนเกิดความตื่นตัวทางการเมือง ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างพลังอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้า จนในที่สุดนำไปสู่การรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยังผลให้รัฐธรรมนูญที่กล่าวกันว่ามีความเป็นประชาธิปไตยฉบับหนึ่งต้องยกเลิกไป (กระมล ทองธรรมชาติ, 2524: น. 49-50) ดังนั้นการพิจารณาที่มาของวิวาทะและสถานะของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 จึงไม่อาจแยกระหว่างบริบททางสังคมที่อยู่รายรอบ และสร้างข้อเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญกับเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเคลื่อนไหวทั้งสนับสนุนและขัดแย้งทางสังคมที่ปรากฏออกมาในระหว่างนั้น

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับการแข่งขันทางอำนาจระหว่าง "ข้าราชการประจำ" กับ "นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง" โดยเฉพาะระหว่าง "คณะทหาร" กับ "พรรคการเมือง" (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2536: น.68) ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจ "อายุการใช้งาน" ของรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยมากขึ้นอีกโสตหนึ่ง

คำถามสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตมักจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เหตุใดจึงมีการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับถาวร จนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516?

ก่อนที่จอมพลถนอม กิตติขจร จะปฏิวัติตัวเองในเดือนพฤศจิกายน 2514 กรอบกติกาทางการเมืองถูกจำกัดอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ซึ่งใช้เวลาร่างถึง 9 ปี 5 เดือน (นับตั้งแต่การใช้ธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 ดู เชาวนะ ไตรมาศ, 2540: น. 13) การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้คณะปฏิวัติต้องขยายฐานอำนาจเข้าสู่รัฐสภา ผ่านวุฒิสมาชิกและสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะปฏิวัติควบคุมฝ่ายบริหารผ่านระบอบรัฐสภา โดยผ่านพรรคสหประชาไทยที่เป็นพรรคเสียงข้างมาก
**********
สำหรับการพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดมีหรือไม่มีความเป็นประชาธิปไตยนั้น ผู้เขียน (อริน) ยังคงยึดหลักที่ว่า (1) ผู้แทนปวงชนทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง และ (2) ไม่มีองค์กรนอกอำนาจอธิปไตยอยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่นในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกของสยามและไทย คือ รัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 (พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินชั่วคราว), รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 และ รัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคม 2489 นั้น ทั้ง 3 ฉบับไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยองคมนตรี.

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 29 สิงหาคม-4 กันยายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน