วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (24)

ความสงบหัวเมืองมลายู
คลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุ

ปาตานี คือรัฐหนึ่งในหลายๆรัฐของชาวมลายูมาแต่เดิม

จากหนังสือ ประวัติเมืองลังกาสุกะ – เมืองปัตตานี เขียนโดย อนันต์ วัฒนานิกร ให้ภาพพัฒนาการการดำรงอยู่ของความขัดแย้งในภูมิภาคตอนปลายสุดของแหลมสุวรรณภูมิที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ "รัฐไทย" ช่วงรอยต่อระหว่างการปกครองสองระบอบจากระบอบจตุสดมภ์/ศักดินาช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีรูปแบบ "นครรัฐ" หรือ "รัฐศักดินาสวามิภักดิ์" ที่อำนาจการปกครองที่แท้จริงดำรงอยู่เฉพาะในเขต "รัฐใหญ่" โดยที่อำนาจการปกครองส่วนหัวเมืองและประเทศราชยังไม่เป็นเอกภาพเดียวกันทั่วราชอาณาจักร มาสู่ช่วงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อสร้าง "รัฐชาติสยาม" ที่มีลักษณะรวมศูนย์มีความเป็นเอกภาพ โดยอาศัยการดึงอำนาจการปกครองหัวเมืองชั้นนอกและหัวเมืองประเทศราชทั่วราชอาณาจักรเข้าสู่ศูนย์กลางการปกครองประเทศ ภายใต้ระบบเทศาภิบาลซึ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้วหลายครั้งว่า เนื้อหาที่แท้จริงเป็นการล้มเลิกระบบอภิสิทธิ์และอำนาจทางการปกครองแบบจารีตที่เจ้าเมืองและเจ้าประเทศราชในเดินแดนต่างๆ เคยมีมาแต่เดิม

หลัง "กบฏหวันหมาดหลี" ในปี พ.ศ. 2380 ปัญหาที่เกิดขึ้นในการปกครองหัวเมืองหรือเมืองประเทศราชภาคใต้ ล้วนวนเวียนอยู่ที่อำนาจการปกครองในฐานะ "เจ้าเมือง" ซึ่งคู่ความขัดแย้งสำคัญคือเจ้าเมืองที่มีเชื้อสายจีน (ขงจื้อปนพุทธ) กับที่มีเชื้อสายมลายู (อิสลาม) โดยมีขุนนางชั้นผู้ใหญ่จากส่วนกลางเป็นผู้เชื่อมประสาน เช่นเมื่อพระยาตานี (ทองอยู่) ถึงแก่กรรมลงหลังจากไปช่วยราชการปราบกบฏ กลับมาเมืองปัตตานีแล้วไม่นาน โดยพงศาวดารเมืองสงขลากล่าวว่าในปี พ.ศ.2382 พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้แต่งตั้งให้พระยาวิชิตณรงค์ กับนายแม่น มหาดเล็ก บุตรของพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) เป็นผู้รักษาราชการเมืองปัตตานีอยู่ชั่วคราว จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2383 จึงได้แต่งตั้งให้นิยุโซะ (โต๊ะกี) เป็นผู้ว่าราชการเมือง (เจ้าเมือง) คนต่อมา

ในส่วนท้องถิ่นเอง เกิดความขัดแย้งหลายครั้งระหว่างเชื้อสายเจ้าเมืองที่นับถือศาสนาอิสลามในเรื่องอำนาจและการใช้อำนาจการปกครอง ซึ่งมีผลประโยชน์สำคัญในการครอบครองที่ดิน อำนาจในการเก็บภาษีอากรเพื่อส่งส่วนหรือบรรณาการไปยังกรุงเทพ อีกทั้งมีการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราษฎรด้วยการเกณฑ์แรงราษฎรไปทำงานส่วนตัวเป็นระยะเวลานาน จนราษฎรไม่มีเวลาจะไปทำไร่นาของตน เจ้าเมืองบางคนประพฤติผิดแบบแผนประเพณี ฉุดคร่าอนาจารหญิง และให้บ่าวไพร่เข้ายึดครองเรือกสวนไร่นา ที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัว จนราษฎรพากัน อพยพหนีไปอยู่เสียที่เมืองปัตตานีบ้าง หรือเมืองเประซึ่งอยู่ในอาณัติการปกครองของอังกฤษบ้าง ขณะเดียวกันพวกอังกฤษในเกาะปีนังและสิงคโปร์ก็พยายามหาทางแทรกแซง ลอบยุยงส่งเสริมให้เจ้าเมืองต่างๆ เอาใจออกหากจากราชสำนักที่กรุงเทพ โดยหวังผนวกเอาดินแดนในแหลมมลายูตอนเหนือไปครอบครองเป็นการขยายอาณานิคม (อันเป็นนโยบายหลักของ "เจ้าลัทธิอาณานิคมเก่า" 4 ชาติที่รุกรานไปทั่วโลกรวมทั้งทวีปเอเชีย สำหรับภูมิภาคที่ปัจจุบันเรียกรวมว่า "อาเซียน" นั้น ไล่มาตั้งแต่ฝรั่งเศสทางฝั่งตะวันออกของสยาม ที่ประกอบด้วย ญวน ลาว และเขมร อังกฤษทางตะวันตก คือพม่าและอินเดีย และทางใต้คือดินแดนในแหลมมลายู ส่วนดินแดนที่เป็นหมู่เกาะใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียก็อยู่ใต้อำนาจของ ฮอลันดา ได้แก่หมู่เกาะชวา และสเปนซึ่งยึดครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์)

จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกระบบการปกครองหัวเมืองแบบประเทศราชหรือแบบกินเมือง โดยมีเจ้าเมืองที่สืบทอดตำแหน่งต่อๆกันมาทางสายเลือดนั้น สำหรับหัวเมืองภาคใต้นั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ "บรรดาเมืองชั้นใน และ ชั้นนอก และ เมืองประเทศราช ที่แบ่งเป็นปักษ์ใต้อยู่ในกระทรวงกลาโหม ฝ่ายเหนืออยู่ในกระทรวงมหาดไทย ก็ดี และที่อยู่ในกระทรวง ต่างประเทศก็ดี ตั้งแต่นี้สืบไป ให้อยู่ในบังคับบัญชาตราราชสีห์กระทรวงมหาดไทย" และต่อมาตรากฎข้อบังคับการปกครองหัวเมืองขึ้นใช้ โดยให้เจ้าเมือง ซึ่งเคยบังคับบัญชาบ้านเมืองโดยอิสระมาขึ้นต่อข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช

ในปี พ.ศ. 2439  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงปฏิรูประบบการปกครองหัวเมืองประเทศราชเสียใหม่ สำหรับหัวเมืองปักษ์ใต้มีรูปแบบการขึ้นต่อและมีสายบังคับบัญชาตามลำดับที่เริ่มจาก "รัฐบาล" (รวมศูนย์ที่ราชสำนักผ่าน "กระทรวง" ที่สถาปนาขึ้นแทนที่ระบอบจตุสดมภ์) ลงไปที่ "ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช" จากนั้นจึงต่อไปที่ "ข้าหลวงประจำบริเวณ" "กองบัญชาการเมือง" "พระยาเมือง" และ "ยกกระบัตร ปลัดเมือง ผู้ช่วยราชการเมือง"

ต่อ มาในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2444 รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ก็ได้ออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 ขึ้น มีการกำหนดตำแหน่งหน้าที่เจ้าพนักงาน ต่างๆขึ้นมา เพื่อดำเนินการบริหารราชการและให้พนักงานเจ้าหน้าที่นับตั้งแต่ 1.ผู้ว่าราชการเมือง 2.ปลัดเมือง 3.ยกกระบัตร 4.ผู้ช่วยราชการสรรพากร 5.จ่าเมือง 6.แพ่ง 7.เสมียนตราเมือง 8.ศุภมาตรา 9.นายด่านภาษีปากน้ำ 10. พธำมรงค์ 11.แพทย์

จากกฎหมายการปกครองใหม่นี้ ทำให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สามารถลดอำนาจของเจ้าเมืองในด้านการเมืองการปกครองลงได้อย่างสิ้นเชิง โดยมีขุนนางจากส่วนกลาง (ข้าราชการใหม่) เข้าทำหน้าที่ควบคุมอำนาจการบริหารบ้านเมืองไว้ทั้งหมด ตลอดถึงตัดทอนผลประโยชน์ในทางการคลัง ซึ่งแต่เดิมเจ้าเมืองเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรเอง และนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยเอง มาเป็นผู้ช่วยราชการสรรพากร ส่วนผู้ว่าราชการเมือง และวงศ์ญาติ รัฐบาลที่กรุงเทพจัดตั้งงบประมาณเป็นค่ายังชีพให้พอเพียงที่จะใช้สอยเป็นรายปี ทั้งนี้อำนาจการปกครองที่แท้จริงอยู่ที่ "ข้าหลวง" ทั้งสองระดับ

หลังการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินไม่นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประกอบด้วยหัวเมืองและประเทศราช กลายเป็นมูลเหตุกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านขึ้นในหลายพื้นที่ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2445 มีรูปแบบและรายละเอียดเฉพาะพื้นที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์

สำหรับภาคใต้ ที่สุดปลายที่แหลมมลายูโดยเชื่อมต่อกับสยามด้วยหัวเมืองชายขอบพระราชอาณาเขตอย่างใหม่ เริ่มจากพระยาวิชิตภักดี (ตนกู อับดุลกาเดร์) ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามกฎข้อบังคับการปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมืองที่รัฐบาลเป็นผู้ตราขึ้นโดยขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้ามาเก็บภาษีอากรในท้องที่เมืองปัตตานี ทั้งยังเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อ ขอร้องให้เซอร์ แฟรงค์ สเวทเทนนั่ม ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ช่วยเหลือการแข็งข้อต่อราชสำนักที่กรุงเทพฯ ยิ่งไปกว่านั้น เสนอให้อังกฤษยึดเอาเมืองปัตตานีเป็นเมืองขึ้น

เหตุการณ์นี้ก่อรูปและนำไปสู่ "กรณีพระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดกบฎ ร.ศ.121".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 26 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน