วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

'บิ๊กบราเธอร์' ใน '1984' ของ จอร์จ ออร์เวลล์ กับทฤษฎียึดครองและปกครองผ่านสื่อ

'บิ๊กบราเธอร์' ใน '1984' ของ จอร์จ ออร์เวลล์
กับทฤษฎียึดครองและปกครองผ่านสื่อ


Eric Arthur Blair (พ.ศ.2446 - 2493) เจ้าของนามปากกา จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) 

ในรายการวงราชดำเนินเสวนา เรื่อง "ส่องกระจก บทบาทสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง" เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2551 จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วิทยากรเสวนาท่านหนึ่ง คือ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอแนวคิดต่อสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงทางด้านสื่อมวลชนไว้น่าสนใจอีกครั้ง 

"โจทย์เรื่องสื่อมวลชนกับความรุนแรง องค์ความรู้ที่สรุปได้คือ 1.สื่อมวลชนในฐานะเป็นอาวุธ ทำหน้าที่ผลิตความเกลียดชังและความกลัว เกลียดอีกฝ่ายหนึ่ง กลัวว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่จะถูกทำลายทั้งหมด... 2.สื่อเปลี่ยนหน้าที่ไปจากการเป็นตัวถ่ายทอดเรื่องกลายเป็นศูนย์บัญชาการ อันนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ความรุนแรง ศูนย์บัญชาการแปลว่าเป็นตัวเชื่อมระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับเครือข่ายท้องถิ่นทั้งหลาย คอยบอกว่าคนนั้นจะไปตรงนั้นเวลานี้... 3. สื่อทำให้สังคมนี้รู้สึกว่ามันไม่มีทางออกต้องฆ่ากันอย่างเดียว ต้องใช้ความรุนแรงอย่างเดียว"


นั้นเป็นความต่อเนื่องของปรากฏการณ์นับจากกรณี 6 ตุลาคม 2519 มาจันถึงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

จะว่าไปปรากฏการณ์นี้เคยมีนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญชาวอังกฤษ Eric Arthur Blair (พ.ศ.2446 - 2493) เจ้าของนามปากกา จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ผู้เขียนนิยาย Animal Farm (พ.ศ.2488) ที่ใช้ปศุสัตว์เป็นตัวเดินเรื่อง เป้าหมายคือเสียดเย้ยการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตในยุคสตาลิน นิยายเรื่องนี้ถือว่าเป็นที่รู้จักมากในประเทศไทย เข้าใจว่าเคยเป็นหนังสืออ่านประกอบของนักเรียนนักศึกษามาสมัยหนึ่ง

แต่นวนิยายเรื่องสำคัญของออร์เวลล์ในบรรณพิภพนั้น น่าจะเป็นนวนิยายที่เสียดเย้ยระบอบการปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จ โดยผู้นำที่เรียกกันว่า Big Brother หรือ "พี่เบิ้ม" เรื่อง Nineteen Eighty-Four (พ.ศ.2492) เคยมีผู้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยมาครั้งหนึ่งแล้วหลังคนป่าคืนเมืองจากนโยบาย 66/2523) ในชื่อเรื่อง 1984

ทฤษฎีทางด้านสื่อ ที่ "บิ๊กบราเธอร์" พัฒนามาจนเป็นหลักการปกครอง "โอเชียเนีย" (Oceonia ) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ค่ายอภิมหารัฐ นั้น ไม่เพียงวางไว้บนพื้นฐาน "ผู้ใดควบคุมปัจจุบันได้ ก็จะควบคุมอนาคตได้" เท่านั้น ระบอบการปกครองของ "อิงซ็อค" (English Socialism) ยังประกาศหลัก "ผู้ใดควบคุมอดีตได้ ก็จะควบคุมปัจจุบันและอนาคตได้" โดยเข้าไปขัดการข้อมูลข่าวสารทุกรูปแบบ "ทั้งหมด" ในประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งตามเก็บ-ทำลายข่าวทุกข่าว สื่อทุกสื่อในอดีต และจัดทำย้อนหลังขึ้นมาใหม่ บังคับให้ประชาชนทุกคนใต้การปกครองถือว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นจริง

เพียงเพื่อพิสูจน์ว่า "รัฐ" หรือโดยเฉพาะเจาะจงไปว่า "พี่เบิ้ม" ไม่เคย "ทำความผิดพลาด"

ใน 1984 ออร์เวลล์จัดตั้ง "กระทรวงแห่งความจริง" หรือ Ministry of Truth หรือในชื่อย่อแดกดัน (อีกหน) ว่า Minitrue หรือ "จริงน้อย" เพื่อสร้าง "ความจริงประดิษฐ์" ขึ้นมา

และในขณะเดียวกัน ประชาชนทุกชีวิตในการปกครอง "โอเชียเนีย" นั้นจะอยู่ภายใต้ระบบสื่อสารมวลชน 2 ทาง เนื่องจากมีกฎหมายให้ประชาชนเปิดโทรทัศน์ไว้ 24 ชั่วโมง โดยที่รัฐจะสอดส่องพฤติกรรมเกือบจะทุกเวลานาที ผ่านระบบ CCTV พิเศษนี้เอง คำขวัญที่ประชาชนทุกคนจะต้องจำใส่ใจคือ "Big Brother is watching you (พี่เบิ้มกำลังจับตาพวกแกอยู่)"

น่ากลัวนะครับ ถ้าบังเอิญไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์เดือนตุลา เพราะดีไม่ดี วีรชนประชาธิปไตยในสมัยนั้น และอีกหลายๆสมัยในเวลาต่อมา อาจจะกลายเป็น "อาชญากรผู้บ่อนทำลายชาติ" ไปแล้วก็ได้

แต่ถึงอย่างไร สภาวการณ์ที่เป็นจริงในโลกทุกวันนี้ ก็สะท้อนกระบวนการที่นำไปสู่การสร้างความชอบธรรมในปฏิบัติการหลากหลายโดย อาศัยสื่อเป็นเครื่องมือมานักต่อนักแล้ว ถ้าเราไม่มีผู้สื่อข่าวที่รักความถูกต้องและมีมนุษยธรรมพอ อาจจะได้เห็นเพียงภาพความเด็ดเดี่ยวเด็ดขาดของพลพรรคเวียดกงที่ลุกขึ้นต่อสู้กับจักรวรรดินิยม 2 รุ่น โดยไม่มีโอกาสรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่หมู่บ้านไมลาย ทั้งอีกหลายปีให้หลังยังรับรู้ซ้ำด้วยว่าฆาตกรในเครื่องแบบอย่าง "ร้อยโทเคลลี่" ที่ 2 มือเปื้อนเลือดเด็ก-ผู้หญิง-และคนแก่ 200 ชีวิต โดนลงโทษจากกองทัพบกสหรัฐเพียง "กักบริเวณ"...กักบริเวณนะครับ ไม่ใช่ติดคุก นึกถึงกรณี "ถีบลงเขา-เผาลงถังแดง" ขึ้นมาตะหงิดๆ

ยิ่งนึกยิ่งน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 500,000 ชีวิตชนเผ่าตุ๊ดซี่ในรวันดาอย่างที่ดร.ชัยวัฒน์พูดถึง คิดถึงกรณี 14 ตุลาคม 2516 ที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเชื่อเต็มที่ว่า นักเรียนนักศึกษาคือภัยร้ายของชาติ กรณี 6 ตุลาคม 2519 ที่ผู้คนถูกปลุกระดมความป่าเถื่อนเพียงเพื่อเข้าไปสังหารโหดไอ้เลวทั้งหลายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้แต่ฝูงชนผู้พิฆาต "ไอ้หน้าเหลี่ยม" ที่ยังสานต่ออุดมการณ์อันกระเหี้ยนกระหือในวันนี้...

อย่าให้ข่าวมันลวงตาประชาชนอย่างเราเลยครับ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้  ศุกร์ 23 พฤษภาคม 2551
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
การนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง คัดลอก ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์