Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

วันอัปยศ 19 กันยายน 2549

จุดยืนและท่าทีขบวนประชาธิปไตย
ต่อวันอัปยศ 19 กันยายน 2549


มาตรา 309 บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

ข้างต้นนั้นคือมาตราสุดท้ายอันอัปยศของ "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ด้วยการมีบทบัญญัติที่ให้ไม่ต้องรับโทษ ในการกระทำทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากการละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งครอบคลุมการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกสภาผู้แทนราษฎร และทำลายอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรัฐประชาธิปไตยเยี่ยงอารยะประเทศ

ในเวลานี้ขบวนประชาธิปไตยมุ่ง ความสนใจไปที่การเรียกร้องความถูกต้องชอบธรรม และหาตัวผู้บงการในการสังหารโหดประชาชนผู้ลุกขึ้นทวงถามประชาธิปไตยในรอบ 4 ปีหลัง "การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" ที่อัปยศที่สุดในการเมืองยุคใกล้ของมนุษยชาติ

ทว่าขบวนประชาธิปไตยของประชาชน กลับละเลยหลักการพื้นฐานและพิจารณาไปถึง "เหตุ" แห่งความเลวร้ายทางการเมืองการปกครอง ซึ่งย่อมหนีไม่พ้นกลุ่มบุคคลในฝ่ายอำนาจรัฐ อันประกอบไปด้วยบุคลากรระดับผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเหล่าทัพ ที่ประกาศตนเป็น "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" หรือในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)"

หลังการฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549 ประชาชนกลุ่มต่างๆ ต่างทยอยกันออกมาอย่างองอาจกล้าหาญ คัดค้าน "โจรกบฏ" ผู้เข้าครอบครองอำนาจการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และตามมาด้วยการอาศัยคำสั่งและ "กฎโจร" สถาปนาอำนาจการปกครอง (ชั่วคราว) ผ่านคณะรัฐบาลที่ไม่ได้มาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย และองค์กรนอกอำนาจอธิปไตย ที่เรียกว่าองค์กรอิสระ อีกทั้งดำเนินการเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองเพื่อเป็นการอำพรางการใช้อำนาจเผด็จการ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จึงแต่งตั้งนักกฎหมายคณะหนึ่งเพื่อร่าง "รัด-ทำ-มะ-นูน" ฉบับชั่วคราว 2549 มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งต่อมาภายหลังได้ลาออก โดย คปค. ได้แต่งตั้งผู้ทำหน้าที่แทนคือ นายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการประธานศาลฎีกา

จนที่สุดใช้พฤติการณ์ "อุดหูขโมยกระดิ่ง" ตั้งสภาเถื่อนด้วยอำนาจเผด็จการ ซึ่งดำเนินการภายหลังจาก คปค. ลอกคราบเผด็จการเสียใหม่เป็น คมช. ในนาม "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549" เพื่อทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ตามมาตรา 5 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 โดยไม่ผ่านมติความเห็นชอบจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่พึงมี

ในวันที่ 19 คุลาคม 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ คณะหนึ่ง และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับ ดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ลงวันที่วันเดียวกัน ให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว นอกจากนั้นยังกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

จากนั้นกระบวนการสร้าง "รัด-ทำ-มะ-นูน" เผด็จอำนาจก็เข้าสู่ขั้นตอนกำหนดทิศทางการปกครองของประเทศ โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการกำกับดูแลเพื่อ สรรหา สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,000 คน จากนั้นสมัชชาแห่งชาติ กรอง ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 200 คน ตามมาด้วย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กรอง ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จาก 200 คน เหลือ 100 คน และผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กรอง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 25 คน ตบท้ายด้วยการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แต่งตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยตรง อีกจำนวน 10 คน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 242 คน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ผลงานอัปยศของ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549" นอกเหนือจากการผ่าน "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" ที่มีวิญญาณของการเผด็จอำนาจ ปรากฏอยู่โดยตลอด ยังตามมาด้วยการออกกฎหมายหลายฉบับที่เอื้อประโยชน์ให้กับ คมช. และเพิ่มอำนาจทหารมากขึ้น โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านอย่างหนักจากผู้รักความถูกต้องชอบธรรม

และที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในแวดวงต่างๆที่ตระหนักในหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ การอนุมัติกฎหมาย 70 ฉบับภายในเวลาเพียง 3 วัน

ภายใต้เงื้อมเงาเผด็จการทหาร นำไปสู่การเสียสละชีวิตเพื่อลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" ในคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ของ "ลุงนวมทอง ไพรวัลย์" โชเฟอร์แท็กซี่ผู้รักและหวงแหนประชาธิปไตย อดีตพนักงานการไฟฟ้าบางกรวย และการเสียสละชีวิตเพื่อแสดงเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของ "นายณรงค์ศักดิ์ กอบไธสง" จากน้ำมือของอันธพาลจัดตั้งทางการเมือง ในคืนวันที่ 2 กันยายน 2551

การเสียสละชีวิตของวีรชนประชาธิปไตยทั้งสอง ตลอดจนวีรชนจำนวนมากนับจากการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เป็นเสียสละด้วยเจตนารมณ์ที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นอย่างมั่นคง

เมื่อถึงเวลาที่ประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของทุกคนนี้ ก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะตอบข้อกังขาในประเด็นที่ว่า มีความเป็นได้มากน้อยเพียงใด สำหรับการที่อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่าย จะพิจารณาพิพากษา "กบฏต่อระบอบประชาธิปไตย" ทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาแล้ว แม้ว่า "การฉีกรัฐธรรมนูญ" หลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2475 จะเป็น "รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย" ก็ตาม แต่พฤติการณ์ "โจรกบฏ" เป็นสิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป

นั่นคือประชาชนไม่เพียงมีพันธกิจร่วมกันในการขับเคลื่อนปิตุภูมิไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หากยังต้องมีส่วนร่วมในการชำระประวัติศาสตร์ที่ปกปิด บิดเบือนความจริง ด้วยการฟื้นคดีทุกคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และนำตัวผู้กระทำผิดเหล่ามารับโทษทัณฑ์ที่สมควรได้รับ เช่นในประเทศที่กฎหมายเป็นกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนไม่ถูกละเมิด

ในวาระแห่งการครบรอบ 4 ปีแห่งความอัปยศทางการเมือง ขอเชิดชูจิตใจที่วีระอาจหาญของมิตรสหายทั้งปวงในขบวนประชาธิปไตยด้วยความน้อมใจ.

โค่นระบอบเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน
ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนจงเจริญ.
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8