วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ระลึก 75 ปีธรรมศาสตร์ ระลึกผู้ประศาสน์การ

ระลึก 75 ปีธรรมศาสตร์ ระลึกผู้ประศาสน์การ


เรียนมิตรสหายทุกคน,

บังเอิญมีชื่อเป็น "ครึ่งศิษย์" น่ะครับ เสนอความเห็นเล็กน้อยเท่านั้น

คือการรำลึกการเกิดขึ้น-ดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศ ที่เกิดขึ้นหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 โดยละเลยการกล่าวถึง "ผู้ประศาสน์การ" และหัวหน้าคณะผู้ก่อการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือในเวลาต่อมาใช้ชื่อว่า "คณะราษฎร" นั้นทำให้ผมรู้สึกทะแม่งๆเสมอมา แม้เมื่ออำนาจรัฐในสมัยหนึ่งลงทุนกร่อนชื่อมหาวิทยาลัยสำหรับ "รากหญ้า" หรือ "ประชาชนชั้นล่าง" เมื่อ 75 ปีที่แล้ว จากชื่อที่สะท้อนความเกรียงไกรเท่าที่ประชาสามัญชนจะมีโอกาสลิ้มลองเกียรติภูมิในระดับนั้น นั่นคือ "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง"

ประการหนึ่งสำหรับนักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนรหัส 159xxx หรือ 158xxx ก็ดี จะจำได้คือ ครั้งนั้น ค่าหน่วยกิตของธรรมศาสตร์อยู่ที่ 25 บาท/หน่วยกิต ในขณะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงอยู่ที่ 10 บาท/หน่วยกิต ซึ่งสะท้อนโอกาสที่เปิดค่อนข้างกว้างสำหรับการศึกษาของมหาชนชาวสยามนับจาก การประกาศ "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร" ซึ่งชาวธรรมศาสตร์ทุกยุคทุคสมัยสมควรภาคภูมิใจอย่างลึกซึ้งว่า ร่างโดยผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย

แต่ยิ่งบ้านเมืองก้าวมาไกลเพียงใด นับจากการอภิวัฒน์ครั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสถาปนาสถาบันอุดมศึกษาที่มีกำเนิดเพื่อที่ลูกหลานของสามัญชนชาวสยาม อาจได้พัฒนาศักยภาพ ความรู้ความสามารถ เพื่อประโยชน์ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม การณืกลับปรากกว่า แหล่งผลิตบัณฑิตสำหรับสามัญชนกลับตกอยู่ในสภาพกู่ไม่กลับ เสียยิ่งกว่าบางมหาวิทยาลัยที่หาได้มีจุดกำเนิดที่เต็มไปด้วยเกียรติภูมิและมีประวัติศาสตร์เคียงข้างพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใดไม่

ความภาคภูมิใจประการถัดมาสำหรับชีวิตครึ่งๆกลางๆในฐานะครึ่งศิษย์ คือการได้มีโอกาสมีชีวิตร่วมสมัยกับอธิการบดีอย่าง นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ทั้งชีวิตปราศจากรอยด่างแม้สักจุดเท่าจุลินทรีย์

และความภาคภูมิใจประการสุดท้าย คือ การได้ประกาศความเป็นนักศึกษาที่นี่ เข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทหารที่ครอบงำและฉุดรั้งพัฒนาการของสังคมทั้งระบบในห้วงเวลาคาบเกี่ยวก่อนหน้าและหลังจาก "เหตุการณ์เดือนตุลา" ทั้ง 2 ครั้ง

ณ เวลานี้และไม่ว่าเวลาไหนๆ ผมไม่เคยคิดเสียใจที่ตัดสินใจก้าวออกจากห้องพักนายเสน่ห์ จามริก ช่วงต้นปี 2519 หลังจากปฏิเสธการศึกษาในระบบโดยสิ้นเชิง

แต่สิ่งที่ผมแลกได้มาคือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่แม้มาถึงปัจจุบันนี้ ยังตกอยู่ในสภาพต่ำต้อยน้อยหน้า ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกแย่งยึดไปแม้กระทั่งสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ นั่นคือ "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"

ผมหวังว่า พี่น้องเหลืองแดงครึ่งเลือดอย่างผม ยังมีศักดิ์ศรีพอสำหรับเพลง "มาร์ชธรรมศาสตร์" ซึ่งมีที่มาจากบทเพลงแห่งการอภิวัฒน์ใหญ่ในฝรั่งเศส

และปัจจุบันคือ เพลงชาติฝรั่งเศส "ลามาร์แซแยส" (La Marseillaise) ดนตรีต้นฉบับโดย โคลด โจเซฟ รูเชต์ เดอ ลิสล์ (Claude Joseph Rouget de Lisle) เมื่อ ค.ศ. 1792 (พ.ศ. 2335) ประพันธ์เนื้อร้องภาษาไทยโดย "ทวีป วรดิลก" หนึ่งในลูกที่ดีที่สุดของแม่โดม บนเส้นทางการสร้างชาตินับจากการอภิวัฒน์ประเทศ 24 มิถุนายน 2475

ขอสดุดีชีวิต เลือดเนื้อ จิตวิญญาณ และเจตนารมณ์ ของทุกรูปนาม ที่เดินตามรอยเท้าผู้ประศาสน์การ นายปรีดี พนมยงค์ สามัญชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ประวัติศาสตร์ไทยเคยรู้จัก
 
สร้าง ประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน
ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนจงเจริญ
ด้วยภราดรภาพ


หมายเหตุ : ด้วยความเป็นครึ่งศิษย์ และได้รับจดหมายเวียนเชิญชวนร่วมงาน และโดยสำนึกใน 37 ปีของการปวารณาตัวเป็นศิษย์ในปีการศึกษา 2515 ขอพูดในสิ่งที่คิดว่ามีสิทธิจะพูด...สักครั้ง.

โพสต์ครั้งแรก 21 มิถุนายน 2009, 09:17:01 [เว็บถูกบล็อกและเปิดใหม่ ->]
http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=6302.0