วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (62)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (2)

เหตุที่สภานี้ได้รับสมญาว่า "สภาสนามม้า" เนื่องจากเลือกกันที่สนามม้าราชตฤณมัยหรือ “สนามม้านางเลิ้ง” ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่พอจะรองรับการประชุมได้

สัญญา ธรรมศักดิ์: นายกรัฐมนตรี
จากอธิการบดีและองคมนตรีสู่นายกรัฐมนตรี

สำหรับที่มาของนายกรัฐมนตรีช่วงรอยต่อการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการทหารถนอม-ประภาส คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ (5 เมษายน พ.ศ. 2450 - 6 มกราคม พ.ศ. 2545) อดีตประธานศาลฎีกา และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 19.00 น. หลังจากถวายบังคมลาออกของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งขณะนั้นกำลังดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (1 เมษายน พ.ศ. 2514 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516) และองคมนตรี (สมัยที่ 3 ระหว่าง 15 ธ.ค. 2515 - 14 ต.ค. 2516) อยู่ หลังจากได้มีประกาศแต่งตั้งไป กลุ่มผู้ชุมนุมที่ประกอบด้วยนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยบางส่วนได้โห่ร้องด้วยความดีใจ แต่บางส่วนก็ยังไม่ปักใจเชื่อ และการปะทะกันก็ยังต่อเนื่องอยู่ จนถึงเวลา 23.15 น. นายสัญญากล่าวคำปราศรัยจากหอพระสมุด ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า
"พี่น้องชาวไทย นิสิต นักศึกษาและประชาชนชาวไทยที่รักทั้งหลาย ด้วยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ในวันนี้ให้ข้าพเจ้าเข้ารับภาระหน้าที่อันหนัก เป็นนายกรัฐมนตรีแม้จะเป็นระยะเวลาที่ยากลำบากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ดี ข้าพเจ้าก็รับพระบารมีใส่เกล้า ฯ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและจะทำงานโดยเต็มสติกำลังความสามารถ ในชั้นแรกและที่เป็นการด่วนอย่างยิ่งในวันนี้ก็คือข้าพเจ้าขอร้องให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย ทั้งที่เป็นทหารตำรวจ นิสิต นักศึกษา และประชาชนขอให้รักษาความสงบเรียบร้อยโดยพลัน ทั้งนี้เพื่อประชาชนและเพื่อชาติศาสนาพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของเรา ข้าพเจ้าขอสัญญาว่าจะให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ และข้าพเจ้าคาดคิดว่าไม่ควรจะเกิน 6 เดือน นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะเชื้อเชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิมีคุณธรรมความสามารถความซื่อสัตย์สุจริตประกอบเข้าเป็นคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้ ขอให้ท่านข้าราชการประจำทุกท่าน ไม่ว่าในตำแหน่งใดได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ท่านมีอยู่ในปัจจุบันต่อไปตามเดิมทุกประการ"
หลังพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมแล้วนั้น นายสัญญาจัดตั้งรัฐบาลประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีรวม 28 คน อาทิเช่น พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ) นายประกอบ หุตะสิงห์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม) พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข)

ถัดมาอีกสองวัน คือในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 16.00 น. นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อนเข้ารับตำแหน่ง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ตามมาด้วยการแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ชุดที่ 1 ซึ่งมีอายุระหว่าง พ.ศ. 2515-2516) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม

นอกจากนั้นในวันที่ 30 ตุลาคม ยังแต่งตั้งให้ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการรักษาความสงบ ตามมาด้วยการที่รัฐบาลประกาศยึดทรัพย์สินของจอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร พันเอก ณรงค์ กิตติขจร และภรรยาของทั้ง 3 คน

สัญญา ธรรมศักดิ์: นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 1
"สภาสนามม้า" และ "สภานิติบัญญัดติแห่งชาติ"


สำหรับที่มาของ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ชุดที่ 2)" ที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา นั้น ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้าเขียนไว้ว่า [http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สภานิติบัญญัติแห่งชาติ_(พิษณุ_สุ่มประดิษฐ์)]:

การปฏิวัติของประชาชนในครั้งนี้ไม่มีการยกเลิกธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 แต่ที่มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นใหม่ก็เพราะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งสมัยของจอมพล ถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ลาออกจากตำแหน่งตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในขณะนั้น เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลแต่งตั้งสมาชิกชุดใหม่ก่อนที่จะมีการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการเด็ดขาดลงไป ทำให้เหลือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพียง 11 คน ไม่เพียงพอที่จะเป็นองค์ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้จึงมีการยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้น จำนวน 2,347 คน ตามพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2516 เพื่อให้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติเลือกตั้งกันเองให้เหลือ 299 คน เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจาณาและอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะใช้บังคับแทนธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 สมัชชาแห่งชาติชุดนี้เรียกกันทั่วไปว่า "สภาสนามม้า" ทั้งนี้ สภาสมัชชาแห่งชาติได้เลือกตั้งกันเอง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2516 โดยข้าราชการพลเรือนเป็นกลุ่มที่ได้รับเลือกเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติมากที่สุด และพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมติสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2516

สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2518 สิ้นสุดลงเนื่องจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 สาเหตุที่สภานี้มีชื่อเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า "สภาสนามม้า" เนื่องจากเลือกกันที่สนามม้าราชตฤนมัย (ไม่อาจหาสถานที่ที่จะรองรับผู้เข้าประชุมได้จำนวนมากขนาดนั้นได้ จึงต้องใช้สนามราชตฤณมัย แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ "สนามม้านางเลิ้ง" เป็นสถานที่จัดการประชุม) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ มี 2 คน คือ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานสภาคนแรก ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ถึงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517 ต่อจากนั้น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ลาออกและเลือกประธานกันใหม่มี นายประภาศน์ อวยชัย เป็นประธานสภา ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2517 ถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2518

สำหรับผลงานด้านนิติบัญญัติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ มีการตรารัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้จำนวน 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2518 และตราพระราชบัญญัติประมาณ 120 ฉบับ พระราชบัญญัติที่สำคัญ เช่น พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พุทธศักราช 2517 ฯลฯ

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 15-21 สิงหาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน